ผลดีของการยึดมั่นกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺที่มีต่ออุมมะฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  6361


ผลดีของการยึดมั่นกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺที่มีต่ออุมมะฮฺ

 

โดย อาจารย์อีซา ภู่เอี่ยม

 

(การยึดมั่นต่อกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺทำให้มีเกียรติ)

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

แท้จริง เราได้ให้คัมภีร์อัลกุรอานมายังพวกเจ้า ในนั้นมีข้อเตือนสติแก่พวกเจ้า พวกเจ้าไม่ใช้สติปัญญาคิดบ้างดอกหรือ

(อัลอัมบิยาอฺ 21 : 10)

          ถามว่า อะไรคือเป้าหมายที่พระองค์อัลลอฮฺต้องการจากดำรัสของพระองค์ที่ว่าในนั้นมีข้อเตือนสติแก่พวกเจ้าในอายะฮฺนี้ เป้าหมายนั้นก็คือในอัลกุรอานนั้นมีความสูงส่ง มีเกียรติและมีบารมีไว้ให้แก่พวกเจ้า

 

          ท่านค่อลีฟะฮฺ อุมัร อัลฟารู๊ค กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเราคือกลุ่มชนที่พระองค์อัลลอฮฺให้มีเกียรติได้ก็เพราะอัลอิสลาม คราวใดที่เราหาเกียรติยศจากสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม พระองค์ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นต้องให้เราตกต่ำทุกครั้งไป

 

(การยึดมั่นต่อกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ นำไปสู่ทางนำ)

 

      ท่านอิมามมาลิก ได้บันทึกไว้ในหนังสือ มู่วัตเตาะอฺ อบูฮุรอยเราะฮฺ รายงานว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

     “ฉันได้มอบให้พวกท่านทั้งหลายไว้สองสิ่ง หากพวกท่านยึดมั่นไว้ได้ จะไม่หลงทางเด็ดขาด นั่นก็คือ กิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺของนบี

          ฮะดิษบทนี้ให้ความกระจ่าง ถึงการรอดพ้นจากการหลงผิดว่ามีทางเดียว คือ การเห็นความสำคัญของการยึดมั่นอยู่กับกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ และการรอดพ้นนั้นมีความหมายในตัวเองอยู่แล้ว คือ ทางนำ

 

(การยึดมั่นต่อกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ ทำให้พ้นภัยของฟิตนะฮฺ)

 

     ท่านอบูดาวู๊ด ได้บันทึกในซุนันของท่าน เป็นฮะดิษรายงานจากท่านอิรบาด บิน ซาริยะฮฺ เขากล่าวว่า : วันหนึ่งท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้นำละหมาดศุบหฺ หลังเสร็จละหมาดแล้ว ท่านได้หันมาหาพวกเราแล้วกล่าวตักเตือนเรา เป็นคำเตือนที่กินใจ ทำให้น้ำตาเอ่อ 

     พวกเราจึงกล่าวแก่ท่านว่าดูเหมือนกับว่าจะเป็นการกล่าวตักเตือนครั้งสุดท้าย ดังนั้น จงกล่าวตักเตือนพวกเราเถอะ

     ท่านร่อซูลได้กล่าวว่าฉันขอเตือนท่านทั้งหลายให้มีความยำเกรงอัลลอฮฺ ให้เชื่อฟัง และภักดีต่อพระองค์ ถึงแม้ผู้ตักเตือนจะเป็นทาสก็ตาม และแท้จริงแล้ว ใครยังมีชีวิตอยู่ต่อไป เขาจะได้เห็นการขัดแย้งกันเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น เป็นหน้าที่ของพวกท่านที่จะต้องยึดมั่นแบบอย่างของฉัน และแบบอย่างของบรรดาคุล่าฟาอัรรอชิดีนให้มั่นคง เหมือนกัดด้วยฟันกราม และจงระวังการอุตริในเรื่องของศาสนา เพราะการอุตริทุกอย่างในเรื่องศาสนาเป็นการหลงผิด

     จุดประสงค์ที่ต้องการในฮะดิษนี้ อยู่ตรงคำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

ใครยังมีชีวิตอยู่ต่อไป เขาจะได้เห็นการขัดแย้งกันเกิดขึ้นมากมาย

          ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกถึงความยุ่งเหยิงที่จะเกิดหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน ทำให้จิตใจผู้คนวุ่นวายไม่มีจุดยืน เวลานั้น จำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องยึดหลักศาสนา คือ ยึดมั่นต่อ กิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺนบี และแบบอย่างของบรรดาคุล่าฟาอัรรอชิดีนให้มั่นคง

 

          อาจมีคนถามว่า การยึดมั่นในซุนนะฮฺ มาเกี่ยวอะไรด้วยกับการทำบิดอะฮฺ (เรื่องไม่มีในศาสนา)? จึงขอตอบว่า มันเกี่ยวกันตรงที่การทำบิดอะฮฺจะเกิดได้กับใครก็ได้ ที่อะกีดะฮฺอ่อนไม่เคร่งครัด ไม่ให้ความสำคัญต่อกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺนบีเข้าทำนอง อะไรก็ได้ขอให้เป็นเรื่องดีก็แล้วกันการยึดมั่นต่อกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ นำสู่ความสงบสุข ความปลอดภัย

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

     “เราได้กล่าวว่า พวกเจ้าจงออกไปทั้งหมดจากสวนนั้น แล้วหากคำแนะนำจากข้ามายังพวกเจ้าแล้ว ผู้ใดที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของข้าก็ไม่มีความกลัวใดๆ แก่พวกเขา และทั้งพวกเขาก็จะไม่เสียใจ

(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 38) 

           ความกลัว คือ รู้สึกไม่อยากประสบเรื่องที่ไม่ดีแก่ตัวเองในอนาคต ส่วนความเสียใจ คือ รู้สึกไม่สบายใจ เพราะมีเรื่องไม่สมประสงค์ในชีวิตที่ผ่านมา การจะขจัดความกลัว และความเสียใจให้ได้ก็ด้วย การยึดมั่นต่อกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺนบี ผลดีที่ตามมาก็คือ การมีจิตใจที่สงบสุข ไม่กังวลอีกต่อไป ไม่ตกเป็นเหยื่อของความชั่วร้ายอีกต่อไป

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

     “เจ้าทั้งสอง จงออกไปจากสวนสวรรค์ทั้งหมด โดยบางคน (ลูกหลาน) ในหมู่พวกเจ้าเป็นศัตรูกับอีกางคน บางที เมื่อมีคำแนะนำ (ฮิดายะฮฺ) จากข้ามายังพวกเจ้า แล้วผู้ใดปฏิบัติตามคำแนะนำ (ฮิดายะฮฺ) ของข้า เขาก็จะไม่หลงผิด และจะไม่ได้รับความลำบาก

 

     (1) คืออัลลอฮฺ ตรัสแก่อาดัมและฮาวาว่า เจ้าทั้งสองจงออกไปจากสวนสวรรค์ไปยังแผ่นดิน โดยไปอยู่รวมกัน บางคนในหมู่ลูกหลานของเจ้าทั้งสองก็จะเป็นศัตรูต่อกัน เพราะการแสวงหาอาชีพ การมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน และความต้องการที่แตกต่างกัน 

     (2) คือเมื่อมีคัมภีร์ และร่อซูลจากข้ามายังพวกเจ้า เพื่อชี้แนะพวกเจ้าไปสู่แนวทางที่ถูกต้องแล้ว ผู้ใดยึดมั่นต่อบทบัญญัติของข้า และปฏิบัติตามร่อซูลของข้าแล้ว เขาจะไม่หลงทางในโลกดุนยา และจะไม่ได้รับความลำบากในโลกอาคิเราะฮฺ

 

     “และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงข้า แท้จริงสำหรับเขาคือ การมีชีวิตอยู่อย่างคับแค้น (*1) และเราจะให้เขาฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺในสภาพของคนตาบอด

(*1) คือ ไม่ปฏิบัติตามบัญญัติของข้าแล้ว เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างยากแค้นถึงแม้ชีวิตที่เห็นจากภายนอกจะสุขสบายดีก็ตาม

 

     “เขากล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์จึงทรงให้ข้าพระองค์ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในสภาพของคนตาบอดเล่า ทั้งๆ ที่ข้าพระองค์เคยเป็นคนตาดี มองเห็น

(ตอฮา 20 : 123-125)

          คือเขาจะกล่าวว่า โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ ด้วยบาปอันใด พระองค์จึงลงโทษข้าพระองค์ให้อยู่ในสภาพของคนตาบอด ทั้งๆ ที่ในโลกดุนยา ข้าพระองค์เป็นคนตาดี

 

(การยึดมั่นต่อกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ จะได้อยู่ร่วมกับนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมและคนดีทั้งหลาย)

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

     “และผู้ใดที่เชื่อฟังอัลลอฮฺ และร่อซูลแล้ว ชนเหล่านี้จะอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงกรุณาเมตตาแก่พวกเขา อันได้แก่บรรดานบี บรรดาผู้ที่เชื่อโดยดุษฎี(*1) บรรดาผู้ที่เสียชีวิตในสงคราม และบรรดาผู้ที่ประพฤติดีและชนเหล่านี้แหละเป็นเพื่อนที่ดี

 

(*1) ผู้ที่เชื่อด้วยความดีในทุกสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แจ้งให้ทราบ เช่น ท่านอบูบักรฺ เป็นต้น ความกรุณาดังกล่าวนั้นมาจากอัลลอฮฺ และพอเพียงแล้วที่อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้

(อันนิซาอฺ 4 : 69-70) 

          การได้ใกล้ชิดท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตลอดไป เป็นยอดปรารถนาของสาวกสมัยท่าน พวกเขาอยากเห็นท่านทุกเวลา และพวกเราหล่ะถึงจะเกิดไม่ทันท่าน แต่จะมีใครสักคนไหม ที่พอจะหยิบยกให้เห็นเป็นตัวอย่างในการอยากเห็น อยากใกล้ชิดท่านนบี

 

          ท่านอิมามมุสลิมได้บันทึกไว้ในซอฮี๊ฮฺของท่านว่า รายงานจากท่านร่อบีอะฮฺ บิน กะอฺบ อัลอัสลามีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ข้าได้จัดเตรียมน้ำเพื่อใช้ทำธุระ เช่น ใช้อาบน้ำละหมาด มาให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า : ถามอะไรฉันไหม

ข้าพเจ้าจึงเอ่ยว่า : อยากใกล้ชิดท่านในสวรรค์ 

ท่านกล่าวต่อว่า : มีอะไรที่จะถามอีกไหม

ข้าพเจ้าตอบว่า : ขอเท่านี้พอแล้ว 

ดังนั้น ท่านจึงกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า : ช่วยปฏิบัติตามฉันด้วยกับการสุญูดให้มากๆ

 

(การยึดมั่นในกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ เป็นหนทางสู่ความสำเร็จทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ)

 

โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! จงยำเกรงอัลลอฮฺ(1*) และจงกล่าวถ้อยคำที่เที่ยงธรรมเถิด(*2)”

 

(*1) จงยำเกรงอัลลอฮฺในทุกคำพูด และการกระทำของพวกเจ้า

(*2) คือถ้อยคำที่เป็นที่โปรดปรานแด่อัลลอฮฺเท่านั้น

 

     “พระองค์จะทรงปรับปรุงการงานของพวกเจ้าให้ดีขึ้นสำหรับพวกเจ้า(*3) และจะทรงอภัยโทษความผิดของพวกเจ้าให้แก่พวกเจ้า และผู้ใดเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์ แน่นอนเขาได้รับความสำเร็จใหญ่หลวง(*4)” 

(อัลอะฮฺซ๊าบ 33 : 70-71)

(*3) คือพระองค์จะประทานความสำเร็จและรับการงานที่ดีของพวกเจ้า

(*4) คือบรรลุสู่เป้าหมายที่เขาต้องการ

 

          ต้องยอมรับเสียก่อนว่า อัลลอฮ์วัดความสำเร็จกับความล้มเหลวไม่เหมือนที่มนุษย์วัด กล่าวคือ พระองค์จะวัดผลสำเร็จของมนุษย์ที่การได้สวรรค์ตอบแทน และพ้นจากนรกอเวจี

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า 

     “แต่ละชีวิตนั้น จะได้ลิ้มรสแห่งความตาย และแท้จริง ที่พวกเจ้าจะได้รับรางวัลของพวกเจ้าโดยครบถ้วนนั้น คือ วันปรโลก แล้วผู้ใดที่ถูกให้ห่างไกลจากไฟนรก และถูกให้เข้าสวรรค์แล้วไซร้ แน่นอน เขาก็ชนะแล้ว

     และชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้นั้น มิใช่อะไรอื่นนอกจากสิ่งอำนวยประโยชน์แห่งการหลอกลวงเท่านั้น

(อาละอิมรอน 3 : 185)

 

(การยึดมั่นต่อกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ เป็นหนทางสู่ความเมตตากรุณา)

 

          เราะฮฺมะฮฺ บ้างก็เรียก เราะห์มัต คือ ความเมตตากรุณา ซึ่งทุกคนถวิลหาอยากให้เกิดแก่ตัวเอง สามีภรรยา บิดามารดาบุตร ครูลูกศิษย์ และให้เกิดแก่ประเทศชาติบ้านเมืองที่อาศัยอยู่ และเราะฮฺมะฮฺนี้ คือ สิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมชาวซุนนะฮฺอยู่ได้ตลอดมา

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า 

     “และบรรดามุอฺมินชาย และบรรดามุอฺมินหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน ซึ่งพวกเขาจะใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ชอบและห้ามปรามในสิ่งที่ไม่ชอบ

     และพวกเขาจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และจ่ายซะกาต และภักดีต่ออัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์ ชนเหล่านี้แหละอัลลอฮฺจะทรงเอ็นดูเมตตาแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ

     อัลลอฮฺได้ทรงสัญญาแก่บรรดามุอฺมินชาย และบรรดามุอฺมินหญิง ซึ่งบรรดาสวนสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายใต้สวนสวรรค์เหล่านั้น โดยที่พวกเขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล

     และบรรดาสถานที่พำนักอันดี ซึ่งอยู่ในบรรดาสวนสวรรค์แห่งความวัฒนาสถาพร และความปิติยินดีจากอัลลอฮฺนั้นใหญ่กว่า นั่นคือ ชัยชนะอันใหญ่หลวง

(อัตเตาบะฮฺ 9 : 71-72)

 

(การยึดมั่นในกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ คือ ทางสู่เอกภาพและการรอดพ้นจากการแตกแยก)

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

     “และจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์เถิด และจงอย่าขัดแย้งกัน จะทำให้พวกเจ้าย่อท้อ และทำให้ความเข้มแข็งของพวกเจ้าหมดไป และจงอดทนเถิด แท้จริง อัลลอฮฺนั้นทรงอยู่กับผู้ที่อดทนทั้งหลาย

(อันอัลฟาล 8 : 46)

 

          อายะฮฺดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นเหตุและผลว่า ถ้าเชื่อฟังอัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์ และ ไม่ขัดแย้งกัน ผลก็คือ การเป็นเอกภาพ ไม่มีการแตกแยกในหมู่คณะ ทำให้การพัฒนาสิ่งต่างๆ คล่องตัวไม่ติดขัด ประวัติศาสตร์ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด ในครั้งที่มุสลิมมีชัยชนะเหนือพวกมุชริกีนในสงครามบัดรฺ สาวกเห็นไม่ตรงกันเรื่องทรัพย์เชลยศึก เพราะความอยากได้ อัลลอฮฺ ตะอาลา จึงได้มีพระบัญชาให้พวกเขา จงเชื่อฟังพระองค์ และเชื่อฟังร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ความขัดแย้งจึงยุติลง

 

          ฉะนั้น การยึดกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ หรือยึดหลักศาสนา คือ หนทางเดียวที่ชาวอาหรับยอมรับและยอมยุติ เท่ากับว่ากิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ คือ ศูนย์รวมความเป็นเอกภาพ และภราดรภาพ

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

     “และได้ทรงให้สนิทสนมระหว่างหัวใจของพวกเขา(*1) หากเจ้าได้จ่ายสิ่งที่อยู่ในแผ่นดินทั้งหมด เจ้าก็ไม่สามารถให้สนิทสนมระหว่างหัวใจของพวกเขาได้ แต่ทว่า อัลลอฮฺนั้น ได้ทรงให้สนิทสนมระหว่างพวกเขา และแท้จริงพระองค์นั้นคือ ผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ

(อัลอันฟาล 8 : 63)

(*1) คือ ระหว่างหัวใจของบรรดาผู้ศรัทธา

 

(การยึดมั่นในกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ คือ หนทางเดียวที่ทำให้การงานถูกตอบรับ)

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

     “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลลอฮฺ และจงเชื่อฟังปฏิบัติตามร่อซูลคนนี้เถิด และอย่าทำให้การงานของพวกเจ้าไร้ประโยชน์(*1)”

 

(*1) บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเชื่อฟังและปฏิบัติตามอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ อย่าทำให้การงานของพวกเจ้าไร้ผลด้วยการอวดอ้าง การทำชิริก และการฝ่าฝืนข้อบัญญัติ

 

การงานที่ดีที่สร้างสมไว้ จะถูกตอบรับจากพระองค์อัลลอฮฺก็ด้วยเงื่อนไข 2 ประการต่อไปนี้

1. ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา

      อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

     “และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใด นอกจาก เพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์ เป็นผู้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรง และดำรงการละหมาด และจ่ายซะกาต และนั่นแหละคือศาสนาอันเที่ยงธรรม

(อัลบัยยินะฮฺ 98 : 5)

 

2. ประพฤติ ปฏิบัติตามท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม 

     มีรายงานจากท่านมาลิก บิน อัลฮุวัยริษ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่าท่านทั้งหลายจงละหมาด เหมือนกับที่ฉันเห็นฉันละหมาด

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)

 

(ยึดมั่นในกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ ควบคู่กัน)

 

          บางท่านอาจยังไม่รู้ว่า ยังมีกลุ่มชนที่ยึดถือเฉพาะอัลกุรอานเท่านั้น ไม่ยึดถืออัลฮะดิษ หรือซุนนะฮฺ ซึ่งเป็นอันตรายยิ่ง เพราะเป็นความเชื่อ หรือการยึดถือที่ผิด ที่ถูกต้องคือ ยึดถือทั้งอัลกุรอานและซุนนะฮฺควบคู่กันไป จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ซุนนะฮฺหรืออัลฮะดิษ ถูกประทานมาจากพระองค์อัลลอฮฺเหมือนกัน

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

     “และอัลลอฮฺได้ประทานคัมภีร์ลงมาแก่เจ้า และความเข้าใจในบทบัญญัติแห่งคัมภีร์นั้นด้วย และได้ทรงสอนเจ้าในสิ่งที่เจ้าไม่เคยรู้มาก่อน และความกรุณาของอัลลอฮฺที่มีแก่เจ้านั้นใหญ่หลวงนัก

(อันนิซาอฺ 4 : 113)

 

          อิมามชาฟิอี (ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ) กล่าวว่าฉันเคยได้ยินนักวิชาการหลายคนกล่าวว่าอัลฮิกมะฮฺในอายะฮฺดังกล่าว หมายถึง ซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีหลักฐานชี้ชัดจากอัลกุรอาน ถึงสถานะของซุนนะฮฺว่าเป็นวะฮีย์เหมือนอัลกุรอาน ต้องอ่านเหมือนอัลกุรอานเช่นกัน

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

     “และจงอ่านสิ่งที่ได้ถูกอ่านในบ้านเรือนของพวกเธอ (เช่น) จากอายาตทั้งหลายของอัลลอฮฺ และ ฮิกมะฮฺ(*1) แท้จริง อัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้อย่างละเอียด ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง

(อัลอะฮฺซ๊าบ 33 : 34)

(*1) คือ พวกเธอจงอ่านอายาตต่างๆ ของอัลกุรอาน และซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพราะในอายาตต่างๆ และซุนนะฮฺมีแต่ความจำเริญและความสำเร็จ

 

          อีกประการหนึ่งที่สำคัญมาก็คือ ฮุก่มต่างๆ ในอัลกุรอานกล่าวไว้โดยสังเขป ซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะมาแยกแยะรายละเอียดของฮุก่มนั้นๆ อีกทีนึง เช่น ฮุก่อมการละหมาด อัลลอฮฺทรงใช้ให้ละหมาดไว้ในอัลกุรอาน แต่ไม่ได้บอกถึงวิธีละหมาด หรือ จำนวนร็อกอัตของแต่ละละหมาด ถ้าไม่มีซุนนะฮฺมาอธิบายหรือบอกวิธีละหมาด เราจะละหมาดกันอย่างไร?

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

    “และเราได้ให้อัลกุรอานแก่เจ้า เพื่อเจ้าจะได้ชี้แจง (ให้กระจ่าง) แก่มนุษย์ ซึ่งสิ่งที่ได้ถูกประทานมาแก่พวกเขา และเพื่อพวกเขาจะได้ไตร่ตรอง

(อันนะฮฺลฺ 16 : 44)

 

          ซึ่งหมายถึงว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีหน้าที่มาอธิบาย และแจกแจงฮุก่มต่างๆ ในอัลกุรอานให้กระจ่างใสขึ้น แต่การพูด การอธิบาย ท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ได้ถือวิสาสะทำเอง แต่เป็นวะฮีย์ที่พระองค์ทรงให้มาพูดหรือมาทำเช่นนั้น อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

 

และเขา (มุฮัมมัด) มิได้พูดตามอารมณ์ แต่มันคือวะฮีย์ที่ถูกประทานลงมา

(อันนัจมฺ 53 : 3-4)

 

 

อนุสรณ์ งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร