ความสำคัญของมารยาทสำหรับคนทำงานศาสนา
เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม
มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก
การที่อัลลอฮฺได้มอบความรู้ความเข้าใจในศาสนาของพระองค์ให้แก่คน คนหนึ่งถือว่าเป็นความประเสริฐยิ่งสำหรับบุคคลนั้น เพราะความรู้คือแสงสว่าง ความรู้คือสิ่งที่จะมาพัฒนาตัวบุคคล และด้วยกับความรู้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ภารกิจของบุคคลที่มีความรู้นอกจากปฏิตามความรู้ที่ตัวเองมีอยู่ จะต้องนำความรู้ไปเผยแผ่สั่งสอนให้ผู้คนมีความเข้าใจ และจะต้องมีความอดทนในการทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนา
บางครั้งการเผยแผ่ศาสนาต้องอาศัยทั้งกำลังกาย กำลังความคิด กำลังทรัพย์ ผู้ที่ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาจะไม่สามารถยืนหยัดทำหน้าที่อันนี้ได้ หากขาดปัจจัยต่างๆเหล่านั้น คนทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาจะถูกทดสอบด้วยกับการขาดปัจจัยด้านทรัพย์ นักเผยแผ่บางท่านไม่สามารถยืนหยัดที่จะทำหน้าที่ในการเผยแผ่ศาสนาได้ เพราะขาดปัจจัยเกื้อหนุนทางด้านทุนทรัพย์ แต่บางครั้งนักเผยแผ่บางคนอาจจะถูกขัดขวางไม่ให้นำความรู้มาสอนผู้คน ถูกกล่าวหาว่านำสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาสอนแก่ผู้คน และยังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่ทำลายคำสอนศาสนา ตั้งลัทธิใหม่ และอีกมากมายที่ถูกกล่าวหา และบางครั้งอาจจะถูกข่มขู่หมายเอาชีวิต ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่บรรดานักเผยแผ่ศาสนาจะต้องประสบ
แต่ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในการเผยแผ่ศาสนาในยุคปัจจุบันก็คือ ความขัดแย้งระหว่างตัวนักเผยแผ่ศาสนา หรือตัวองค์กรที่นักเผยแผ่ศาสนาสังกัดอยู่ จนบางครั้งนำไปสู่การกระทบกระทั่ง การพูดจาเสียดสีดูถูกดูแคลนกันระหว่างผู้ที่ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนา ไม่ให้เกียรติ ด่าทอกันโดยใช้คำพูดที่ไม่ดีระหว่างกัน การทำงานศาสนานั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ประสบเรื่องของความเห็นต่าง
การเห็นต่างกัน เช่น วิธีการที่จะเผยแผ่ศาสนา หรืออาจจะมีสำนวนที่นำมาใช้ในการเผยแผ่ศาสนา บางคนอาจจะมีคำพูดที่แข็งกร้าวพูดจาตรงไปตรงมาตามบุคคลิกของตัวเอง บางคนอาจจะพูดจานิ่มนวลหลีกเหลี่ยงการใช้คำที่กระทบความรู้สึกของผู้คน นักเผยแผ่ศาสนาจึงมีสำนวนการเผยแผ่ศาสนาตามเอกลักษณ์ของตัวเอง และตามความถนัด
บางคนมีความถนัดเชี่ยวชาญด้านหลักความเชื่อเขาอาจจะเน้นหนักในการพูดเรื่องหลักความเชื่อ และสิ่งที่ทำให้ความเชื่อของมุสลิมต้องบกพร่องไปเมื่อกระทำบางสิ่งบางอย่าง บางคนมีความถนัดด้านประวัติศาสตร์ บางคนมีความถนัดด้านฟิกฮฺ ดังนั้นการที่บางคนไม่ค่อยพูดถึงเรื่องหลักความเชื่อก็ไม่ได้หมายถึงว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องหลักความเชื่อ อาจจะเป็นเพราะว่าเขาเห็นนักวิชาการท่านอื่นที่ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆได้พูดไว้แล้ว เพราะอิสลามไม่ได้มีคำสอนว่าความรู้เราต้องรับจากนักวิชาการแค่คนเดียว เราต้องรับความรู้จากนักวิชาการอะลุซซุนนะห์ทุกคน
จุดเด่นของนักวิชาการซุนนะห์ พวกเขาจะไม่มีความขัดแย้งกันในประเด็นที่เป็นรากฐานของหลักความเชื่อ แต่อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันอีกไปในประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ และการที่นักวิชาการมีความเห็นในเรื่องปลีกย่อยจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นจากหลายๆสาเหตุด้วยกัน แต่ความเห็นต่างเหล่านั้นไม่ได้มาทำลายการเป็นพี่น้องในศาสนา พวกเขาสามารถช่วยเหลือร่วมมือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรมความดี
การตัดขาดพี่น้องและการใช้คำพูดด่าทอกันแบบไม่ให้เกียรติเพียงแค่สาเหตุความเห็นต่างในประเด็นศาสนา คงไม่ใช่แนวทางของบรรดานบี บรรดาคนดีแห่งบรรพชนรุ่นก่อนๆอย่างแน่นอน อัลลอฮฺยังใช้ท่านนบี มูซาอะลัยอิสสลาม ให้ใช้คำพูดอ่อนโยนเมื่อไปหาฟิรเฮานฺ
اذْهَبَا إِلَىٰ فِرْعَوْنَ إِنَّهُ طَغَىٰ ( 43 )
“เจ้าทั้งสองจงไปหาฟิรเอาน์ แท้จริงเขายะโสโอหังมาก”
فَقُولَا لَهُ قَوْلًا لَّيِّنًا لَّعَلَّهُ يَتَذَكَّرُ أَوْ يَخْشَىٰ ( 44 )
“แล้วเจ้าทั้งสองจงพูดกับเขาด้วยคำพูดที่อ่อนโยน บางทีเขาอาจจะรำลึกขึ้นมา หรือเกิดความยำเกรงขึ้น”
นี่คือคำสั่งที่อัลลอฮใช้รอซูลของพระองค์ในการใช้คำพูดที่อ่อนโยนในการเรียกร้องฟิรเฮานฺมาสู่การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เพราะการใช้คำพูดที่ดี ที่เกิดจากความห่วงใยย่อมสามารถเข้าถึงจิตใจผู้คนได้ และการปฏิบัติของบรรดานบีนั้น คือแบบอย่างที่บรรดานักเผยแผ่ศาสนาต้องกลับไปศึกษา เพื่อนำบทเรียนต่างๆเหล่านั้นมาเป็นแนวในการทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนา เพื่อให้การเผยแผ่ศาสนาเข้าถึงทุกกลุ่มคน และจะทำให้มีการตอบรับคำเชิญชวนมากขึ้น
หากผู้ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาแต่ละคนสามารถทำให้ผู้คนเข้าใจในศาสนาของอัลลอฮฺ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใด แน่นอนความดีจะเกิดขึ้นในสังคม
คุณลักษณะของนักเผยแผ่ศาสนาที่ต้องมีนั้นหลายคุณลักษณะด้วย เช่น ความเฉลียวฉลาด ความสุขุมรอบคอบ ไม่พูดจาไร้สาระ จะต้องไตร่ตรองคำพูดของตัวเอง รู้จักใช้คำพูดให้เหมาะสมกับบุคคล สถานที่และเวลา และต้องมีวุฒิภาวะคำพูดที่ใช้สนทนาเรียกร้องผู้คนต้องไม่เป็นสิ่งที่มาทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง
หากมีความจำเป็นในการโต้แย้ง ก็ต้องเป็นการโต้แย้งทางวิชาการโดยใช้สำนวนที่ส่งผลต่อสติปัญญาของผู้คน และต้องเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ผู้คน จะต้องไม่ใช้คำพูดที่นำไปสู่ความเกลียดชังอาฆาตพยาบาท และการดูถูกเหยียดหยามกัน ซึงการกระทำต่างๆ เหล่านั้นไม่มีเคยปรากฏจาก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ดังหะดีษ จากอับดุลลอฮฺ บิน อัมร์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า :
لَمْ يَكُنْ النبيُّ فَاحِشًا وَلاَ مُتَفَحِّشًا، وَقَالَ: قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ «إِنَّ مِنْ أَخْيَرِكُمْ أَحْسَنَكُمْ خُلُقًا»
“ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่เคยเป็นคนหยาบช้าและไม่เคยเป็นคนที่พูดจาหยาบคาย
และท่านกล่าวได้ว่า “แท้จริง ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่สูเจ้า คือ ผู้ที่มีอุปนิสัยดีที่สุด”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ตามสำนวนนี้ : 3559 และมุสลิม : 2321)
นี่คือหนึ่งในมารยาทที่บรรดานักเผยแผ่ต้องนำมาใช้เป็นแนวทาง ในการเชิญชวนผู้คนมาสู่ศาสนาของอัลลอฮฺ เพื่อเขาจะได้เป็นนักเผยแผ่ที่ประสบความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้า