ให้รีบฉวยโอกาส ในการทำงานที่ดี
โดย อาจารย์เฟาว๊าซ ปานเหล็ง
โอ้ บรรดามนุษยชาติทั้งหลาย จงมีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิดและจงใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาของชีวิตของพวกท่าน เพื่อทำในสิ่งที่ยังประโยชน์ต่อพวกท่านในวันอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“วันที่ทรัพย์สมบัติและลูกหลาน จะไม่อำนวยประโยชน์ใดๆ ได้เลย
นอกจากผู้ที่มาหาอัลลอฮฺด้วยหัวใจบริสุทธิ์ผ่องใส”
(อัชชุอะร็ออฺ 26 : 88-89)
หัวใจที่บริสุทธิ์ คือ หัวใจที่ปราศจากการตั้งภาคี การอิจฉา และการแค้นเคือง
และพึงรู้เถิดว่า แท้จริง เวลานั้นมีค่า และพึงรู้เถิดว่า ทุกช่วงเวลาที่ผ่านไป โดยที่ไม่ได้ประกอบคุณงามความดีนั้น ถือว่า พวกท่านนั้นขาดทุน และจะเสียใจกับเวลาที่ผ่านไป
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“ขอสาบานด้วยกับเวลา (อัลอัศริ) คือ กาลเวลาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางคืน กลางวัน เช้า เย็น”
“แท้จริง มนุษย์นั้นอยู่ในการขาดทุน”
“นอกจาก บรรดาผู้ศรัทธาและการทำความดีทั้งหลาย ตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน”
(อัลอัศรฺ 103 : 1-3)
ท่านอิบนิ กะซี๊ร ได้กล่าวว่า “อัลอิศริ คือ กาลเวลาที่ลูกหลานอาดัมได้ใช้ชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะกระทำดีหรือไม่ดีก็ตาม”
คือ การที่มนุษย์ทุกคนอยู่ในการค้าขาย หรือการแสวงหา หรือช่วงอายุที่ผันแปรไปในการทำงานในดุนยานี้ อยู่ในการบกพร่อง ขาดทุน และหลงจากความจริง จนกระทั่งเขาตายและหายนะ เพราะเขามีชีวิตอยู่ในความลำบาก แท้จริง พวกเขาจะมีแต่กำไรโดยไม่ขาดทุน ถ้าพวกเขานั้นกระทำการงานต่างๆ เพื่ออาคิเราะฮฺ และไม่หมกมุ่นอยู่กับการงานของดุนยา
โอ้ มุสลิมทั้งหลาย ท่านพิจารณาดูสิว่า ท่านต้องการที่จะอยู่ในจำพวกไหน จากบรรดาผู้ที่ขาดทุน หรือบรรดาผู้ประสบความสำเร็จ (ผู้ที่ได้กำไร) แท้จริง เวลาต่างๆ ที่ได้ผ่านเข้ามาในชีวิต ถือเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ เมื่อมันผ่านไปแล้ว ก็ไม่สามารถหวนกลับคืนมาได้อีก และแท้จริง อายุของคุณและการกระทำจะถูกบันทึกและถูกคิดบัญชี ดังนั้น จงรีบฉวยโอกาสนี้ ก่อนที่มันจะผ่านไป
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทำให้กลางคืน กลางวันเป็นเวลาเพื่อการอิบาดะฮฺ ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า
“และพระองค์ คือ ผู้ทรงบันดาลให้มีกลางคืนและกลางวันหมุนเวียนแทนที่กัน (คือ กลางวันจะมาพร้อมกับแสงสว่าง และกลางคืนก็ติดตามมาพร้อมกับความมืด) สำหรับผู้ที่ปรารถนาจะใคร่ครวญ (ใคร่ครวญถึงสัญญาณต่างๆ ของอัลลอฮฺ และความมหัศจรรย์ในการสร้างของพระองค์) หรือปรารถนาจะกตัญญูขอบคุณ”
(อัลฟุรกอน 25 : 62)
และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงบัญญัติละหมาดห้าเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน ในเวลาของมัน ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า
“จงดำรงละหมาด ตั้งแต่ตะวันคล้อยจนกระทั่งพลบค่ำ และการอ่านยามรุ่งอรุณ”
(อัลอิสร็ออฺ 17 : 78)
ที่ใช้สำนวนการอ่านยามรุ่งอรุณก็เพราะว่า การละหมาดเวลาซุบฮิให้อ่านต้นยาวๆ ในอายะฮฺนี้ เป็นการชี้ถึงเวลาละหมาดที่ถูกกำหนดไว้ คือ การละหมาดตั้งแต่ตะวันคล้อย และยังได้ทรงบัญญัติการละหมาดซุนนะฮฺต่างๆ ที่ไม่อยู่ในช่วงเวลาของการห้ามละหมาด
และยังได้ทรงบัญญัติให้มีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ (ซิกรุลลอฮฺ) ด้วยการกล่าว
ต๊ะฮฺลีล : ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ
ตัสเบี๊ยะฮฺ : ซุบฮานัลลอฮฺ
ตักบีร : อัลลอฮุอักบัร
ต๊ะฮฺมีด : อัลฮัมดุลิลลาฮฺ
และในทุกๆ เวลา โดยเฉพาะหลังเวลาละหมาด ในตอนเช้าและตอนเย็น
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ตรัสว่า
“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มากๆ ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากมาย และจงแซ่ซ้อง สรรเสริญ สดุดีพระองค์ทั้งในยามเช้าและในยามเย็น”
(อัลอะฮฺซ๊าบ 33 : 41-42)
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“ดังนั้น พวกเจ้าจงรำลึกนึกถึงข้าเถิด ข้าก็จะรำลึกถึงพวกเจ้า และจงกตัญญูต่อข้าเถิด และอย่าได้เนรคุณต่อข้าเลย”
(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 152)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะทำการรำลึกถึงอัลลอฮฺในทุกสภาพ
เมื่อเราพิจารณาถึงการอิบาดะฮฺที่เป็นการถือศีลอด เราได้พบว่า
อัลลอฮฺ ทรงบัญญัติการถือศีลอดหนึ่งเดือน จากหนึ่งปี (นั่นคือ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน)
และได้มีบัญญัติการถือศีลอดซุนนะฮฺในทุกสัปดาห์ นั่นก็คือ การถือศีลอดวันจันทร์ และวันพฤหัสบดี
และยังมีการถือศีลอดประจำเดือน คือ 3 วัน ในทุกๆ เดือน (คือ วันที่ 13-14-15 ของทุกเดือน) หรือเรียกว่า “อัยยามุลบัยฏ”
และยังมีการถือศีลอดเฉพาะเจาะจงบางวัน ในบางเดือนด้วย เช่น การถือศีลอดในช่วง 10 วันแรกของเดือนซุลฮฺจญะฮฺ
การถือศีลอด “ซิตตะ เชาว้าล” (คือ การถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเชาว้าล)
สำหรับผู้ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และการถือศีลอดในเดือนชะอฺบานที่ถือมากที่สุด (คือ เป็นเดือนที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ชอบให้ถือมากที่สุด)
และในทุกเดือนของอัลลอฮฺ คือ เดือนมุฮัรรอม (คือ การถือศีลอดในวันที่ 9-10 / 10-11 ของเดือนมุฮัรรอม)
และผู้ใดที่มีพละกำลังและความสามารถ และเขาต้องการที่จะถือศีลอดเพิ่มอีก เขาก็สามารถถือศีลอดวันเว้นวันได้ เช่น การถือศีลอดของท่านนบีดาวูด เว้นแต่ห้ามถือศีลอดในวันที่ถูกห้าม (เช่น วันอีดทั้งสอง คือ อีดิ้ลฟิตริ และอีดิ้ลอัฎฮา หรือ อัยยามุตตัชรี๊ก)
ทรัพย์สิน ส่วนการอิบาดะฮฺทางด้านทรัพย์สิน ทั้งที่เป็นวาญิบและซุนนะฮฺนั้น เราจะพบว่า แท้จริง อัลลอฮฺนั้น ทรงชมเชยบรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์สินโดยทั่วไปตามที่เขาประสงค์ หรือมีความต้องการ
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“บรรดาผู้ที่บริจาคทรัพย์ของพวกเขา ทั้งในเวลากลางคืนและกลางวันทั้งโดยลับและเปิดเผยนั้น พวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขา ณ พระเจ้าของพวกเขา โดยไม่มีความกลัวอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแก่พวกเขา (ในวันกิยามะฮฺ) และพวกเขาก็จะไม่เสียใจ”
(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 274)
ทรงบัญญัติการออกซะกาตจากทรัพย์สินที่เป็นการเฉพาะเจาะจง (เช่น บริษัท การค้า)
และได้ทรงบัญญัติการทำฮัจญ์ครั้งหนึ่งในชีวิต สำหรับผู้ที่มีความสามารถ และหากเขาจะทำอีกก็ถือว่า เป็นซุนนะฮฺ และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังส่งเสริมในการทำอย่างต่อเนื่องระหว่างฮัจญ์และอุมเราะฮฺ
จากการนำเสนอแบบสรุปนี้ เราจะตระหนักได้ว่า ชีวิตมนุษย์ทั้งชีวิตนั้นจะใช้ไปในการทำงานที่ดี จนกระทั่งแม้ช่วงเวลาที่เขาพักผ่อน ใช้ในการนอน การกิน การดื่ม การอยู่กับครอบครัวและการอยู่กับพี่น้อง เมื่อเขาได้ตั้งเจตนาด้วยกับความยำเกรงว่าเป็นอิบาดะฮฺ มันก็จะเป็นอิบาดะฮฺ และเขาจะได้รับผลตอบแทน (คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไร หากเจตนาว่าทำเพื่ออัลลอฮฺ ทุกอย่างก็จะเป็นอิบาดะฮฺและเขาก็จะได้รับผลบุญด้วย)
บรรดามุสลิมทั้งหลาย เมื่อเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญ และหากเขาไม่ใช้มันไปในสิ่งที่ดี เขาก็จะขาดทุน เป็นการขาดทุนที่ไม่สามารถทดแทนได้
แท้จริง จำเป็นที่มนุษย์ จะต้องรักษาเวลา ยิ่งกว่าการรักษาเงินทอง โดยจะไม่ใช้ไป เว้นแต่จะต้องเป็นประโยชน์ และเมื่อผู้ใดก็ตาม เขาได้สละทรัพย์สินของเขาไป และทำให้เสียหายไปโดยไม่มีประโยชน์ เขาจะถูกมองว่าเป็นคนที่โฉดเขลา แล้วห้ามไม่ให้ใช้เงิน (ควบคุม) ดังนั้น หากผู้ใดที่ทำให้เวลาของเขา เสียไป โดยไม่เป็นประโยชน์ ก็ถือว่าเขาเป็นคนที่โฉดเขลาที่สุด
“พึงรู้เถิดว่า พวกเขาเองนั่นแหละ เป็นผู้ที่โฉดเขลา แต่ทว่าพวกเขานั้น ไม่รู้”
(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 13)
“และใครเล่า ที่จะไม่พึงปรารถนาในแนวทางของอิบรอฮีม นอกจากผู้ที่ทำให้ตัวของเขาเองโฉดเขลาเท่านั้น”
(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 130)
(การตระหนี่เวลา คือ คนที่คิด แม้กระทั่งนาทีหรือวินาทีที่ต้องใกล้ชิดกับอัลลอฮฺว่าเป็นการเสียเวลา)
แน่นอน เราได้สูญเสียเวลาไปโดยที่ไม่ยังประโยชน์อย่างมากไปในสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตัวเราเอง เราจะตระหนี่ขี้เหนียว แม้แต่ในการที่จะทำสิ่งที่เป็นการ “ฏอฮะฮฺ” ภักดี เช่น เมื่อเข้ามัสญิด เขาจะคิดว่าเหมือนกับอยู่ในคุก จนกระทั่งได้ออกมาจากมัสญิดและเมื่อเข้ามาละหมาด เขาคิดว่าเหมือนถูกล่ามโซ่ตรวนไว้ จึงพยายามที่จะแก้ออก และเมื่อเขาละหมาดคนเดียว เขาก็ละหมาดเหมือนกับไก่จิกข้าว
บางคนจะไม่ไปมัสญิดเพื่อละหมาดห้าเวลาและวันศุกร์ เว้นแต่หลังจาก “อิกอมะฮฺ” หรือหลังจากที่ละหมาดไปแล้วหลายร็อกอะฮฺ เขากลัวว่าจะเสียเวลาของเขา เมื่ออยู่ในมัสญิด หรือฟังคุฏบะฮฺ หรือคำตักเตือน ! แต่ทว่า เขากลับไม่ตระหนี่ขี้เหนียวเวลา เมื่อดูโทรทัศน์หรือวิดีโอเป็นเวลานาน เขาไม่ตระหนี่เวลาในวงสนทนา ในการนินทาใส่ร้ายเป็นเวลานาน และเขาจะไม่ตระหนี่เวลาในการดูการแข่งขันกีฬาเป็นเวลานาน และเขาจะไม่ตระหนี่เวลาในการแสวงหาดุนยาและทรัพย์สินเป็นเวลานาน หรือแสวงหาสิ่งที่ ฮะรอม ไปตลาด ไปซื้อขายเป็นคนแรกและจะยังไม่กลับจนกระทั่งเป็นคนสุดท้าย ไม่ว่ามันจะร้อนหรือหนาว หรือไกลสักแค่ไหนก็ตาม ทั้งหมดนี้ เป็นความอ่อนแอ ต่ำต้อย ตราบใดที่ยังอยู่ในความปรารถนาของจิตใจที่ต้องการทำให้เป็นจริง
เวลาที่สั้นน้อยนิด ถือว่า ลำบากสำหรับเขา ในการที่จะทำสิ่งที่เป็นการ “ฏออะฮฺ” ภักดีต่ออัลลอฮฺ บรรดาคนดี (ซอลีฮีน) บางท่านได้ร้องไห้ขณะที่เขากำลังจะตาย
มีผู้กล่าวแก่เขาว่า “เวลาไหนที่ทำให้ท่านร้องไห้?”
เขาตอบว่า “ฉันร้องไห้ในตอนกลางคืน ที่ฉันได้ตื่นขึ้นมา และในเวลากลางวันที่ฉันได้ถือศีลอด”
พวกท่านทั้งหลาย จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด โอ้ บ่าวของอัลลอฮฺทั้งหลาย จงรีบเร่งขวนขวายทำ ความดีก่อนที่จะสายไป อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย อย่าให้ทรัพย์สินของพวกเจ้า และลูกหลานของพวกเจ้า หันเหพวกเจ้าจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และผู้ใดกระทำเช่นนั้น ชนเหล่านั้น คือ บรรดาผู้ที่ขาดทุน”
“และจงบริจาคจากสิ่งที่เราได้ให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า ก่อนที่ความตายจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใดในหมู่พวกเจ้า
แล้วเขาก็จะกล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ หากว่าพระองค์จะทรงผ่อนผันให้แก่ข้าพระองค์อีกสักชั่วเวลาหนึ่งเพียงเล็กน้อย เพื่อที่ข้าพระองค์จะได้บริจาค และข้าพระองค์ก็จะอยู่ในหมู่คนดีๆ ทั้งหลายก็จะดี”
“แต่อัลลอฮฺจะไม่ทรงผ่อนผันให้แก่ชีวิตใด เมื่อกำหนดของมันได้มาถึงแล้ว และอัลลอฮฺนั้น ทรงรู้ดียิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน”
(อัลมุนาฟิกูน 63 : 9-11)
อนุสรณ์ งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร