วันนี้ คุณตรวจสอบตัวเองแล้วหรือยัง...?
โดย บินตฺ ยะห์ยา
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว สำหรับบรรดาผู้มีศรัทธาว่า ทุกชีวิตนั้นจะต้องได้ลิ้มรสกับความตาย และชีวิตภายหลังความตายนั้น เราก็จะถูกฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในวันกิยามะฮฺ เพื่อที่จะมาพบกับวันแห่งการสอบสวน ซึ่งเป็นวันที่จะมีการคิดบัญชีการงานต่างๆ ที่เราได้กระทำไว้ในโลกดุนยา จะเป็นการตีแผ่ความดี และความชั่วโดยที่เราแต่ละคนนั้นจะได้พบเห็นผลของการงานต่างๆ ที่ได้เคยทำไว้ ไม่ว่าจะมากมาย หรือจะเล็กน้อยสักเพียงใดก็ตาม
ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
“ดังนั้น ใครก็ตามที่เขาทำความดีแม้เพียงน้อยนิด เขาก็จะได้เห็นมันและใครก็ตามที่ทำชั่วแม้เพียงน้อยนิด เขาก็จะได้เห็นมันเช่นกัน”
(อัซซัลซะละฮฺ 99 : 7-8)
และในวันนั้น เราทุกคนจะต้องยืนรอการตัดสินจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งเป็นการตัดสินที่เที่ยงธรรมที่สุด ทรงตัดสินปวงบ่าวของพระองค์ โดยไม่มีการอธรรมต่อชีวิตใดเป็นอันขาด เพราะมนุษย์ทุกคนนั้น จะมีพยานมายืนยันการงานที่เขาได้ทำไว้ ซึ่งพยายามนั้นก็คือ อวัยวะต่างๆ ของเขานั่นเอง ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
“วัน (กิยามะฮฺ) ซึ่งเป็นวันที่ลิ้นของพวกเขา มือของพวกเขา และเท้าของพวกเขา จะเป็นพยานยืนยันถึงสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ ”
(อันนู๊ร 24 : 24)
หลังจากการสอบสวนจากพยานทั้งหลาย ทั้งจากอวัยวะต่างๆ และจากบันทึกของมลาอิกะฮฺ ทั้งซ้ายและขวาแล้ว ก็จะเอาบรรดาการงานนั้นมาชั่งว่าความดีหรือความชั่วนั้น อันไหนจะหนักกว่ากัน และสุดท้ายเขาก็จะได้รู้ผลของการตัดสินอย่างชัดเจนว่าเขานั้นจะเป็นผู้หนึ่งจากชาวสวรรค์หรือชาวนรก อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
“การชั่งความดี และความชั่วในวัน (กิยามะฮฺ) นั้น เป็นความจริง ดังนั้น ผู้ใดที่ตราชูของเขาหนักด้วยคุณงามความดี พวกเขาเหล่านี้แหละคือผู้ได้รับความสำเร็จ
ส่วนผู้ที่ตราชูของเขาเบา ไร้คุณงามความดี พวกเขาเหล่านี้คือ ผู้สร้างความขาดทุนให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง ด้วยการที่พวกเขามิได้ให้ความเป็นธรรมต่อบรรดาอายาตต่างๆ ของเรา”
(อัลอะอฺร็อฟ 7 : 8-9)
สำหรับการสอบสวนนั้น สิ่งแรกที่มนุษย์จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ คือ เรื่องของสิทธิต่างๆ ที่เป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั่นก็คือ การละหมาด และเรื่องแรกที่จะถูกสอบสวนจากสิทธิของบ่าวก็คือ เรื่องของเลือดเนื้อ และชีวิต ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“สิ่งแรกที่ผู้เป็นบ่าวจะถูกสอบสวนคือ การละหมาด และสิ่งแรกที่จะถูกตัดสินระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็คือ เรื่องของเลือดเนื้อและชีวิต”
(บันทึกโดย อันนะซาอีย์)
และยังมีพื้นฐานอีก 4 เรื่อง ที่มนุษย์นั้นจะต้องถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ซึ่งมีรายงานจากฮะดิษของท่านมุอ๊าซ บิน ญะบัล กล่าวว่า
“ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า เท้าทั้งสองของผู้เป็นบ่าว จะไม่ก้าวออกไปในวัน กิยามะฮฺ จนกว่าเขาจะถูกถามเกี่ยวกับ 4 เรื่องเสียก่อน นั่นก็คือ
1. เกี่ยวกับอายุของเขา ว่าเขาใช้ให้มันหมดไปในทางใด ?
2. เกี่ยวกับวัยหนุ่มวัยสาวของเขา ว่าเขาใช้มันอย่างไร ?
3. เกี่ยวกับทรัพย์สินของเขา ว่าเขาได้มาอย่างไร ? และใช้จ่ายในทางใด ?
4. เกี่ยวกับความรู้ของเขา ว่าเขาใช้ความรู้ที่มีอยู่ไปอย่างไร ?
ดังนั้น เมื่อเรารู้ว่า วันกิยามะฮฺจะเกิดขึ้นจริงและการสอบสวนนั้นจะมีขึ้นจริงอย่างแน่นอน โดยที่เราไม่มีทางที่จะรอดพ้นจากการสอบสวนครั้งนี้ไปได้ จึงเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่เรา-ท่าน จะหันกลับมาพิจารณา กลับมาใคร่ครวญตนเองว่า ทุกช่วงเวลาในแต่ละวันนั้น เราใช้มันให้หมดไปกับสิ่งใดบ้าง ? เราใช้เวลาในแต่ละวัน กับการทำอิบาดะฮฺ รำลึกถึงอัลลอฮฺ หรือว่าใช้มันในการทำสิ่งไร้สาระ หรือสิ่งชั่วร้ายต่างๆ หรือไม่ ? และอย่างไร ?
ถึงเวลาที่เราจะต้องทบทวนตรวจสอบตัวเอง ก่อนที่เรานั้นจะไปพบกับการสอบสวนอันยิ่งใหญ่ ณ ที่พระองค์ ซึ่งเป็นการสอบสวนที่หนักหน่วง ดังเช่นที่ท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า
“ท่านทั้งหลาย จงสอบสวนทบทวนตนเอง ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะถูกสอบสวนคิดบัญชี
และท่านทั้งหลายจงเตรียมตัวเพื่อวันสอบสวนอันยิ่งใหญ่”
สิ่งที่เราควรเริ่มตรวจสอบนั่นก็คือ การละหมาด ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธถึงความสำคัญของสิ่งนี้ แล้วเราได้ให้ความสำคัญกับการละหมาดมากน้อยเพียงใด ? ปฏิบัติละหมาดครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ ? ทำตามขั้นตอน ตรงตามเวลาไหม ? ทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างแท้จริงหรือทำเพื่อเหตุผลอื่น ? เพราะการละหมาดนั้นจะเป็นสิ่งแรกที่เราจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ดังนั้น เมื่อเราตรวจสอบแล้วพบว่า
การละหมาดของเราบกพร่องไม่สมบูรณ์ ก็ให้เราปรับปรุง แก้ไขให้ดีขึ้น หันกลับมาตั้งใจทำละหมาดเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างแท้จริง โดยให้คิดว่า นี่จะเป็นละหมาดครั้งสุดท้ายของเรา !
จากนั้น เราก็มาตรวจสอบตนเอง เกี่ยวกับสิทธิของเพื่อนมนุษย์ว่า เรานั้นได้สร้างความอธรรมต่อ ผู้ใดบ้างหรือเปล่า ? หรือเราเคยไปละเมิดสิทธิของใครไว้บ้างไหม ? ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ ไม่ว่าจะมาจากคำพูด หรือการกระทำเพื่อที่เราจะได้ชดใช้บรรดาสิ่งที่เราได้ล่วงละเมิดทั้งหลายให้หมดไปตั้งแต่ในโลกดุนยานี้ เพราะในโลกอาคิเราะฮฺนั้น ชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทองที่เราสะสมไว้นั้น ไม่อาจที่จะทดแทนความผิดที่เราได้อธรรมต่อพวกเขาได้เลย
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ใครก็ตาม ที่มีสิทธิติดค้างอยู่กับพี่น้องของเขา ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เกียรติยศ หรือสิ่งใดก็ตาม ก็จงสะสาง ขอฮะล้าลให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยเสีย ก่อนที่วันที่ทรัพย์สิน เงินทอง (วันกิยามะฮฺ) จะไม่มีคุณค่าใดๆ โดยที่หากเขามีการงานที่ดี ก็จะถูกยึดเอาไปจากเขา ตามสิ่งที่เขาได้ก่ออธรรมไว้ และหากเขาไม่เหลือความดีอันใด เขาก็ต้องรับเอาความชั่วต่างๆ ของผู้ที่ถูกเขาละเมิดนั้น มาแบกไว้กับตัวเขาเอง”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)
การตรวจสอบตนเองนั้น หากเราหมั่นทำเป็นประจำสม่ำเสมอก็จะทำให้เรารู้ผลของงานที่เราทำในแต่ละวันว่าวันนี้เราทำความดีไว้ขนาดไหน หากว่าความดีที่ทำนั้นมีปริมาณน้อย ดังกล่าวนี้ก็จะเป็นการผลักดันให้เรามีความกระตือรือร้นในการทำความดีให้เพิ่มมากขึ้นไปอีกเป็นการเพิ่มแรงแห่งการศรัทธา เพิ่มความยำเกรงต่ออัลลอฮฺของเขา ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
และหากเขาพบว่ามีสิ่งใดที่ทำไปแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นการฝ่าฝืน เขาก็จะเกิดความเสียใจต่อสิ่งนั้นและเขาก็จะรีบเตาบัต กลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทันที เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้เขารู้สึกว่า การสอบสวนที่แท้จริงนั้นเบาบางลงได้บ้าง
และสำหรับใครที่ไม่เคยคิดที่จะหันกลับมาทบทวนตนเอง หากพวกเขายังคงปล่อยให้ตนเองนั้น ใช้ชีวิตไปตามอารมณ์ อยากทำอะไรก็ทำโดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ทำนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ หรือสั่งห้ามกระทำหรือไม่ ? ยอมให้ชัยฏอนมาครอบงำนำทาง เขาก็จะต้องพบกับการสอบสวนอันหนักหน่วง ไม่ว่าเขาจะมีคำสัญญา คำขอร้อง หรือคำอ้อนวอน ขอกลับมาแก้ตัวใหม่ใดๆ มากมายสักแค่ไหน เพียงใด ก็ไม่สามารถที่จะช่วยเขาได้เลย สุดท้ายบั้นปลายของเขาก็คือ การถูกทรมานในไฟนรกนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ จึงวิงวอนขอให้เรา-ท่านทั้งหลาย หันกลับมาทบทวนตนเองกันเถอะ หันกลับมาพิจารณาการงานที่เราได้ทำไปในแต่ละวันพยายามดำเนินชีวิตของเราให้อยู่ในขอบเขตของศาสนาหมั่นทบทวนความผิด และขออภัยโทษต่อพระองค์อัลลอฮฺอยู่เสมอ หันกลับมากลับเนื้อกลับตัว สร้างความดีลบล้างความชั่ว เพื่อที่เราจะได้เป็นผู้หนึ่ง จากบรรดาผู้ที่รอดพ้นจากการถูกสอบสวนอันยิ่งใหญ่ในวันกิยามะฮฺด้วยเถิด...
อนุสรณ์งานประจำปี 2516 มุสลิมวิทยาคาร