การอรรถาธิบายอัลกุรอาน
อ.ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา
การอรรถาธิบายอัลกุรอาน(ตัฟซีร)นั้นแบ่งเป็น 4 ประเภทหลักๆดังนี้
1. แบ่งตามความรู้ความเข้าใจของมนุษย์
2. แบ่งตามวิธีการอรรถาธิบาย
3. แบ่งตามรูปแบบของการอรรถาธิบาย
4. แบ่งตามแนวทางและกลุ่มแนวคิด
ประเภทแรก การอรรถาธิบายอัลกุรอานเมื่อแบ่งตามความรู้ความเข้าใจของมนุษย์
ประเภทนี้แบ่งออกได้อีก 4 ประเภทดังนี้
1. การอรรถาธิบายอัลกุรอานในเรื่องที่ชาวอาหรับสามารถรู้และเข้าใจได้ดี
ได้แก่ ถ้อยคำต่างๆในอัลกุรอาน รวมถึงสำนวนต่างๆที่เป็นบทสนทนา เนื่องจากอัลกุรอานถูกประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับ พวกเขาจึงมีความรู้และเข้าใจได้เป็นอย่างดี ถึงแม้บางคำอาจจะมีการเข้าใจต่างกันเนื่องจากเป็นคำที่ใช้ในบางเผ่า และอีกเผ่าไม่ใช้ หรือใช้ในอีกความหมาย
ข้อตัดสิน(หุก่ม)ของประเภทนี้ : ฟัรฎุ กิฟายะฮฺ คือไม่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องเข้าใจถ้อยคำและสำนวนทั้งหมดในอัลกุรอาน หากมีมุสลิมบางคนที่อุทิศสละตนเพื่อศึกษาและเผยแผ่แล้วก็ถือว่าพอเพียงสำหรับคนที่เหลือ และสังคมนั้นๆก็รอดพ้นจากความผิดบาปทั้งหมด
2. การอรรถาธิบายอัลกุรอานที่มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องรู้อย่างเลี่ยงไม่ได้
ได้แก่ การอรรถาธิบายอัลกุรอานที่เกี่ยวกับเรื่องฟัรฎุ(ภาคบังคับ)ต่างๆ ขั้นพื้นฐาน เช่นการละหมาด การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ฯลฯ และเรื่องที่เกี่ยวกับข้อห้ามต่างๆ เช่นการดื่มสุรา การกินเนื้อสุกร การทำซินา(ผิดประเวณี) ฯลฯ และเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับหลักยึดมั่นศรัทธา เช่น เงื่อนไขของคำว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ ประเภทของเตาฮีดทั้งสาม องค์ประกอบของหลักศรัทธาทั้ง 6 ข้อในขั้นพื้นฐาน รวมถึงเรื่องมารยาทอันดีงามขั้นพื้นฐานที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้ เช่นการซื่อสัตย์ การไม่ลักขโมย การอดทน ฯลฯ
ข้อตัดสิน(หุก่ม)ของประเภทนี้ : ฟัรฎุ อัยนฺ คือจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องศึกษาเรียนรู้และไม่สามารถหาข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงหรือละทิ้งการเรียนรู้ประเภทนี้
3. การอรรถาธิบายอัลกุรอานที่ผู้มีความรู้เท่านั้นที่รู้และเข้าใจ
ได้แก่การอรรถาธิบายเกี่ยวกับบางอายะฮฺที่มีสำนวนหรือถ้อยคำที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ นอกจากจะต้องอาศัยผู้มีความรู้มาช่วยอธิบายให้ความกระจ่าง รวมถึงเรื่องการดึงคุณประโยชน์และกฎเกณฑ์ข้อตัดสินชี้ขาดต่างๆ(อะหฺกาม)ที่อยู่ในอัลกุรอานออกมาให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้
ข้อตัดสิน(หุก่ม)ของประเภทนี้ : ฟัรฎุ กิฟายะฮฺ คือไม่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน หากมีมุสลิมบางคนที่อุทิศสละตนเพื่อศึกษาและเผยแผ่แล้วก็ถือว่าพอเพียงสำหรับคนที่เหลือ และสังคมนั้นๆก็รอดพ้นจากความผิดบาปทั้งหมด
4. การอรรถาธิบายอัลกุรอานที่ไม่มีผู้ใดสามารถรับรู้และเข้าใจได้นอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียวเท่านั้น
ได้แก่ เรื่องเร้นลับ(อิลมุลฆ็อยบฺ)ต่างๆ เช่นวันกิยามะฮฺจะเกิดขึ้นวันไหน, ฝนจะตกที่ไหนแบบชัดเจนแน่นอน, คนๆหนึ่งจะได้รับหรือประสบกับอะไรในวันพรุ่งนี้, คนๆหนึ่งจะตายวันไหนและที่ไหน ฯลฯ
ข้อตัดสิน(หุก่ม)ของประเภทนี้ : ไม่จำเป็นสำหรับมุสลิมรวมถึงมนุษย์ทุกคนในการเรียนรู้ประเภทนี้ และห้ามไม่ให้ผู้ใดไปศึกษาเรียนรู้ด้วย ซึ่งหากผู้ใดไปศึกษาเรียนรู้ประเภทนี้ เขาได้ทำสิ่งต้องห้าม และกล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺโดยไม่มีความรู้ และบางกรณีหรือบางคนอาจถึงขั้นสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมด้วย
สรุปและอ้างอิงจากตำรา ฟุศูล ฟี อุศูล อัตตัฟซีร ของชัยคฺ มุซาอิด อัฏฏ็อยยารฺ หน้าที่ 16-19