เคล็ดลับในการสอนอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  2588


เคล็ดลับในการสอนอิสลาม

 

โดย... อบูอนัส

 

มีรายงานจากท่านฏอลละฮฺ อิบนิ อุบัยดิลลาฮฺ แจ้งว่า

          “มีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวนัจญ์ดฺ (คือภาคกลางของประเทศซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน) ได้มายังท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในสภาพที่ผมเผ้ายุ่งเหยิง พวกเราได้ยินเสียงของเขาแต่ไม่รู้ว่าเขาพูดอะไร จนกระทั่งเขาได้เข้ามาใกล้ท่านร่อซูล และเขาก็ถามถึงอิสลาม 

   ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่าอิสลาม คือ การทำละหมาดในวันหนึ่งกับคืนหนึ่งห้าเวลา” 

   ชายผู้นั้นถามท่านร่อซูลอีกว่าและมีอย่างอื่นนอกจากละหมาดห้าเวลาอีกหรือไม่?” 

   ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่าไม่... ไม่มีละหมาดฟัรฎูอีกแล้ว นอกจากท่านจะละหมาดซุนนะฮฺ” 

   และท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังกล่าวว่านอกจากถือศีลอดเดือนรอมฎอน” 

   ชายผู้นั้นกล่าวแก่ท่านร่อซูลว่านอกจากถือศีลอดเดือนรอมฎอนแล้ว มีศีลอดฟัรฎูอื่นอีกหรือไม่?” 

   ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่าไม่มีถือศีลอดฟัรฎูดีอีกแล้ว นอกจากถือศีลอดซุนนะฮฺ” 

   และท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็กล่าวแก่ชายคนนั้นอีกว่าและการชำระซะกาต” 

   ชายผู้นั้นถามว่านอกจากซะกาตที่เป็นฟัรฎูแล้ว ยังมีอย่างอื่นอีกหรือไม่?” 

   ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่าไม่มี...นอกจากการบริจาคทานหรือการทำ ซอดาเกาะฮฺโดยสมัครใจ

   และท่านฎอลละฮฺ อิบนิ อุบัยดิลลาฮฺ กล่าวว่า แล้วชายผู้นั้นก็ผินหลังกลับพร้อมกับกล่าวว่าขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า ฉันจะไม่ทำเพิ่มและไม่ทำให้พร่องในการปฏิบัติเรื่องดังกล่าว” 

   ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่าเขาจะประสบความสำเร็จ ถ้าหากเขาพูดจริง

 

บันทึกโดย อิมามทั้งหก นอกจากท่านอิมามอัตติรมิซีย์

(อิมามทั้งหก หมายถึง อิมามอัลบุคอรีย์ มุสลิม อัตติรมิซีย์ อบูดาวู๊ด อันนะซาอีย์ และอิบนิมาญะฮฺ)

 

 ประวัติผู้รายงานฮะดิษ 

 

          ท่านฎอลละฮฺ อิบนิ อุบัยติลลาฮฺ เป็นบุคคลสำคัญในเผ่าตัยม์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลกุรอยซ์ ท่านเป็นผู้หนึ่งในบรรดาแปดท่านที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในรุ่นแรก เป็นหนึ่งในจำนวนสิบท่านที่ได้รับข่าวดีจากท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า จะได้เป็นชาวสวรรค์ เป็นหนึ่งในจำนวนหกคนที่ท่านอุมัร อิบนิล คอฏฏ็อบ แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้เป็นคอลีฟะฮฺคนต่อไปภายหลังจากท่าน

          ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตั้งฉายาให้ท่านว่าฏ็อลฮะตั้ลค็อยรฺ ฏ็อลฮะตั้ลญู๊ด และฏ็อลฮะตั้ลฟัยย๊าฏ = ฏ็อลละฮฺผู้ใจบุญ

          ทั้งนี้ เพราะท่านเป็นคนหนึ่งในบรรดาซอฮาบะฮฺที่เสียสละทรัพย์สินมากมายไปในหนทางของอัลลอฮฺ สำหรับฮะดิษที่ท่านรายงานนั้นมีจำนวน 38 ฮะดิษ และท่านเสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺศักราชที่ 36

 

 คำอธิบาย 

 

          ฮะดิษนี้นับเป็นฮะดิษที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของศาสนาอิสลาม เพราะมีผู้ที่มาถามท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็เพื่อจะทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอิสลาม สำหรับผู้ถามนั้น ตามรายงานนี้ และรายงานจากผู้บันทึกฮะดิษดังกล่าว ไม่ได้ระบุชื่อ ทั้งๆ ที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นชาวนัจญ์ดีย์ 

 

          อย่างไรก็ตาม นักบันทึกฮะดิษเข้าใจว่าเขาคือฏิมาม อิบนิ ชะอ์ละบะฮ์การรู้จักชื่อของผู้นี้หรือไม่รู้จักนั้น ไม่มีผลต่อเนื้อหาของฮะดิษแต่ประการใด เพราะความสำคัญมิได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่มาหาท่านร่อซูล หากแต่ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่มีมาในรูปของการสนทนาระหว่างผู้ถามคือชายคนนั้นกับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

          ที่จริงชายผู้นั้นไม่ได้ถามถึงหลักเชื่อมั่น หรือหลักศรัทธา หากเขาต้องการเช่นนั้น แน่นอน ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็จะตอบเขาตรงประเด็น และจากการตอบของท่านร่อซูลนั้น ก็เป็นที่แน่ชัดว่าชายผู้นั้นถามถึงการปฏิบัติศาสนกิจที่ผู้ที่เข้ารับอิสลามจะต้องปฏิบัติ และท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ตอบให้ทราบว่าการปฏิบัติศาสนกิจที่ผู้เข้ารับอิสลามจะต้องปฏิบัตินั้น มีดังนี้

 

1. การดำรงละหมาด

          ในวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง 5 เวลา ซึ่งหมายถึงละหมาดฟัรฎู 5 เวลา ส่วนละหมาดที่นอกเหนือจาก 5 เวลา ดังกล่าว ก็ไม่เป็นฟัรฎูอีกแล้ว นอกจากเป็นละหมาดซุนนะฮฺหรือละหมาดที่มีสาเหตุเป็นการเฉพาะเท่านั้น

 

สำหรับละหมาดที่เป็นซุนนะฮฺก็มีรายงานในเรื่องนี้อยู่มากมาย พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

     ก. มีรายงานจากท่านอิบนิ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่าฉันละหมาดกับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หมายถึง ละหมาดซุนนะฮฺดังต่อไปนี้

     ♥ สองร็อกอะฮ์ก่อนดุฮฺริ และสองร็อกอะฮฺหลังดุฮฺริ , สองร็อกอะฮ์หลังมักริบ (ที่บ้าน) และสองร็อกอะฮ์หลังอิซา (ที่บ้าน) , สองร็อกอะฮฺก่อนซุบฮฺ

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

 

     ข. มีรายงานจากท่านหญิงอุมมุฮะบีบะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา แจ้งว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่าผู้ใดละหมาดในวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง 12 ร็อกอะฮฺ (หมายถึงละหมาดซุนนะฮฺ) เขาจะได้รับบ้านหลังหนึ่งในสวรรค์

     ♥ 12 ร็อกอะฮฺดังกล่าวคือ สี่ร็อกอะฮ์ก่อนดุฮฺริ , สองร็อกอะฮ์หลังดุฮฺริ , สองร็อกอะฮ์หลังมักริบ , สองร็อกอะฮ์หลังอีซา , สองร็อกอะฮ์ก่อนซุบฮฺ

(บันทึกโดย อิมามอัตติรมิซีย์)

          ตามรายงานของท่านอิบนิ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา และรายงานของท่านหญิงอุมมุฮะบีบะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา แสดงให้เห็นว่า ดังกล่าวนี้คือ ละหมาดซุนนะฮฺที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กำชับให้มุสลิมทำเป็นประจำ คือ 10 ร็อกอะฮ์ หรือ 12 ร็อกอะฮ์ ดังที่ปรากฏในสองรายงานดังกล่าว

          นอกจากละหมาดซุนนะฮฺดังกล่าวแล้ว ยังมีละหมาดซุนนะฮฺอื่นๆ อีก เช่น ละหมาดตะฮัดญุด (หมายถึง ละหมาดกลางคืน) และละหมาดฎุฮา เป็นต้น

          สำหรับละหมาดที่มีสาเหตุเป็นการเฉพาะได้แก่ ละหมาดญะนาซะฮ์ ละหมาดขอฝน ละหมาด สุริยคราส จันทรคราส ฯลฯ

 

2. การถือศีลอดที่เป็นฟัรฎู 

           ภายหลังจากที่ท่านร่อซูลแนะนำเรื่องการละหมาดแก่ชายผู้นั้นแล้ว ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ยังบอกให้เขาทราบอีกว่าฟัรฎูอื่นๆ ที่มุสลิมจะต้องปฏิบัติก็คือ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เมื่อเขาถามท่านร่อซูลว่า นอกจากเดือนรอมฎอนแล้วมีอีกหรือไม่? และท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็บอกว่ามีการถือศีลอดซุนนะฮฺ 

          สำหรับการถือศีลอดที่เป็นซุนนะฮฺนั้น ปรากฏว่ามีฮะดิษมากมายที่ระบุถึงเรื่องนี้ เช่น การถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเซาวาล และการถือศีลอดอาซูรอ ในเดือนมุฮัรรอม การถือศีลอดในวันอะรอฟะฮฺ ถือศีลอดในวันจันทร์และวันพฤหัสบดี และในวันที่ 13-14-15 ของทุกเดือน เป็นต้น

 

3. การจ่ายซะกาต 

           ภายหลังจากท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวถึงเรื่องการถือศีลอดที่เป็นฟัรฎูแล้ว ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็กล่าวแก่ชายคนนั้นถึงฟัรฎูที่เขาจะต้องปฏิบัตินั่นก็คือการจ่ายซะกาต ซึ่งท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกรายละเอียดเกี่ยวกับซะกาตที่เป็นฟัรฎูแก่ชายคนนั้น และประเภทของซะกาตที่ต้องจ่ายอีก ตลอดจนปริมาณของซะกาตด้วย 

          นอกเหนือจากเรื่อง ซะกาตที่เป็นฟัรฎูแล้ว ท่านร่อซูลยังแนะนำให้เขาบริจาคทานที่เป็นซอดาเกาะฮฺ ซึ่งการบริจาคที่เป็นซอดาเกาะฮฺนั้นก็ขึ้นอยู่กับฐานะและพลังศรัทธาของผู้บริจาค

 

          ตามรายงานที่เรานำเสนอนั้น ไม่มีการระบุเรื่องการทำฮัจญ์ เพราะว่าชายผู้นั้นอาจจะพบกับท่าน ร่อซูลก่อนที่อัลลอฮฺ ตะอาลา จะทรงกำหนดการทำฮัจญ์ให้เป็นฟัรฎูก็ได้ แต่ที่ปรากฏตามรายงานของอิมามบุคอรีย์ ได้รวมเรื่องฮัจญ์ไว้ด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

     “แล้วชายคนนั้นกล่าวแก่ท่านร่อซูลว่า : โปรดบอกแก่ฉันถึงสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้เป็นฟัรฎูที่ฉันจะต้องจ่ายในเรื่องซะกาต” 

     และผู้รายงานฮะดิษก็กล่าวว่า : แล้วท่านร่อซูลก็บอกให้ชายผู้นั้นได้รู้ถึงบทบัญญัติอิสลามทั้งหมด และคำว่าบัญญัติอิสลามทั้งหมดนี้ก็รวมถึงเรื่องของฮัจญ์ด้วย

 

     สำหรับข้อความที่ว่า แล้วชายผู้นั้นก็ผินหลังกลับพร้อมกับกล่าวว่า : ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า ฉันจะไม่เพิ่มและไม่ทำให้พร่องจากการปฏิบัติเรื่องดังกล่าวนักอธิบายฮะดิษบางท่าน กล่าวว่า หมายถึง ชายผู้นั้นจะไม่เพิ่ม ไม่ลดในเรื่องของฟัรฎู เช่น จะไม่ละหมาดดุฮ์ริ 5 ร็อกอะฮ์ หรือ 3 ร็อกอะฮ์ และนักวิชาฮะดิษบางท่านกล่าวว่า หมายถึง ชายผู้นั้นจะเป็นผู้ซื่อสัตย์ในการปฏิบัติตามข้อบัญญัติดังกล่าวว่า 

 

     แต่ทว่ามีรายงานของอิมามอัลบุคอรีย์ ในเรื่องการถือศีลอด ที่ปรากฏในฮะดิษนี้ ถือเป็นการปฏิเสธการตีความของทั้งสองฝ่ายและเจาะจงว่า ข้อความข้างต้นที่ชายผู้นั้นกล่าวนั้น หมายถึง เขาจะไม่ปฏิบัติสิ่งอื่นนอกจากสิ่งที่เป็นฟัรฎูเท่านั้น ดังรายงานของอิมามอัลบุคอรีย์ดังต่อไปนี้

 

     และชายผู้นั้นก็กล่าวว่าขอสาบานต่อผู้ที่ทรงให้เกียรติแก่ท่าน (หมายถึงอัลลอฮฺ) ฉันจะไม่ปฏิบัติสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺและไม่ให้ลดหย่อนจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้เป็นฟัรฎูแต่ประการใด

 

     เกี่ยวกับข้อความที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลม กล่าวกับชายผู้นั้นว่าเขาจะประสบความสำเร็จ ถ้าหาว่าเขาพูดจริง

     คำว่าความสำเร็จในที่นี้หมายถึงสวนสวรรค์ดังปรากฏตามรายงานที่อิมามมุสลิมบันทึกไว้ว่าผู้ใดมีความปลื้มปิติยินดีที่จะมองไปยังชายคนหนึ่งจากบรรดาชาวสวรรค์ทั้งหลายก็จงมองผู้ชายคนนี้

 

        สุดท้ายนี้มีปัญหาหนึ่งที่อาจจะสร้างความสงสัยแก่ผู้ที่ศึกษาฮะดิษนี้ นั่นก็คือ ชายผู้นี้สาบานว่าจะทิ้งการทำความดี อันได้แก่ การปฏิบัติซุนนะฮฺ แล้วท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลม ยังจะยอมรับได้อย่างไร?

 

          คำตอบเกี่ยวกับปัญหานี้ก็คือ การสาบานดังกล่าวเป็นการกระทำของอาหรับชาวทะเลทรายคนหนึ่ง ซึ่งท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทราบเป็นอย่างดีถึงสภาพของบุคคลเหล่านี้ โดยเหตุนี้ ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงไม่ได้บอกให้เขาทราบถึงซุนนะฮฺอื่นๆ ในด้านอิบาดะฮฺต่างๆ ที่เขาควรจะปฏิบัติและรักษาไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงว่า ชายผู้นี้ก็ไม่ผิดแต่อย่างใดในการละทิ้งซุนนะฮฺดังกล่าว เพราะเขาไม่รู้ความสำคัญของซุนนะฮฺ และไม่ได้รับคำแนะนำจากท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในเรื่องนี้ 

 

          และการที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ได้แนะนำเขาในเรื่องซุนนะฮฺนั้น นับเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ปฏิบัติต่อผู้ที่เพิ่งเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามใหม่ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เขาเหล่านั้นในการปฏิบัติศาสนกิจ โดยให้ปฏิบัติเพียงสิ่งที่เป็นฟัรฎู ซึ่งการปฏิบัติสิ่งที่เป็นฟัรฎูนี้จะเป็นหนทางให้เขามีความรู้ มีความศรัทธาต่ออิสลาม และรู้ถึงความสำคัญของอิสลามแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อมีสภาพเช่นนี้แล้ว เรื่องการปฏิบัติซุนนะฮฺภายหลังจากการปฏิบัติฟัรฎูก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเขาได้ปฏิบัติเรื่อยๆ มาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

 

          ผู้ที่ศึกษาโอวาทของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ท่านได้ให้ไว้แก่บรรดาผู้ที่ทำหน้าที่เชิญชวนผู้คนทั้งหลายให้เข้ารับอิสลามนั้น อาทิเช่น โอวาทของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ต่อท่านมุอ๊าซ ในครั้งที่ส่งท่านมุอ๊าซไปเยเมน จะพบว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พยายามแนะนำให้มุอ๊าซค่อยๆ สอนทีละเล็กทีละน้อยแก่ชาวเยเมน

          ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้นับเป็นหนทางที่ดี ที่ทำให้คนทั้งหลายพร้อมใจจะปฏิบัติศาสนกิจและมีความปลื้มปิติยินดีที่ได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม โดยปราศจากความหนักอกหนักใจใดๆ ทั้งสิ้น

 

 

 

ที่มา : วารสาร สายสัมพันธ์