การเกื้อกูลกันในสังคมอิสลาม
โดย... เชค อาลี อีซา ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ
อิสลามได้วางระบอบการประกันสังคมเอาไว้ โดยกำหนดให้คนที่ร่ำรวยบริจาคปัจจัยยังชีพให้แก่ผู้ยากจนที่ไม่สามารถทำมาหากินได้เอง
อิสลามได้กำหนดให้ผู้คนทั้งหลาย ร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันขจัดความอดอยากยากจน โดยถือว่าเป็นความรับผิดชอบของประชาชาติ หากพบว่ามีคนอดตายเพราะความหิวกระหาย จึงจำเป็นที่ทุกคนจะต้องเฉลี่ยกันจ่ายค่าชดเชยให้แก่ครอบครัวของผู้ตาย ประหนึ่งทุกคนมีส่วนทำให้เขาผู้นั้นต้องตาย ให้เป็นภาระหน้าที่ของคนที่มั่งมีในทุกท้องถิ่นที่ต้องบริจาคปัจจัยยังชีพให้แก่ผู้ยากจนในท้องถิ่นนั้นๆ และให้ผู้ปกครองมีสิทธิใช้อำนาจบังคับได้ด้วย
ทั้งนี้ หากไม่มีทรัพย์สินที่เป็นซะกาตหรือทรัพย์สินของมุสลิม ก็จะต้องให้เครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นแก่เขา นอกจากนั้นยังต้องให้เสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มทั้งสำหรับฤดูร้อนและฤดูหนาว ในทำนองเดียวกัน จะต้องจัดหาที่อยู่อาศัยให้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยจากฝน จากความร้อนความหนาวของดวงอาทิตย์ และจากสายตาของผู้ที่เดินผ่านไปมา
หลักฐานดังกล่าวนั้นคือดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า
“และจงให้สิทธิแก่ญาติสนิท และคนยากจนที่ขัดสน และคนเดินทาง (ที่ขาดปัจจัยในการเดินทาง)”
(อัลอิสรออฺ 17 : 26)
ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า : แท้จริง ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“มุสลิมกับมุสลิมนั้นเป็นพี่น้องกัน เขาจะไม่ข่มเหงกัน และจะไม่เพิกเฉยละเลยมุสลิมด้วยกัน”
(บันทึกโดย อิมามอบูดาวู๊ด)
ดังนั้น มุสลิมจะไม่ละเลยให้พี่น้องของเขาต้องหิวกระหาย และจัดให้พี่น้องของเขามีเครื่องนุ่งห่ม ถ้าเขาสามารถให้อาหารและเครื่องนุ่งห่มได้
ท่านอาลี อิบนิ อะบีฏอลิบ กล่าวว่า
“อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงให้เป็นภาระหน้าที่ของคนร่ำรวยที่จะบริจาคให้แก่คนยากจน ถ้าหาก คนยากจนหิว หรือเปลือยกาย (ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม) ก็เป็นผลเนื่องมาจากความตระหนี่ถี่เหนียวของคนร่ำรวยนั่นเอง”
อัลกุรอานได้กำชับว่าให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนบ้านใกล้เคียงที่อยู่ใกล้ชิด และที่อยู่ห่างไกล อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสความว่า
“และพวกเจ้าจงสักการะต่ออัลลอฮฺ และอย่าตั้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นภาคีกับพระองค์
และเจ้าจงกระทำความดีต่อบิดามารดา
และจงกระทำความดีต่อญาติสนิท เด็กกำพร้า คนยากจนขัดสน
และข้าทาสบริวาร เพื่อนบ้านที่ใกล้เคียง
และเพื่อนบ้านที่ห่างไกล
และเพื่อนเคียงข้าง
และคนที่เดินทาง”
(อันนิซาอฺ 4 : 36)
อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงกล่าวถึงเพื่อนบ้านใกล้ชิดและห่างไกล พร้อมกับกำชับให้อิบาดะฮฺต่อพระองค์และห้ามตั้งภาคีต่อพระองค์ และกำชับให้ทำความดีต่อบิดามารดา ไว้ในอายะฮฺเดียวกันดังกล่าวนี้ ยอมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องให้ความเป็นกันเองอย่างใจจริงระหว่างกัน
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กำชับให้ทำความดีต่อเพื่อนบ้าน ท่านอิบนิ อับบ๊าส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา รายงานว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ที่กินอิ่มนอนหลับได้โดยปล่อยให้เพื่อนบ้านหิวโหยนั้น เขาผู้นั้นมิใช่มุอฺมิน”
(บันทึกโดย อิมามอัลฮากิม)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังได้กล่าวอีกเช่นกันว่า
“สหายที่ประเสริฐที่สุด ณ อัลลอฮฺนั้น คือ ผู้ที่ดีที่สุดต่อสหายของเขา
และเพื่อนบ้านที่ประเสริฐที่สุด ณ อัลลอฮฺ คือ ผู้ที่ดีที่สุดต่อเพื่อนบ้านของเขา”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)
อิสลามมิได้ให้จำแนกระหว่างเพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิมกับเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่มิใช่เป็นมุสลิม ดังมีรายงานจากท่านมุญาฮิด เล่าว่า :
ครั้งหนึ่งเขาเคยอยู่กับอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัร ขณะคนรับใช้ของเขากำลังถลกหนังแพะ
ท่านอิบนุ อุมัร จึงกล่าวแก่คนรับใช้ของท่านว่า “โอ้ หนุ่มน้อย อย่าลืมชาวยิวเพื่อนบ้านของเรา”
ครู่ต่อมาอิบนุ อุมัร ก็ได้พูดกับเด็กรับใช้เช่นนั้นอีกเป็นครั้งที่สอง และครั้งที่สามในเวลาต่อมา
มุญาฮิดกล่าวขึ้นด้วยความแปลกใจว่า : โอ้ อิบนิ อุมัร ท่านพูดกี่ครั้งแล้ว?”
อิบนิ อุมัร กล่าวตอบว่า : ฉันได้ยินท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ญิบรีลได้กำชับฉันเสมอเกี่ยวกับเรื่องเพื่อนบ้าน จนกระทั่งฉันนึกว่าเพื่อนบ้านนั้นจะรับมรดกจากกันได้”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)
หมายถึง นึกว่าเพื่อนบ้านมีส่วนในทรัพย์สินของเราหลังจากเราได้ตายจากไป
มีรายงานจากท่านญาบิร แจ้งว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า เพื่อนบ้านนั้นมี 3 ประเภท
ประเภทที่หนึ่ง เพื่อนบ้านที่มีสิทธิเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือว่าเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่ในระดับห่างสุด
ประเภทที่สอง เพื่อนบ้านที่มีสิทธิสองประการ
ประเภทที่สาม เพื่อนบ้านที่มีสิทธิสามประการ
♣ สำหรับเพื่อนบ้านที่มีสิทธิเพียงประการเดียว นั้นคือ เพื่อนบ้านที่เป็นมุชริก (ผู้ตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ ตะอาลา) และมิได้เป็นญาติร่วมสายโลหิตเดียวกัน
♣ เพื่อนบ้านที่มีสิทธิสองประการ นั้นคือ เพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิม ซึ่งมีทั้งสิทธิในการเป็นมุสลิม และสิทธิในการเป็นเพื่อนบ้าน
♣ ส่วนเพื่อนบ้านที่มีสิทธิสามประการ นั้นคือ เพื่อนบ้านที่เป็นมุสลิมและเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกันด้วย ซึ่งมีสิทธิทั้งในแง่ของการเป็นเพื่อนบ้าน การเป็นมุสลิม และการเป็นญาติร่วมสายโลหิตเดียวกัน
อิสลามได้เปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านมีสิทธิในเรื่องของ “อัซซุฟอะฮฺ” คือ ในเมื่อเพื่อนบ้านต้องการจะขายกรรมสิทธิ์ของตนให้กับผู้อื่น ก็จำเป็นจะต้องถามเพื่อนบ้านดูก่อน แสดงให้เห็นว่าอิสลามให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะหน้าที่ระหว่างเพื่อนบ้านเป็นการมองถึงผลลัพธ์ระยะยาว ดังรายงานของท่านอบูรอเฟียะอฺว่า :
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า“เพื่อนบ้านนั้นมีสิทธิเหนือผู้อื่น เนื่องจากความใกล้ชิด”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)
(กล่าวคือ มีสิทธิมากกว่าผู้อื่น เพราะความใกล้ชิด หรือที่ว่ามีความใกล้ชิดมากกว่าผู้อื่นนั้นก็เพราะอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งที่เขามีกรรมสิทธิ์อยู่)
อิสลามได้กำหนดให้ “บัยตุลมาล” (กองคลังของอิสลาม) บริจาคให้กับผู้เฒ่า ผู้ชรา ซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ และให้แก่ผู้หญิง ถ้าหากไม่มีผู้ปกครองดูแลตามศาสนบัญญัติ อิสลามมิได้แยกแยะผู้ชราหรือผู้หญิงที่ไม่มีผู้ปกครองนั้นว่าเป็นมุสลิม หรือเป็นซิมมีย์ (คือกาเฟรที่อาศัยอยู่ในรัฐอิสลาม และไม่เป็นผู้ที่ละเมิดสิทธิสัญญา ไม่รุกรานและไม่ยุยงส่งเสริมหรือกระทำการอันใดที่จะนำไปสู่การละเมิด)
ดังที่ อีมามอบูยูซุฟ ลูกศิษย์ของท่านอิมามอบูฮานีฟะฮฺได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อ “อัลคอร๊อจญ์” ว่า
“ในขณะที่ท่านอุมัร ได้เดินทางผ่านชนกลุ่มหนึ่ง ณ ที่นั้นมีคนชราขอทานนั่งอยู่คนหนึ่ง ดูจากลักษณะของผู้นั้นทำให้ทราบว่าเป็น “ซิมมีย์”
ท่านอุมัรจึงได้เอามือจับแขนชายผู้นั้น และเอ่ยถามว่า “ท่านเป็นชายชาวผู้ได้รับคัมภีร์ (อะฮฺลุ้ลกิตาบ) จากพวกไหน?”
ได้รับคำตอบจากชายชราผู้นั้นว่า “ยะฮูดี” (พวกยิว)
ท่านอุมัรจึงถามต่อไปว่า “ท่านมาหาด้วยประสงค์อะไร?”
ชายชราผู้นั้นตอบว่า “ฉันจะมาขอ ญิซยะห์ (คือ ภาษีที่เก็บจากผู้นับถือศาสนาอื่น ที่อาศัยอยู่ในประเทศมุสลิม) กลับคืน โดยอ้างถึงความยากจนและความชรา”
ท่านอุมัรจึงได้จูงมือชายผู้นั้นไปยังบ้านของท่าน แล้วท่านอุมัรได้ให้ของสิ่งหนึ่งแก่ชายชรา ผู้นั้น แล้วได้นำชายผู้นั้นไปยังผู้ทำหน้าที่ดูแลกองคลังส่วนกลางหรือที่เรียกว่า “บัยตุลมาล” และกล่าวว่า “ท่านจงพิจารณาสภาพของชายผู้นี้ และคนอื่นๆ ที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ว่า ฉันจะไม่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ความชราเกาะกินชีวิตของเขา โดยที่เขายังคงจมปลักอยู่กับสิ่งที่ต้องห้าม”
อัลกุรอานซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 60 กล่าวว่า “แท้จริง การบริจาคทานนั้น สำหรับคนยากจน และขัดสน”
ชายชราผู้นี้เป็นคนยากจน จากชนผู้ที่ได้รับคัมภีร์ (อะฮฺลุ้ลกิตาบ) อุมัรจึงได้ใช้ให้ผู้ควบคุมบัยตุลมาล จ่ายญิซยะห์คืนให้แก่ชายผู้นั้น และแก่ผู้ที่มีสภาพคล้ายคลึงกับชายผู้นั้นไปด้วย
(จากหนังสือ อัลคอร๊อจญ์ อบียูซุฟ หน้า 120)
อิสลามยังได้บัญญัติไว้อีกว่า ในเมื่อผู้ยากจนประสบกับความแร้นแค้นก็จำเป็นแก่ผู้ที่ร่ำรวยจะต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อปิดประตูแห่งความแร้นแค้นนั้น
ท่านอบูสอี๊ด อับคุดรีย์ ได้รายงานถึงสภาพความแร้นแค้นในขณะเดินทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยกล่าวว่า : เราได้ร่วมเดินทางกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านได้กล่าวว่า
“ผู้ใดมีเสบียงเหลือ ก็จงให้แก่ผู้ไม่มีเสบียง และผู้ใดมีพาหนะเหลือ ก็จงให้แก่ผู้ที่ไม่มีพาหนะ”
แล้วท่านร่อซูลก็ประเมินชนิดต่างๆ จากทรัพย์สมบัติ จนกระทั่งเราเข้าใจกันว่า เราคงไม่มีอะไรเหลือ นอกจากสิ่งที่คู่ควรกับอัตภาพของเรา
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)
มีรายงานจากท่านอบูมูซา อัลอัชอารีย์ แจ้งว่า : ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“เมื่อพวกชาวอัชอะรีย์ยืนออกไปทำสงคราม และผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขาที่อยู่ในเมืองเกิดความขาดแคลนเรื่องอาหารการกิน พวกเขาจะรวบรวมสิ่งที่มีเหลืออยู่ทั้งหมดไว้ในถุงๆ เดียวกัน หลังจากนั้นเขาจะแบ่งให้เท่าๆ กัน”
และท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวต่อไปว่า “พวกเขาเหล่านั้นคือ ผู้ที่เจริญรอยตามฉัน และฉันเป็นพวกเดียวกับเขา”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)
มีรายงานที่เชื่อถือได้จากท่านอบูอุบัยดะห์ อิบนิลญัรรอฮฺ และซอฮาบะฮฺอีกจำนวนสามร้อยกว่าคนว่า “เสบียงของพวกเขาได้ประสบกับความเสียหาย ท่านอบูอุบัยดะฮฺจึงได้ใช้ให้รวบรวมเสบียงที่ยังคงมีเหลืออยู่จากพวกเขาทั้งหมดไว้ในสถานที่เดียวกัน และท่านอบูอุบัยดะฮฺ ได้จัดแบ่งให้เป็นอาหารแก่พวกเขาทั้งหมดคนละเท่าๆ กัน”
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กระทำเป็นแบบอย่างที่ดีมาโดยตลอด แม้ก่อนที่ท่านจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบี ท่านก็ได้ทำตนเป็นแบบอย่างอันดีงามของความร่วมมือกันในสังคมที่ท่านอาศัยอยู่ ดังที่ท่านหญิงคอดียะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ท่านนบี ขณะได้รับวะฮีย์ในครั้งแรก
ท่านนบีได้ไปหาท่านหญิงคอดียะฮฺในสภาพที่ตื่นตระหนกในสิ่งที่ปรากฏกับท่าน นั่นคือ การที่มลาอิกะฮฺได้มาปรากฏกายต่อหน้าท่าน
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวแก่ท่านหญิง คอดียะฮฺว่า “จงห่มผ้าให้ฉัน จงห่มผ้าให้ฉัน”
หลังจากที่ท่านหญิงคอดียะฮฺเอาผ้าห่มมาให้ท่านนบี จนกระทั่งความหวาดกลัวได้หายหมดไปแล้ว ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงได้เล่าเหตุการณ์ที่มาประสบกับท่านให้ท่านหญิงคอดียะฮฺฟัง พร้อมกับกล่าวว่า
“ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ แท้จริง ฉันกลัวเหตุร้ายจะเกิดขึ้นกับตัวของฉัน (หมายถึงท่านนบี เกรงว่ามันจะเป็นลางร้าย)”
ท่านหญิงคอดียะฮฺจึงกล่าวกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า
“อัลลอฮฺจะไม่ทรงเหยียดหยามหรือประณามท่านเป็นอันขาด แท้จริง
♦ ท่านเป็นผู้มีความสัมพันธ์ที่ ดีงามต่อเครือญาติ
♦ ท่านเป็นผู้ให้เกียรติต่อแขกผู้มาเยือน
♦ ท่านเป็นผู้รับภาระหรือให้ความอบอุ่นต่อเด็กกำพร้า และผู้ที่ไม่สามารถประกอบสัมมาอาชีพได้ จะเนื่องด้วยความชราภาพหรือทุพลภาพก็ตาม และ
♦ ท่านเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบกับอุบัติเหตุหรือภัยพิบัติต่างๆ ฯลฯ”
ที่มา วารสารสายสัมพันธ์