นบีมุฮัมมัดในคัมภีร์อื่น...ใช่หรือ?
  จำนวนคนเข้าชม  5532


นบีมุฮัมมัดในคัมภีร์อื่น...ใช่หรือ?

 

ศาสตราจารย์ ดร. กุสุมา (มารียะห์) รักษมณี

 

     ระหว่างที่ไปอุมเราะห์ในเดือนรอมฎอนปี ..1428 นี้ ได้มีโอกาสไปเดินหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับอิสลามที่มักกะห์ดังที่เคยปฏิบัติมาทุกครั้งปีนี้ได้หนังสือน่าอ่านมาทั้งหมด 10 เล่ม โดยใช้เวลาเลือกเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งนี้เพราะใช้วิธีขอรายการหนังสือจากร้านกลับไปนั่งเลือกที่ที่พักก่อนแล้วจึงไปส่งรายชื่อที่น่าสนใจให้คนขายหยิบมาให้ดู ต่อจากนั้นจึงอ่านสารบัญและปกหลัง หรือไม่ก็อ่านคำนำแล้วพลิกผ่านๆ จึงตัดสินใจได้ว่าจะซื้อหรือไม่ ในจำนวนหนังสือที่ซื้อมาปีนี้ มีอยู่เล่มหนึ่งที่น่าจะพูดถึงคือเรื่องนบีมุฮัมมัดในคัมภีร์ฮินดู (Muhammad in the Hindu Scriptures)

 

     หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขนาด 16 หน้ายก หนา 148 หน้า จัดพิมพ์เป็นภาษอังกฤษที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปี .. 2547 เป็นการพิมพ์ครั้งที่ 4 แล้ว แสดงว่าเป็นหนังสือที่แพร่หลายมาก ที่เลือกซื้อมาไม่ใช่เพราะสนใจเนื้อหา แต่เพราะอยากจะรู้ว่าผู้เขียนหรือผู้แปลมีจุดมุ่งหมายใดจึงผลิตเรื่องนี้ขึ้นมา เรื่องบางเรื่องที่เราจะแสดงความเห็นหรือวิจารณ์ได้นั้น ความเข้าใจจุดประสงค์ที่เป็นต้นตอน่าจะสำคัญมาก

 

     หนังสือเรื่องนี้แบ่งเป็น 4 ตอน ตอนที่หนึ่งมี 6 บทว่าด้วยผู้ได้รับการสรรเสริญในคัมภีร์พระเวชของฮินดู และพระศรีอารีย์ตามความเชื่อของชาวพุทธ ตอนที่ 2 มี 12 บท ว่าด้วยการอวตาร (การที่เทพเจ้าแบ่งภาคลงมาเกิด) ในปางสุดท้าย ตอนที่ 3 มี 6 บท ว่าด้วยเอกภาพทางศาสนาในคัมภีร์พระเวท และตอนสุดท้ายมี 5 บท ว่าด้วยหลักฐานต่างๆ ในคัมภีร์พระเวทและมหาภารตะที่ผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้เชื่อว่าหมายถึง นบีมุฮัมมัด

 

     ผู้เขียนเป็นใครและเขียนทำไมเป็นประเด็นที่น่าจะกล่าวถึงเนื้อหาตอนที่ 1, 2 และ 3 นั้น ผู้เขียนเป็นชาวอินเดียวชื่อ ดร. เวท ประกาศ อุปาทธยาย เขียนไว้เป็นภาษาฮินดี ต่อมาศาสตราจารย์ อศิต กุมาร พันโธปทยาย ได้แปลเป็นภาษาเบงกลี (ภาษาถิ่นของอินเดีย) แล้วเขียนตอนที่ 4 เพิ่มเติมขึ้นมา 

     ในปี พศ. 2541 มุฮัมมัด อาลัมคีร์ ชาวอินเดียวซึ่งอพยพไปอยู่ที่ออสเตรเลียจึงได้แปลจากภาษาเบงกลีเป็นภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม จนมาเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 ที่ข้าพเจ้าได้มาจากมักกะห์ในปีนี้

 

     เมื่อจะอ่านหนังสือสารคดี สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องอ่านเป็นอย่างแรกคือคำนำ เพราะคำนำจะบอกทิศทางและจุดหมาย ตลอดจนความเป็นมาต่างๆ ของเรื่องที่ไม่ดี(บกพร่อง)ในหนังสือเรื่องนี้ ผู้แปลภาษาอังกฤษ (มุฮัมมัด อาลัมคีร์) ยอมรับตรงๆ ว่า มีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ

     ประการแรก เขาไม่ได้แปลจากภาษาฮินดีโดยตรง แต่แปลจากภาษาเบงกาลี ซึ่งแปลมาจากฮินดีอีกทีหนึ่ง ข้อบกพร่องประการนี้ ผู้แปลหนังสือทั่วไปทราบดี เพราะเข้าใจกันดีว่าบางส่วนที่สำคัญนั้นอาจสูญไปเพราะการแปล (lost in translation) ก็ได้

     ประการที่สอง ผู้แปลไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวบทคัมภีร์ที่เป็นภาษาสันสกฤต จึงไม่ได้อ้างไว้ในบทแปล ประเด็นนี้สะดุดใจข้าพเจ้าอย่างมาก เพราะหากจะวิเคราะห์ตีความเรื่องใดแล้ว การได้พิจารณาตัวบทดั้งเดิมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ขอบคุณที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้วิธีคิดและความเชื่อของศาสนิกอื่นๆ และทำให้ตระหนักชัดที่สุดว่าวิถีอิสลามที่ดำรงอยู่นี้เป็นหนึ่งเดียว (unique) ไม่เหมือนใคร

 

     เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าทำก็คือหาหนังสือพระเวทที่ ดร. เวท (ผู้เขียนฉบับฮินดี) อ้างถึง โดยเฉพาะอถรรพเวท ซึ่งมีเนื้อหาหลักที่ ดร. เวท เชื่ออย่างหนักแน่นว่ากล่าวถึงนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ก่อนที่จะชวนผู้อ่านพิจารณาข้อความในคัมภีร์ดังกล่าว ข้าพเจ้าขอกล่าวถึงคัมภีร์ฮินดูโดยทั่วไปเพื่อความเข้าใจเบื้องต้น

 

     คัมภีร์พระเวทเป็นของชาวอารยันที่อพยพมาจากแถบทะเลดำ ชาวอารยันสายหนึ่งลงไปทางขวาเป็นพวกยุโรป อีกสายหนึ่งลงมาทางซ้ายเป็นพวกเปอร์เซียและอินเดีย ซึ่งมีวัฒนธรรมเรียกว่า อินโดอิราเนียน ชาวอินเดียที่มีเชื้อสายอารยันจึงมีวัฒนธรรมและความเชื่อร่วมกับชาวเปอร์เซีย ดังจะเห็นได้จากภาษาที่มีคำศัพท์ร่วมกัน และความเชื่อเรื่องเทพเจ้าต่างๆ ตลอดจนคัมภีร์อเวสตะของเปอร์เซียกับคัมภีร์พระเวทของอินเดียซึ่งสอดคล้องกัน 

 

     คัมภีร์พระเวทมีอายุเก่าแก่ถึง 3,000 กว่าปี และมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ เริ่มแรกมีบทสวดอ้อนวอนเทพเจ้าเพื่อความสุขสวัสดีเรียกว่าคัมภีร์ฤคเวท ต่อมาจึงมีบทเกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ เรียกว่ายขุรเวท และมีบทเกี่ยวกับท่วงทำนองสวดเรียกว่าสามเวท ครั้นในยุคต่อมาผู้คนเริ่มเชื่อเรื่องไสยศาสตร์มากขึ้น จึงมีคัมภีร์เกี่ยวกับเวทมนตร์คาถาเรียกว่า อถรรพเวท (อันเป็นที่มาของคำว่า อาถรรพณ์ ในภาษาไทย)

 

     นอกจากจะอ้างถึงคัมภีร์พระเวทแล้ว ในตอนที่ 3 ดร. เวท ยังได้อ้างถึงคัมภีร์อีกประเภทหนึ่งคือ ปุราณะ และศาสตราจารย์อศิต ผู้แต่งตอนที่ 4 ยังได้อ้างถึงหนังสืออีกเรื่องหนึ่งคือมหาภารตะ คัมภีร์ปุราณะและมหาภารตะคืออะไร ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงสั้น เพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน 

 

     ในหลักสูตรบูรพคดี (Oriental Studies) มีวิชา Puranas and Epics ซึ่งศึกษาคัมภีร์ปุราณะทั้ง 18 เล่ม กับมหากาพย์ 2 เรื่อง คือ มหาภารตะและรามายณะ (ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องรามเกียรติ์ของไทย) เหตุที่นำงานประพันธ์ 2 ประเภทนี้มาไว้ด้วยกันเพราะมีลักษณะเหมือนกัน กล่าวคือ เป็นวรรณคดีในสมัยหลัง และมีการสืบทอดแต่งเติมโดยผู้ประพันธ์หลายคนในหลายสมัย 

 

     จริงอยู่ นักวิชาการอินเดีย เช่น ดร. เวท จะเชื่ออย่างหนักแน่นว่าคัมภีร์ปุราณะเป็นงานประพันธ์เก่าแก่ดั้งเดิม (หน้า 47) แต่ตามหลักวรรณคดีศึกษาของสากล เมื่อพิจารณาความไม่สอดคล้องกันของเนื้อหาและถ้อยคำสำนวน นักวิชาการเชื่อว่าเป็นงานที่แต่งขึ้นในสมัยหลังปุราณะ เป็นงานประพันธ์ที่รวบรวมเรื่องราวต่างๆ เช่น ตำนานการสร้างโลก ตำนานเทพเจ้า กำเนิดมนุษย์และพงศาวดารกษัตริย์ เป็นต้น การที่คัมภีร์ภวิษยปุราณะมีเรื่องราวของพระเยซู (ดังที่ ดร. เวท อ้างไว้ในหน้า 88) ก็เพราะเขียนขึ้นหลังสมัยพระเยซู ดังที่นักวิชาการชื่อ W. L. Langer กล่าวไว้นั่นเอง คัมภีร์ปุราณะมีคุณค่าในแง่ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวฮินดู ไม่ใช่คัมภีร์ศาสนาที่เป็นวิวรณ์ของพระเจ้า การอ้างเรื่องใดๆ ที่ปรากฏอยู่ในปุราณะจึงต้องเข้าใจเงื่อนไขนี้ด้วย

 

     ส่วนมหาภารตะนั้นก็ไม่ใช่คัมภีร์ศาสนา มหาภารตะเป็นวรรณคดีประเภทมหากาพย์ (epic) ซึ่งเป็นตำนานวีรบุรุษ ชาวอินเดียเชื่ออย่างหนักแน่นว่าเป็นคัมภีร์ที่ฤษีชื่อวยาสประพันธ์ขึ้น แต่นักบูรพคดีส่วนมากก็เชื่อว่าเป็นที่ประพันธ์โดยคนหลายคนและหลายสมัย แม้แต่ชื่อ วยาส ก็หมายความว่าผู้เรียบเรียงเท่านั้นเอง

 

     ที่ข้าพเจ้ากล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจภูมิหลังของคัมภีร์ต่างๆ ที่ ดร. เวท และศาสตราจารย์อศิตใช้เป็นฐานในการต่อยอดขึ้นไปเพื่อให้ได้ข้อสรุปต่างๆ ผู้แต่งทั้งสองเชื่อว่าฐานของท่านหนักแน่นแข็งแรง แต่ผู้อ่านจะคิดอย่างไรขอให้อยู่ในวิจารณญาณของท่านเอง

     ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอ่านคัมภีร์พระเวทที่ ดร. เวท อ้างถึง โดยเฉพาะคัมภีร์ อรรพเวทที่อ้างละเอียดและอ้างไว้หลายครั้ง ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงเฉพาะคัมภีร์ฉบับนี้และเฉพาะตอนที่ ดร. เวท อ้างถึงในตอนที่ 1 และศาสตราจารย์อศิต นำมากล่าวย้ำไว้อีกในตอนที่ 4 ข้อความดังกล่าวอยู่ในคัมภีร์อรรพเวทภาค (กัณฑ์) ที่ 20 ตอนที่ 127 และบทที่ 1 ถึง 14 คำสำคัญที่ผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้ยกมาเป็นประเด็นก็คือคำว่านราศังสะ” (20: 127: 1) ซึ่งปรากฏทั้งฤคเวท ยชุรเวท และสามเวทด้วย

 

 ใครคือผู้ได้รับการสรรเสริญ

 

     นราศังสะ เป็นคำประสมแบบสันสกฤตซึ่งเรียกว่าคำสมาส มาจากคำว่า นร (คน) และอาศังสะ (การสรรเสริญ) ส่วนจะแปลว่าอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการจัดประเภทของคำสมาส อย่างหนึ่งแปลว่า ผู้ได้รับการสรรเสริญโดยมนุษย์ อีกอย่างหนึ่งแปลว่า มนุษย์ผู้เป็นที่สรรเสริญ นักวิชาการพระเวทส่วนใหญ่ เช่น สายณะ เลือกที่จะแปลอย่างแรก และบ้างก็หมายถึงพระอัคนีเทพเจ้าแห่งไฟด้วยซ้ำไป  

     แต่ ดร. เวท ไม่สมัครจจะใช้ความหมายดังกล่าว เพราะเขาเชื่ออย่างจริงจังแล้วว่า นราศังสะ มีความหมายเดียวกับคำว่ามุฮัมมัด” (หน้า xiii) เขาจึงแปลคำนี้ว่า มนุษย์ผู้เป็นที่สรรเสริญ และที่เน้นคำว่ามนุษย์ก็เพื่อจะบอกว่า ท่านนบีนั้นเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เทพเจ้า

     ปัญหาอย่างหนึ่งในภาษาสันสกฤตคือการใช้คำที่มีความหมายกว้างๆ บ่งบอกลักษณะหรือฉายาของบุคคลหรือสิ่งต่างๆ เช่น ผู้ได้รับการสรรเสริญ ผู้มีพลัง ผู้มีความเร็ว ฯลฯ จึงทำให้มีการตีความกันไปได้ต่างๆ 

     และที่สำคัญก็คือข้อความที่เป็นบริบทแวดล้อม ผู้อ่านจะต้องพิจารณาประกอบเพื่อให้แน่ใจว่าความหมายจะไปในทิศทางใด ข้อความตอนที่ 127 นี้ เป็นการบอกคุณลักษณะต่างๆ ของฤษีรูปหนึ่งซึ่งจะเป็นผู้นำของหมู่ชน ตรงนี้เองที่ ดร. เวท นำข้อความต่างๆ มาตีความให้เข้ากับคุณลักษณะของท่านนบีมุฮัมมัด เนื่องจากเนื้อที่จำกัด ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างบางคำมาให้ผู้อ่านพิจารณาเท่านั้น

 

 ภรรยา 12 คน หรือพาหนะ 20 คัน

 

     ดร. เวท เชื่อว่าข้อความในบทที่ 2 กล่าวว่าผู้นำคนนี้มีภรรยา 12 คน ดร. เวท จึงเทียบกับท่านนบีมุฮัมมัดโดยยกชื่อภรรยาทั้ง 12 คนของท่านมาอ้าง ตั้งแต่ท่านหญิงคอดีญะห์ ท่านหญิงเซาดะห์ ท่านหญิงอาอีซะห์ ไปจนถึงท่านหญิงมัยมูนะห์ ซึ่งเป็นลำดับที่ 12 ข้าพเจ้าสะดุดใจคำว่า ภรรยา 12 คนเป็นอย่างมาก เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านต้นฉบับสันสกฤตก็พบคำว่ วธูมนฺโต ทวิทศ คำว่า วธู นั้น แปลว่า ภรรยา ใช่แล้ว แต่ก็ยังหมายถึงสัตว์เพศเมีย เช่น วัว ม้า ได้ด้วย ที่สำคัญคำนี้ไม่ใช่ วธู อย่างเดียว แต่เป็นคำว่า วธูมนฺโต ซึ่งหมายถึง (พาหนะ) ที่ลากด้วยม้าตัวเมีย และ ทวิทศ แปลว่า 20 ไม่ใช่ ทวาทศ ซึ่งแปลว่า 12 ดังนั้น สิ่งที่ผู้นำนั้นได้รับจึงไม่ใช่ภรรยา 12 คน หากเป็นพาหนะ 20 คัน สอดคล้องกับคำอื่นๆ ในบทเดียวกันซึ่งกล่าวถึงคุณสมบัติพิเศษของยานพาหนะที่จะใช้ในการสู้รบ

 

 คำปริศนานั้นหมายถึงนามมุฮัมมัดจริงหรือ

 

     ในตอนที่ 4 ของหนังสือเรื่องนี้ ผู้เขียนอีกคนหนึ่งคือ ศาสตราจารย์อศิตได้นำมนตร์ทั้ง 14 บท ในตอนที่ 127 มาอธิบายขยายความ โดยวิเคราะห์ว่าในบทที่ 3 มีคำปริศนาว่า มมห (หน้า 96) ซึ่งไม่ใช่คำสันสกฤต แต่เป็นคำภาษาอาหรับหมายถึงมุฮัมมัด ข้าพเจ้าอยากจะขอให้ผู้อ่านสังเกตลำดับอักษรด้วย คำปริศนานั้นมีเสียง ส่วนนามมุฮัมมัดมีเสียง (, ถือเป็นเสียงเดียวกันตามหลักภาษาศาสตร์) ซึ่งสลับลำดับกัน แต่นั่นเป็นเพียงประเด็นย่อย ที่สำคัญหากศาสตราจารย์อศิตจะถือเอาคำว่า ม ม ห เป็นชื่อท่านนบีแล้ว ข้อความในมนตร์บทที่ 3 ก็จะแปลไม่เข้าความเลย 

     ข้าพเจ้าได้พิจารณาคำนี้จากต้นฉบับแล้ว เป็นคำที่ลงวิภัติ (แจกรูปอย่างกริยา) ว่า มมห ไม่ใช่คำนาม แต่เป็นคำกริยาประเภท intensive (การกระทำซ้ำๆ) ของรากคำ มห ซึ่งแปลว่า เพิ่มหรือให้ หรือแจกจ่าย คำนี้เป็นกริยาของบุรุษที่ 3 เอกพจน์ ประธานคือ ฤษีรูปหนึ่ง ข้อความในมนตร์บทนี้ แปลได้ว่าฤษีรูปนี้ได้แจกจ่ายทองคำ 100 แท่ง มาลัย 10 พวง ม้า 300 ตัว และโค 10,000 ตัวที่แน่ชัดสำหรับข้าพเจ้าก็คือคำปริศนานั้นไม่ใช่นามท่านนบี อย่างที่ผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้ประสงค์จะให้เป็น

 

 ทองคำ มาลัย ม้า โค หมายถึงอะไรได้อีก

 

     สิ่งที่กล่าวถึงในมนตร์บทที่ 3 นี้ ล้วนเป็นสิ่งที่มีค่า ก็อีกเช่นกัน สุดแท้แต่ผู้อ่านจะตีความให้มายถึงอะไร ทองคำเป็นของบริสุทธิ์และมีราคา จึงอาจหมายถึงบุคคลหรือสิ่งของที่มีค่าสูงได้ แต่การจะกำหนดให้อะไรเป็นอะไรเราคงต้องดูบริบทและดูความสมเหตุสมผลด้วย ไม่ใช่เลือกตีความเอาตามความต้องการเท่านั้น เห็นจะเป็นเพราะจำนวนตัวเลขที่ระบุนี้เอง ทำให้ ดร. เวท เลือกที่จะตีความเข้ากับสมมติฐานของตนเองอย่างรวบรัดมาก (หน้า 15-16) 

     ♣ ทองคำ 100 แท่ง (ดร. เวท ใช้ว่า เหรียญ) เขาหมายถึงสาวกจำนวน 100 คน ผู้มีส่วนร่วมกับท่านนบีในการเผยแผ่อิสลาม เขาว่าที่เปรียบกับทองคำเพราะคำสอนตามหลักอิสลามมีคุณค่าประการหนึ่งทองคำ 

     ♣ มาลัย 10 พวงนั้น เขาหมายถึงบุคคลทั้ง 10 ผู้ใกล้ชิดกับท่านนบี เช่น อบูบักร อุมัร เป็นต้น เพราะมาลัยคล้องคอนั้นถือว่าใกล้ชิดกับร่างกายมากที่สุด 

     ♣ ม้า 300 ตัว เขาหมายถึงนักรบผู้ร่วมกับท่านนบีในสงคราม แต่ทำไมมีแค่ 300 เขากล่าวแก้ว่าที่จริงหมายถึงจำนวนมากกว่านั้น แต่นี่เป็นเพียงการเปรียบเทียบ 

     ♣ ส่วนโคหนึ่งหมื่นตัว เขาหมายถึงสาวกของท่านนบี จำนวนหมื่นคนที่ติดตามท่านจากนครมะดีนะห์ไปตีนครมักกะห์

 


     ทั้งหลายทั้งปวงที่ข้าพเจ้ายกตัวอย่างมานี้ก็เพื่อจะให้ผู้อ่านเข้าใจวิธีตีความของ ดร. เวท จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการตีความแบบลากเข้าความเพื่อให้ข้อสมมุติฐานของตนหนักแน่นดังที่ตั้งไว้แต่ต้น (คำนำ) ว่า นบีมุฮัมมัด ปรากฏในคัมภีร์พระเวทจริงๆ การตีความ (interpret) เป็นวิธีการหนึ่งในศาสตร์ทางภาษาและวรรณคดี ผู้อ่านจะต้องมีข้อมูลหลายทางที่มาสังเคราะห์เข้าด้วยกันอย่างสมเหตุสมผลมากกว่าเพียงเห็นคำคำหนึ่งที่น่าจะตรงกับคำที่ต้องการก็ลงความเห็นเป็นข้อสรุปได้ 

     การใช้คำว่า actually ในข้อความต่างๆ เช่น “ten garlands actually indicate ten men…” (หน้า 16) โดยแปล actually ว่าอันที่จริงหรือความจริงแล้วนั้น เป็นที่น่าพิจารณาว่าจริงของใครกันเล่า ของผู้ที่พยายามพิสูจน์อะไรบางอย่างเท่านั้นเองมิใช่หรือ

 

     ที่ยกมากล่าวนี้เป็นเพียงตัวอย่างตอนเดียว ยังมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอีกมากแทบทุกตอน เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าไม่อยากจะคิดว่าเพราะผู้เขียนทั้งสองคนไม่เข้าใจต้นฉบับภาษาสันสกฤตที่นำมาอธิบาย ดร. เวท นั้น เป็นนักวิจัยสาขาสันสกฤตอยู่ที่มหาวิทยาลัยประยาด ส่วนศาสตราจารย์อศิด ก็เป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันสันสกฤตที่เมืองเฮาราห์ ภาษาสันสกฏตนั้นมีกฎเกฑณ์อย่างแน่นอนตายตัว คนที่ศึกษาภาษาสันสกฤตย่อมเข้าใจดี และไม่มีทางที่จะอธิบายไขว้เขวจากตัวบทได้เช่นนี้ 

 

     ข้าพเจ้าคิดในทางบวกต่อไปว่า หรือจะเป็นเพราะผู้เขียนทั้งสองคนใช้ต้นฉบับคัมภีร์พระเวทต่างไปจากที่พระเจ้าใช้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าท่านทั้งสองใช้ฉบับใดเพราะไม่มีอ้างไว้เลย แต่ฉบับที่ข้าพเจ้าใช้เป็นฉบับพิมพ์ของ Munshiram Manohaorlal .. 1997 ซึ่งเป็นฉบับที่นักวิชาการสันสกฤตที่ศึกษาคัมภีร์พระเวทรู้จักดีและใช้กันเป็นส่วนใหญ่ โดยทั่วไปในการจัดพิมพ์ต้นฉบับคัมภีร์สำคัญของสันสกฤตนั้นมักมีเชิงอรรถอธิบายข้อความที่พบว่าต่างไปในต้นฉบับอื่นๆ ด้วย สำหรับคำที่ข้าพเจ้ายกมาอธิบายข้างต้นนั้นไม่มีเชิงอรรถอธิบายใดๆ ว่ามีที่ใช้ต่างไป ข้อสันนิษฐานเรื่องการใช้ต้นฉบับต่างไปจึงไม่ค่อยมีน้ำหนักสำหรับข้าพเจ้า

 

     มาถึงข้อสันนิษฐานข้อที่สอง ข้าพเจ้าคิดว่าผู้เขียนทั้งสองนั้นเชื่ออย่างนักแน่นเรื่องอวตารปางสุดท้ายของชาวฮินดู ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องพระเมสสิยาห์ หรือกษัตริย์องค์นิรันดร์ของชาวคริสต์ และพระศรีอาริยเมตไตรยของชาวพุทธ บุคคลผู้นั้นเป็นที่รอคอยและคาดหวังของชาวโลกว่าจะมาช่วยกอบกู้โลกให้พ้นจากความวุ่นวายหายนะดังที่เป็นอยู่ ผู้เขียนทั้งสองเชื่อว่าบุคคลผู้นั้นคือนบีมุฮัมมัดนั่นเอง เมื่อเชื่อเช่นนั้นก็พยายามที่จะหาหลักฐานมาแสดงโดยยกคัมภีร์ตามความเชื่อของชาวฮินดูมาอธิบายและตีความ ซึ่งก็คงเป็นการพยายามตีความแบบลากเข้าความดังที่ข้าพเจ้าได้ยกตัวอย่างมาแล้ว

 

     ทั้ง ดร. เวท และศาสตราจารย์อศิตมีความตั้งใจดีที่อยากจะเห็นความสมานฉันท์กันระหว่างคนต่างศาสนา โดยเฉพาะในดินแดนที่มีความขัดแย้งกันอย่างมากเช่นประเทศอินเดีย เป็นที่รู้กันว่าชาวฮินดูกับมุสลิมนั้นแบ่งแยกและขัดแย้งกันมานานแล้ว และก็มีผู้ที่พยายามจะสมานความแตกแยกนี้อยู่เสมอ ดร. เวท เขียนหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ดังกล่าวนี้ ในบทนำของตอนที่ 2 เขากล่าวชัดเจนว่า หนังสือเรื่องนี้เป็นความพยายามที่จะประสานวัฒนธรรมอินเดียโบราณเข้ากับวัฒนธรรมอิสลาม (หน้า 45) เพื่อส่งเสริมเอกภาพในสังคมอินเดียและในโลก (หน้า 46) โดยขอให้ความสมัครสมานสามัคคีกันระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิม และชาติต่างๆ (หน้า 46)

 

     ดร. เวท พยายามประนีประนอมจนกระทั่งยอมขอให้มุสลิม(ในอินเดีย) เลิกกินเนื้อวัวเพราะชาวฮินดูนั้นนับถือวัว เขากล่าวว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความแตกแยกในชาติของเขาก็คือการที่มุสลิมกินเนื้อวัว (หน้า 41) มุสลิมจึงควรเลิกกินเนื้อวัว เขายังได้ยกหลักฐานมาอ้างว่าเนื้อวัวมีเชื้อโรคจึงไม่ควรกิน (หน้า 42) แต่ผู้อ่านย่อมจะเห็นเจตนาแฝงหรือวาระซ่อนเร้น (hidden agenda) ของเขาว่าที่ไม่ควรกินก็เพราะจะกระเทือนความรู้สึกของชาวฮินดูซึ่งนับถือวัว

 

     ความพยายามที่จะสมานฉันท์ความคิดความเชื่อที่แตกต่างเช่นนี้มีมานานแล้วในสังคมอินเดีย ผู้ที่ศึกษาศาสนาพุทธจะเข้าใจดีว่าความแตกต่างระหว่างฮินดูกับพุทธก็เคยมีปัญหา เพราะฝ่ายหนึ่งเป็นเทวนิยมซึ่งเชื่อเรื่องพระเจ้า และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอเทวนิยมซึ่งไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า การที่คัมภีร์ปุราณะนำพระพุทธเจ้าเข้าไปเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ก็เป็นความพยายามสมานฉันท์อย่างหนึ่ง การที่จะมีผู้นับเอานบีมุฮัมมัดเป็นพระกัลกิอวตารปางสุดท้ายของพระนารายณ์ ก็เป็นความพยายามทำนองเดียวกัน ต่างกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น 

 

     ข้าพเจ้าคงจะกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า หนังสือเรื่อง Muhammad in the Hindu Scriptures ของ ดร. เวท ประกาศ อุปาทธยาย เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นด้วยเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมของอินเดีย ข้าพเจ้าอาจจะเป็นคนที่มีความใจแคบในการนับถือสาสนา” (religious narrewmindedness) ตามคำของ ดร.เวท (หน้า xiii) แต่ข้าพเจ้าก็ถือตามที่ ยูซุฟ อลี ผู้แปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาอังกฤษกล่าวไว้ในส่วนนำของซูเราะห์ อัลกาฟิรูน ว่าในเรื่องความเป็นสัจจะเราไม่อาจประนีประนอมได้” (in matters of Truth we can make no compromise)

 

     หนังสือเรื่องนี้มีการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดย คุณบรรจง บินกาซัน โดยใช้ชื่อว่า นบีมุฮัมมัดในคัมภีร์พระเวทและปุราณะ (ตามชื่อฉบับเบงกลีของศาสตราจารย์อศิต) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อัลอะมีน เมื่อเดือนตุลาคม 2544 ข้าพเจ้าขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยการกล่าวถึงผู้มีฝีมือในการแปล ข้าพเจ้าไม่เคยสงสัยในความสามารถของเขาเลย แต่สิ่งหนึ่งที่จะติงฉันมิตรคนหนึ่งก็คือการตัดสินใจเลือกเรื่องนี้มาแปล ข้าพเจ้าตระหนักดีว่าผู้แปลมีความตั้งใจเช่นเดียวกับ ดร. เวท และศาสตราจารย์อศิต ผู้เขียนทั้งสอง ตลอดจนมุฮัมมัด อาลัมคีร์ ผู้แปลฉบับภาษาอังกฤษ ทุกคนปรารถนาจะเห็นความสมานฉันท์ในสังคมซึ่งกำลังวุ่นวายอยู่นี้ แต่ข้าพเจ้าก็ยังอยากจะบอกแต่เพียงว่า ในฐานะที่ข้าพเจ้ารู้ภาษาสันสกฤตและได้ศึกษาคัมภีร์พระเวท คัมภีร์ปุราณะและมหาภารตะมาแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่เลือกเรื่องนี้มาแปลเลย แม้จะมีโอกาสก็ตาม

 

 

ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์