ความต้องการของมนุษย์
โดย... รศ. ประมาณ ฮะกีม
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ผู้ทรงเมตตาสรรพสิ่งทั้งมวลบนโลกนี้ ทรงปรานีเฉพาะผู้ศรัทธาในโลกอาคิเราะฮฺ
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เราขอสรรเสริญพระองค์และขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ขออภัยโทษต่อพระองค์ ขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากความชั่วร้ายแห่งตัวเรา จากความผิดพลาดและความเลวร้ายแห่งการงานของเรา
ผู้ใดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงชี้ทางให้แก่เขาก็ไม่มีผู้ใดทำให้เขาหลงผิดไปได้ และผู้ใดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงปล่อยให้เขาหลงผิดก็ไม่มีผู้ใดชี้ทางถูกให้เขาได้
ข้าพระองค์ขอปฏิญาณว่าไม่มีผู้ใดคู่ควรได้รับการเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีภาคีใดๆ ต่อพระองค์ ข้าพระองค์ขอปฏิญาณว่า แท้จริงท่านนบีมุฮัมมัดคือบ่าวและร่อซูลของพระองค์ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานความเมตตาและสันติสุขแด่ท่านนบีอย่างมากมายด้วย
เมื่อพูดถึงความต้องการของมนุษย์แล้ว ลองถามเพื่อนคนหนึ่งดูซิว่า อะไรคือความต้องการของท่านมากที่สุด?
เพื่อนจะตอบว่า ต้องการความรัก ความปลอดภัย ต้องการได้รับความสำเร็จ และต้องการได้รับเกียรติยศสรรเสริญ
คำถามต่อมาคือสิ่งที่ท่านต้องการนั้น ท่านได้เคยมอบให้กับใครบ้างหรือเปล่า?
เขาตอบว่าความรักสูงสุดของข้าพเจ้าคือ ต้องการความรักจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ผู้เป็นเจ้าของฉัน
ฉะนั้น ฉันต้องทำตัวให้เป็นที่รักของพระองค์ท่าน คือ ต้องรักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างมากที่สุดในชีวิต ทั้งรักทั้งมีความยำเกรงต่อพระองค์ท่าน และพยายามปฏิบัติตามพระดำรัสของพระองค์ซึ่งมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอานและตามคำสอนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ประพฤติและปฏิบัติ ทุกอย่างตามคำสอนของท่าน
เช่นการปฏิบัติละหมาด และการจ่ายซะกาตเมื่อมีรายได้เก็บรักษาไว้ถึงกำหนดจำนวนที่ต้องออกซะกาต ซึ่งมีรายละเอียดของอาชีพแต่ละประเภท นอกจากนั้นจะต้องละเว้นไม่กระทำ ทุกสิ่งที่เป็นข้อบัญญัติห้ามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และปฏิบัติตามคำสอนของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
เมื่อเรารักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมแล้ว เราต้องรักบิดา มารดาผู้ให้กำเนิดเรา เพราะท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เราเล็ก จนเราเติบใหญ่อยู่ ทุกวันนี้ ท่านให้การอบรมสั่งสอนแก่เราและดูแลให้ความปลอดภัยแก่เรา ให้เราได้รับการศึกษาและปฏิบัติตามหลักการของอิสลาม ให้เราได้รับการศึกษาจากสถาบันการศึกษา ครูอาจารย์เป็นผู้ให้ความรู้แก่เราทั้งด้านสามัญและด้านศาสนาตลอดจนด้านวิชาชีพ จนเราสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ
♥ พระคุณอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของเราได้รับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พระผู้ทรงให้ทุกสิ่ง ทุกอย่างแก่เราทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ เมื่อเราประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดี เราก็จะได้รับความเอ็นดูเมตตาจากพระองค์ และได้รับความคุ้มครองจากพระองค์ และได้รับการสนับสนุนจากพระองค์ด้วย
ดังปรากฏในซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 159 ความว่า
“เนื่องจากความเอ็นดูเมตตาจากอัลลอฮฺนั่นเอง เจ้า (มุฮัมมัด) จึงได้สุภาพอ่อนโยนแก่พวกเขา และถ้าหากเจ้าประพฤติหยาบช้า และมีใจกระด้างแล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบๆ เจ้าแล้ว
ดังนั้น จงอภัยให้แก่พวกเขาเถิด และจงขออภัยให้แก่พวกเขาด้วย และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้วก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่มอบหมายทั้งหลาย”
♥ บิดา มารดาผู้ให้กำเนิดเราและเลี้ยงดูเราตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ ให้การอบรมสั่งสอน และให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่เรา บิดา มารดา จึงเป็นผู้มีพระคุณแก่เราอย่างมาก จนเราไม่สามารถตอบแทนพระคุณของท่านได้หมด เมื่อท่านมีอายุเราต้องเอาใจใส่เลี้ยงดูท่านอย่างดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้
♥ ลำดับต่อมาก็ได้แก่ครูบาอาจารย์ ผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้แก่เราและให้การอบรมสั่งสอนแก่เรา จนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพและเป็นสุขอยู่ทุกวันนี้ หน้าที่ของเราก็คือ เราต้องทำแต่สิ่งที่ดีงามแก่บิดามารดา ครูบาอาจารย์ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงและผู้มีพระคุณแก่เรา พยายามอ่านอัลกุรอานทุกวัน ทั้งกลางวันและกลางคืน
♥ เมื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ให้ความเอ็นดูเมตตาแก่เรา เราต้องดูและและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ขัดสนยากจน ทั้งที่เขามาขอเราและไม่มาขอเรา พยายามทำให้สม่ำเสมอ อย่าเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เราจะอยู่เป็นสุขสบายไม่ได้ ต้องพยายามช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้องให้เขาได้รับความสุขเหมือนกับที่เราต้องการ
♥ ประการสุดท้าย เราต้องรักตัวเพื่อนบ้านและรักสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เมื่อเราปฏิบัติได้ ผลดีก็จะกลับมาสู่ตัวเราเอง อินชาอัลลอฮฺ
เกียรติและศักดิ์ศรีของคนอยู่ที่การทำงาน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกปัดและปฏิเสธความคิดของบุคคลบางคนที่มองเห็นการทำงานหรือประกอบอาชีพบางอย่างเป็นสิ่งที่น่าตำหนิ เลวทราม และต่ำต้อย แต่ในทางตรงกันข้าม ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กลับสอนเหล่าสาวกของท่านให้ทราบและเข้าใจว่าการทำงานประกอบอาชีพไม่ว่าจะเป็นแขนงใดหรือสาขาใด ตราบใดที่เป็นงานที่สุจริตแล้วนั้น นับเป็นงานที่ดีมีเกียรติทั้งสิ้น แต่ความเลว ความต่ำต้อยและความอับอายที่แท้จริงนั้นคือ การยึดถือและอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่น
ดังฮะดิษของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม ได้รายงานความว่า
“การที่คนหนึ่งคนใดในพวกเจ้าออกไปหาฟืนเพื่อนำมาขาย พระองค์อัลลอฮฺทรงรักษาหน้าของพวกเขาไม่ให้ได้รับการอับอายอันเนื่องมาจากการขอ และยังดีกว่าที่เขาจะขอจากผู้อื่น ซึ่งแม้ว่าผู้นั้นจะให้เขาหรือไม่ก็ตาม”
อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงแจ้งให้ทราบว่า ความสุขของมนุษย์นั้น อยู่ในความศรัทธาและประกอบการงานที่ดีควบคู่กันไป มิใช่เพียงแต่ศรัทธาอย่างเดียว
ดังดำรัสของพระองค์ในซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 133-136 ความว่า
133 “และพวกเจ้าจงรีบเร่งไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด และไปสู่สวรรค์ด้วย ซึ่งความกว้างของมันคือ ชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน โดยที่มันจะถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง”
134 “คือบรรดาผู้บริจาคทั้งในยามทุกข์และสุข และบรรดาผู้ที่ระงับความโกรธ และบรรดาผู้ที่ให้อภัยแก่ผู้อื่น และอัลลอฮฺนั้นทรงชอบผู้กระทำดีทั้งหลาย”
135 “และบรรดาผู้ที่เมื่อเขากระทำสิ่งชั่ว หรือได้อธรรมแก่ตัวของพวกเขาเอง พวกเขารำลึกถึงอัลลอฮฺได้ และพวกเขาก็ขออภัยโทษสำหรับบรรดาความผิดของพวกเขา และก็ใครเล่าจะอภัยโทษ ซึ่งโทษต่างๆ ให้ได้นอกจากอัลลอฮฺแล้ว และพวกเขาไม่ดื้อรั้นกระทำในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำมาแล้วโดยที่พวกเขารู้อยู่”
136 “ชนเหล่านี้แหละการตอบแทนแก่พวกเขาก็คือการอภัยโทษจากพระจ้าของพวกเจ้าและบรรดาสวนสวรรค์ด้วย ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายใต้สวนสวรรค์เหล่านั้น โดยที่พวกเขาพำนักอยู่ในสวนสวรรค์นั้นตลอดกาล และรางวัลของบรรดาผู้ทำงานช่างดีจริงๆ”
อนึ่งความมุ่งหมายในบัญชาของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ให้เร่งรีบไปสู่การอภัยโทษก็ดี และไปสู่สวนสวรรค์ที่มีความกว้างเท่าบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินก็ดีนั้น พระองค์ทรงมุ่งหมายให้มนุษย์กระทำความดี ถ้ายังมิได้ศรัทธาก็จงรีบศรัทธาเสีย พระองค์จะทรงให้อภัยทั้งหมดในความผิดที่เขากระทำมาในอดีต แล้วขะมักเขม้นศึกษาบัญญัติศาสนาที่ตนจะต้องปฏิบัติและเมื่อได้ทราบหน้าที่แล้ว ก็ปฏิบัติด้วยความเต็มใจโดยหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ตะอาลา แล้วพระองค์ก็จะทรงให้เขาได้เข้าสวรรค์ของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ อินชาอัลลอฮฺ
ถ้าเขาได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามแล้ว ก็ให้แบ่งเวลาศึกษาบัญญัติศาสนาอันเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน และเมื่อได้ทราบแล้วปฏิบัติด้วยความมั่นใจในความโปรดปรานของพระองค์ แล้วพระองค์ก็จะทรงอภัยโทษให้แก่เขาในความผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาได้กระทำไป หรือกระทำไปโดยไม่รู้ หรือพลาดพลั้งกระทำความผิดใหญ่ ๆ แล้วมีผู้คนตักเตือนเขา หรือเขานึกได้ด้วยตนเอง และขออภัยโทษต่อพระองค์โดยไม่ดื้อรั้นกลับกระทำผิดนั้นอีก พระองค์ก็จะทรงอภัยโทษให้แก่เขา และจะทรงให้เขาเข้าสวรรค์ในวันอาคิเราะฮฺ
บรรดาผู้ศรัทธาและประกอบการงานที่ดี ตามที่พระองค์ได้ทรงบัญชาไว้ ดังกล่าวนี้แหละได้ชื่อว่าเป็นผู้ยำเกรงพระองค์ ดังที่พระองค์ได้ทรงระบุไว้ในท้ายอายะฮฺว่า สวรรค์ที่กว้างขวางเท่ากับบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินนั้น พระองค์ได้เตรียมตอบแทนแก่บรรดาผู้ยำเกรง และเพื่อที่จะให้ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นผู้ยำเกรงต่อพระองค์ เป็นผู้ที่ได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ของเขาที่พึงปฏิบัติ
พระองค์จึงแจกแจงให้เขาทราบว่า บรรดาผู้ยำเกรงนั้นคือ ผู้ที่บริจาคทั้งในยามสุขสบายและยามเดือดร้อน กล่าวคือ ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา นั้นเขามีความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาบริจาคในทางของพระองค์นั้น เท่ากับเขาสั่งสมสิ่งนั้นไว้เพื่อตัวของเขาเองในวันอาคิเราะฮฺ ยิ่งกว่านั้นเขาจะได้รับการเพิ่มพูนจากพระองค์อีกถึงเจ็ดร้อยเท่าหรือมากกว่านั้นในสิ่งที่เขาบริจาคไป ด้วยเหตุนี้เขาจึงบริจาคอยู่เป็นประจำ แม้แต่ในยามที่เขาเดือดร้อน
และผู้ที่ยำเกรงนั้นนอกจากจะทำการบริจาคดังกล่าวแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่สามารถระงับความโกรธได้ เมื่อมีความกริ้วโกรธเกิดขึ้นแก่เขา การระงับการกริ้วโกรธนี้แหละถือเป็นผลงานที่ดีอันหนึ่ง กล่าวคือ นอกจากจะได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ตะอาลา แล้วยังช่วยให้ตัวเองสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม การกระทำที่ปราศจากความโมโหนั้นเป็นการกระทำที่มีสติ สามารถรู้ได้ว่าอะไรควรไม่ควร และกระทำเท่าที่ควรกระทำ ด้วยเหตุนี้ทำให้เขาเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนและเป็นแบบอย่างอันดีแก่ผู้อื่นด้วย ซึ่งต่างจากผู้ที่ไม่ยอมระงับความโกรธของเขา
คนเรานั้นหากกระทำสิ่งใดขณะที่มีความโมโหแล้ว ย่อมกระทำเกินเลยเสมอ เพราะขาดสติในการทำให้เรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่และเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาเลวร้ายต่างๆ ในสังคม ดังที่ปรากฏอยู่โดยทั่วไป แล้วตัวเขาเองก็กลายเป็นที่น่ารังเกียจในสังคม แม้แต่ในครอบครัวของตัวเอง
นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ย้ำคำตอบของท่านแก่สาวกของท่านถึงสามครั้งว่า “ท่านอย่าโมโห”
เมื่อเขามาหาท่านโดยกล่าวว่า “โปรดสั่งเสียสิ่งที่ดีแก่ฉันเถิด”
นอกจากนี้แล้วผู้ที่ยำเกรงจะต้องรูจักให้อภัยแก่ผู้อื่นด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่ามนุษย์นั้นมีความบกพร่องและความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ถ้าความบกพร่องและผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นโดยไม่เจตนาแล้ว ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายใหญ่โตอะไรก็ควรจะได้รับการให้อภัย
ปรากฏมีฮะดิษซึ่งรายงานโดยซอฮาบะฮฺคนหนึ่งของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ใดปลูกต้นไม้ขึ้น และได้อดทนรักษาดูแลมันจนออกดอกออกผล แน่แท้เขาได้รับผลบุญการซอดาเกาะฮฺในทุกๆ สิ่งที่ได้รับจากผลของมัน”
แนวคิดนี้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์