ละหมาดแล้วได้อะไร ?
โดย อ. ดาวูด รอมาน
ส่วนหนึ่งของประโยชนคือ:-
1- ขจัดปัญหา ความทุกข์ร้อน
ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อมีปัญหาอะไรบางอย่างมาประสบในชีวิตของท่าน ท่านก็จะเข้าสู่การละหมาด ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดียิ่งในการแก้ไขปัญหา ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะมุ่งเข้าสู่การละหมาดไปหาการเยียวยาจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา สิ่งที่ท่านมีปัญหาอยู่ก็ขอความช่วยเหลือจากพระองค์
อัลลอฮ์ ตรัสว่า
(يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اسْتَعِينُوا بِالصَّبْرِ وَالصَّلاةِ إِنَّ اللَّهَ مَعَ الصَّابِرِينَ)
"บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอาศัยความอดทน และการละหมาดเถิด แท้จริงอัลลออ์นั้นทรงอยู่ร่วมกับผู้อดทนทั้งหลาย”
(อัลบะกอเราะห์ :153)
ท่านหุซัยฟะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าเรื่องราวของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
كان صلى الله عليه وسلم إذا حزبه أمرٌ فزع إلى الصلاة، وقال: “يَا بِلاَلُ أَقِمِ الصَّلاَةَ، أَرِحْنَا بِهَا”
ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ความว่า “คราใดก็ตามที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ เมื่อมีสิ่งใดที่ทำให้ท่านทุกข์โศก ท่านก็จะมุ่งสู่การละหมาดโดยทันที”
แล้วท่านได้กล่าวว่า “โอ้บิล้าล ท่านจงอิกอมัตละหมาดเถิด เพื่อเราได้พักผ่อนด้วยการละหมาด”
(บันทึกโดยอะหฺมัด : 5/388 และอบูดาวูด : 1319)
2- ปฏิบัติรุก่นอิสลาม
การละหมาดเป็นรุก่น (หลักการ) ที่สองของรุก่นอิสลาม และเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งรองลงมาจากการปฏิญาณตนเป็นมุสลิม เพราะการละหมาดคือ เสาหลักของศาสนาที่มุสลิมทุกคนจะต้องช่วยกันรักษาและคงไว้ตราบใดที่ชีวิตยังมีอยู่
อัลลอฮฺได้กำชับและฝากฝังบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายให้ช่วยกันรักษาและดำรงการละหมาดห้าเวลาไว้ ดังดำรัสของพระองค์ที่มีว่า
(حَافِظُوا عَلَى الصَّلَوَاتِ وَالصَّلاةِ الْوُسْطَى وَقُومُوا لِلَّهِ قَانِتِينَ(
“พวกเจ้าจงรักษาการละหมาดทั้งหลายไว้ และละหมาดที่อยู่กึ่งกลาง (คือ ละหมาดอัศริ) และจงยืนละหมาดเพื่ออัลลอฮฺโดยนอบน้อม”
(อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 238)
3- เป็นสัมพันธ์ระหว่างบ่าวกับอัลลอฮ์
การละหมาดเป็นศาสนกิจอันหนึ่งที่จะช่วยสานสายสัมพันธ์อันดีงามและมั่นคงระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับบ่าวของพระองค์ นับตั้งแต่เราเริ่มกล่าวตักบีรฺ(อัลลอฮุ อักบัรฺ) ก็แสดงให้เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ขณะนี้บ่าวกำลังเข้าเฝ้าอัลลอฮ์ พระองค์ผู้ทรงสร้าง เพราะว่าตั้งแต่ตักบีรจนถึงการให้สลาม เราจะเห็นได้ว่าทุกอิริยาบทที่ถูกแสดงออกมาในช่วงประกอบพิธีละหมาดนั้น คืออิริยาบทของบ่าวผู้อ่อนแอที่กำลังเข้าเฝ้าพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ คือ พระองค์อัลลอฮฺ
หลักฐานหนึ่งที่บ่งชี้ว่า การละหมาดคือการเข้าเฝ้าอัลลอฮ์ก็คือ เวลาที่ผู้ละหมาดอ่านสูเราะฮฺ อัล-ฟาติหะฮฺ ในทุกๆ ร๊อกอัตของการละหมาด ทุกๆ อายัตที่เขาได้อ่านในสูเราะฮฺ อัล-ฟาติหะฮฺนั้น อัลลอฮฺจะทรงตอบรับดังที่มีรายงานในหะดีษของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะสัลลัม
عَنْ { النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَنَّهُ قَالَ : يَقُولُ اللَّهُ تَعَالَى : قَسَمْت الصَّلَاةَ بَيْنِي وَبَيْنَ عَبْدِي نِصْفَيْنِ نِصْفُهَا لِي وَنِصْفُهَا لِعَبْدِي وَلِعَبْدِي مَا سَأَلَ فَإِذَا قَالَ الْعَبْدُ : { الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ } قَالَ اللَّهُ : حَمِدَنِي عَبْدِي وَإِذَا قَالَ : { الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ } قَالَ اللَّهُ : أَثْنَى عَلَيَّ عَبْدِي وَإِذَا قَالَ : { مَالِكِ يَوْمِ الدِّينِ } قَالَ اللَّهُ : مَجَّدَنِي عَبْدِي . وَإِذَا قَالَ : { إيَّاكَ نَعْبُدُ وَإِيَّاكَ نَسْتَعِينُ } قَالَ : هَذِهِ الْآيَةُ بَيْنِي وَبَيْنَ عَبْدِي وَلِعَبْدِي مَا سَأَلَ فَإِذَا قَالَ : { اهْدِنَا الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ } { صِرَاطَ الَّذِينَ أَنْعَمْتَ عَلَيْهِمْ غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ وَلَا الضَّالِّينَ } قَالَ : هَؤُلَاءِ لِعَبْدِي وَلِعَبْدِي مَا سَأَلَ }
จากท่านนบีซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
อัลลอฮ์ตาอาลากล่าวว่า :ฉันได้แบ่งละหมาดระหว่างฉันกับบ่าวของฉันคนละครึ่ง ครึ่งหนึ่งเป็นของฉันและอีกครึ่งหนึ่งเป็นของบ่าวของฉัน บ่าวของฉันจะได้รับในสิ่งที่เขาได้ขอ
เมื่อบ่าวได้กล่าวว่า : อัลฮัมดุลิ้ลลาฮิรอบบิลอาละมีน (มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮ์)
อัลลอฮ์จะกล่าวว่า :บ่าวของฉันได้สรรเสริญฉัน
เมื่อบ่าวได้กล่าวว่า :อัรเราะห์มานิ้รร่อฮีม (ผู้ทรงเมตา ผู้ทรงปราณี)
อัลลอฮ์จะกล่าวว่า :บ่าวของฉันได้ยกย่องฉันแล้ว
เมื่อบ่าวได้กล่าวว่า :มาลิกิเยามิดดีน(ผู้ทรงสิทธิขาดในวันสิ้นโลก)
อัลลอฮ์จะกล่าวว่า :บ่าวของฉันได้สดุดีฉันแล้ว
เมื่อบ่าวได้กล่าวว่า :อียาก้านะอ์บุดู้วะอียาก้านัสต้าอีน (เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราจะกราบไหว้ และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราจะขอความช่วยเหลือ)
อัลลอฮ์จะกล่าวว่า :อายะห์นี้เป็นของฉันและบ่าวของฉัน บ่าวของฉันจะได้รับในสิ่งที่เขาขอ
เมื่อบ่าวได้กล่าวว่า :อิห์ดินัซซิรอต้อลมุสต้ากีม ซิรอต้อลละซีนะอันอัมต้าอะลัยฮิมฆอยริ้ลมัฆดูบิอะลัยฮิมวะลัดดอลลีน (ขอพระองค์โปรดชี้เราสู่แนวทางที่เที่ยงตรง เป็นแนวทางของผู้ที่พระองค์ทรงโปรดปรานมาแล้ว มิใช่แนวทางของผู้ที่ถูกโกรธกริ้วและหลงผิด)
อัลลอฮ์จะกล่าวว่า :อายัตเหล่านี้เป็นของฉันและบ่าวของฉัน และบ่าวของฉันจะได้รับในสิ่งที่เขาขอ
(รายงานโดย มุสลิม)
4-ชำระบาป ชำระล้างจิตใจ
ส่วนหนึ่งของประโยชน์สำหรับผู้ที่รักษาไว้ซึ่งการละหมาดก็คือ การละหมาดจะช่วยชำระบาป และจะช่วยชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ปราศจากสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ หรือบาปอันเป็นสิ่งโสโครกที่ติดอยู่ให้หมดสิ้นไป ดังหะดีษของอบีฮุรอยเราะห์ ที่ว่า
” أَرَأَيْتُمْ لَوْ أَنَّ نَهْرًا بِبَابِ أَحَدِكُمْ يَغْتَسِلُ مِنْهُ كُلَّ يَوْمٍ خَمْسَ مَرَّاتٍ ، هَلْ يَبْقَى مِنْ دَرَنِهِ شَيْءٌ ؟ قَالُوا : لَا يَبْقَى مِنْ دَرَنِهِ شَيْءٌ ، قَالَ : فَذَلِكَ مَثَلُ الصَّلَوَاتِ الْخَمْسِ ، يَمْحُو اللَّهُ بِهِنَّ الْخَطَايَا ” .
“พวกท่านลองตอบสิว่า ถ้าหากว่าหน้าประตูบ้านของพวกท่านมีแม่น้ำไหลผ่าน เพื่อที่พวกท่านจะได้อาบน้ำชำระร่างกายห้าครั้งในทุกๆวัน แล้วท่านยังจะมีสิ่งสกปรกหติดค้างอยู่อีกไหม?”
บรรดาผู้ที่ฟังท่านอยู่ตอบว่า จะไม่มีสิ่งสกปรกลงเหลือเลย
ท่านก็กล่าวอีกต่อไปว่า “ดังนั้นการละหมาดห้าเวลาก็เช่นกัน อัลลอฮฺจะทรงชำระบาปและความผิดต่างๆ ของพวกท่านด้วยการละหมาด”
(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)
ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
الصَّلَاةُ الْخَمْسُ وَالْجُمْعَةُ إِلَى الْجُمْعَةِ كَفَّارَةٌ لِمَا بَيْنَهُنَّ مَا لَمْ تُغْشَ الْكَبَائِرُ
“การละหมาดห้าเวลาและการละหมาดญุมอะฮฺ (ละหมาดวันศุกร์) หนึ่งไปยังอีกญุมอะฮฺหนึ่ง มีผลตอบแทนคืออัลลอฮฺจะทรงไถ่โทษ (ชำระบาป) ในสิ่งที่ไม่ไช่บาปใหญ่”
(รายงานโดย มุสลิม)
5- ป้องกันความชั่วร้ายได้
การละหมาดมิใช่เพียงแต่สามารถชำระบาปและสิ่งโสโครกเท่านั้น แต่การละหมาดยังสามารถสร้างเกราะป้องกันบาปอีกด้วย ดังดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
إِنَّ الصَّلاةَ تَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاءِ وَالْمُنْكَرِ “แท้จริง การละหมาดจะยับยั้งความชั่ว และสิ่งโสมมได้”
(อัลอังกะบูต : 45)
การละหมาด คือ แสงสว่างที่จะช่วยส่องจิตใจของผู้ศรัทธาบนโลกนี้และในวันอาคิเราะฮฺ ท่านรอซูลได้กล่าวว่า
وَالصَّلاَةُ نُورٌ “การละหมาดนั่นคือแสงสว่าง”
(รายงานโดยมุสลิม)
ซึ่งใครก็ตามที่รักษาไว้ซึ่งการละหมาดเขาจะได้รับแสงสว่างและความสำเร็จในวันอาคิเราะฮฺ
6- รวมมุสลิมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การละหมาดญุมอะฮฺปลูกฝังความเป็นภารดรภาพ ความเท่าเทียม และความอ่อนน้อมถ่อมตนระหว่างมุสลิมด้วยกัน โดยผู้ทำอิบาดะฮฺยืนเป็นแถวเดียวกันดั่งเรือนร่างเดียวกัน ไหล่เคียงไหล่ ปราศจากการแบ่งแยกทางเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ สีผิว ความมั่งมี วงศ์ตระกูล หรือสถานภาพ การแสดงออกซึ่งความเป็นเอกภาพนี้ช่วยทำลายกำแพงทั้งหมดที่กั้นระหว่างกัน