พาเด็กไปมัสยิดได้หรือไม่ ?
อุมมุ อุ้ลยา แปลและเรียบเรียง
คำถาม
ฮุก่มของการนำเด็กไปมัสยิด คืออะไร ? ผมมีลูกชายวัยสี่ขวบ ชอบจะตามผมไปมัสยิด แต่พอถึงก็ชอบวิ่งเล่น และอยู่ไม่เป็นที่ มีคนแนะว่าไม่ต้องพามามัสยิด อยากทราบว่าอิสลามมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรครับ ?
คำตอบ
การนำเด็กมามัสยิดไม่ถือเป็นความผิดใดๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังสมควรทำให้เด็กเคยชินและส่งเสริมให้มามัสยิด ตราบใดที่มาแล้วไม่สร้างความรบกวนให้แก่ผู้มาละหมาด แต่หากมามัสยิดแล้วรบกวนคนละหมาดก็ไม่สมควรนำมา เพราะมัสยิดไม่ได้สร้างมาไว้ให้วิ่งเล่น แต่สร้างมาไว้เพื่อใช้ละหมาด เพื่อแสดงความนอบน้อม และเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺ
ท่านนบี ได้เคยห้ามไม่ให้คนที่ละหมาดอ่านเสียงดังตีกันไปมา แล้วการเล่นซุกซน วิ่งไปมา อยู่ไม่เป็นที่ อันเป็นการรบกวนคนมาละหมาดและทำให้คุชั๊วะและ ฏ่อมะนีนะฮฺหายไปจะไม่ถูกห้ามได้อย่างไร ?
ในอัลมุเดาวินะฮฺ (1/195) ระบุว่า : มีผู้ถามท่านอิมามมาลิก ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ถึงการนำเด็กมามัสยิด
ท่านตอบว่า หากเด็กไม่ได้เล่นซุกซนก็ไม่เป็นไร แต่หากเด็กเล่นซุกซนเพราะความไร้เดียงสา ฉันก็เห็นว่าไม่ควรพามามัสยิด
มีผู้ถามเชค อิบนิ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ว่า การนำเด็กเล็กที่ยังใส่ผ้าอ้อม ซึ่งส่วนมากแล้วน่าจะยังคงมีนะญิสอยู่ด้วยมามัสยิด จะต้องให้เด็กออกไปข้างนอกหรือไม่ ?
เชคตอบว่า :
การนำเด็กมามัสยิดนั้นไม่ได้เป็นอะไรเลย หากไม่ได้ส่งผลกระทบสร้างความรบกวน แต่หากสร้างความรบกวนก็ไม่ควรจะให้มา แต่วิธีที่จะไม่ให้มา ก็ควรแจ้งกับผู้ปกครองของเด็ก บอกว่าลูกคุณส่งเสียงรบกวน หรืออะไรทำนองนี้ ท่านนบี เคยต้องการยืนละหมาดนานๆ แต่พอท่านได้ยินเสียงเด็กร้อง ท่านก็ย่นละหมาดของท่านให้สั้นลง เกรงว่าแม่เด็กจะกระวนกระวายใจ ตรงนี้เองชี้ให้เห็นว่ามีเด็กๆ ร่วมอยู่ด้วยในมัสยิด
แต่อย่างที่เราบอกไป หากเด็กสร้างความรบกวน ก็ควรจะปรามที่ผู้ปกครองเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย เพราะหากท่านไล่เด็ก 7 ขวบออกจากมัสยิด แล้วลงโทษเด็ก พ่อเด็กก็อาจจะเอาเรื่องกับท่าน เพราะคนส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ขาดความยุติธรรม และไม่รู้จักสิทธิ จนอาจจะกลายเป็นคู่อริกันไปเลยก็เป็นได้
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขก็คือ ตักเตือนผ่านผู้ปกครองเพื่อป้องกันการเกิดฟิตนะฮฺ ส่วนประเด็นการพามามัสยิดนั้น ที่ดีที่สุดคือ ไม่ต้องพามา แต่บางครั้งแม่เด็กอาจมีความจำป็นต้องพามาในช่วงที่บ้านไม่มีคน และเธอต้องการมาเรียนที่มัสยิด หรือมาละหมาดตะรอเวียะฮฺ จะอย่างไรก็ตาม ตราบใดที่นำเด็กมาแล้วสร้างความรบกวน หรือผู้เป็นพ่อเองต้องคอยส่งเสียงปรามลูกก็ไม่ควรนำเด็กมา
สำหรับเด็กเล็กที่ยังใส่ผ้าอ้อมอยู่ ถือว่า เด็กยังไม่ได้รับประโยชน์อะไรในการที่จะพามา ส่วนเด็กอายุ 7 ขวบ หรือมากกว่านั้น ซึ่งเราจำเป็นต้องสั่งเขาให้ละหมาดได้แล้วนั้น พวกเขาย่อมจะได้รับประโยชน์จากการมามัสยิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่สามารถจะตัดสินแต่ละคนได้ทั้งหมด เพราะบางคนแม่เด็กอาจเสียชีวิตไปแล้ว หรือออกไปทำงาน ไม่มีใครอยู่บ้าน ในกรณีนี้การตัดสินอยู่ในสองสถาณการณ์ด้วยกันคือ ทิ้งละหมาดญะมาอะฮฺแล้วอยู่กับเด็กที่บ้าน หรือ พาเด็กมาละหมาดด้วย ก็ให้ลองชั่งผลดีผลเสีย และเลือกเอาสิ่งที่เหมาะสมและมีน้ำหนักมากที่สุด
(ลิกออฺ บาบิ้ล มัฟตูฮฺ 8/125)
มีคำถามอีกว่า สามารถนำเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ไปมัสยิดด้วยได้หรือไม่ ?
เชค อิบนิ อุซัยมีน ตอบว่า : เด็กเล็กต่ำกว่า 4 ขวบ ส่วนใหญ่แล้วยังละหมาดไม่เรียบร้อย เพราะยังไม่สามารถแยกแยะได้ ส่วนวัยที่พอจะแยกแยะได้แล้วส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 7 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่ท่านนบี กำชับให้สั่งให้เด็กละหมาด โดยท่านกล่าวไว้ว่า
(مروا أولادكم أو أبناءكم بالصلاة لسبع)
“ท่านทั้งหลายจงกำชับเด็กๆ และลูกหลานของพวกท่านให้ละหมาด เมื่ออายุได้ 7 ขวบเถิด”
ดังนั้น เด็ก 4 ขวบที่ยังละหมาดไม่เรียบร้อย ก็ยังไม่สมควรจะให้มามัสยิด นอกจากในสถาณการณ์ที่จำเป็นจริงๆ อาทิ ไม่มีใครอยู่บ้าน ก็ให้พามาได้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องไม่รบกวนคนที่ละหมาด หากสร้างความรบกวนก็ไม่ให้พามา หากเด็กอยากให้ท่านอยู่บ้านกับเขา ก็ให้อยู่เป็นเพื่อนเขา ในกรณีนี้ไม่ถือว่ามีความผิดที่ทิ้งละหมาดญะมาอะฮฺ เนื่องจากละทิ้งเพราะมีอุปสรรคในการที่จะต้องดูแลให้ความปลอดภัยแก่ลูกๆ เป็นต้น
(นูร อลัด ดัรบิ)
สรุปแล้วคือ หากท่านสามารถควบคุมไม่ให้เด็กเล่นซุกซน และส่งเสียงรบกวนได้ ก็ไม่เป็นไรที่จะพาเด็กมามัสยิด แต่หากควบคุมไม่ได้ก็ไม่สมควรที่จะพามา และฝากเตือนผู้มาละหมาดในมัสยิด ให้รับผิดชอบดูแลเด็กๆ ร่วมมือกันในการสอนมารยาทในมัสยิดให้กับเด็กๆ และควรตระหนักว่า ลำพังแค่เสียงหรือการเคลื่อนไหวใดๆ ที่เกิดขึ้นในมัสยิด ไม่ได้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ต้องห้ามเด็กไม่ให้มามัสยิด เพราะเด็กๆ ก็เคยประพฤติเช่นนี้ในมัสยิดของท่านนบี แล้วท่านก็ได้ละหมาดให้สั้นลง เพราะเห็นใจเด็กๆ และแม่ของเด็ก
หากแต่ใครที่รู้อยู่แก่ใจว่า ลูกตัวเองจะสร้างความปั่นป่วน รบกวนคนละหมาดแล้วละก็ ก็ไม่สมควรจะพามามัสยิด จนกว่าเด็กจะสามารถประพฤติมารยาทที่พึงปฏิบัติในมัสยิดได้เป็นอย่างดี และอัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่ง
ที่มา : https://islamqa.info/ar/142368