การปฏิสัมพันธ์
  จำนวนคนเข้าชม  3742


การปฏิสัมพันธ์

โดย อาจารย์ซอบรี นภากร

 

     มีรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านร่อซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ เขาจงพูดดี ไม่เช่นนั้นจงนิ่งเสีย 

ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ เขาจงให้เกียรติเพื่อนบ้าน และ

ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ เขาจงให้เกียรติแขกของเขา

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 

คำอธิบาย 

 

          ในฮะดิษนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวถึงหลักธรรมที่กำกับดูแลความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคม โดยเริ่มที่การดูแลคำพูดของตนเองที่เปรียบดังสะพานเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน ผ่านการสื่อสารในลักษณะต่างๆ บุคคลมีภาระหนักอึ้งในการรับผิดชอบคำพูดของตนเองดังที่จะกล่าวถึงต่อไป ตามด้วยการเอาใจใส่ต่อเพื่อนบ้าน ผู้ที่สำหรับใครหลายคนอาจใกล้ชิดและได้พบปะมากกว่าเครือญาติแท้ๆ เสียอีก รวมถึงท่านยังแนะนำให้ต้อนรับแขกเหรื่อที่มาเยี่ยมเยียนโดยการปฏิสัมพันธ์ ทั้งหมด ตามที่ได้กล่าวมาถือเป็นการแสดงศรัทธาที่สมบูรณ์ของผู้เป็นมุสลิม

 

          ฮะดิษบทนี้จาการายงานของอบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ในสำนวนนี้บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ หมวดมารยาท บทว่าด้วยผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์, อิมามมุสลิม หมวดการศรัทธา, อิมามอบูดาวู๊ด หมวดมารยาท บทว่าด้วยสิทธิเพื่อนบ้าน, อิมามอัตติรมิซีย์ หมวดเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับกิยามะฮ์ ฯลฯ ท่านกล่าวว่าเป็นฮะดิษซอเฮียะฮ์ และในเรื่องนี้ยังมีรายงานจากท่านหญิงอาอีซะฮ์ อนัส และอบู ซุรอยห์ อัลอะดะวีย์ อัลกะอ์บี อัลคุซาอีย์ ซึ่งมีชื่อว่าคุวัยลิด อิบนุ อัมร์

 

          รายงานต่างๆ ที่อิมามอัตติรมิซีย์กล่าวถึง ถูกบันทึกอยู่ในตำราฮะดิษหลายเล่มและมีเนื้อหารวมถึงรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย แต่โดยรวมใกล้เคียงกัน 

ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันอาคิเราะฮ์

 

          ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สอนจริยธรรมให้กับผู้คนสามประการในฮะดิษบทนี้ โดยทั้งสามประการนี้ถูกกำชับไว้ด้วยฉลากเดียวกัน นั่นคือผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ เขาจง...” สื่อความหมายในลักษณะของเงื่อนไขและผลลัพธ์ อันมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน ประหนึ่งจะสื่อว่า ผู้ใดที่ประสงค์จะดำรงตนในฐานะมุสลิมที่ดี มีศรัทธาพร้อมมูล เป็นที่พอพระทัยของอัลลอฮ์ ร่อซูลของพระองค์ อีกทั้งผู้คนทั้งหลาย ก็พึงกระทำการดังที่ได้ว่าไว้ โดยการผูกการกระทำทั้งหมดเข้ากับการศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคีเราะฮ์

 

          ในอัลกุรอานและฮะดิษ มีหลายคร้งที่ชักชวนมุสลิมให้ปฏิบัติศาสนกิจบางประการ หรือให้หลีกห่างจากบาปบางประการ โดยเชื่อมโยงกับอีมานต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ สิ่งที่น่าขบคิดก็คือ ทำไมจึงต้องเป็นสองประการนี้? ทั้งที่ศรัทธามีหลายแขนงหลายประการ แต่มักไม่มีการผูกโยงศาสนกิจเข้ากับเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าศรัทธาต่อมลาอิกะฮ์หรือคัมภีร์ เป็นต้น

 

ในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 228 ระบุว่า

     “ไม่อนุมัติให้พวกเธอปกปิดสิ่งที่อัลลอฮ์สร้างไว้ในมดลูกพวกเธอ หากพวกเธอมีความศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์

 

อันนิซาอ์ อายะฮ์ที่ 59 ระบุว่า

     “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงเชื่อฟังอัลลอฮ์ จงเชื่อฟังร่อซูลและผู้นำในหมู่พวกเจ้า หากพวกเจ้าพิพากษากันในเรื่องใด จงนำมันกลับไปหาอัลลอฮ์และร่อซูลของพระองค์ หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์

 

ในอัตเตาบะฮ์ อายะฮ์ที่ 18 ระบุว่า

     “แท้จริงแล้ว ผู้จะสร้างบรรดามัสยิดของอัลลอฮ์ คือผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์...เท่านั้น

 

ขณะที่ตัวอย่างในฝั่งของฮะดิษก็คือฮะดิษที่เรากำลังศึกษากันอยู่นี้และอีกหลายๆ บท อาทิ

     “แท้จริง อัลลอฮ์ทรงต้องห้ามเมืองมักกะฮ์ หาใช่มนุษย์ผู้ใด ดังนั้น ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์คนใดทำให้มีการหลั่งเลือดที่นั่น...” 

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

 

     “ไม่อนุญาตให้หญิงที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์คนใด เดินทางระยะทางหนึ่งวันหนึ่งคืนโดยไม่มีมะฮ์รอม” 

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์)

 

     “ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ เขาจงเข้าห้องน้ำโดยมีผ้านุ่ง” 

(บันทึกโดย อันนะซาอีย์)

 

          ในหลายตัวบทจะพบว่า การมีสองประการนี้สัมพันธ์กับการส่งเสริมให้ทำดี ให้กระทำเช่นนั้นหากมีศรัทธาสองประการนี้ หรือหากผู้ใดมีสองประการนี้ต้องไม่กระทำเช่นนั้น เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าศรัทธาสองประการมีคุณสมบัติที่เป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้กับมุสลิม เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เขาทำหรือไม่กระทำสิ่งต่างๆ ด้วยรากฐานการศรัทธาสองประการ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็หาใช่เพียงแค่สอง แต่จะพูดว่าทั้งสองเป็นโครงร่างฉบับย่อสำหรับรายละเอียดของศรัทธาทั้งหมด ก็คงไม่ผิดนัก

 

          ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ผู้สร้างให้เขาบังเกิดขึ้นมา มอบปัจจัยในการดำรงชีวิต ปัจจัยที่จะกระทำตนเป็นคนดีตามหลักธรรมทางศาสนา ประทานความรู้ที่เขาสามารถใช้แยกแยะ และเลือกกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดๆ ดังนั้น การกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดๆ ของมุสลิมจึงเชื่อมโยงกับอัลลอฮ์เป็นประการแรก หาใช่เหตุผลอื่นใด ที่มักแล่นเข้ามากในความคิดของมนุษย์ 

          เขาอาจทำสิ่งต่างๆ หรือไม่กระทำเพียงเพราะความต้องการส่วนตัว ประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง อุดมการณ์ทางการเมือง มุมมองต่อสังคม แนวคิดทางเศรษฐกิจ ข้อบังคับทางกฎหมาย ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม หรือเหตุผลนานัปการที่ผลักดันให้บุคคลกระทำการใดลงไป ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ผู้เป็นมุสลิมใช้และไม่ควรจะเป็น ทั้งหมดที่เขากระทำลงไปควรตั้งธงไว้ที่พระเจ้าของเขา 

 

          แน่นอนว่าคำว่าควรของเรานั้นน้อยไปหากเรื่องนั้นๆ เป็นพันธกิจทางศาสนา ที่จำเป็นต้องกระทำ (วาญิบ) เพราะนั่นเท่ากับเขากำลังกระทำสิ่งสำคัญอันละเลยไม่ได้ทางศาสนา โดยไม่มุ่งหวังไปที่พระองค์ การกระทำของเขาก็เท่ากับสูญเปล่า หากมุสลิมตระหนักและพิจารณาให้ดี สิ่งใดก็ตามที่อยู่ในขั้นที่ต้องกระทำอยู่แล้วเหตุใดเขาไม่ใส่ใจที่จะกระทำมันเพื่อพระองค์ เขายังอุตสาห์เบนการกระทำนั้นไปเพื่อเหตุผลอื่นใดที่ไม่ใช่พระองค์ เพื่อสร้างความพอใจให้ผู้คนอื่นใด งานของเขาที่ทำไปก็หามีคุณค่าใดๆ ต่อตนเองไม่ การศรัทธาต่ออัลลอฮ์จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของมุสลิม เป็นมาตรฐานทางความดีที่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ สิ่งอื่นใดอันเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ ถือเป็นโบนัสเท่านั้น

 

          ส่วนการศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮ์ หมายถึง ศรัทธา ต่อวันกิยามะฮ์และอาคิเราะฮ์ เป็นจุดเปลี่ยนผ่านของมนุษย์และญินจากภพหนึ่งสู่อีกภพหนึ่ง เวลาซึ่งไม่มีการกระทำอันหวังผลใดๆ เกิดขึ้น ทุกอย่างในวันนั้นเกิดขึ้นเชื่อมโยงกับสถานะของภพนี้ หากการศรัทธาต่ออัลลอฮ์เป็นสถานีเริ่มต้นของทุกอย่าง การศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮ์ก็คงเป็นสถานีสุดท้ายปลายทาง เป็นจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของมนุษย์ จบลงที่การพำนักอย่างถาวรไม่ที่ใดก็ที่หนึ่ง 

 

          ด้วยพระกรุณาและความเป็นธรรมของพระองค์ หลายคนอาจกล่าวอ้างว่าตนกระทำดีต่างๆ มามากมาย แต่พระองค์จะตรัสถามกลับว่าทั้งหมดนั้นทำเพื่อใครหากคำตอบไม่ใช่พระองค์เพียงองค์เดียว เราจะไปถามหาความผาสุกและความรอดพ้นจากผู้ใด ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม พ่อแม่ครูบาอาจารย์ หรือพระเจ้าอื่นนอกจากพระองค์หรือ 

 

          การพูดถึงหลักศรัทธาข้อนี้จึงเสมือนย้ำเตือนให้คิดว่า การกระทำครั้งเดียวในชีวิตของเราและไม่สามารถเรียกคืนนั้น เราจะทำเช่นใดกับมัน จะทำให้มันมีค่าหรือไร้ค่า เป็นทางที่ต้องเลือกว่าเขาจะเดินไปทางใด ทางนี้จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เขากำลังจะกระทำการใดก็ตาม มุสลิมควรตระหนักให้จงหนัก ใช่แต่กระทำสิ่งต่างๆ ไปโดยอัตโนมัติโดยไร้สติหรือการไตร่ตรอง 

         นั่นคือคำตอบที่ว่า ทำไมศีลธรรมในตัวมุสลิมจึงต้องเข้มและข้นกว่าที่มีในศาสนิกอื่น หลายคนอาจเรียกการพูดจาดี การเอาใจใส่เพื่อนบ้าน และการต้อนรับแขกเหรื่อว่าเป็นคุณธรรมสากลในฉากหน้าอาจเป็นเช่นนั้น หากเรานับเอาเฉพาะลักษณะภายนอก และในหมู่มนุษย์ก็จะมีสิ่งที่เรียกกันว่าคุณธรรมสากลอีกหลายๆ อย่าง แต่หากพิจารณาเหตุและปัจจัยที่เป็นฐานของการกระทำนั้นๆ แล้ว ฐานที่มุสลิมใช้จะไม่ใช่ฐานสากลที่ใช้กันในหมู่มนุษย์ทุกคน เพราะมุสลิมใช้การศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์เป็นฐาน ฐานที่ไม่ได้มีกันอย่างสากลใดๆ 

 

          ในหมู่มนุษย์ พวกเขาอาจมีเหตุผลมากมายในการกระทำดี แต่มุสลิมเริ่มต้นที่พระเจ้าของเขาและจบที่พระองค์  ไม่ว่าสังคมจะนับว่าอะไรดีหรือไม่ดี มุสลิมก็จะยังคงอยู่กับพระบัญชาของพระเจ้าอย่างไม่เสื่อมคลาย มันจะติดตัวเขาอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าเขาจะไปที่ไหน 

 

          อิสลามถือเอาจุดเริ่มต้นและเป้าประสงค์เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น เราจึงเห็นการกำชับเรื่องความดีความชั่ว ถูกกำกับด้วยการศรัทธาสองประการนี้อยู่บ่อยครั้งนั่นเอง การอธิบายตามกระบวนการเดียวกันนี้ใช้อภิปรายหัวข้อที่ว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีด้วยเช่นกัน

 

          ในฮะดิษของเรามีการกล่าวถึงการกระทำสามประการ และทุกประการก็มีป้ายของการศรัทธาปักกำกับไว้ทุกครั้ง นั่นก็เพราะต้องการย้ำเตือนว่าแม้ฉากหน้าจะเป็นการทำดีต่อมนุษย์ด้วยกัน แต่อย่าได้หลงคิดไปว่านั่นคือการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์เท่านั้น อย่าได้ให้มนุษย์เป็นจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด แต่จงให้อัลลอฮ์เป็นจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของเขา แล้วทุกอย่างจะเกิดขึ้นอย่างถูกต้องและดีงาม

 

วัลลอฮุอะลัม 

 

ที่มา : วารสาร สายสัมพันธ์