การวิจารณ์ ชี้จุดผิดของผู้ที่บิดเบือนศาสนา
  จำนวนคนเข้าชม  3615


การวิจารณ์ ชี้จุดผิดของผู้ที่บิดเบือนศาสนา

เป็นหน้าที่ของผู้ศรัทธาที่จะต้องทำ

 

คำถาม

 

          การชี้แจงข้อผิดพลาดในหนังสือของบุคคล หรือกลุ่มต่างๆ ที่มีในบ้านเมืองของเรานั้น ถือเป็นการขัดแย้งสำหรับผู้ทำหน้าที่เชิญชวนสู่อิสลาม (ดาอียฺ) หรือไม่?

 

คำตอบโดย ฯพณฯ เชค ดร.ซอลิฮฺ บิน เฟาว์ซาน อัลเฟาว์ซาน

กรรมาธิการสภาอุละมาอฺอาวุโส และกรรมาธิการสภาการชี้ขาดปัญหาศาสนาราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย

 

           ไม่เลย นี่ไม่ถือเป็นการขัดแย้งสำหรับผู้เชิญชวนสู่อิสลามเลย (ดาอียฺ) เพราะหนังสือของพวกเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นหนังสือเพื่อการเชิญชวนไปสู่ศาสนาของอัลลอฮฺ และคนพวกนี้ (เจ้าของหนังสือ และความคิดเหล่านี้) ก็ไม่ได้เป็นการเรียกร้องเชิญชวนสู่อัลลอฮฺที่มีวิสัยทัศน์ ความรู้ และตั้งอยู่บนความถูกต้องอย่างแท้จริงอีกด้วย

 

          ฉะนั้น หากเราได้ทำการชี้แจงประเด็นข้อผิดพลาดต่างๆ ในหนังสือเหล่านี้ หรือการที่บรรดาผู้ทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนผู้คนไปสู่อัลลอฮฺ (ดาอียฺ) การกระทำนั้น ไม่นับว่าเป็นการเชือดเฉือนใคร หากแต่เป็นการแนะนำตักเตือนเพื่อประชาชาติ(อุมมะฮฺ)อิสลาม จะได้ไม่ต้องถูกความคิดที่คลุกเคล้าความคลุมเครือเข้ามาครอบงำ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว (เมื่อความคิดถูกครอบงำ) ก็จะเกิดฟิตนะฮฺ ความวุ่นวาย มีการโต้แย้งทะเลาะเบาะแว้งกัน กลุ่มก้อนก็จะแตกแยกจากหมู่คณะ 

 

          (สำหรับการชี้แจงประเด็นข้อผิดพลาดนั้น) เราไม่ได้มุ่งไปที่ตัวบุคคล หากแต่มุ่งเป้าไปยังความคิดแหวกแนวที่มีอยู่ในหนังสือ ที่ได้ถ่ายทอดสู่สายตาของเรา ภายใต้ชื่อการเชิญชวน ถึงแม้นั่นจะเป็นเรื่องของการกล่าวตำหนิ ลดทอนความสัตย์ซื่อของบุคคลหนึ่ง และยืนยันความน่าเชื่อถือของบุคคลหนึ่งก็ตาม ก็เพื่อที่จะได้ไม่ถูกหลอกจากคนเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนที่มีบทบาทในสังคมสูง มีอิทธิพล มีลูกศิษย์ลูกหา มีผู้ติดตามมากมาย 

 

          (การกล่าวตำหนิ-ชมเชยบุคคล)ดังที่มีระบุอยู่ในหนังสือที่เกี่ยวกับการลดทอน-ยืนยันความน่าเชื่อถือของบุคคล และในหนังสือบุคคลและชีวประวัติ ซึ่งดำเนินการโดยผู้ที่มีความสันทัดในการนี้ ได้กล่าวตำหนิ หรือชมเชยบุคคล ก็ถือว่าไม่เป็นไร เพื่อเป็นการให้ได้รับรู้ถึงสภาพของบุคคล และเป็นการเตือนให้ระวัง มิใช่เพื่อเป็นการก่อกวนแต่อย่างใด

 

     ท่านอิมาม อะฮฺมัด (ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ) ได้ถูกถามถึง ฮุเซ็น อัล-กะรอบิซีย์ ท่านกล่าวว่า : “เขาเป็นผู้ที่อุตริ

     และท่านได้ถูกถามถึงอัล-มุฮาซิบีย์ และหนังสือของเขา” 

     ท่านกล่าวว่า : “จงระวังคนนี้ไว้ให้ดี และหนังสือของเขาด้วย เพราะมันเป็นหนังสือที่มีแต่สิ่งอุตริ หลงทาง แต่ท่านจงยึดอยู่กับฮะดิษ

 

          ถือเป็นเรื่องที่น่าสลดใจยิ่งนัก ที่นักเชิญชวนบางคน วัยรุ่นบางคนที่อยู่ในประเทศแห่งการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ  ได้รับเอาหนังสือที่มีความคลุมเครือ และแหวกแนวมา พวกเขายอมแลกเปลี่ยนสิ่งที่ดีด้วยกับสิ่งที่เลว ยิ่งไปกว่านั้น กลับมีคนชื่นชมให้เกียรติ เช่น หนังสือของอบุ้ล อะอฺลา อัล-เมาดูดีย์ , ฮะซัน อัลบันนา , ซัยยิด กุฏบฺ , มุฮัมมัด กุฏบฺ , ฮะซัน อัตตุรอบีย์และคนอื่นๆ ที่มีลักษณะทำนองนี้ ที่เป็นพวกก่อการอุตริ อาทิซอล๊าฮฺ อัซซอวีย์ , มุฮัมมัด อะฮฺมัด อัรรอซิด ฯลฯ

     หากมีใครถามว่า : ทำไมถึงพูดเหมารวมเอาแบบนี้ ? ทั้งๆ ที่ชื่อที่กล่าวถึงนั้น ต่างเป็นคนมีชื่อเสียงทั้งนั้นมิใช่หรือ ?!

     เราขอตอบว่า : ชื่อเสียง ความโด่งดัง ไม่ได้เป็นสิ่งกีดกันเราในการที่จะชี้แจงสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งสิ่งนี้เป็นที่รักแก่เรายิ่งกว่าอื่นใด แนวทางสลัฟนั้นชัดเจนในการเตือนให้ระวังแนวทางที่แหวกแนว และบ่อนทำลายอิสลาม 

     หากแต่สิ่งที่ผู้เห็นแย้งในเรื่องนี้ควรพูดนั่นคือ : มีหลักฐานอะไรมาชี้แจงกับคนที่ท่านได้ พูดถึง?

     เราขอตอบว่าอัลเมาว์ดูดีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ร่อซาอิล วะมะซาอิล ของเขา หน้า 57 ปี .. 1351 ระบุว่า

    “ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  เคยคิดว่า ดัจญาลจะออกมาในยุคสมัยของท่านหรือในช่วงเวลาที่ใกล้ๆ กัน แต่ทว่า ความคิดนี้ได้ผ่านไปแล้วกว่า 1350 ปี หลายศตวรรษเนิ่นนานมาแล้ว แต่ดัจญาลก็ยังไม่ออกมา จึงชี้ชัดได้ว่า สิ่งที่ท่านร่อซูล  คิดนั้น มันไม่ถูกต้อง!!!”

     และได้มีเพิ่มเติม ในการพิมพ์ในปี .. ที่ 1362 ระบุว่า : “ผ่านมากว่า 1000 ปีแล้ว ดัจญาลก็ยัง ไม่ออกมา นี่แหละคือ ความจริง” นี่ถือเป็นการปฏิเสธการออกมาของดัจญาลอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่มีฮะดิษรายงานถึงการออกมาของดัจญาลอย่างต่อเนื่อง อันเป็นฮะดิษที่ซอเฮียะฮฺ

      เขา (อัลเมาว์ดูดีย์) ยังกล่าวไว้อีก (ในหน้า 55) ว่า : “ทุกฮะดิษของท่านร่อซูล  ที่รายงานเรื่องดัจญาลนั้น สรุปแล้ว นั่นคือ ความเห็น และเป็นการเปรียบเทียบ จากท่านร่อซูลุลลอฮฺ  และท่านเองก็ได้สงสัยเรื่องนี้เช่นกัน!”

     นี่เป็นการปฏิเสธดัจญาลใช่หรือไม่? เป็นการปฏิเสธฮะดิษของท่านร่อซูล  ผู้ซึ่งอัลลอฮฺได้กล่าวถึงท่านว่า :

และเขา(มุฮัมมัด)ไม่ได้พูดขึ้นมาเองตามอารมณ์ หากแต่สิ่งที่เขา(มุฮัมมัด)พูดนั้น เป็นวะฮียฺ ที่ถูกประทานลงมา

(อัลนัจญ์มุ 53 : 3-4)

 

อบู มุฮัมมัด อัล-ฮะซัน บิน อลี อัล-บัรบะฮารีย์ กล่าวว่า :

          “จะไม่นับว่าบุคคลใดที่ผินหน้าไปทางกิบลัตเป็นผู้ออกไปจากศาสนาอิสลาม (มุรตัด) จนกว่าเขาจะไม่ยอมรับอายะฮฺหนึ่งอายะฮฺใดจากคัมภีร์ของอัลลอฮฺ หรือไม่ยอมรับส่วนใดส่วนหนึ่งจากฮะดิษของท่าน ร่อซูล  เมื่อนั้น ก็จำเป็นที่ท่านต้องบอกให้เขาผู้นั้นออกไปจากศาสนาอิสลามเสีย แต่ถ้าหากเขาไม่ทำสิ่งใด ก็เท่ากับเขาผู้นั้นเป็นมุสลิม มุอฺมิน เพียงแต่ชื่อ หาใช่เป็นมุสลิม มุอฺมินที่แท้จริงไม่” (ฏอบะก๊อต อัลฮะนาบิละฮฺ เล่ม 2 หน้า 23)

 

          อัล-เมาว์ดูดีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสืออัรบะอะฮฺ มุสเฏาะละฮ๊าต อัลกุรอาน อัลอะซาซียะฮฺของเขา หน้า 156” เอาไว้ว่าแท้จริง อัลลอฮฺ (..) ได้ทรงสั่งให้ท่านนบี  ขออภัยโทษต่อพระองค์ ดังปรากฏในซูเราะฮฺ อัลนัศรฺ อันเนื่องมาจากการละเลยบกพร่องในการทำหน้าที่อันจำเป็น (เรื่องที่จำเป็นของการเป็นนบี) เราขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺจากการกล่าวหาเช่นนี้ด้วยเถิด !”

 

          คุณลักษณะของ (การเป็นบ่าว) ที่อัลลอฮฺได้ให้กับนบีของพระองค์  อันเป็นลักษณะที่สมบูรณ์ยิ่งของการเป็นมนุษย์นั้นยังไม่เพียงพออีกดอกหรือ? และพระองค์ยังได้ทรงกล่าวถึงลักษณะนี้ แก่ท่านนบีในคัมภีร์ของพระองค์  เอาไว้หลายอายะฮฺ

แล้วท่านร่อซูลนั้นเป็นอย่างไรเล่า? ดูได้จากคำพูดของท่านร่อซูล ในฮะดิษที่กล่าวถึงชาย 3 คน ที่ถามถึงการอิบาดะฮฺของท่านร่อซูล เสมือนกับว่าฮะดิษนี้มีคำตอบตรงกับประเด็นนี้

     ท่านร่อซูล  กล่าวว่า : “พึงรู้เถิดว่า แท้จริง ฉันนั้นเป็นผู้ที่ยำเกรงอัลลอฮฺยิ่งที่สุดในหมู่พวกท่าน!”

     เป็นที่รู้กันว่า อัล-เมาว์ดูดีย์ นั้น เย้ยหยันต่อซุนนะฮฺของท่านร่อซูล  และได้มีพี่น้องของเราที่เป็นนักฮะดิษในอินเดียได้ตอบโต้เขาในทางวิชาการ ด้วยการยกหลักฐานชี้แจง เปิดโปงการแหวกแนว เฉไฉ หันเหของเมาว์ดูดีย์ แม้กลุ่มของเขาจะใช้ชื่อว่าญะมาอะฮฺ อัล-อิสลามียะฮฺก็ตาม!

 

ฮะซัน-อัล-บันนา : เราได้กล่าวถึงลักษณะบางอย่างของเขาไปก่อนหน้านี้แล้ว

ซัยยิด กุฏบฺ : เราก็ได้กล่าวถึงคำพูดของเขาในเรื่องอะกีดะฮฺไปแล้ว

       ซัยยิด กุฏบฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ สงครามระหว่างอิสลามกับกลุ่มทุนนิยม ของเขาว่า จำเป็นที่จะต้องปกครองแบบอิสลามเพราะอิสลามนั้นเป็นหลักเชื่อมั่นเดียวที่นำมาจากคริสต์และคอมมิวนิสต์ เป็นการผสมผสานกันอย่างสมบูรณ์ อิสลามนั้น ประมวลไปด้วยเป้าหมายของคริสต์และคอมมิวนิสต์ทั้งหมด”!

 

เชค มุฮัมมัด บิน ซอลิฮฺ อัล-อุษัยมีน ได้ถูกถามถึงคำพูดดังกล่าวนี้ ท่านได้ตอบว่า

          เราขอตอบว่า  “ศาสนาคริสต์นั้นเป็นศาสนาที่ถูกบิดเบือน ส่วนคอมมิวนิสต์นั้น เป็นศาสนาที่ใช้ไม่ได้ ไม่มีที่มา และใครที่กล่าวว่า : อิสลามนั้น ผสมผสานมาจากอันนั้น อันนี้ เขาอาจจะเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องของอิสลาม หรืออาจจะเป็นคนที่ถูกประชาชาติที่ปฏิเสธศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ หรือคอมมิวนิสต์ หลอกให้หลง

 

          ท่านอิสมาอีล บิน มุฮัมมัด อัล-อันซอรีย์ (ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ) ชัยคฺ นักฮะดิษ ได้กล่าวตอบคำพูดนี้ว่า : “คำพูดของคนที่กล่าวขึ้นมานั้นเป็นคำพูดที่เชิญชวนไปสู่การรวมทุกศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นการทำให้มีการใกล้ชิดสนิทสนมกันระหว่างศาสนาต่างๆ

 

          ท่านฮัมมาด บิน มุฮัมมัด อัล-อันซอรีย์ (ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ) ชัยคฺ นักฮะดิษ ได้กล่าวตอบคำพูดนี้นทำนองเดียวกันว่า : “หากผู้ที่กล่าวคำพูดนี้ยังมีชีวิตอยู่ จำเป็นที่จะต้องขอให้เขากลับเนื้อกลับตัว นั่นถ้าหากเขาได้กลับเนื้อกลับตัว แต่หากเขาไม่ยอมทำเช่นนั้น เขาจะต้องถูกฆ่าในฐานะเป็นมุรตัดและเมื่อเขาตาย จำเป็นที่จะต้องชี้แจงให้รู้ว่าคำพูดนี้ผิด ไม่ถูกต้อง และเราก็จะไม่บอกว่าเขาเป็นกาฟิร เพราะเราไม่ได้มีหลักฐาน

 

         ฮะซัน อัต-ตุรอบีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือศาสนาและศิลป์ของเขา หน้า 98 ว่า : ช่วงยุคแรกของอาหรับนั้น ศาสตร์และมรดกทางศิลป์ แบบอิสลามยังไม่เจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด อันเนื่องจากวิชาการความรู้ที่นอกเหนือจากบทกลอนยังไม่เป็นที่น่าสนใจ แต่เมื่อศูนย์รวมแห่งอารยธรรมอาหรับได้เปลี่ยนไป และหลังจากได้มีการก่อตั้งอารยธรรมอิสลามในฮิญ๊าซ ผู้คนมีเวลาว่างกันมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ก็สบายขึ้น เพลงและเครื่องดนตรีจึงเป็นที่แพร่หลาย และได้มีรายงานว่า ผู้ที่ฟังเพลงและดนตรี ส่วนมาก คือ ตาบิอีนและบรรดาอุละมาอฺ! 

          ผู้อ่านที่รัก ดูเถิดว่า อัต-ตุรอบีย์ ชื่นชอบเสียงเพลงและดนตรีขนาดไหน? อีกทั้งยังกล่าวหาตาบิอีนและบรรดาอุละมาอฺว่า เป็นผู้ที่ฟังเพลงและดนตรี ! ขออัลลอฮฺทรงจัดการกับเขาอย่างสาสมด้วยเถิด 

          เขา (อัต-ตุรอบีย์) พูดไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ในหน้า 106 ว่า : “การวาดรูป ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูป การปั้นเป็นรูปบุคคล สิ่งของ หรืออนุสาวรีย์นั้นไม่เป็นไร 

          คำพูดที่ดูสวยงาม ก็ถือว่าไม่เป็นอะไร (ไม่ว่าจะเป็น) “ บทกวี บทบู๊ ดราม่า บทเพลง ถ้อยคำที่คล้องจองกัน ก็นับว่าไม่เป็นไร (ไม่ว่าจะเป็น) บทสนทนา เรื่องเล่า หรืออื่นๆ ที่ไม่ได้มีเรื่องไม่ดีปนเปอยู่

          ทางด้านการรับฟัง รับชม ก็ถือว่าไม่เป็นอะไร (ไม่ว่าจะเป็น) : การแสดงละครในโรงละคร เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์

          นี่คือ ความกล้า บ้าบิ่น ทะลุกลางปล้อง ผ่าศาสนา ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองเราให้รอดพ้น ปลอดภัยด้วยเถิด จากการอนุมัติให้ฟังเพลง เสียงดนตรี การเต้น และการแสดงละคร ฯลฯล ของคนที่ชื่อ ดร.ฮะซัน อัตตุรอบีย์

 

ขออัลลอฮฺทรงชี้นำบรรดามุสลิมที่หลงผิดด้วยเถิด อามีน !

 

         ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ความจริง เราไม่ได้อยากจะยกเอาประโยคแย่ๆ ที่ทำให้หัวใจมืดมน มาระคายหูพวกท่าน หากแต่เป็นหน้าที่จำเป็นที่จะต้องชี้แจงความผิด ข้อผิดพลาด และอันตรายของผู้ชายคนนี้ และคนประเภทนี้ เพื่อผู้คนจะได้รู้ข้อเท็จจริง ไม่ถูกหลอก โปรดรับฟังประโยคสุดท้ายนี้จากเรา

 

          อัต-ตุรอบีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดิม หน้า 110 ว่า : “จำเป็นที่เราต้องยึดเอาศาสตร์ทางศิลป์เพื่อทำการสักการะภักดี (อิบาดะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ ใครที่สนใจ เขาก็จะหลงทางไปไกลลิบ และเนื่องด้วยศาสตร์ทางศิลป์นี้ จะทำให้เขาได้รับทางนำ ฉะนั้น ใครที่ไม่สนใจ หมายถึง ศาสตร์ทางศิลป์ เท่ากับว่า เขาได้ทิ้งประตูบานใหญ่ไว้ เพื่อเปิดไปสู่ฟิตนะฮฺ สู่ความเพลิดเพลิน เพื่ออื่นจากอัลลอฮฺเป็นการเรียกร้องไปสู่ความชั่ว แต่หากใครที่ยึดเอาศาสตร์ทางศิลป์นี้ไว้ เท่ากับเขาได้เปิดประตูบานใหญ่สู่การเชิญชวนสู่อัลลอฮฺ ด้วยการใช้ความสวยงามเป็นตัวดึงดูด ส่วนการอิบาดะฮฺ เคารพสักการะภักดีอัลลอฮฺนั้น มีรูปแบบการทำอิบาดะฮฺที่ดูสวยงามตั้งหลายแบบมิใช่หรือ?”

 

          คำเชิญชวนอย่างเปิดเผยของ อัต-ตุรอบีย์ สู่ศาสตร์ทางศิลป์การเตือนบุคคลที่ไม่สนใจ และยังบอกว่าใครที่ยึดเอาไว้ ก็เท่ากับเขาได้เปิดประตูแห่งการฟิตนะฮฺเขาน่าจะหยุดเพียงแค่นี้ แต่เขากลับยังพูดอีกว่า : “เป็นการเปิดประตูบานใหญ่ไปสู่การเชิญชวนสู่อัลลอฮฺเสียอีกด้วย! และนี่คือ สภาพของอิควานุลมุสลิมูนที่อนุมัติในเรื่องของรูปปั้น การแสดง ขับร้องเพลงอนาซีด แบบพวกซูฟีย์ที่อุตริ และเช่นกัน การโกหก ตลบตะแลง ทุกอย่างนี้ทำไปโดยอ้างว่าเพื่อเป็นประโยชน์ในการดะอฺวะฮฺ ตามคำอ้างของพวกเขา และนี่คือลักษณะเด่นของพวกเขาอิควานุลมุสลิมูนที่พวกเขาถือว่าเพราะเป้าหมายนั้น ทำให้หนทางที่จะมุ่งสู่เป้าหมาย กลายเป็นสิ่งถูกต้อง

 

          พวกนี้ ยังมีกิจกรรมช่วงฤดูร้อน เช่น (การเดินทางออกไปตั้งค่ายภาคฤดูร้อน) ซึ่งนับเป็นคำสั่งเสีย และถือเป็นแผนการของผู้ก่อตั้งกลุ่ม : ซึ่งก็คือ ฮะซัน อัล-บันนา หลักฐาน คือ สิ่งที่ฮะซัน อัล-บันนา ได้กล่าวเอาไว้ในมุซักกิร็อต อัดดะอฺวะฮฺ วัดดาอียะฮฺหน้า 270 ว่า : ฉันเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มเหล่านี้ขึ้นมาและเพื่อที่เราท่านจะได้รู้จักกับค่ายภาคฤดูร้อนนี้ : ฮะซัน อัล-บันนา ได้กล่าวไว้ในชีตของเขา หน้า 280 ในเรื่อง : “โครงงานกิจกรรมว่า

     หนึ่ง : การเข้าค่ายภาคฤดูร้อน : จุดประสงค์ของการเข้าค่าย : คือ การฝึกทหาร การรู้จักเผยแพร่ การเชิญชวน จัดให้มีการออกค่ายในวันศุกร์ทุกสัปดาห์ในช่วงปิดเทอมหน้าร้อน โดยตั้งเงื่อนไขว่า ต้องใส่ชุดลาดตระเวน หรือชุดลายพรางทหาร

     ฉันขอพูดว่า : ค่ายที่มีในทุกวันนี้ ไม่ได้บอกให้ใส่ชุดลายพรางทหาร เพราะหากทำเช่นนั้น ก็เท่ากับเป็นการเผยให้เห็นแผนการของพวกเขาอย่างโจ่งแจ้ง แต่พวกเขากลับบอกให้นำชุดกีฬามาด้วย ดูเอาเถอะ!!

     ฮะซัน อัล-บันนา ยังพูดอีกว่า : “ค่ายฤดูร้อนนี้ มีจุดประสงค์เพื่อการฝึกการทหาร ออกกำลังกาย ที่ที่อากาศบริสุทธิ์ ออกกำลังกายแบบโรมัน มีการแบ่งพี่น้องที่เข้าร่วมออกเป็นกลุ่มๆ มีเงื่อนไขว่าต้องใส่ชุดลาดตระเวน หรือชุดฝึกทหาร

     ค่ายฤดูร้อนนี้ มีการฝึกเฝ้ายาม จู่โจมในตอนกลางคืน จากกลุ่มกองต่างๆ ในนั้น ตามตารางที่ได้ จัดวางไว้ก่อน และยังมีการฝึกปีนเขา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การญิฮาด ตามที่เขาอ้าง ไม่ว่า เวลาใด สถานที่ใดก็ตาม

     พวกเขายังถือว่า การจุดระเบิดปลิดชีพตัวเองเป็นการญิฮาด (พวกเขาฆ่ามุสลิม แต่ปล่อยวางกับพวกเคารพบูชาเจว็ด)

         ท่านผู้อ่านทั้งหลาย : หากท่านอยากจะทราบอย่างแน่ชัดว่า ค่ายภาคฤดูร้อนที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ ที่ท่านหรือลูกหลานของท่านได้เข้าร่วมนั้น อาจมีความเกี่ยวพันกับค่ายที่ (ฮะซัน อัล-บันนา) ได้ก่อตั้งขึ้น และสั่งเสียเอาไว้หรือไม่? ก็ขอท่านจงฟังสิ่งที่ ฮะซัน อัล-บันนา ได้พูดและนำเสนอเอาไว้เป็นระเบียบแบบแผนที่ท่านได้พบ มีชื่อเรียกว่า ค่ายที่ท่านได้นอนค้างคืน อีกทั้งยังแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ...

          เขากล่าวว่า : “... : มีอยู่คืนหนึ่ง เขาได้อยู่ในเวรยามก่อนซุบฮิ คอยเฝ้าเต็นท์ ซึ่งแต่ละเต็นท์ก็มีชื่อของเหล่าวีรบุรุษศอฮาบฺ เต็นท์นี้ท่านอบูบักรฺ นี่เต็นท์ท่านอบูอุบัยดะฮฺ นี่เต็นท์ท่านคอลิด นั่นเต็นท์ท่านซะอ์ดฺ บิน อบีวักก็อศ ฯลฯ 

          ฉันขอกล่าวว่า : เมื่อท่านพบคำพูดเหล่านี้ ก็พึงรู้เถิดว่าเป็นคำพูดของพวกบิดอะฮฺ เป็นคำพูดที่เกี่ยวกับเรื่องอะกีดะฮฺ มีการพูดเสื่อมเสียต่อท่านนบีอาดัม (อะลัยฮิสลลาม) ?? ฉะนั้น... ผู้ใดที่ชื่นชม ให้เกียรติพวกเขา ให้ความสำคัญกับหนังสือ (ข้อเขียน) ของพวกเขา แก้ต่างแทนพวกเขา ตามติดพวกเขา ก็ไม่มีความดีใดๆ แก่เขาเลย และนี่คือแนวทางของสลัฟ ที่มีต่อพวกอุตริเหล่านั้น!

 

     ชัยคุล อิสลาม อิบนฺ ตัยมียะฮฺ กล่าวว่า : “จำเป็นต้องมีการลงโทษทุกคนที่พาดพิงไปเกี่ยวข้องด้วยกับพวกบิดอะฮฺ ไปชื่นชมพวกเขา ให้คุณค่ากับหนังสือพวกเขา ช่วยเหลือสนับสนุน ปกป้องพวกเขา และไม่ชอบให้ใครมากล่าวร้ายต่อกลุ่มนี้ ออกมาแก้ต่างให้ก็จำเป็นต้องมีการลงโทษคนที่รู้จักสภาพของพวกเขา แล้วไม่จัดการอะไร เพราะการจัดการดำเนินการต่อพวกเขานั้น ถือเป็นเรื่องจำเป็น

 

     อิบนุ เอาว์น ได้กล่าวว่า : “ใครที่นั่งร่วมกับพวกบิดอะฮฺ สำหรับเราแล้วนั้น ถือเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่าพวกบิดอะฮฺเองเสียอีก

 

     ท่านซุฟยาน อัษเษารีย์ กล่าวว่า : “ใครที่เดินร่วมกับพวกบิดอะฮ เราถือว่าเขาก็เป็นบิดอะฮฺด้วย

 

คำถาม

 

การกล่าววิจารณ์บุคคล และการกล่าวเอ่ยนามถึงบุคคล ฯลฯ ตามแนวทางของซุนนะฮฺนั้นเป็นอย่างไร?

 

คำตอบ

 

          สิ่งที่ผิด เราต้องชี้แจง ต้องอธิบายเรื่องที่ถูกต้อง ส่วนการกล่าวถึงบุคคลนั้น ถือว่าไม่มีประโยชน์ แต่เป็นโทษ เราไม่ได้พูดถึงตัวคนผิด แต่เราชี้แจงสิ่งที่ผิด อธิบายสิ่งที่ถูกต่างหาก ผู้คนจะได้ยึดเอาความถูกต้อง ละทิ้งสิ่งที่ผิด ประเด็นก็คือ เราไม่ต้องการจะชี้ไปที่ตัวบุคคล หรือวิจารณ์-แก้ไข นั่นไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง ใครที่ต้องการชี้เรื่องไปที่ตัวบุคคล นั่นคือทำตามอารมณ์ แต่ใครที่ต้องการชี้แจงความจริงให้ผู้คนได้รับทราบ นั่นคือ ผู้ตักเตือนบรรดามุสลิม แต่หากมีเหตุผลให้ต้องกล่าวชื่อบุคคลนั้นๆ เพื่อให้ผู้คนทราบนั้น ก็ถือเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ที่ดีกว่า

 

          บรรดานักฮะดิษได้เรียกผู้รายงานที่มีลักษณะที่บกพร่องว่า : คนนั้น คนนี้โกหก คนนั้นความจำแย่ คนนี้เป็นคนปกปิด พูดไม่หมด นักฮะดิษได้ชี้แจงลักษณะของคนนั้นๆ โดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อโจมตีบุคคล หากแต่เพื่อบอกกล่าวถึงข้อเท็จจริงและเพื่อให้ผู้คนทราบว่า บุคคลเหล่านี้ ทำให้ฮะดิษเสื่อมเสีย อันเนื่องจากการรายงานฮะดิษของเขา ผู้คนจะได้ออกห่าง และระวัง ฉะนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่จุดประสงค์ หากมีจุดประสงค์ที่จะชี้ไปที่ตัวบุคคล นั่นคือ การทำตามอารมณ์ ซึ่งไม่เป็นที่อนุมัติ แต่หากจุดประสงค์เพื่อชี้แจงความจริง และเพื่อเตือนผู้คน ก็ถือว่าไม่เป็นไร

 

     ท่านอิบนุ มุบาร็อก กล่าวว่า : “อัล-มะอฺลา บิน ฮิลาล เขาผู้นี้ เสียตรงที่เวลาพูดถึงฮะดิษ เขาก็โกหก” 

     พวกซูฟีย์บางคนกล่าวว่า : อบู อับดุรเราะฮฺมาน ท่านนินทาว่าคนลับหลังอย่างนั้นหรือ

     เขากล่าวว่า : “เงียบซะ ถ้าเราไม่ได้ชี้แจงแล้วเราจะรู้ข้อเท็จจริงได้อย่างไร?”

 

          นักเชิญชวนสู่อิสลาม (ดาอียฺ) ตามแนวทางสลัฟนั้น ถือว่า การพูด การเตือนให้ระวังกลุ่มบิดอะฮฺ ที่หลงทาง ตลอดจนกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ในทุกวันนี้ การเตือนให้ระวังหนังสือของพวกนี้ การกระทำดังกล่าว ไม่นับว่าเป็นการขัดแย้ง หรือเป็นการว่ากล่าวร้ายต่อผู้เชิญชวน (ดาอียฺ) หากแต่ถือว่า การกระทำเช่นนี้ คือ การตักเตือนให้ระวังกลุ่มบิดอะฮฺ เตือนให้ระวังหนังสือของกลุ่มพวกนี้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของ สะละฟุซซอลิฮฺ ดังกล่าว มีบันทึกไว้มากมายในหนังสือ ฮะดิษ หนังสือที่กล่าวถึงการตำหนิติเตียน และยืนยันความถูกต้องน่าเชื่อถือของบุคคล อีกทั้งยังถือว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ

 

     ท่านชุอฺบะฮฺ (ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า : “พวกท่านจงมานี่กัน เพื่อที่เราจะได้นินทาในหนทางของอัลลอฮฺ หมายถึง : เราจะพูดถึงข้อตำหนิ ติเตียน ผิดเพี้ยน ยืนยันความถูกต้องของบุคคลนั้น

 

     อบู ซัรอะฮฺ อัด-ดิมิชกีย์ (ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า : “ฉันได้ยิน อบา มัซฮัร ถูกถามถึงชายคนหนึ่ง ที่มีข้อผิดพลาดมากมาย ในการรายงานฮะดิษ (มีการรายงานตัวอักษรผิดพลาด

อบู มัซฮัร กล่าวว่า : ท่านจงชี้แจงเรื่องของเขา 

แล้วฉันก็กล่าวถาม อบู ซัรอะฮฺ ว่า : ท่านเห็นว่า นี่เป็นการนินทาลับหลังหรือไม่

เขาตอบว่า : ไม่

 

     ท่านอับดุลลอฮฺ บุตรของท่านอิมาม อะฮฺมัด กล่าวว่า : “อบู ตุร็อบ อัน-นัคชะบีย์ ได้มาหาบิดาของฉัน แล้วบิดาของฉันก็ได้พูดว่า : คนนั้นเชื่อถือไม่ได้ 

     อบู ตุร็อบก็กล่าวว่า : ท่านชัยคฺ อย่านินทาบรรดาผู้รู้ 

     อับดุลลอฮฺ อิบนิ อิมาม อะฮฺมัด กล่าวว่า : บิดาของฉันได้หันหน้าไปหาเขา และกล่าวว่า : แย่จริง นี่ถือเป็นการเตือน ไม่ใช่การนินทา”!

     เราขอกล่าวว่า : นักเชิญชวนที่ตกอยู่ในกลุ่มต้องสงสัยต่างหากที่จะได้รับผลกระทบ เวลาที่หนังสือของพวกบิดอะฮฺได้ถูกวิจารณ์หรือถูกเตือนให้ระวังภัยจากหนังสือ หรือจากคนพวกนี้ หากว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่

 

 

ที่มาอนุสรณ์งานประจำปีโรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร ปี 2560”