การอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก
เรียบเรียงโดย ม. ซอลิฮี
มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร แจ้งว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้บอกว่า
“มุสลิม คือ พี่น้องของมุสลิม เขาย่อมไม่ข่มเหงรังแกกัน ไม่ทอดทิ้งกัน
ผู้ใดอยู่ในการช่วยเหลือพี่น้องของเขา อัลลอฮฺก็จะอยู่ในการช่วยเหลือต่อเขา
ผู้ใดได้ปลดเปลื้องออกจากพี่น้องของเขา ซึ่งความทุกข์ยากอย่างหนึ่ง
อัลลอฮฺก็จะทรงปลดเปลื้องออกจากเขาผู้นั้นซึ่งความทุกข์ยากอย่างหนึ่งในบรรดาความทุกข์ยากแห่งวันกิยามะฮฺ
และผู้ใดได้ปกปิดความอายให้แก่มุสลิม อัลลอฮฺก็จะทรงปกปิดให้แก่เขาในวันกิยามะฮฺ”
(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิมและอบูดาวู๊ด)
มีอีกรายงานหนึ่งของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัรเช่นกัน แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ แจ้งว่า
“แน่แท้สำหรับอัลลอฮฺนั้น มีเนียะมัตหลายอย่างให้แก่กลุ่มชน พระองค์ทรงให้บรรดาเนียะมัตเหล่านั้นคงอยู่ประจำที่พวกเขา ตลอดระยะเวลาที่พวกเขายังคงอยู่ในการช่วยเหลือกิจธุระของพี่น้องมุสลิมีน ชั่วเวลาที่ยังไม่เบื่อหน่าย (ในการช่วยเหลือพี่น้องของเขา) เมื่อเขาเบื่อหน่าย (ในการช่วยเหลือ) แล้วพระองค์จะทรงโยกย้าย เนียะมัตเหล่านั้นไปให้แก่พวกอื่นต่อไป”
การที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นผาสุกนั้น นอกจากการช่วยเหลือเกื้อกูลกันแล้วทุกคนจะต้องพยายามชำระล้างจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากบรรดาโรคร้ายต่างๆ เช่น การเห็นแก่ตัว การอิจฉาริษยา การเอารัดเอาเปรียบกัน การทะเลาะวิวาทจองล้างจองผลาญกันเป็นศัตรูต่อกัน การดูหมิ่นเหยียดหยามกัน และอะไรอื่นๆ อีก อันเป็นต้นเหตุแห่งการร้าวฉาน
หากมีเรื่องผิดข้องหมองใจเกิดขึ้นก็ปรับความเข้าใจกันเสีย มีอันใดผิดพลาดก็ขออภัยและให้อภัยกันเสีย เรื่องร้ายอะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกันไป ไม่อาฆาตจองเวรกันหรือถ้ามีเรื่องร้ายเกิดขึ้น เมื่อเป็นเรื่องเล็กก็พึงพยายามดับให้สูญสิ้น ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็พยายามทำให้เป็นเรื่องเล็กหรือทำให้ละลายหายไปเลย
การอยู่ร่วมกันตามแบบฉบับของอิสลามนั้น ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้สั่งเสียไว้อย่างละเอียดมาก ถ้าพี่น้องมุสลิมทุกคนพร้อมกันศึกษาและปฏิบัติให้จริงจัง เราก็จะได้มาซึ่งสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่ เราทุกคนจะได้พบกับความผาสุกทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺอย่างไม่มีปัญหา
มีรายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุแจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้สั่งไว้ว่า
“ท่านทั้งหลายจงพยายามปลีกตัวออกให้ห่างไกลจากทางสงสัย (ในแง่ร้ายหรือกล่าวหา) เพราะแน่แท้มันเป็นเรื่องเท็จ
และท่านทั้งหลาย อย่าเที่ยวสืบเสาะสิ่งบกพร่องหรือความเสื่อมเสียของคนอื่น
และท่านทั้งหลาย อย่าอวดดีหรือโอ้อวดกัน อย่าอิจฉาริษยา อย่าโกรธเคืองกัน และอย่าหันหลังให้กัน
ท่านผู้เป็นข้าของอัลลอฮฺทั้งหลาย จงเป็นพี่น้องกันตามที่พระองค์พึงได้สั่งแก่พวกท่าน
มุสลิมเป็นพี่น้องของมุสลิม เขาย่อมจะไม่ข่มเหงรังแกกัน ไม่ทอดทิ้งกัน และไม่ดูถูกเหยียดหยามกัน
การเกรงกลัวอัลลอฮฺอยู่ที่นี่ (ท่านพูดเช่นนี้ถึง สามครั้ง) พร้อมกับชี้ที่หน้าอกของท่าน
นับเป็นความชั่วร้ายของบุคคลอย่างพอเพียงแล้วที่เขาดูถูกเหยียดหยาม พี่น้องของเขาที่เป็นมุสลิม
มุสลิมทุกคนต่อมุสลิม เลือดเนื้อของเขาเป็นที่ต้องห้าม(หะรอม) ความอายของเขา และทรัพย์สมบัติของเขาก็เช่นเดียวกัน
กล่าวคือ มุสลิมต่อมุสลิมจะข่มเหงทำร้ายกัน หรือความอับอายมาประจานกัน หรือชิงยื้อแย่งทรัพย์สมบัติกันไม่ได้เป็นอันขาด เป็นความผิดมีโทษหนัก”
มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า มีคนถามท่านร่อซูลุลลอฮฺ ว่า
ข้าแต่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ คนชนิดไหน ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐสุด
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ตอบว่า ทุกคนที่จิตใจถูกชำระสะอาดแล้ว คนที่ลิ้นจริง (พูดจริง)
เขาเหล่านั้นก็บอกว่า คนที่ลิ้นจริงนั้นเราทราบดีแล้วแต่คนที่จิตใจถูกชำระให้สะอาดนั้นเป็นอย่างไร
ท่านร่อซูล ก็บอกว่า คือ คนที่มีตักวามี ความยำเกรง คนที่มีจิตใจสะอาด ในจิตใจของเขาไม่มีความชั่ว ความผิด การอาฆาตและการอิจฉา
มีรายงานจากท่านอัลหะซัน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้บอกว่า
“เมื่ออัลลอฮฺทรงประสงค์ จะประทานความดีให้แก่พวกใด พระองค์ก็ทรงให้พวกที่มีความรู้เฉลียวฉลาดเป็นผู้บริหารงานปกครองของพวกเขา และทรงให้ทรัพย์สมบัติอยู่แก่พวกที่มีใจกว้างขวาง
และเมื่อพระองค์ทรงประสงค์ความเสื่อมเสียแก่พวกใด พระองค์ก็จะให้พวกโง่เขลาเป็นผู้บริหารการปกครองของพวกเขา และทรงให้ทรัพย์สมบัติอยู่แก่พวกตระหนี่ถี่เหนียว”
การอยู่ร่วมกันในสังคมหรือการอยู่บ้านใกล้ชิดเรือนเคียงกันตามธรรมดาก็ย่อมจะต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง มีการผิดข้องหมองใจกันบ้างอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อเราแต่ละคนได้ตระหนักถึงหน้าที่และสิทธิของตนตามโอวาทของอัลลอฮฺ และร่อซูล
ดังที่ได้นำเสนอไว้ตั้งแต่ต้นจนสุดท้ายนี้ ทุกคนจะต้องพากเพียรพยายามอดทนให้มากที่สุดที่พึงจะกระทำได้ ชำระล้างจิตใจให้สะอาด มองทุกสิ่งในแง่ดี ยอมรับว่าทุกคนมีความเป็นคนเท่าเทียมกัน ไม่มีสูง ไม่มีต่ำ เงินทองก็ดี วิชาความรู้ก็ดี อำนาจวาสนาก็ดี เกียรติยศก็ดี เหล่านี้หาใช่เป็นเครื่องส่งเสริมฐานะของบุคคลไม่ หากแต่เป็นเนียะมัตที่อัลลอฮฺ ได้ประทานมาให้เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับรับใช้สังคม
มีอยู่อย่างเดียวที่พระองค์ทรงรับรอง นั่นก็คือการมีจิตใจที่สูงส่งด้วยการมีตักวา มีความยำเกรง ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัชชุอะรออฺ ซึ่งมี ความว่า
“วันที่ทรัพย์สมบัติก็ดี ลูกหลานก็ดี จะไม่อำนวยประโยชน์ (คือช่วยเหลืออะไรไม่ได้)
นอกจากผู้ที่เข้าหาอัลลอฮฺ ด้วยจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์”
คัดจากเอกสารอัลอิศลาหฺ อันดับที่ 118