ฟ้าหลังฝน
  จำนวนคนเข้าชม  7616


ฟ้าหลังฝน 

โดย บินตฺ สอี๊ด

 

          ในแต่ละวัน คนเราต่างก็พบเจอกับเรื่องราวที่ดี และไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น บางวันสุข บางวันทุกข์ บางวันมีรอยยิ้ม บางวันก็มีคราบน้ำตา แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ วัน ที่มีทั้งรอยยิ้ม และน้ำตาในคราเดียวกัน คงไม่มีใครหลีกหนีสัจธรรมข้อนี้ไปได้

 

          บางครั้งมนุษย์ก็ตกอยู่ในสภาวะอึดอัด คับแคบใจ หรือได้รับบททดสอบที่หนักหน่วง ซึ่งเขาไม่ชอบ และไม่อยากให้มาประสบอยู่นั้นเป็นบทลงโทษ หรือไม่ก็เป็นการพิพากษาจากพระเจ้าเป็นแน่ แต่มนุษย์หารู้ไม่ว่า นั่นคือ โอกาสที่จะทำให้เขาได้รับความดี-ภายหลังจากความอดทนนั้น ย่อมมีความสวยงามรออยู่เสมอ

          ในทางตรงกันข้ามก็มีมนุษย์จำนวนไม่น้อยที่ขวนขวายและแสวงหาสิ่งที่ดี สิ่งที่สวยงามแต่เพียงเปลือกนอก ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ และทรัพย์สินเพื่อให้ได้ครอบครอง แต่สิ่งต่างๆ เหล่านั้น กลับไม่เป็นดั่งเช่นที่นึกคิด หรือวาดฝันเอาไว้ นั่นแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่างซ่อนอยู่และเหตุผลที่ว่านั้น คืออะไรเล่า?!

 

         เมื่อเราย้อนกลับไปดูอายะฮฺต่างๆ จากคัมภีร์อัลกุรอาน ก็พบว่ามีหลายอาะยะฮฺด้วยกัน ที่กล่าวถึงความรอบรู้ ความปรีชาญาณของอัลลอฮฺต่อสิ่งที่ถูกสร้างของพระองค์ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเปิดเผยหรือ ถูกป้องปิด ซ่อนเร้นเอาไว้ก็ตาม

         มีอายะฮฺหนึ่งได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สิ่งที่มนุษย์ชอบคิดว่าดี และเหมาะสมแล้วนั้น สุดท้ายมันกลับไม่ดีสำหรับตัวเขาเลย หรือสิ่งที่มนุษย์ไม่ชอบ คิดว่าไม่ดี และไม่อยากประสบพบเจอ สุดท้ายมันกลับเป็นการดี และเหมาะสมกับเขามากที่สุด นั่นแสดงให้เห็นว่า แน่นอนทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากอัลลอฮฺ ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงคัดสรรให้นั้น ล้วนเป็นความโปรดปราน เป็นความดี เป็นการเหมาะสม และเป็นประโยชน์กับปวงบ่าวของพระองค์ทั้งสิ้น 

ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า

 

          “การสู้รบนั้น ได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว ทั้งๆ ที่มันเป็นที่รังเกียจแก่พวกเจ้า และอาจเป็นไปได้ว่า การที่พวกเจ้าเกลียดสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกเจ้า และก็อาจเป็นไปได้ว่า การที่พวกเจ้าชอบสิ่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่สิ่งนั้น เป็นสิ่งเลวร้ายสำหรับพวกเจ้า และอัลลอฮฺนั้น ทรงรู้ดียิ่งแต่พวกเจ้านั้นไม่รู้

(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 216)

 

          อายะฮฺนี้ ได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการสู้รบในหนทางของอัลลอฮฺ แน่นอนว่า ไม่มีใครชอบรบราฆ่าฟัน ไม่มีใครชอบการเสียเลือดเสียเนื้อ แต่สิ่งนั้น กลับเป็นความดีทั้งสิ้น เพราะบั้นปลายของพวกเขาคือสวนสวรรค์ และความผาสุกตลอดกาล แต่อายะฮฺนี้มิได้จำกัดความดี หรือความไม่ดี ความชอบ หรือความเกลียดชังไว้เพียงแค่การสู้รบเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงความชอบ ความเกลียดชัง อารมณ์ และความรู้สึกในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย

 

          และอายะฮฺนี้ ยังได้กล่าวถึงหลักการศรัทธาสำคัญข้อหนึ่ง นั่นคือ การศรัทธาต่อการกำหนดสภาวะ ทั้งดีและไม่ดี ที่มาจากอัลลอฮฺ ซึ่งผู้ศรัทธาทุกคนจำต้องยอมรับต่อหลักการข้อนี้

 

          เราลองย้อนกลับไปดูเรื่องเล่าจากอัลกุรอาน จะได้รับข้อคิดและอุทาหรณ์มากมาย ขอกล่าวถึงเหตุการณ์บางช่วงบางตอนจากอายะฮฺอัลกุรอาน เพื่อเป็นกำลังใจให้กับบุคลที่กำลังตกอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจ และเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับพวกเขา เพราะเมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ หนทางเดียวที่จะช่วยเยียวยารักษา และทำให้หัวใจสงบลงได้ ก็คือการกลับไปสู่การรำลึกนึกถึงอัลลอฮฺ โดยการพินิจพิจารณาอายะฮฺต่างๆ จากอัลกุรอาน

 

     เหตุการณ์ที่ 1 มารดาของท่านนบีมูซา ตัดสินใจนำท่านนบีมูซา ใส่ตะกร้าลอยไปในแม่น้ำไนล์ เพราะนางเกรงว่าลูกชายของนางจะถูกฟิรเอาว์นฺสังหาร แต่แล้วนางก็ได้รับสิ่งที่ดีงามตามมา นั่นคือ ลูกชายของนางไม่ถูกสังหารและยังได้กลับมาสู่อ้อมอกของนางอีกครั้ง และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในบรรดาร่อซูลอีกด้วย

ดังดำรัสของอัลลอฮฺ  ที่ว่า 

          “เมื่อเจ้ากลัวแทนเขา ก็จงโยนเขาลงไปในแม่น้ำ และเจ้าอย่าได้กลัวและอย่าได้เศร้าโศก แท้จริง เราจะให้เขากลับไปยังเจ้า และเราจะทำให้เขาเป็นหนึ่งในบรรดาร่อซูล

(อัลกอศ็อศ 28:7)

 

     เหตุการณ์ที่ 2 ท่านคิเฎร ได้ลงมือสังหารเด็กผู้ชายคนหนึ่งอันเนื่องมาจากพระบัญชาของอัลลอฮฺ เพราะเด็กคนนี้จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่ละเมิดเป็นผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา และเป็นผู้ที่อกตัญญูต่อบิดามารดาของเขา โดยจะบังคับท่านทั้งสองให้ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ

ดังดำรัสของอัลลอฮฺ  ที่ว่า 

          “ดังนั้น ทั้งสอง (นบีมูซากับท่านคิเฎร) จึงออกเดินทางต่อไป จนกระทั่งเมื่อทั้งสองพบกับเด็กคนหนึ่ง เขา (คิเฎร) จึงฆ่าเด็กคนนั้น เขา (มูซา) กล่าวว่า ท่านฆ่าชีวิตบริสุทธิ์ โดยมิได้ทำผิดต่อชีวิตอื่นกระนั้นหรือ แท้จริง ท่านทำสิ่งที่ร้ายแรงยิ่งนัก

(อัลกะฮ์ฟฺ 18:74)

          และส่วนเรื่องของเด็กคนนั้นก็คือ พ่อแม่ของเขาเป็นผู้ศรัทธา เรา (อัลลอฮฺ) กลัวว่าเขาจะเคี่ยวเข็ญให้ทั้งสองตกอยู่ในการละเมิด และปฏิเสธศรัทธา

(อัลกะฮ์ฟฺ 18:80)

 

     เหตุการณ์ที่ 3 ท่านนบียูซุฟ (อะลัยฮิสสลาม) ถูกพี่ๆ จับโยนลงไปในบ่อน้ำลึก เพราะไม่พอใจที่พ่อ (นบียะอฺกู๊บ อะลัยฮิสสลาม) รักยูซุฟมากกว่าพวกเขา ซึ่งในบ่อนั้นมีแต่ความมืด จนกระทั่งมีผู้เดินทางผ่านพบเจอ และนำเขาขึ้นมา แล้วขายเขาให้กับกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองอิยิปต์ มิหนำซ้ำ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มก็ยังถูกใส่ร้ายว่าได้กระทำการมิดีมิร้ายกับภริยาของกษัตริย์ จนต้องเข้าไปอยู่ในคุกเป็นเวลาหลายปี แต่สุดท้าย ท่านก็ได้ออกมาจากคุกโดยปราศจากมลทินพร้อมกับได้รับตำแหน่งเป็นผู้ควบคุมการคลังของประเทศ

ดังดำรัสของอัลลอฮฺ  ที่ว่า 

          “คนหนึ่งในพวกเขากล่าวว่า พวกท่านอย่าฆ่ายูซุฟ แต่จงโยนเขาลงในบ่อลึก เพื่อผู้เดินทางบางคนจะได้เอาเขาออกมา หากพวกท่านจำต้องกระทำเช่นนั้น

(ยูซุฟ 12:10)

           ดังนั้น พระเจ้าของเขา ได้ตอบรับคำวิงวอนขอจากเขา แล้วพระองค์ทรงให้อุบายของพวกนางหันเหไปจากเขา แท้จริง พระองค์คือ ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้


          เมื่อเป็นที่ประจักษ์แก่พวกเขา หลังจากที่ได้พบหลักฐาน (ก็ลงความเห็นกันว่า) ต้องขังเขาไว้ระยะหนึ่ง

(ยูซุฟ 12:34-35)

          และกษัตริย์ตรัสว่า จงนำเขามาหาฉันสิ ฉันจะแต่งตั้งเขา ให้เป็นผู้ใกล้ชิดของฉัน เมื่อยูซุฟได้สนทนากับพระองค์แล้ว พระองค์ตรัสว่า แท้จริง ท่านอยู่ต่อหน้าเราวันนี้ ในฐานะเป็นผู้มีตำแหน่งสูงเป็นที่ไว้ใจ

 

         “เขา (ยูซุฟ) กล่าวว่า ได้โปรดแต่งตั้งฉัน ให้ควบคุมการคลังของประเทศด้วยเถิด แท้จริง ฉันเป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นผู้รู้

 

          “และเช่นนั้นแหละ เราได้ให้ยูซุฟมีอำนาจในแผ่นดิน เขาจะพำนักอยู่ที่ใดก็ได้ตามต้องการ เราให้ความเมตตาของเราแก่ผู้ที่เราประสงค์ และเราจะมิให้รางวัลของบรรดาผู้ทำความดีสูญหายไป

(ยูซุฟ 12:54-56)

 

          เหตุการณ์ทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น สอนให้รู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอัลลอฮฺ  ทั้งสิ้น และทุกๆ สิ่ง ย่อมมีเหตุผลซ่อนอยู่เสมอ

 

         สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพร่างกาย ผู้ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักอย่างไม่มีวันกลับ ขออัลลอฮฺ  ทรงเมตตาพวกเขา ผู้ที่เป็นหมัน ไม่สามารถจะมีบุตรได้ ฯลฯ ท่านอย่าได้ท้อแท้ และอย่าได้สิ้นหวัง แต่ขอให้ท่านเชื่อมั่นและศรัทธาว่า อัลลอฮฺ  เพียงองค์เดียวเท่านั้นเป็นผู้ทรงบริหารจัดการทุกๆ สิ่ง พระองค์จะมิทรงทอดทิ้งบ่าวผู้ที่ศรัทธา พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ

 

         อัลลอฮฺ  ทรงรัก และชอบผู้ที่หมั่นวิงวอนขอต่อพระองค์อยู่สม่ำเสมอ อย่ารีบร้อนที่จะให้ได้มาในสิ่งที่วิงวอนขอ แต่ทว่าให้คำนึงถึงความเมตตา และสิ่งที่ได้รับมา ทั้งๆ ที่ไม่ได้ยกมือขอเลย

 

          บางครั้ง การตอบรับคำวิงวอนขอจากบ่าวอาจล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อัลลอฮฺทรงเพิกเฉย ไม่สนใจ อัลลอฮฺ  ทรงบริสุทธิ์จากคำกล่าวนี้ แต่พระองค์ทรงรู้ดียิ่งว่าท่านพร้อมที่จะได้รับมันเมื่อไหร่ หรือพระองค์ทรงต้องการที่จะให้ท่านได้รับสิ่งที่ดีกว่านั่นเอง

 

 

ที่มาอนุสรณ์งานประจำปีโรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร ปี 2560”