ต้นแบบแห่งความดี
โดย บินดฺ ยะห์ยา
คงจะดีไม่น้อย หากว่าเราจะเป็นคนหนึ่งที่ประทับอยู่ในใจผู้คนทั้งหลาย โดยการเป็นต้นแบบ เป็นแม่แบบแห่งการทำความดี ความดีที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่สำนวน หรือประโยคที่อยู่ในตำรา หรือเป็นเพียงคำตักเตือน ส่งเสริมให้ทำแล้วลอยผ่านไปตามสายลม มิต่างกับอากาศที่มาสัมผัสผิวกายเพียงชั่วครู่ชั่วยามแล้วก็จางหายไป
อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมทุกคนกระทำคุณงามความดี ในรูปแบบต่างๆ มากมาย และห้ามปรามการกระทำความชั่วทั้งหลาย และมาตรแม้นว่า ความดีนั้น จะกระทำได้ยากกว่าการทำความชั่ว แต่ทว่า สำหรับผู้ศรัทธาที่เชื่อมั่นในความดีงามอย่างเต็มเปี่ยมในหัวใจแล้วไซร้ ไม่ว่าจะพบกับอุปสรรค หรือ การทดสอบในรูปแบบใด เขาก็ยังคงยึดมั่น และยืนหยัดในการทำความดีมิเสื่อมคลาย เพราะผลแห่งการทำดีมิได้ ยังผลเพียงแค่ในโลกนี้เท่านั้น หากแต่ยังผลไปจนถึงโลกหน้าอีกด้วย
อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานเกี่ยวกับการส่งเสริมให้กระทำความดี และละเว้นจาก การกระทำความชั่ว ดังนี้
“และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดี และใช้ให้กระทำในสิ่งที่ดี และห้ามมิให้กระทำสิ่งที่ไม่ดี และชนเหล่านี้แหละ พวกเขาคือผู้ได้รับความสำเร็จ”
(อาละอิมรอน 3 : 104)
แน่แท้ ผู้ที่เป็นต้นแบบแห่งความดีงามที่สมบูรณ์แบบที่สุด ย่อมมิใช่ใครอื่น นอกจากท่านนบี มุฮัมมัด นั่นเอง ท่านเป็นผู้ที่แสดงให้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ได้ประจักษ์ชัดว่า ท่านเป็นคนดีที่ซื่อสัตย์ ไว้วางใจได้ และมีจริยวัตรที่งดงามที่เปรียบได้ดั่งอาภรณ์ที่ทรงเกียรติ และเครื่องประดับที่ล้ำค่าที่ทำให้ท่านดูสูงสง่างามเหนือเครื่องประดับอื่นใดทั้งปวง ดังนั้น ท่านจึงเป็นบุคคลตัวอย่าง คู่ควรแก่การรำลึก และยกย่องสรรเสริญตราบนานเท่านาน ดังอายะฮฺที่ว่า
“และแท้จริง เจ้า (มุฮัมมัด) นั้น อยู่บนคุณธรรมอันยิ่งใหญ่”
(อัลกอลัม 68 : 4)
อนึ่ง การจะตักเตือนให้ใครคนหนึ่งกระทำความดี หรือละทิ้งความชั่วนั้น ย่อมเป็นที่สมควรแก่ ผู้ตักเตือนที่จะกระทำตนให้เป็นแบบอย่างเช่นกัน เพราะหากว่าผู้ตักเตือนมิได้กระทำในสิ่งที่ตนเองพูดแล้ว การโอนอ่อนผ่อนตาม และการยอมรับ จนกระทั่งการน้อมนำไปปฏิบัติจากผู้ฟัง อาจถูกลดความน่าเชื่อถือลง แม้ว่าเขาจะมีเจตนาที่ดีก็ตาม เนื่องมาจากเมื่อตัวผู้ตักเตือนยังมิได้เล็งเห็น และให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตนเองกำลังตักเตือนผู้อื่น แล้วจะให้ผู้อื่นเห็นความสำคัญกับคำตักเตือนของตนได้อย่างไร !
แม้ว่าจะมีคำกล่าวที่ว่าให้พิจารณาสิ่งที่ถูกพูด มิใช่ตัวของผู้พูดก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่า มันอาจจะเหมาะสมที่จะนำมาใช้แค่เพียงบางโอกาสเท่านั้น เพราะท่านนบี มิได้เคยกระทำตนขัดกับหลักการที่ท่านได้เผยแพร่แก่บรรดาซอฮาบะฮฺ และประชาชาติของท่านแม้เพียงสักสิ่งเดียว ฉะนั้น เมื่อเรากล่าวว่า ท่านคือแบบอย่าง ท่านคือบุคคลที่เรารักมากที่สุด ควรหรือไม่เล่า ที่เราจักต้องปฏิบัติตนเฉกเช่นที่ท่านได้กระทำให้เป็นตัวอย่างแก่พวกเราบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย
ตลอดชั่วชีวิตของท่าน การเริ่มกระทำความดี ไม่จำเป็นต้องมีอะไรที่มันยาก ในเรื่องของอิบาดะฮฺก็คือ ดำรงการละหมาดห้าเวลา การออกซะกาต การถือศีลอด และการประกอบพิธีฮัจญ์ หากมีความสามารถและนอกเหนือจากอิบาดะฮ์ ก็จะเป็นเรื่องของจรรยามารยาท ที่มีตัวบทสายรายงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำดีต่อบิดา มารดา การอดทนต่อภัยพิบัติ การบริจาคทาน การทำดีต่อเพื่อนบ้าน การแสวงหาวิชาความรู้ การระงับความโกรธ ฯลฯ เหล่านี้ เป็นต้น ดังหลักฐานต่อไปนี้
“อุปมา บรรดาผู้บริจาคทรัพย์สินของพวกเขาในหนทางของอัลลอฮฺนั้น อุปไมย ดั่งเมล็ดพืชเมล็ดหนึ่ง ที่งอกขึ้นเป็นเจ็ดรวง ซึ่งในแต่ละรวงนั้นมีร้อยเมล็ด และอัลลอฮฺนั้น จะทรงเพิ่มพูนแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์อีก และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้”
(อัลบะกอเราะฮฺ 2 : 61)
“(มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิด โอ้ ปวงบ่าวผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงพระเจ้าของพวกท่านเถิด สำหรับบรรดาผู้ทำความดีในโลกนี้คือ (จะได้รับการตอบแทน) ความดี และแผ่นดินของอัลลอฮฺนั้น กว้างใหญ่ไพศาล แท้จริง บรรดาผู้อดทนนั้น จะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องนับคำนวณ”
(อัซซุมัร 39 : 10)
“ความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บป่วย ความเศร้าโศก ความเดือดร้อน ความหม่นหมอง แม้กระทั่งถูกหนามขีดข่วน เมื่อมันมาประสบกับมุสลิม อัลลอฮฺจะทรงลบล้างความผิดของเขาด้วยกับสาเหตุนั้นๆ”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)
“แท้จริง การตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ จะมาพร้อมกับการทดสอบที่ยิ่งใหญ่ และเมื่ออัลลอฮฺทรงรักกลุ่มชนใด ก็จะทรงทดสอบพวกเขา
ดังนั้น ผู้ใดพึงพอใจ เขาก็จะได้รับความพึงพอใจ และถ้าผู้ใดแสดง ความไม่พอใจ เขาก็จะได้รับความโกรธกริ้ว”
(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)
“จากท่านอับดุลลอฮฺ บุตร มัสอู๊ด ได้กล่าวว่า
ฉันได้ถามท่านร่อซูล ว่า “โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ การงานใดที่ประเสริฐที่สุด?”
ท่านร่อซูล ตอบว่า “การละหมาดในเวลาของมัน”
ฉันได้กล่าวอีกว่า “ถัดจากนั้นคืออะไร?”
ท่านตอบว่า “การทำความดีต่อบิดามารดา”
ฉันกล่าวว่า “ถัดจากนั้นคืออะไร?”
ท่านตอบว่า “การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ”
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)
จากท่านอับดุลลอฮฺ บุตร อับบ๊าส กล่าวว่า
“ไม่ใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริง ผู้ที่ท้องของเขาอิ่ม ในขณะที่เพื่อนบ้านของเขาหิวโหย”
(บันทึกโดย อัลฮากิม)
“ทุกๆ ความดีนั้น เป็นศ่อดาเกาะฮฺ และส่วนหนึ่งจากความดีก็คือ การที่ท่านพบปะพี่น้องของท่าน ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส”
(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)
หลักฐานต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า แท้จริง ความดีงามนั้นมันวนเวียนอยู่รอบตัวเรา และมิได้สร้างความยากลำบากแก่ผู้ที่กระทำแต่อย่างใด อีกทั้งนอกเหนือจากผลตอบแทนที่เราจะได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าในโลกอาคิเราะฮฺแล้ว ในโลกดุนยานี้ เราก็ยังจะได้รับความสุขใจ ความอิ่มเอมใจ และ ความเบิกบานใจ ในทุกๆ ครั้งที่ได้กระทำความดี
และหลักฐานต่างๆ เหล่านี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่ท่าน ร่อซูล และบรรดาศ่อซาบะฮฺของท่านได้กระทำ พวกเขาเหล่านั้น เปรียบเสมือนต้นแบบแห่งความดีที่มีชีวิต ท่านนบี ของเรา เป็นต้นแบบแห่งความไว้ใจได้ จนได้รับฉายาว่า “อัลอะมีน”
ท่านอบูบักร เป็นผู้ที่มีสัจจะ มีฉายาว่า “อัซซิดดี๊ก” นอกจากนั้น ในยุคของท่าน ท่านได้บริจาคทรัพย์มากมาย ไปในหนทาของอัลลอฮฺ
เมื่อท่านถูกถามว่า “ท่านได้เหลือสิ่งใดเอาไว้ให้แก่คนข้างหลังบ้าง ?”
ท่านตอบว่า “คืออัลลอฮฺ และร่อซูลที่ท่านเหลือไว้ให้กับพวกเขา”
จะมีใครในยุคนี้สักกี่คนกันเล่า ที่จะรักอัลลอฮฺ และร่อซูลได้มากถึงเพียงนี้
อีกทั้งท่านอุมัร อิบนุ ค็อฏฏ็อบ เป็นผู้ที่มีความเด็ดขาด เที่ยงธรรม ฉายาของท่านคือ “อัลฟารู๊ก” (ผู้แยกแยะความจริงออกจากความเท็จ)
ท่านอุมัรเป็นแม่แบบของการเป็นผู้นำที่ดี เป็นผู้ปกครองที่มี ความยุติธรรม เป็นผู้ที่รับเอาความทุกข์ของผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของท่าน มาเป็นความทุกข์ของท่านเอง ท่านใช้ชีวิตเรียบง่ายจนในหลายๆ ครั้ง ที่ท่านออกตรวจตราตามที่ต่างๆ หลายๆ คนก็ไม่รู้ว่าเป็นท่าน
ท่านคอลิด อิบนุ วะลีด แม่ทัพที่อายุน้อยที่สุด ได้รับสมญานามว่า “ซัยฟุลลอฮฺ อัลมัสลู๊ล” (ดาบของอัลลอฮฺ ที่ถูกชักออกมาจากฝัก) ผู้เป็นต้นแบบแห่งความองอาจ กล้าหาญ และอีกหลายๆ ท่าน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นแบบอย่างที่ดีงามทั้งสิ้น
เราทั้งหลายเห็นหรือไม่ว่า บรรดาท่านเหล่านั้น ล้วนเป็นผู้ที่มีความอดทน กล้าหาญ ใจบุญ อ่อนน้อม ถ่อมตนมากเพียงใด ร่างกายและจิตใจของท่านเหล่านั้น ถูกหล่อหลอมด้วยความดีงาม เป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างให้แก่คนรุ่นหลัง ถึงแม้ว่า ลมหายใจของท่านเหล่านั้น จะหมดสิ้นลง หากแต่คุณงามความดีของพวกเขา ยังคงประทับตราตรึงอยู่ในหัวใจของผู้คน ยังคงถูกเล่าขานสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ ประดุจดั่งว่า พวกเขาไม่เคยห่างหายไปไหน
เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า แท้จริง ความดีงามนั้น มันวนเวียนอยู่รอบตัวเรา และมิได้สร้างความยากลำบากแก่ผู้ที่กระทำแต่ประการใด อีกทั้ง นอกเหนือจากผลตอบแทนที่เราจะได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าในโลก อาคิเราะฮฺแล้ว ในโลกดุนยานี้ เราก็ยังจะได้รับความสุขใจ ความอิ่มเอมใจ และความเบิกบานใจในทุกๆ ครั้ง ที่ได้กระทำความดี และไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ใด ในฐานะอะไร ความดีก็จะเป็นเสมือนเกราะป้องกันภัย
ท่านผู้อ่านที่รักทั้งหลาย ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะเป็นต้นแบบที่ดี เป็นตัวอย่างที่น่าภาคภูมิใจให้กับลูกหลาน และคนรุ่นหลังสืบต่อไป ให้ความดีงามของเรา ติดตรึงอยู่ในหัวใจของผู้คนตราบนานเท่านาน
ที่มา ”อนุสรณ์งานประจำปีโรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร ปี 2560”