บทวิเคราะห์สงครามอุฮุด
ชัช หะซาเล็ม
“สงคราม” ไม่ว่าจะเป็นสงครามในรูปแบบใดๆ ที่ได้ปรากฏขึ้นมาแล้วนั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ อย่างเด่นชัดว่า มันหมายถึงการสูญเสียทั้งอาวุธ ยุทโธปกรณ์ และไพร่พล ซึ่งมีทั้งวีรบุรุษ วีรสตรี ตลอดจนวีรชน และแล้วผลที่ได้จากสงครามมีทั้งชัยชนะหรือความพ่ายแพ้
หลังจากที่ท่านนบีมูฮำหมัด อพยพจากนครมักกะฮ์สู่นครมะดีนะฮ์แล้ว นับว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งอัลอิสลามได้ชื่อว่า “ฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 1” ในขณะนั้น ท่านนบีมุฮำหมัด มีอายุประมาณ 53 ปี ท่านนบีได้สร้างอาณาจักรแห่งอิสลามขึ้นที่นครมะดีนะฮ์นี่เอง มีการรวมตัวระหว่างบรรดา ผู้อพยพ (มู่ฮายิรีน) กับบรรดาชาวนครมะดีนะฮ์ (อันซอร) และเมื่อบรรดามุสลิมมีกำลังที่เข้มแข็งสามารถป้องกันตนเองได้ อัลลอฮฺทรงบัญชาใช้ให้ทำ “สงคราม” โดยมีจุดประสงค์ใหญ่ คือ
1. เพื่อป้องกันอัลอิสลามมิให้ถูกรุกราน
2. ขจัดสิ่งชั่วร้ายและความอยุติธรรมทั้งหลาย
ดังนั้น สงครามในหนทางแห่งอัลลอฮฺ จึงระเบิดขึ้นเพื่อให้ชาวโลกได้มองเห็นถึงการรวมตัวที่แข็งแกร่งของบรรดามุสลิมในอาณาจักรใหม่ กองกำลังมุสลิมในยุคนั้นมีท่านนบีมุฮำหมัด เป็นแม่ทัพใหญ่ ได้ถูกแบ่งออกเป็นสองกองกำลังคือ
1. กองกำลังที่มีไพร่พลไม่เกิน 30 คน ที่ภาษาอาหรับเรียกว่า “ซิรยะห์”
2. กองกำลังที่มีท่านนบีเป็นแม่ทัพนำรบ ภาษาอาหรับเรียกว่า “ค๊อซวะฮ์”
บรรดานักประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เกิดการสู้รบขึ้นระหว่างกองกำลังฝ่ายมุสลิมกับกองกำลัง ฝ่ายต่อต้าน รวมทั้งสิ้นถึง 64 ครั้ง และการสู้รบทั้ง 64 ครั้ง ท่านนบีนำรบเอง 26 ครั้ง และได้แต่งตั้งผู้อื่น นำรบแทน 38 ครั้ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ ในจำนวนสงครามทั้ง 26 ครั้ง มีสงครามหนึ่งที่เราไม่ควรลืมและถือเป็นบทเรียนที่มีค่ามากที่สุดแลกด้วยเลือดเนื้อและชีวิตนั่นคือ “สงครามอุฮุด”
สงครามอุฮุดเป็นบทเรียนที่นักประวัติศาสตร์ต้องบันทึกไว้ เพื่อบุคคลรุ่นหลังได้พิจารณา...
แต่ก่อนที่เราจะตัดสินลงไปว่าสงครามอุฮุดครั้งนั้น ฝ่ายมุสลิมเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้โดยสิ้นเชิงนั้น เหมือนอย่างนักเขียนบางท่านได้เขียนไว้ โดยมิได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ที่จริงแล้วสงครามอุฮุดเราจะพูดว่าฝ่ายมุสลิมพ่ายแพ้นั้นเป็นการยากและไม่สมควร เพราะเหตุที่เราจะตัดสินใจได้ว่าพ่ายแพ้หรือที่ภาษาอาหรับใช้คำว่า “ฮาซีมะฮ์” นั้น จะต้องมีลักษณะดังนี้
1. ผู้พ่ายแพ้ต้องได้รับความเสียหายมากมายจนกระทั่งไม่สามารถต่อกรในการรบได้เลย
2. ผู้พ่ายแพ้ต้องตกเป็นเชลยอย่างแน่นอน ดังสงครามต่างๆ ที่ได้ปรากฏมาแล้ว
3. ผู้ที่พ่ายแพ้ยอมจำนนด้วยตนเองอย่างสิ้นเชิง
4. ผู้พ่ายแพ้ต้องหนีกระเจิดกระเจิงจากสนามรบ
ฉะนั้น เมื่อเรามองทางฝ่ายมุสลิมในสงครามอุฮุด เราจะไม่พบลักษณะข้างต้นนี้เลย เราจะเห็นว่า
♣- จริงอยู่ที่ฝ่ายมุสลิมได้รับความเสียหาย แต่ฝ่ายกุเรซก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน ข้อสำคัญฝ่ายมุสลิมมิได้เกิดความสะทกสะท้านต่อการเสียหายนั้นๆ เลย ท่านนบีมุฮำหมัด ยังนำกองทัพของตนออกติดตามฝ่ายกุเรซในวันรุ่งขึ้นที่ตำบลอำร่ออัลฮาซัด แต่ฝ่ายกุเรซเสียอีกเลือกที่จะกลับนครมักกะฮ์ โดยไม่ยอมสู้รบตามคำท้าทายจากฝ่ายมุสลิม
♣- เราจะเห็นว่าฝ่ายมุสลิมไม่ได้ตกเป็นเชลยสงครามในครั้งนั้นแม้แต่คนเดียว
♣- ไม่มีใครหนีจากสนามรบ ทุกคนสู้จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายของสงคราม และถ้าหากฝ่ายมุสลิมหนีจากสนามรบแล้ว ฝ่ายกุเรซต้องตามมากำจัดให้สิ้นในนครมะดีนะฮ์
♣- ฝ่ายมุสลิมมิได้ยอมแพ้ต่อพวกกุเรซแต่อย่างใด ถ้าหากพวกกุเรซคิดว่าฝ่ายตนได้รับชัยชนะ พวกเขาต้องอยู่ที่สนามรบเพื่อเก็บรวบรวมทรัพย์สิน อาวุธ ยุทโธปกรณ์ อย่างที่ฝ่ายมุสลิมได้กระทำในสงครามครั้งก่อน
♣- ถ้าเราพิจารณากันว่า พวกกุเรซได้ตั้งเป้าหมายไว้ในแผนการรบสามขั้นตอนด้วยกัน คือ
1. จู่โจมฝ่ายมุสลิมอย่างกะทันหันโดยมิให้รู้ตัว
2. ทำให้ฝ่ายมุสลิมแตกแยกกันเองในสนามรบ
3. ฆ่าท่านนบีมุฮำหมัด ให้ได้
แต่ทว่าเป้าหมายแรกที่พวกกุเรซได้ตั้งเอาไว้นั้น พวกเขาทำไม่ได้แม้แต่จะเริ่มต้น เพราะเหตุว่าท่านนบี รู้แผนการนั้นก่อนเสียแล้ว
ส่วนเป้าหมายที่สองก็เช่นกัน ทั้ง อบู ซุฟยาน และอบู อามิร จะพยายามเท่าไรก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
สำหรับเป้าหมายสุดท้าย พวกกุเรซไม่สามารถฆ่าท่านนบีมุฮำหมัด ได้ และการที่ท่านฮัมซะฮ์ถูกฆ่าในสนามรบก็มิใช่สาเหตุที่จะนำมาอ้างว่าฝ่ายมุสลิมพ่ายแพ้ ฉะนั้นตามหลักของการทำสงคราม ถ้าไม่บรรลุถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ยังไม่ถือว่าได้รับชัยชนะจากฝ่ายตรงข้าม
♣- ถ้าเรามองดูตามแบ่งของนักประวัติศาสตร์ การรบแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน เราก็จะเห็นว่าในตอนแรกมุสลิมเป็นฝ่ายได้เปรียบ ส่วนในขั้นตอนที่สองพวกกุเรซได้เปรียบ ก็เป็นการรบที่ผลัดกันรุกผลัดกันรับ เท่านั้นเอง
ฉะนั้นสงครามอุฮุดจึงยากที่ใครจะกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าฝ่ายมุสลิม โดยการนำทัพของท่านนบี มูฮำหมัด พ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง ถ้าพิจารณากันจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย และท้ายสุด พระองค์อัลลอฮ์ ทรงให้กำลังใจแก่มุสลิม โดยตรัสความว่า
“และพวกเจ้าจงอย่าท้อแท้ และจงอย่าเสียใจและพวกเจ้านั้นคือผู้ที่สูงส่งยิ่ง หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา
หากประสบแก่พวกเจ้า ซึ่งบาดแผลหนึ่งบาดแผลใด แน่นอนก็ย่อมประสบแก่พวกนั้น ซึ่งบาดแผลเดียวกัน
และบรรดาวันเหล่านั้นเราได้ให้มันหมุนเวียนไประหว่างมนุษย์ เพื่ออัลลอฮ์ จะได้ทรงรับรู้บรรดาผู้ที่ศรัทธา
เพื่อรับเอาบรรดาผู้เสียชีวิตในสงครามจากพวกเจ้า และอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงรักใคร่ผู้อธรรมทั้งหลาย
เพื่อที่อัลลอฮ์ จะทรงขัดเกลาบรรดาผู้ศรัทธาให้บริสุทธิ์ และทรงขจัดบรรดา ผู้ปฏิเสธศรัทธาให้หมดไป”
ซูเราะฮ์อะลาอิมรอน อายะฮ์ที่ 139-141
วัสสลาม
วารสาร มุสลิม กทม.