สาเหตุที่มนุษย์ชอบกระทำความผิดและฝ่าฝืน
  จำนวนคนเข้าชม  3361


สาเหตุที่มนุษย์ชอบกระทำความผิดและฝ่าฝืน

โดย อาจารย์อับดุรเราะห์มาน กรีมี

 

ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

          จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ด้วยการปฏิบัติตามข้อใช้ และห่างไกลข้อห้ามอย่างเคร่งครัด รักษาการศรัทธาของเราและท่านทั้งหลายให้มั่นคง พยายามวิงวอนขอดุอาอฺให้เราจากโลกนี้ไป ในสภาพที่เป็นมุอฺมิน มุสลิม ผู้ศรัทธาปฏิบัติตามแนวทางของท่านนบี และบรรดาสลัฟที่นำมาเป็นแบบอย่างแก่เรา ออกห่างจากอุตริกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะทำให้การงานของเราถูกตอบรับ ที่อัลลอฮฺ 

 

ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย 

          ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สาเหตุอันมากมายที่จะทำให้บ่าว กล้าที่จะฝ่าฝืนพระผู้เป็นเจ้าของเขา และหลงลืมคำสั่งใช้ของพระองค์นั้นมาจากหลายๆ สาเหตุด้วยกัน ส่วนหนึ่งมาจากตัวของผู้ที่เป็นบ่าว บางส่วนมาจากสภาพแวดล้อมของสังคม และบางส่วนมาจากการผสมกันระหว่างตัวบุคคลและสังคม ฉะนั้นจะขอนำเสนอสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้มนุษย์ชอบกระทำความผิดและฝ่าฝืน ซึ่งมีหลายประการดังต่อไปนี้คือ

 

1. หลงลืมเป้าหมาย

 

          สาเหตุที่ยิ่งใหญ่ก็คือ มนุษย์เรานั้น กล้าที่จะฝ่าฝืน ก็เพราะว่าเขาไม่เข้าใจถึงเป้าหมายที่อัลลอฮฺ  ทรงสร้างมนุษย์ต้องมีจุดจบ และจะรู้ว่าการมีชีวิตอยู่จะต้องมีเป้าหมาย ฉะนั้น ส่วนมากของมนุษย์ค้นพบเป้าหมายของพวกเขา แต่พวกเขาถูกปิดกั้น 

          มนุษย์คิดว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเป็นเพียงแค่ความสุขสำราญ และความใคร่ของตนเท่านั้น และพอใจในสิ่งดังกล่าว บางส่วนก็ไม่รู้ถึงเป้าหมายที่แท้จริง ใช้ชีวิตในดุนยาอย่างเพิกเฉยเหมือนการใช้ชีวิตของบรรดาปศุสัตว์ทั้งหลาย ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดจึงถูกบังเกิดขึ้นมา และไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตในดุนยาอย่างไร ดังนั้น อัลลอฮฺจึงทรงกำหนดจุดมุ่งหมายและเป้าหมายของมนุษย์ไว้ดังที่ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัซซาริย๊าต ว่า

 

และข้ามิได้สร้างญินและมนุษย์มาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อเคารพภักดีต่อข้าเท่านั้น

(อัซซาริย๊าต 51 : 56)

          มนุษย์จึงสมควรที่จะใช้ชีวิตอย่างมีจุดหมาย ก็คือ การอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ดังเช่นที่บรรดาอุละมาอฺได้กล่าวไว้ว่า

          “แท้จริง การอิบาดะฮฺ คือ ทุกๆ การกระทำที่นำมาซึ่งความพอพระทัยของอัลลอฮฺ ทั้งในด้านคำพูดและการกระทำที่ซ่อนเร้นและเปิดเผย 

          ดังนั้น ทุกๆ คำพูดด้วยกับลิ้นของเขา และทุกๆ การกระทำของอวัยวะทุกส่วน และทุกความรู้สึกทั้งภายในและภายนอกสมควรที่จะต้องมุ่งสู่อัลลอฮฺ  เพียงองค์เดียวเท่านั้น

 

2. มีการศรัทธาที่อ่อน

 

          การที่มนุษย์มีการศรัทธาที่อ่อนแอต่ออัลลอฮฺและการศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺ เป็นสาเหตุใหญ่อันหนึ่งที่จะทำให้มนุษย์กล้าที่จะทำความผิด ดังนั้น ผู้เป็นบ่าวที่ชอบสิ่งหนึ่ง ในสิ่งที่อัลลอฮฺ  ไม่ทรงชอบ แท้จริง การอีมานที่สมบูรณ์นั้น จำเป็นที่ผู้ที่เป็นบ่าว จะต้องรักในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรักและชอบ และรังเกียจในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกริ้ว ดังที่ท่านร่อซูล  ได้กล่าวไว้ในฮะดิษของท่านว่า 

การศรัทธาของคนหนึ่งคนใดจะยังไม่สมบูรณ์ จนกว่าอารมณ์ของเขาจะดำเนินตามสิ่งที่ฉันนำมา 

(ฮะดิษ ฮะซัน ศ่อฮี๊ฮฺ)

          ดังนั้น มนุษย์เราในช่วงเวลาที่เขากระทำความผิด เขาไม่รู้ว่าอัลลอฮฺทรงเห็นเขา เขาไม่รู้ว่ามีผลตอบแทนสำหรับผู้ที่เชื่อฟังและมีการลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน แท้จริง ในขณะนั้น เขารู้เพียงว่าได้รับความสุขสำราญในขณะที่ฝ่าฝืน และชัยฏอนเข้ามายุแหย่เขาจนกระทั่งเขากล้าที่จะทำความผิด

 

3. โง่เขลาเบาปัญญาในเรื่องของอัลลอฮฺ  ในข้อใช้ ในข้อห้าม ผลตอบแทนและการลงโทษของพระองค์ที่มีต่อเขา

 

          ความโง่เขลาเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้มนุษย์กล้าที่จะกระทำความผิด เพราะหากพวกเขาทั้งหลายรู้จักพระเจ้าอย่างถ่องแท้ เขาก็จะมีความรัก และชอบที่จะปฏิบัติตามและเชื่อฟัง และหากเขาทั้งหลายรู้ศาสนา และบทบัญญัติของพวกเขา พวกเขาก็จะพบกับความผาสุกในการปฏิบัติตาม และหากพวกเขารู้ถึงผลตอบแทนที่อัลลอฮฺ  จะทรงตอบแทนให้ พวกเขาก็จะชอบ หรือปรารถนาในผลตอบแทน และกลัวในเรื่องของการลงโทษ 

     ท่านนบี ได้กล่าวถึงบั้นปลายหรือเครื่องหมายของวันกิยามะฮฺที่จะเกิดขึ้น ในฮะดิษของท่านว่า 

          “แท้จริง ส่วนหนึ่งจากสัญญาณของวันกิยามะฮฺ ก็คือ วิชาความรู้จะถูกริบเก็บเอาไป ความโง่เขลาจะเข้ามาแทนที่ การดื่มสุราจะแพร่หลาย การผิดประเวณี (ซินา) จะเกิดขึ้นดาษดื่น (แพร่หลาย)”

 

4. ชัยฏอนเข้ามายุแหย่

 

          แท้จริง ชัยฏอนเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของมนุษย์ มันจะเข้ามายุแหย่ จนกระทั่งมนุษย์ชอบที่จะทำการฝ่าฝืน ดังเช่นที่ท่านร่อซูล  ได้กล่าวไว้ในฮะดิษของท่านที่ว่า

แท้จริง ชัยฏอนจะเข้าสู่มนุษย์เหมือนกับเลือดที่ไหลในร่างกายของมนุษย์

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)

          สามอย่างที่ชัยฏอนจะเข้าสู่ผู้ที่เป็นบ่าว คือ การฟุ่มเฟือยในสิ่งที่เป็นอนุมัติ การเพิกเฉยในการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

 

5. หลงลืมในการให้อภัยของอัลลอฮฺ

 

          ส่วนมากของมนุษย์ ใช้ชีวิตอยู่กับการฝ่าฝืน และการทำความผิด ชอบในเสียงเพลง เสียงดนตรี ละคร และเขามีความมั่นใจว่า ตนเองจะได้เข้าสวรรค์โดยไม่มีการสอบสวน หรือมั่นใจว่าตนเองจะไม่ได้สัมผัสกับนรก นอกจากระยะเวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

          ท่านจะพบว่ามนุษย์ทั้งหลาย ยึดถือว่าอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงให้อภัย ผู้ทรงเมตตา และเขาก็กระทำความผิดและหลงลืมว่า อัลลอฮฺทรงให้อภัยกับบ่าวผู้ที่กลับเนื้อกลับตัว ดังที่อัลลอฮฺ  ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัลฮิจรฺ ในอายะฮฺที่ว่า 

จงแจ้งแก่บ่าวของข้าว่า แท้จริง ข้าคือผู้ให้อภัย ผู้เมตตาเสมอ

และแท้จริง การลงโทษของข้านั้น เป็นการลงโทษอันเจ็บแสบ

 

6. หมดหวังหรือท้อแท้ ในความเมตตาของอัลลอฮฺ

 

          ที่จริงบางส่วนของมนุษย์ ได้กระทำความผิดอย่างมากมาย และพวกเขาเบื่อหน่ายที่จะขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ เพราะพวกเขากระทำความผิดเป็นเวลาอันยาวนาน ไม่แยกแยะสิ่งที่ต้องห้ามสำหรับเขา เพิกเฉยในเรื่องของอัลลอฮฺที่เป็นฟัรฏู ปฏิบัติตามอารมณ์ความใคร่ จนกระทั่งลืมไปว่า อัลลอฮฺ  ทรงเปิดประตูแห่งการอภัยให้อย่างกว้างขวาง ดังที่อัลลอฮฺ  ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัซซุมัร ที่ว่า

 

          “(มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า ปวงบ่าวของข้า ผู้ที่ละเมิดต่อตัวของพวกเขาเอง พวกท่านอย่าได้หมดหวังต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริง อัลลอฮฺนั้น ทรงอภัยในความผิดทั้งหลาย แท้จริง อัลลอฮฺนั้น เป็น ผู้ทรงอภัยเป็นผู้ทรงเมตตาเสมอ

และในซูเราะฮฺ อัลฮิจรฺ อัลลอฮฺ  ตรัสว่า

และจะไม่มีผู้ใดที่สิ้นหวังในความเมตตาของพระเจ้าของเขา นอกจากบรรดาผู้ที่หลงผิด

 

7. อ้างเหตุผลว่าเป็นกำหนดของอัลลอฮฺ

 

          บางส่วนของมนุษย์อาจกล่าวว่า ตราบใดที่อัลลอฮฺทรงกำหนดในทุกๆ สิ่ง หากพระองค์ทรงประสงค์จะให้ทางนำแก่ฉัน ฉันก็จะได้รับทางนำที่ถูกต้อง และห่างไกลจากการกระทำความผิด และหากอัลลอฮฺไม่ทรงให้ทางนำแก่ฉัน ฉันก็จะไม่ได้รับทางนำที่ถูกต้อง

          หลักฐานหรือคำพูดดังกล่าวนั้น ไม่ถูกต้อง แท้จริง อัลลอฮฺทรงแจ้งแก่เราว่า แท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ทรงสร้างมาด้วยกำหนดของพระองค์ คือ พระองค์ทรงใช้ให้เราเชื่อฟังต่อพระองค์ และห้ามปรามเรามิให้ฝ่าฝืนพระองค์ แต่จิตใจของมนุษย์นั้น เอนเอียงไปสู่ความเกียจคร้านที่จะทำอิบาดะฮฺ มีความกระตือรือร้นที่จะกระทำความผิด พากเพียรในเรื่องของดุนยาเท่านั้น

 

8. อ้างเหตุผลว่าเป็นความตั้งใจที่ดี

 

          ส่วนมากของมนุษย์ ต้องการที่จะเบี่ยงเบนตัวของเขาเองและกระทำความผิด และหย่อนยานในเรื่องของฟัรฎูต่างๆ ของอิสลาม โดยอ้างว่ามีเจตนาที่ดี แท้จริง อัลลอฮฺ  นั้นเป็นพระเจ้าของจิตใจ และตราบใดที่มีจิตใจที่ดี และมีความตั้งใจที่ดี เขาก็จะไม่กระทำการฝ่าฝืน และไม่ละทิ้งสิ่งที่เป็นฟัรฎู

อัลลอฮฺ  ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัลอันอามที่ว่า

          “และพวกเจ้าจงละเสียซึ่งบาปที่เปิดเผย และบาปที่ปกปิด แท้จริงบรรดาผู้ที่ขวนขวายกระทำในสิ่งที่เป็นบาปกันอยู่นั้น พวกเขาจะได้รับการตอบแทนตามที่พวกเขาได้กระทำกัน

(ซูเราะฮฺ อัลอันอาม 6 : 120)

 

9. ความคาดหวังที่ยาวไกล

 

          มนุษย์คิดว่าชีวิตของเขาคงอยู่อีกยาวไกล แท้จริง ความตายนั้นอยู่ใกล้ และแท้จริง ชีวิตที่ยังอีกยาวไกลจะเพิ่มพูนการละเล่น การเพิกเฉย และการดำเนินตามแนวทางของชัยฏอน ความหวัง ที่ยาวไกล ทำให้มนุษย์เพิกเฉยสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริง และส่วนหนึ่งจากเป้าหมายที่แท้จริงนั่นก็คือ ความตาย และความเป็นอยู่ในหลุมฝังศพ และการลงโทษในกุบู๊รฺ หรือไม่ก็ความสุขสบาย และจะต้องไปยืนต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์ ความจริงที่จะต้องผ่านซิรอฏสะพานที่นำเขาสู่สวนสวรรค์ หรือจะลงสู่นรกที่เผาไหม้

 

10. ความลุ่มหลงในดุนยา

 

          ความลุ่มหลงในดุนยานั้น คือ จุดเริ่มต้นของทุกๆ ความผิดและผู้ใดปรารถนาในดุนยา อาคิเราะฮฺ ก็เป็นอันตรายสำหรับเขา และผู้ใดปรารถนาในอาคิเราะฮฺ ดุนยาก็เป็นอันตรายแก่เขา ดังนั้น จงทำให้สิ่งที่ คงอยู่นั้น มีมากกว่าสิ่งที่สูญสลาย (ผลกำไรสำหรับเขา)

 

11. ปฏิบัติตามอารมณ์ความใคร่

 

ท่านร่อซูล กล่าวว่า 

          “ปัญญาชนผู้ที่เฉลียวฉลาด คือ ผู้ที่คิดทบทวนตนเองอยู่เสมอ และกระทำเพื่อสิ่งที่จะได้รับหลังความตาย ส่วนผู้ที่เบาปัญญานั้น คือ ผู้ที่ปล่อยตัวของเขาตามอารมณ์ และหวังต่ออัลลอฮฺในความหวังที่ เลื่อนลอย

(บันทึกโดย อิมาม อัตติรมิซีย์)

         ชาวสลัฟบางท่านได้กล่าวว่าการที่ถูกเรียกว่าอารมณ์ความใคร่ก็เพราะว่า มันเชิญชวนให้ออกห่างจากอัลลอฮฺ และเพื่อให้ได้มาเพื่อสิ่งนั้น โดยไม่คิดว่าจะถูกหรือผิด และเอนเอียงไปสู่เป้าหมายของอารมณ์ใคร่และความอยาก

 

12. ความหยิ่งยโส อวดดี

 

อัลลอฮฺ  ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ ว่า 

          “และเมื่อมีผู้กล่าวแก่เขาว่า จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด ความหยิ่งในเกียรติก็ยึดเขาให้เขาทำบาปต่อไป สิ่งที่พอเพียงแก่เขา คือ นรกญะฮันนัม และแน่นอนเป็นที่หลับนอนอันเลวร้ายยิ่ง

(ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 206)

ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ได้กล่าวว่า

         “นับว่าได้ทำผิดแล้ว สำหรับคนคนหนึ่ง ที่พอมีคนอื่นเตือนเขาให้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เขากับตอบสวนไปว่า เอาตัวคุณเองให้ดีเสียก่อน ก่อนจะมาเตือนฉัน

 

13. ใฝ่หาในสิ่งที่เป็นชุบุฮ๊าต (สิ่งที่คลุมเครือ)

 

สิ่งที่เป็นชุบุฮ๊าต หมายถึง สิ่งที่คลุมเครือระหว่างสิ่งที่ฮะล้าลและฮะรอม ท่านร่อซูล กล่าวว่า 

     “แท้จริง สิ่งที่อนุมัตินั้นชัดเจน และแท้จริง สิ่งที่เป็นที่ต้องห้ามก็ชัดเจน และในระหว่างทั้งสองสิ่งนั้น มีสิ่งที่คลุมเครือ คนส่วนใหญ่ไม่รู้

     และผู้ที่ระวังสิ่งที่เป็นชุบุฮ๊าต เขาก็ทำให้ศาสนาของเขาและเกียรติยศของเขานั้นบริสุทธิ์

     และผู้ใดที่เข้าใกล้สิ่งที่เป็นชุบุฮ๊าต เขาก็เข้าใกล้สิ่งที่ฮะรอม เช่น คนที่เลี้ยงสัตว์รอบๆ เขตหวงห้าม เกือบที่จะเข้าใกล้เขตหวงห้ามนั้น

     พึงรู้เถิดว่า ทุกๆ ผู้ปกครองนั้น มีเขตหวงห้าม พึงรู้เถิดว่า แท้จริงเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺนั้น คือ สิ่งที่พระองค์ทรงห้าม

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)

 

14. การปะปนหรือเข้าไปร่วมอยู่กับบรรดาผู้ที่ฝ่าฝืน และสังคายนากับคนเลว

 

ดังที่อัลลอฮฺ  ตรัสในซูเราะฮฺ อัลฟุรกอน ว่า

          “และวันที่ผู้อธรรมจะกัดมือของเขาแล้วจะกล่าวว่า โอ้ ถ้าฉันได้ยึดแนวทางร่วมกับ อัร-ร่อซูล ก็จะเป็นการดี โอ้ ความวิบัติแก่ฉัน หากฉันไม่คบคนนั้นเป็นเพื่อน แน่นอน เขาได้ทำให้ฉันหลงผิดจากการตักเตือน หลังจากที่มันได้มีมายังฉัน และชัยฏอนมารร้ายนั้น มันเป็นผู้เหยียดหยามมนุษย์เสมอ

(ซูเราะฮฺ อัลฟุรกอน 25 : 27-29)

 

15. มีความวุ่นวายอย่างแพร่หลาย และสังคมมีความเสื่อมโทรม

 

          ส่วนหนึ่งของมนุษย์ผินหลังให้กับศาสนา และรีบเร่งไปสู่การทำความผิดและฝ่าฝืน แล้วกล่าวว่า ส่วนมากเขายังทำกัน เหตุไฉนฉันจึงผินหลังให้คนส่วนมาก ทำไมสังคมเขายังปฏิบัติกัน แท้จริง ฉันก็ทำดังที่พวกเขากระทำกัน

และอัลลอฮฺ  ได้ตรัสในซูเราะฮฺ อัล อันอาม ว่า 

และหากเจ้า เชื่อฟังคนส่วนมากในแผ่นดินแล้ว พวกเขาก็จะทำให้เจ้าหลงจากทางของอัลลอฮฺ...”

(ซูเราะฮฺอัล อันอาม 6 : 116)

และยังตรัสในซูเราะฮฺ ยูซุฟ ว่า

แต่ทว่า มนุษย์ส่วนมากนั้นไม่รู้

(ซูเราะฮฺ ยูซุฟ 12 : 21) 

และยังตรัสในซูเราะฮฺ ยูซุฟ ว่า

และส่วนมากของมนุษย์นั้น จะไม่ศรัทธาต่อเจ้า ถึงแม้ว่าจะปรารถนาดีก็ตาม

(ซูเราะฮฺ ยูซุฟ 12 : 103)

 

16. ละทิ้งในการเชิญชวนไปสู่ความดี และห้ามปรามในเรื่องของความชั่ว

 

          ท่านร่อซูล ได้อธิบายแก่เราว่า การละทิ้งการตักเตือนในเรื่องของความดี และละเว้นในเรื่องของความชั่วนั้น เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การละอฺนะฮฺ (การสาปแช่ง) ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺว่า

 

         “บรรดาผู้ที่ปฏิเสธจากหมู่วงศ์วานของอิสรออีลได้ถูกสาปแช่งด้วยถ้อยคำของดาวู๊ดและอีซา บุตรของมัรยัมนั้น เนื่องจากพวกเขาฝ่าฝืนและละเมิด ปรากฏว่าพวกเขาต่างไม่ห้ามปรามกันในสิ่งที่ไม่ชอบ ที่พวกเขาได้กระทำกัน ช่างเลวร้ายจริงซึ่งสิ่งที่พวกเขากระทำกัน

(ซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ 5 : 78-79)

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย สิ่งที่สำคัญที่จะขอฝาก คือ บรรดาผู้รู้ที่นำไปสู่การหลงผิด หรือกระทำในสิ่งที่ผิด ที่ไม่มีในศาสนา อุตริกรรมต่างๆ การนำเอาหลักฐานจากอัลกุรอานและฮะดิษมาใช้ไม่ถูกที่ หรือเพื่อมาสนับสนุนความคิดของตนเอง หรือนำมาเพียงบางส่วนเท่านั้น


          ทั้งนี้ ก็ขอฝากท่านพี่น้องทั้งหลาย โปรดใช้สติปัญญาที่อัลลอฮฺให้แก่เรามา ใคร่ครวญตรึกตรองในการกระทำของเราว่า สิ่งนั้นมีแบบอย่าง มาจากอัลกุรอาน และฮะดิษ หรือแนวทางของบรรดาบรรพชนรุ่นแรกๆ หรืออารมณ์นัฟซูของเรา ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องเรียนและศึกษา ถ้าไม่รู้ก็ต้องถาม ดังที่ อัลลอฮฺ ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อันนะฮฺลฺ ว่า

 

“...ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงถามผู้รู้ หากท่านทั้งหลายไม่รู้

(ซูเราะฮฺ อันนะฮฺลฺ 16 : 43)

 

 

ที่มาอนุสรณ์งานประจำปีโรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร ปี 2560”