ฮัจญ์ : มุมมองจากคนสีผิวอย่าง “มัลคอมเอ็กซ์”
  จำนวนคนเข้าชม  3919


ฮัจญ์ : มุมมองจากคนสีผิวอย่างมัลคอมเอ็กซ์

 

แปลเรียบเรียง ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี

 

          ในช่วงเวลาต้นเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ (2554) พี่น้องมุสลิมทั่วโลกเป็นจำนวนหลายล้านคนจะเดินทางไปรวมตัวกันที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ซึ่งเป็นบทบัญญัติสำคัญของมุสลิมทุกคนจะต้องปฏิบัติอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต (ในกรณีผู้ที่มีความสามารถทั้งทางด้านสุขภาพร่างกายและค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง) อย่างไรก็ตาม ในโอกาสที่ช่วงเวลาของการประกอบพิธีฮัจญ์กำลังใกล้จะมาถึงอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอถ่ายทอดอีกหนึ่งเรื่องราวเกี่ยวกับ การประกอบพิธีฮัจญ์ในฉบับนี้เพื่อเติมเต็มมุมมองให้หลากหลายยิ่งขึ้น

 

          โดยในปีนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี (อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย) เป็นอะมีรุ้ลฮัจญ์ หรือหัวหน้าคณะผู้แทนฮัจญ์ทางการของประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องมุสลิมไทยที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในการอบรมคณะผู้แทนฮัจญ์ครั้งนั้น รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี  ได้กล่าวเปิดและตั้งคำถามสำคัญแก่ผู้เข้าร่วมการอบรมว่า ท่านเคยถูกถามจากเพื่อนต่างศาสนิกคนหนึ่งว่าการไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตมุสลิมอย่างไรซึ่งท่านอะมีรุ้ลฮัจญ์เห็นว่าเป็นคำถามที่สำคัญมากๆ สำหรับมุสลิม ทุกคนที่กลับจากการไปประกอบพิธีฮัจญ์จะต้องตอบให้ได้และต้องใส่ใจให้ความสำคัญกับคำถามนี้ 

 

          เพราะหากเรากลับจากฮัจญ์แล้วแต่ยังมีพฤติกรรมไม่ดีทั้งหลายที่ไม่ต่างไปจากเดิมก่อนการไปทำฮัจญ์และการดำเนินชีวิตก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของเราอาจไม่สมบูรณ์ (มับรูจ) เพราะสัญญาณที่เราดูได้จากการได้ฮัจญ์สมบูรณ์ (มับรูจ) ก็คือ การมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเอง

 

          ในโอกาสนี้ผู้เขียนใคร่ขอที่จะหยิบยกเรื่องราวของชายสีผิวมุสลิม ชาวอเมริกันผู้หนึ่งชื่อมัลคอมเอ็กซ์ซึ่งประสบการณ์การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้ทำให้เขาเปลี่ยนชีวิตและมุมมองโลกโดยสิ้นเชิง

 

          มัลคอมเอ็กซ์ (1925-1965) มีชื่อภาษาอาหรับว่า อัล-ฮัจญ์ มาลิก อัล-ซาบาส เป็นชาวมุสลิมอเมริกันสีผิวที่มีชื่อเสียงด้านการต่อสู้การเหยียดสีผิวในอเมริกา และเขาเคยเป็นโฆษกของขบวนการอเมริกันมุสลิมสีผิวที่รู้จักในนามประชาชาติอิสลาม” (The Nation of Islam) ในปี 1964 หลังจากที่ มัลคอมเอ็กซ์ถอนตัวออกจากสมาชิกขบวนการประชาชาติอิสลามที่จงเกลียดจงชังคนผิวขาวอย่างเข้าไส้ เขาได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะฮ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของมัลคอมเอ็กซ์มีต่อการมองโลกและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอคติที่เคยมีต่อคนผิวขาว 

 

         แต่ในที่สุดเมื่อกลับจากการประกอบพิธีฮัจญ์ ได้ไม่ถึงปีเขาได้ถูกสังหารที่กรุงวอชิงตัน มัลคอมเอ็กซ์ถูกกล่าวขานถึงจากสังคมอเมริกันทั้งด้านบวกและด้านลบ อัตชีวประวัติของเขาซึ่งเขียนโดยอะเล็กซ์ อัลลีย์ ได้กลายเป็นหนังสือสำคัญที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาเป็นจำนวนมากจะต้องอ่าน นอกจากนั้นประวัติชีวิตของเขายังได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกด้วย

 

     ขณะที่มัลคอมเอ็กซ์อยู่ในนครมักกะฮ์ เขาได้เขียนจดหมายจากก้นบึ้งของหัวใจถึงเพื่อนๆ ที่อเมริกา ดังนี้

 

          “ในชีวิตของผมนั้น ไม่เคยมีครั้งใดที่จะได้รับความอบอุ่น ความจริงใจ และเข้าใจถึงจิตวิญญาณของความเป็นพี่เป็นน้องกันเท่ากันครั้งนี้ เมื่อผู้คนทุกสีผิว ทุกเชื้อชาติต่างมารวมกัน สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์อันเคยเป็นบ้านของท่านนบีอิบรอฮีม นบีมุฮัมหมัด และศาสดาอื่นๆ ของชาวคัมภีร์ 

 

          ตลอดระยะเวลาสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้พูดคุยและถูกห้อมล้อมด้วยความเมตตาจากพี่น้องมุสลิมที่มากทั่วทุกมุมโลก ผมได้รับเกียรติอันสูงส่งจากอัลลอฮ์  ที่ได้ให้ผมมีโอกาสมาเยือนนครมักกะฮ์อันศักดิ์สิทธิ์ ผมได้ทำการเดินหมุนรอบกะบะฮ์ (ฏอวาฟ) เป็นจำนวนเจ็ดรอบ ผมได้ดื่มน้ำซัมซัม ได้วิ่งสะแอจำนวน เจ็ดรอบ ไป-กลับ ระหว่างเทือกเขาซอฟาและมัรวะฮ์ ผมได้ทำการละหมาดที่เมืองมีนาและทุ่งอะรอฟะฮ์

 

          มีผู้คนเรือนหมื่นเรือนแสนจากทั่วทุกมุมโลกได้เดินทางมาเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ ผู้คนทุกสีผิวไม่ว่าจะเป็นคนที่มีนัยน์ตาสีฟ้าหรือชาวอัฟริกันผิวดำกร้าน แต่เราต่างมาร่วมประกอบพิธีกรรมเดียวกัน มาร่วมแสดงจิตวิญญาณของความเป็นหนึ่งเดียวและความเป็นพี่น้องกัน ซึ่งจากประสบการณ์ของผมในอเมริกานั้นทำให้ผมเคยเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกเช่นนี้ระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวสีอื่นๆ

 

          สังคมอเมริกาจำเป็นที่จะต้องเข้าใจศาสนาอิสลาม เพราะอิสลามคือศาสนาที่ขจัดปัญหาอคติทางเชื้อชาติในสังคม ตลอดการเดินทางของผมในโลกมุสลิม ผมได้พบพาน พูดจา และดื่ม-กิน ร่วมกับคนผิวขาว คำสอนของศาสนาอิสลามกลับทำให้พวกเขา ไม่ได้มีทัศนคติแบบคนผิวขาวดังเช่นคนผิวชาวในอเมริกา ทำให้ผมได้เห็นถึงความจริงใจและความเป็นพี่น้องที่แท้จริงของผู้คนโดยไม่ได้ใส่ใจกับความเป็นสีผิวของมนุษย์

 

          คำพูดของผมอาจจะทำให้พวกคุณตกใจ แต่จากประสบการณ์และสิ่งที่ผมได้เห็นในระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์ครั้งนี้ ได้ทำให้ผมต้องคิดทบทวนใหม่ถึงแบบแผนแนวคิดและข้อสรุปที่เคยยึดมั่นมาก่อนหน้านั้น (ที่ว่าคนขาวทุกคนเป็นคนชั่ว) เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับผมถึงแม้ว่าผมจะเป็นที่มั่นคงต่อสิ่งต่างๆ แต่ผมก็พร้อมที่จะเผชิญหน้าและยอมรับความเป็นจริงของชีวิตเมื่อประสบพบพานกับประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ หรือความรู้ใหม่ๆ และผมจะเปิดใจให้กว้างเพื่อเตรียมสติปัญญาให้พร้อมเสมอที่จะได้ค้นหาสัจธรรมทุกรูปแบบ

 

          ในระหว่างเวลา 11 วันที่ผ่านมาในโลกมุสลิม ผมได้กินข้าวร่วมจานเดียวกัน ดื่มน้ำจากแก้วเดียวกัน และนอนบนพรมหรือเสื่อผืนเดียวกันกับพี่น้องมุสลิมอื่นๆ ที่มีนัยน์ตาสีน้ำเงินสุดๆ ผมสีบรอนซ์สุดๆ และคนที่มีผิวขาวสุดๆ ในขณะที่เราต่างสวดอ้อนวอนต่อผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน และในคำพูด การกระทำและการปฏิบัติของคนผิวขาวมุสลิมเหล่านี้ ผมรู้สึกได้ถึงความจริงใจเช่นเดียวกันกับที่ผมมีต่อชาวมุสลิมผิวดำชาวไนจีเรีย ซูดาน และกานา เราต่างมีความเหมือนกันอย่างแท้จริง เพราะความเชื่อความศรัทธาที่เรามีต่อผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน 

 

          อัลลอฮ์  ได้ขจัดความเป็นคนขาวออกไปจากความคิด พฤติกรรมและทัศนคติของพวกเขา ผมได้เห็นสิ่งนี้จริงๆ และบางทีหากชาวอเมริกันผิวขาวยอมรับความเป็นหนึ่งเดียวของผู้เป็นเจ้าแล้ว บางทีพวกเขาจะยอมรับในความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ และหยุดวัดผู้คน และทำลายล้าง รังแกผู้อื่นเพียงเพราะพวกเขามีสีผิวที่แตกต่างไป ด้วยเหตุที่การเหยียดสีผิวนั้นเปรียบเสมือนโรคมะเร็งร้ายในสังคมอเมริกา สิ่งที่เรียกว่าหัวใจของชาวผิวขาวชาวอเมริกันนั้น ควรที่จะพิสูจน์ได้แล้วถึงปัญหาในเชิงทำลาย 

 

          บางทีมันคงถึงเวลาแล้วที่จะต้องช่วยกันรักษาสังคมอเมริกาให้พ้นจากภัยพิบัติ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในเยอรมัน ที่อคติทางเชื้อชาติได้ทำลายชาวเยอรมันด้วยกันเองในที่สุด

 

          เวลาแต่ละชั่วโมง ดินแดนอันศักดิ์สิทธ์แห่งนี้ทำให้ผมได้รับจิตวิญญาณอันสูงส่งเพื่อนำสู่ ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมอเมริการะหว่างคนผิวขาวกับผิวดำ ชาวนิโกรอเมริกันไม่ควรที่จะถูกตำหนิในความรู้สึกจงเกลียดจงชังเกี่ยวกับสีผิว เพราะนั่นเป็นเพียงการตอบโต้ต่อจิตสำนึกของการเหยียดผิว ที่พวกเขาได้รับจากชาวอเมริกันมาเป็นเวลากว่า 400 ปี แต่ผมเห็นว่าการเหยียดสีผิวจะเป็นการนำสังคมอเมริกันสู่ภาวะการณ์การทำลายตัวเอง 

 

          อย่างไรก็ตาม จากที่ได้เห็นคนผิวขาวอเมริกันวัยหนุ่ม-สาว ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ได้ขีดเขียนตามกำแพง ผมมีความเชื่อมั่นว่าจะมีพวกเขาเป็นจำนวนมากที่จะหวนกลับมาสู่แนวทางจิตวิญญาณอันเป็นสัจธรรม ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะนำพาสังคมอเมริกันไปให้พ้นจากภัยพิบัติอันเกิดจากอคติทางเชื้อชาติ

 

          ผมไม่เคยได้รับเกียรติอันสูงส่งดังเช่นในครั้งนี้ และไม่มีครั้งใดเช่นกันที่ผมกลับมีความรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตนและน่าละอายใจดังเช่นครั้งนี้ จะมีใครเชื่อบ้างว่าชาวอเมริกันผิวดำคนหนึ่งจะได้รับเกียรติ อันสูงส่งถึงปานนี้ เมื่อไม่กี่วันก่อน ชายคนหนึ่งที่ชาวอเมริกันอาจเรียกได้ว่าเป็นคนผิวขาวผู้ซึ่งเป็นทูตจากสหประชาชาติเป็นสหายของกษัตริย์ ได้ให้ผมอยู่ในห้องสวีท และนอนที่เตียงของเขา ผมไม่เคยคิดฝันเลยว่าชีวิตของผมจะได้รับเกียรติขนาดนี้ เป็นเกียรติที่สังคมอเมริกันจะมีให้สำหรับการต้อนรับผู้ซึ่งเป็นกษัตริย์เท่านั้น ไม่ใช่ให้กับผู้เป็นคนนิโกรอย่างผม

 

     บรรดาการสรรเสริญทั้งหลายเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

 

ด้วยความจริงใจ

อัล-ฮัจญ์ มาลิก อัล-ซาบาส

(มัลคอมเอ็กซ์)

 

วารสาร ที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี