ความเสื่อมเสียศีลธรรม ย่อมบ่งบอกถึงความอ่อนแอของการศรัทธา
โดย อ.อิมรอน มะกูดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ
การศรัทธานั้น เป็นพลังป้องกันการทำความชั่ว เป็นพลังผลักดันไปสู่ความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่ออัลลอฮฺ ทรงเรียกร้องเชิญชวนให้กระทำความดี พระองค์ก็ทรงกำชับพวกเขาให้ห่างเหินจากความชั่ว พระองค์ทรงถือว่า การงานนั้นเป็นไปตามการศรัทธา ที่ฝังแน่นอยู่ในหัวใจ ไม่รู้ว่ากี่มากน้อยที่พระองค์ตรัสไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย”
ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงระบุสิ่งที่พระองค์บังคับใช้เขาเหล่านั้น เช่น
“พวกเจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และจงอยู่ร่วมกับบรรดาผู้สัจจริง”
ท่านร่อซูล ได้ชี้แจงไว้ว่า
“การศรัทธาที่เข้มแข็งนั้นจะก่อให้เกิดอุปนิสัยที่เข้มแข็งอย่างแน่นอน และการเสื่อมโทรมของศีลธรรมนั้น ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความอ่อนแอของการศรัทธาหรือไม่มีการศรัทธานั่นเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชั่วร้ายนั้นมากน้อยเพียงใด”
ฉะนั้น คนที่ขาดความละอาย และมีพฤติกรรมที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย ที่มักประกอบความชั่วช้าโดยไม่นำพาต่อผู้ใดนั้น ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บรรยายคุณลักษณะของเขาไว้มีความว่า
“ความละอาย และการศรัทธานั้นเป็นของคู่กัน
ฉะนั้น หากขาดหนึ่งในสองสิ่งนั้นไป อีกอันหนึ่งก็พลอยขาดไปด้วย”
คนที่กล่าวหาเพื่อนบ้านว่า ทำความชั่วนั้น ศาสนาได้ตัดสินเขาไว้อย่างรุนแรงมาก โดยที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวกับผู้นั้นมีความว่า
“ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ เขายังไม่ศรัทธา ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ เขายังไม่ศรัทธา
มีผู้กล่าวแก่ ร่อซูลว่า ใครเล่า โอ้ท่านร่อซูลุลอฮฺ ?
ท่านนบี ตอบว่า ผู้ที่เพื่อนบ้านไม่ได้รับความปลอดภัยจากความชั่วร้ายของเขา”
และท่านจะพบว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สอนสาวกของท่านให้เลิกล้มเรื่อง ไร้สาระ หลีกเลี่ยงการพูดมากและการพูดเล่น ดังที่ท่านได้กล่าวไว้มีความว่า
“ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ เขาก็จงพูดแต่สิ่งที่ดีๆ หรือไม่ก็จงนิ่งเงียบเสีย”
ทำนองดังกล่าวนั่นแหละ ท่านร่อซูล ได้ดำเนินการปลูกฝังคุณความดี และเฝ้าทำนุบำรุง จนกระทั่งเกิดผล โดยอาศัยความสัตย์จริง ความสมบูรณ์ของการศรัทธาเป็นหลัก แต่โดยที่บางคนที่สังกัดอยู่ในอิสลาม อาจจะทำง่ายๆ หรือทำเป็นไม่สนใจกับการอิบาดะฮฺที่ถูกบัญญัติให้กระทำ แต่กลับแสดงตัวในสังคมทั่วไปว่ามีความเคร่งครัด ในการปฏิบัติอิบาดะฮฺแต่ในขณะเดียวกัน เขาเหล่านั้น กระทำสิ่งที่ศีลธรรม และการศรัทธาที่แท้จริงไม่ยอมรับ
ท่านนบี แห่งอิสลาม ได้คาดโทษบรรดาผู้ที่ชอบกระทำทั้งสองนั้น และได้เตือนประชาชาติของท่านให้ระมัดระวังคนเหล่านั้นไว้ ทั้งนี้ก็เพราะว่า การเลียนแบบอิบาดะฮ์นั้นคนที่ไม่มีความเข้าใจทางศาสนา และไม่มีศรัทธาก็เลียนแบบได้
บางทีเด็กเล็กๆ ก็สามารถกระทำตามแบบ การละหมาดและกล่าวถ้อยคำในการละหมาดได้
บางทีนักแสดงก็อาจจะแสดงความนอบน้อม และแสร้งทำพิธีกรรมที่สำคัญๆ ได้
แต่อิบาดะฮ์นั้น จะกระทำโดยขาดเสียซึ่งความเชื่อมั่นอย่างถูกต้อง และการมีจุดมุ่งหมายอันสูงส่งนั้นมิได้
ข้อตัดสินใจอัตราของคุณธรรม และความงดงามของความประพฤตินั้น ต้องกลับไปใช้เครื่องวัด ที่ไม่เคยผิดพลาดเลย นั่นคือ มารยาทที่สูงส่งและศีลธรรมอันดีงามตามที่อิสลามกำหนดไว้ ในเรื่องดังกล่าวนี้มีปรากฏจาก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า
“ชายคนหนึ่ง ได้กล่าวแก่ท่านร่อซูลว่า โอ้ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีหญิงคนหนึ่งได้ถูกกล่าวขวัญถึงว่าเป็นคนที่ละหมาดมาก ถือบวชมาก และบริจาคทาน แต่ทว่าหญิงคนนั้นระรานชาวบ้านด้วยลิ้นของนาง
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า “นางเป็นชาวนรก”
แล้วชายคนนั้นได้ถามท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ มีหญิงคนหนึ่ง กล่าวขวัญกันว่า เธอละหมาดน้อย(เพียงวาญิบ) ถือบวชน้อย(เพียงวาญิบ) และบริจาคด้วยเนยแข็ง แต่เธอไม่ระรานเพื่อนบ้านของเธอ
ท่านนบี ตอบว่า “นางเป็นชาวสวรรค์”
ในคำตอบนี้เป็นการกำหนดคุณค่าของมารยาทอันสูงส่งและในการตอบนี้ยังเป็นการแจ้งให้ทราบด้วยว่า การบริจาคทานนั้นเป็นอิบาดะฮฺที่เกี่ยวกับด้านสังคม โดยมีประโยชน์ไปถึงคนอื่น ด้วยเหตุนี้จึงมิได้กำหนดความมากน้อยของมัน เหมือนกับความมากน้อยของการละหมาดและการถือศีลอด เพราะเป็น อิบาดะฮ์ที่แต่ละบุคคลได้ทำตามความสมัครใจ
ท่านร่อซูล มิเพียงแต่จะตอบคำถามที่ผ่านเข้ามา ในการแจ้งถึงความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นระหว่างศีลธรรมกับการศรัทธาที่แท้จริง และระหว่างการศรัทธาที่แท้จริงกับการอิบาดะฮ์ที่ถูกต้องเท่านั้น หากแต่ท่านได้ถือเป็นรากฐานแห่งความดีงามในโลกนี้ และเป็นความปลอดภัยในโลกหน้าที่แท้จริงอีกด้วย
เรื่องของศีลธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการชี้แจงกันอย่างต่อเนื่อง และมีการตักเดือนกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ฝังแน่นอยู่ในหัวใจและความคิด การศรัทธา ความดีงาม และมารยาทเป็นแก่นแท้ควบคู่กันอยู่ตลอดไป ไม่มีใครจะแยกห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงให้ขาดออกจากกันได้
ในวันหนึ่งท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้มีความว่า “ท่านทราบไหมว่า ใครคือ ผู้ล้มละลาย?
เหล่าสาวกกล่าวตอบว่า "ผู้ล้มละลายในพวกเราก็คือ คนที่ ไม่มีสักดิรฮัม (เงิน) และไม่มีสมบัติอะไรเลย"
ท่านร่อซูล จึงกล่าวว่า
"ผู้ล้มละลายในประชาชาติของฉัน คือ คนที่นำเอาการละหมาด การชำระซะกาตและการถือบวชมาในวันกิยามะฮ์ ในสภาพที่ เคยด่าทอคนนี้ ใส่ร้ายคนนั้น กินทรัพย์สมบัติคนโน้นสังหารคนนี้และทุบตีคนนั้น
เขาก็จะให้ความดีของเขาแก่คนนี้และความดีของเขาแก่คนโน้น ดังนั้น หากความดีของเขาหมดสิ้นไปก่อนที่เขาจะใช้หนี้หมด ก็จะได้มีการเอาความผิดจาก คนเหล่านั้นมาแล้ว โยนใส่เขา ต่อจากนั้นเขาก็จะถูกโยนลงไปในไฟนรก”
( รายงานโดย มุสลิม)
นั่นคือ สภาพของผู้ล้มละลาย เขาเป็นเสมือนพ่อค้าที่มีกรรมสิทธิ์ครอบครองสินค้าราคาพันบาท แต่เขามีหนี้สินติดตัวอยู่สองพันบาท ผู้น่าสงสารคนนี้จะนับว่าเป็นผู้ร่ำรวยได้อย่างไรกัน ผู้ที่ยึดถือศาสนา ปฏิบัติอิบาดะฮฺเป็นบางอย่าง หลังจากทำอิบาดะฮฺแล้วก็ยังมีความชั่วร้ายปรากฏให้เห็น จะเป็นใบหน้าบูดบึ้ง หน้านิ่วคิ้วขมวด จะทำการก้าวร้าว แล้วอย่างนี้จะนับว่า คนนั้นเป็นคนที่มีความตักวา (ยำเกรง) ได้อย่างไรเล่า?
มีรายงานเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ยกอุทาหรณ์ที่ใกล้เคียงกับสภาพการณ์ต่างๆ เหล่านี้ว่า
“อุปนิสัยอันสวยงามจะละลาย (ลบล้าง) ความผิดพลาดเหมือนกับน้ำละลายน้ำแข็ง
และอุปนิสัยอันเลวทรามนั้นจะทำให้การงานเสื่อมเสีย เหมือนกับน้ำส้ม (สายชู) ที่ให้น้ำผึ้งเสีย”
(รายงานโดย อัลบัยฮะกีย์)
ที่มา วารสารสายสัมพันธ์...♥