มารยาทของผู้ศึกษาท่องจำอัลกุรอาน
โดย อาจารย์ญะม๊าล ไกรชิต
มวลการสรรเสริญนั้นเป็นกรรมสิทธิ์แด่อัลลอฮ์ ผู้เป็นพระเจ้าแห่งโลกทั้งผอง และโปรดประทานพรและความสันติแก่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ผู้เป็นนบีและร่อซูลท่านสุดท้าย รวมถึงบรรดาซอฮาบะฮ์ของท่านทุกคน
เป็นเรื่องที่ดีที่ลูกหลานของเราจะศึกษา และฝึกฝนท่องจำอัลกุรอานตามโรงเรียนและมัสยิดต่างๆ ที่แพร่หลายในปัจจุบัน และยิ่งเป็นการดีที่ลูกหลานของเราต่างให้ความสำคัญและแข่งขันในการอ่านและท่องจำอัลกุรอานอย่างถูกต้อง แต่ทว่า เพียงแค่นี้หรือที่เราต้องการ?
แท้จริง เราต้องการชนแต่ละรุ่นที่มีคุณลักษณะจริยธรรมตามอัลกุรอาน
แท้จริง เราต้องการชนแต่ละรุ่นที่เคร่งครัดปฏิบัติตามมารยาทของอัลกุรอาน
แท้จริง เราต้องการชนแต่ละรุ่นที่ประพฤติอยู่ในครรลองและปฏิบัติตามข้อชี้ขาดต่างๆ ในอัลกุรอาน
อัลกุรอานคือแนวทางในการใช้ชีวิต
แท้จริง อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่ให้การชี้แนะและปรับปรุง อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“แท้จริง อัลกุรอานนี้นำสู่ทางที่เที่ยงตรงยิ่ง”
(อัลอิสรออ์ 17/9)
และพวกญินได้กล่าวว่า
“แท้จริง เราได้ยินอัลกุรอานที่แปลกประหลาด นำไปสู่ทางที่เที่ยงตรง
ดังนั้นพวกเราจึงศรัทธาต่ออัลกุรอานนั้น และเราจะไม่ตั้งสิ่งใดเป็นภาคีต่อพระเจ้าของเรา”
(อัลญิน 72/1-2)
อัลกุรอานนั้นถูกประทานลงมาเพื่อนำมนุษย์ออกจากความมืดมนสู่แสงสว่าง
“แท้จริง แสงสว่างจากอัลลอฮ์และคัมภีร์อันชัดแจ้งนั้นได้มายังพวกเจ้าแล้ว
ด้วยคัมภีร์นั้นแหละ อัลลอฮ์จะทรงแนะนำผู้ที่ปฏิบัติตามความพึงพอพระทัยของพระองค์ ซึ่งบรรดาทางแห่งความปลอดภัย
และจะทรงให้พวกเขาออกจากความมืดมนไปสู่แสงสว่างด้วยอนุมัติของอัลลอฮ์ และจะทรงแนะนำพวกเขาสู่ทางอันเที่ยงตรง”
(อัลมาอิดะฮ์ 5/15-16)
อัลกุรอานนั้นมาเพื่อนำมนุษย์ออกจากความมืดมนของการปฏิเสธศรัทธา สู่แสงสว่างของ การศรัทธา
♦ จากความมืดมนของความโฉดเขลา สู่แสงสว่างของความรู้
♦ จากความมืดมนของการหยิ่งยโส สู่แสงสว่างของการนอบน้อมและอ่อนโยน
♦ จากความมืดมนของการหยาบช้าและอธรรม สู่แสงสว่างของความเมตตาและยุติธรรม
♦ จากความมืดมนของการทุจริต สู่แสงสว่างของความซื่อสัตย์
♦ จากความมืดมนของการอิจฉาริษยาและเกลียดชัง สู่แสงสว่างของความยินดี รักใคร่และอภัยซึ่งกันและกัน และ
♦ จากความมืดมนของการเหยียดเชื้อชาติ วงศ์ตระกูลและเข้าข้างต้นเองและพวกพ้อง สู่แสงสว่างแห่งความยำเกรงและการอยู่ร่วมกันภายใต้ธงแห่งอิสลาม และลด ละ เลิกการเข้าข้างตัวเองและพวกพ้อง เพราะทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอิสลามและเป็นพี่น้องร่วมศรัทธากันต้องแตกแยก
ผู้ที่เป็นนักศึกษาจำเป็นต้องทราบเรื่องดังกล่าวนี้อย่างดี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นนักศึกษาท่องจำอัลกุรอาน เพราะคนเหล่านี้ควรที่จะเป็นบุคคลแรกๆ ที่ออกจากความมืดมนสู่แสงสว่าง
มีผู้ถามท่านหญิงอาอิซะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ถึงลักษณะมารยาทของท่านร่อซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ท่านตอบว่า“มารยาทของท่านร่อซูล คือ อัลกุรอาน”
(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)
มีผู้กล่าวว่า “ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นคือ อัลกุรอานที่เดินอยู่บนหน้าผืนแผ่นดิน ท่านจะโกรธและพึงพอใจตามคำสอนที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน”
ดังนั้น นักศึกษาผู้มีเกียรติ เราควรที่จะดำเนินตามแนวทางของจริยธรรมและมารยาทของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และการปฏิบัติของท่านต่อผู้อื่น เพื่อที่เราจะได้ประสบความสำเร็จทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และเพื่ออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พึงพอพระทัยเราเช่นกัน
การไม่ให้ความสนใจอัลกุรอาน
อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงเตือนปวงบ่าวของพระองค์มิให้ละทิ้งและไม่ให้ความสนใจต่อ อัลกุรอาน พระองค์ตรัสว่า
“และร่อซูลได้กล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์
แท้จริง ชนชาติของข้าพระองค์ได้ยึดเอา อัลกุรอานนี้เป็นที่ทอดทิ้งเสียแล้ว”
(อัลฟุรกอน 25/30)
ท่านอิมามอิบนุ กะซีร ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวไว้ว่า “การไม่เชื่อ ไม่ศรัทธาต่ออัลกุรอานถือเป็นการ ละทิ้งอัลกุรอาน รวมทั้งการไม่ใคร่ครวญพินิจพิจารณา ไม่ประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งใช้ ไม่หลีกเลี่ยงออกห่างจากสิ่งต้องห้าม ให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นคำพูด บทกวี เรื่องสนุกสนาน บทเพลง หรือสิ่งอื่นที่มิใช่อัลกุรอาน ทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นการละทิ้งและไม่ให้ความสนใจต่ออัลกุรอานทั้งสิ้น”
ท่านอิมามอิบนุก็อยยิม ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวไว้ว่า “การละทิ้งอัลกุรอานนั้นมีหลายประเภทด้วยกันคือ
1. การไม่สนใจฟังและไม่ศรัทธาต่ออัลกุรอาน
2. การไม่ปฏิบัติตามอัลกุรอาน และไม่ยึดตามในสิ่งที่อัลกุรอานได้แจ้งไว้ว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติหรือต้องห้าม
3. ไม่นำเอาอัลกุรอานมาใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินชี้ขาด ทั้งในประเด็นหลักและเรื่องปลีกย่อยของศาสนา
4. ไม่พินิจพิจารณาทำความเข้าใจและศึกษาเนื้อหาของอัลกุรอาน
5. ไม่ใช้อัลกุรอานเพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ
♥ เราควรที่จะให้อัลกุรอานมีผลชัดเจนต่อมารยาทของเรา
♥ เราควรที่จะให้อัลกุรอานมีผลต่อความประพฤติของเรากับบิดามารดาของเรา
♥ เราควรที่จะให้อัลกุรอานมีผลต่อความประพฤติของเรากับเพื่อนๆ ของเรา
♥ เราควรที่จะให้อัลกุรอานมีผลต่อความประพฤติของเรากับเพื่อนบ้านของเรา
แต่หากว่ามารยาทของเราและมารยาทตามอัลกุรอานนั้นสวนทางกัน ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องและละเลยของเราต่อหน้าที่สำคัญนี้ และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการที่เราตกอยู่ในการละเลยไม่ให้ความสนใจในอัลกุรอาน โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย
เราควรที่จะเกรงว่า หากอายุเราล่วงเลยไปมากกว่านี้ และเรายังคงไม่ให้ความสนใจที่จะมีลักษณะมารยาทตามที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน แล้วอัลกุรอานก็จะเป็นพยานหลักฐานเพื่อกล่าวโทษเราในวันกิยามะฮ์
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
“คนหน้าไหว้หลังหลอกในประชาชาติของฉัน ส่วนมากแล้วคือผู้ที่อ่านอัลกุรอาน (แล้วไม่ปฏิบัติตาม)”
(บันทึกโดย อิมามอะหมัด)
มารยาทของนักศึกษา
หากเราจะถามถึงมารยาทต่างๆ ของอัลกุรอานที่ผู้เป็นนักศึกษาควรจะมีก็คือ มารยาทที่ดีทั้งหมดที่อัลกุรอานได้กล่าวชมเชย สั่งใช้หรือสรรเสริญผู้ที่มีลักษณะเช่นนั้นเอาไว้ และรวมถึงสิ่งที่ปรากฏในแบบฉบับของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และสิ่งที่ประชาชนและสังคมเห็นตรงกันว่าเป็นลักษณะของการมีมารยาทที่ดี
ท่านซุฟยาน อัซเซาว์รีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า “ไม่ควรที่ผู้มีความรู้และท่องจำอัลกุรอานจะเป็น ผู้ที่หยาบคาย ไม่เรียบร้อยและพูดจาส่งเสียงดัง เอะอะโวยวาย”
ท่านอัลฟุฏอยส์ กล่าวว่า “ผู้ที่ศึกษาและท่องจำอัลกุรอานนั้น ต้องละเลิกการฝ่าฝืนต่อพระเจ้าโดยสิ้นเชิง เพราะเขาจะฝ่าฝืนต่อพระเจ้าของเขาได้อย่างไร ในเมื่อทุกๆ อักษรของอัลกุรอานต่างบอกกับเขาว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ท่านจะปฏิบัติตนค้านกับสิ่งที่ท่านได้รับไปจากฉันได้อย่างไรกัน?”
ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาและท่องจำอัลกุรอานจึงไม่ควรเป็นผู้ที่ละเลย และประพฤติมิชอบ ดังที่ท่านมาลิก อิบนุ ดีน๊าร ได้กล่าวไว้ว่า
“โอ้ผู้ที่ศรัทธาและอ่านอัลกุรอาน...อัลกุรอานได้เพาะปลูกอะไรไว้ในหัวใจของพวกท่านบ้าง? เพราะแท้จริง อัลกุรอานคือสิ่งจรรโลงใจ ดั่งฝนชุ่มฉ่ำที่ตกลงมาบนหน้าผืนแผ่นดิน”
มารยาทของอัลกุรอาน คือ
1. พูดจริง รักษาสัจจะ ไม่โกหก
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“โอ้บรรดาผู้ที่ศรัทธาทั้งหลาย พึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และจงอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่พูดจริง”
(อัตเตาบะฮ์ 9/119)
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะวัลลัม ได้กล่าวว่า
“แท้จริง ความสัตย์จริงนั้นจะนำไปสู่คุณธรรม ความดี และคุณธรรม ความดีงามนั้นจะนำพาไปสู่สวนสวรรค์
และแท้จริง ชายผู้นั้นมีความสัตย์จริง กระทั่งเขาจะได้รับการบันทึก ณ ที่อัลลอฮ์ว่าเขาเป็น ผู้สัตย์จริง
และแท้จริง การโกหก พูดเท็จนั้นจะนำพาไปสู่ความชั่วร้าย
และแท้จริง ความชั่วร้ายนั้นจะนำพาไปสู่ไฟนรก
และแท้จริง ชายผู้นั้นโกหกพูดเท็จ กระทั่งเขาจะถูกบันทึก ณ ที่อัลลอฮ์ว่าเขาเป็นผู้โกหก”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)
ท่านร่อซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“เครื่องหมายของผู้ที่หน้าไหว้หลังหลอกมี 3 ประการคือ
เมื่อเขาพูด เขาก็โกหก เมื่อเขาสัญญา และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจ เขาก็คดโกง”
(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)
ท่านอุมัร อิบนุลคอฏฏ็อบ กล่าวว่า “พึงทราบเถิดว่า แท้จริงความสัตย์จริงและคุณธรรมนั้นจะอยู่ในสวนสวรรค์ และพึงทราบเถิดว่าแท้จริง การโกหกและความชั่วนั้นจะอยู่ในไฟนรก”
ท่านอัลฟุฏอยส์ กล่าวว่า “ไม่มีก้อนเนื้อใดที่เป็นที่รักยิ่งสำหรับอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มากไปกว่าลิ้นที่สัจจริง และไม่มีก้อนเนื้อใดที่เป็นที่โกรธกริ้วสำหรับอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มากไปกว่าลิ้นที่พูดเท็จ”
2. มีความซื่อสัตย์
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“แท้จริง อัลลอฮ์ทรงใช้พวกเจ้าให้มอบคืนบรรดาของฝากแก่เจ้าของ”
(อันนิซาอ์ 4/58)
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“จงทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์แก่ผู้ที่ไว้วางใจท่าน และอย่าได้คดโกงผู้ที่คดโกงท่าน”
(บันทึกโดย อิมามอะหมัด)
“ผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ คือผู้ที่ไม่มีศรัทธา และผู้ที่ไม่รักษาสัญญา คือ ผู้ที่ไม่มีศาสนา”
(บันทึกโดย อิมามอะหมัด)
“สิ่งแรกที่พวกท่านจะสูญเสียไปจากศาสนาของพวกท่าน คือ ความซื่อสัตย์”
(บันทึกโดย อิมามอัฏฏ็อบรอนีย์)
ท่านอิบนุ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า “พวกท่านอย่าได้มองเพียงการละหมาดและการถือศีลอดของคนหนึ่งคนใด พวกท่านจงมองความสัตย์จริงของคำพูดเมื่อเขาพูด จงมองความซื่อสัตย์ของเขาเมื่อเขาได้รับมอบหมายหน้าที่ และจงมองความเคร่งครัดของเขาเมื่อเขาถึงวัยใกล้ฝั่ง”
3. มีความนอบน้อม ถ่อมตน
อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
“และจงลดปีกของเจ้า (นอบน้อมถ่อมตน) แก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ปฏิบัติตามเจ้า”
(อัชชุอะรออ์ 26/215)
“และปวงบ่าวของพระผู้ทรงกรุณาปราณีคือ บรรดาผู้ที่เดินบนแผ่นดินด้วยความสงบเสงี่ยม”
(อัลฟุรกอน 25/63)
“และอย่าเดินบนแผ่นดินอย่างเย่อหยิ่ง
แท้จริง เจ้าจะแยกแผ่นดินไม่ได้เลย และจะไม่บรรลุความสูงของภูเขา”
(อัลอิสรออ์ 17/37)
“เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อบรรดาผู้ศรัทธา ไว้เกียรติแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา”
(อัลมาอิดะฮ์ 5/54)
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ไม่มีผู้ใดที่นอบน้อมถ่อมตนเพื่ออัลลอฮ์ นอกจากพระองค์จะทรงยกย่องเขา”
(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)
“แท้จริง อัลลอฮ์ทรงวะฮีย์ลงมายังฉัน ให้พวกท่านมีความนอบน้อม ถ่อมตน
เพื่อมิให้คนหนึ่งคนใดโอ้อวดและข่มเหงผู้อื่น”
(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ที่ในหัวใจของเขามีความหยิ่งยโสเพียงผงธุลีเดียว เขาจะไม่ได้เข้าสวรรค์”
(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)
ที่มา วารสารสายสัมพันธ์...♥