มารยาทในการสนทนา
  จำนวนคนเข้าชม  12920

มารยาทในการสนทนา

โดย อาจารย์ญะม๊าล ไกรชิต

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสร้างมนุษย์มาในรูปลักษณ์ที่สวยงาม พระองค์ประทานการ ได้ยิน และการมองเห็นแก่มนุษย์ และมอบสติปัญญาอันแสนวิเศษไว้คอยศึกษา ค้นคว้าและใช้วิจารณญาณ 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า 

จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) พระองค์คือผู้ทรงบังเกิดพวกเจ้า

และทรงทำให้พวกเจ้ามีหู มีตาและมีหัวใจ ส่วนน้อยเหลือเกินที่พวกเจ้าจะขอบคุณ

( อัลมุลกฺ 67/23) 

เรามิได้ทำดวงตาทั้งสองข้างให้แก่เขาดอกหรือ ลิ้นและริมฝีปากทั้งสอง” 

(อัลบะลัด 90/8-9)

 

หน้าที่หลักของลิ้น คือ การบอกความต้องการ และสื่อสารกับผู้อื่นด้วยคำพูด 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

พระผู้ทรงกรุณาปราณี พระองค์ทรงสอนอัลกุรอาน พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ พระองค์ทรงสอนเขาให้เปล่งเสียงพูด

( อัรเราะห์มาน 55/1-4)

          และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสั่งใช้ให้พี่น้องมุสลิมไตร่ตรองคำพูด เช่นเดียวกับที่เราต้องไตร่ตรองการกระทำของตน และทรงสั่งใช้ให้พูดสัจจริง และพิจารณา ใคร่ครวญคำพูดให้ดีก่อนออกจากปาก ดังฮะดีษที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

          แท้จริง ชายคนหนึ่งอาจพูดด้วยถ้อยคำที่ทำให้ได้รับความโกรธกริ้วจากอัลลอฮ์โดยที่เขาไม่คาดคิด เขาอาจจะต้องตกลงไปอยู่ในไปนรกถึง 70 ปี และแท้จริง ชายคนหนึ่งอาจพูดด้วยถ้อยคำที่เป็นที่พึงพอพระทัยของอัลลอฮฺโดยที่เขาไม่คาดถึง เขาอาจจะถูกยกระดับชั้นให้ในสวนสวรรค์

(บันทึกโดย อิมามอัตติรมิซีย์)

 

          นี่คือความสำคัญของการพูดในมุมมองของอิสลาม เพื่อให้มุสลิมมีความเคร่งครัดในการพูด เช่นเดียวกับที่เราต้องเคร่งครัดในเรื่องอาหารการกิน ดังนั้น เราควรหลีกเลี่ยงคำพูดที่ไร้สาระ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกับที่เราต้องหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ต้องห้ามและสิ่งที่คลุมเครือ อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

ไม่มีคำพูดใดที่เขากล่าวออกมา เว้นแต่ใกล้ๆ เขานั้นมี (มลาอิกะฮ์) ผู้เฝ้าติดตาม ผู้เตรียมพร้อม (ที่จะบันทึก)” 

(ก็อฟ 50/18) 

และท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ ดังนั้น เขาจงพูดแต่สิ่งที่ดี หรือไม่ก็นิ่งเสีย

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม)

 

และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งจากมารยาทในการสนทนา ซึ่งเราพอจะสรุปได้ดังนี้ คือ

 

1. เมื่อพูดกับผู้อื่น ควรเลือกคำพูดที่ไพเราะ น่าฟัง เช่นเดียวกับที่เราต้องเลือกสรรอาหารที่ดีๆ และต้องพูดโต้ตอบกับผู้อื่นด้วยความสุภาพและมีมารยาท อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

และพวกเขาจะถูกนำสู่คำพูดที่ดีมีประโยชน์ และจะถูกนำสู่ทางที่ได้รับการสรรเสริญ

(อัลฮัจญ์ 22/24)

     และมีรายงานจากท่านอะดีย์ อิบนุ ฮาติม ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

          “พวกท่านจงเกรงกลัวไฟนรกเถิด ถึงแม้ว่าจะเพียงแค่ซีกเดียวของผลอินทผลัม แล้วหากว่าเขาทำไม่ได้ ก็จงพูดคำพูดที่ดีเถิด” 

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม)

 

2. พูดชัดถ้อยชัดคำ ไม่เร็วจนเกินไป เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจความหมายและจุดประสงค์ของคำพูดได้ถูกต้อง 

     มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า

          “ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะไม่พูดเร็วเช่นที่พวกท่านพูดเร็วกัน หากมีคนนับคำพูดของท่าน เขาก็จะสามารถนับมันได้” 

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม) 

คำพูดของท่านรอซูล  เป็นคำพูดที่ชัดถ้อยชัดคำ ทุกคนที่ได้ฟังจะเข้าใจคำพูดท่าน” 

(บันทึกโดย อิมามอบูดาวูด)

 

3. เลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมกับความเข้าใจของผู้ฟัง โดยใช้คำพูดที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมและระดับการศึกษาของผู้ฟัง มิเช่นนั้นแล้วอาจเกิดความเข้าใจผิด หรือถูกมองว่าเป็นการดูถูกผู้ฟังก็เป็นได้

 

4. หลีกเลี่ยงการพูดในเรื่องราวที่เราไม่มีความรู้ชัดเจนในเรื่องนั้น หรือไม่แน่ใจในความถูกต้อง หรือรู้เพียงเล็กน้อย หรือในเรื่องที่เป็นแค่ข่าวลือ เพราะการคิดไปเองนั้นเป็นสาเหตุมากสุดที่ทำให้เกิด การโกหก

 

5. พูดน้อย ยกเว้นในกรณีการอธิบายข้อสงสัย ให้คำแนะนำ ตักเตือน ใช้กันให้กระทำความดี ห้ามปรามกันมิให้กระทำชั่ว หรือเพื่อเรียกร้องเชิญชวนในแนวทางของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

6. หลีกเลี่ยงการพูดมาก ไร้สาระและไม่มีประโยชน์  อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสความว่า

          “แน่นอน บรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว คือ บรรดาผู้ที่พวกเขานอบน้อมถ่อมตนในเวลาละหมาดของพวกเขา และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้ผินหลังให้จากเรื่องไร้สาระต่างๆ

( อัลมุอฺมินูน 22/1-3)

 

7. คิดให้ดีก่อนพูด คำนึงถึงผลที่จะตามมา และหลีกเลี่ยงการพูดโดยไม่ผ่านการคิดและพิจารณา ให้ดีเสียก่อน

     อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสความว่า 

ไม่มีคำพูดคำใดที่เขากล่าวออกมา เว้นแต่ใกล้ๆ เขานั้นมี (มลาอิกะฮ์) ผู้เฝ้าติดตาม ผู้เตรียมพร้อม (ที่จะบันทึก)” 

(ก๊อฟ 50/18) 

     มีรายงานจากท่านอนัส ร่อฎิยัลลอฮุฮันฮุ ว่า 

ท่านร่อซูล จะพูดด้วยคำพูดที่ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องขบขัน ไร้สาระ และท่านไม่ชอบการพูดมาก พูดไม่หยุด

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม)

 

8. มองหน้า สงบเสงี่ยมและตั้งใจฟังผู้ใหญ่ ผู้มีความรู้ และมีคุณวุฒิมากกว่า

 

9. ไม่แย่งกันพูด โดยรอให้ผู้ที่พูดก่อนหน้าพูดจบก่อน เพราะในวงสนทนาของปัญญาชน และ ผู้มีมารยาทจะไม่แย่งกันพูด

 

10. ไม่พูดแทรกผู้อื่น ไม่ท้วงติงข้อผิดพลาด ตำหนิ หรือดูถูกคำพูดผู้อื่นขณะที่เขากำลังพูด หากมีความจำเป็นต้องท้วงติง หรือสอบถามข้อสงสัย ก็ควรจะรอให้เขาพูดจบก่อน

     อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลา ตรัสความว่า

และจงพูดดีกับเพื่อนมนุษย์

( อัลบะเกาะเราะฮ์ 2/83)

และพวกเจ้าอย่าโต้เถียงกับพวกอะฮ์ลุลกิตาบ นอกจากด้วยวิธีที่ดีกว่า

( อัลอังกะบู๊ต 29/46)

 

11. ไม่ใช้เสียงดังจนเกินไป ยกเว้นในกรณีที่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการตะโกน เอะอะโวยวาย

     อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสความว่า

และเจ้าจงก้าวเท้าพอประมาณ และจงลดเสียงของเจ้าลง แท้จริงเสียงที่น่าเกลียดยิ่งคือเสียง ของลา

( ลุกมาน 31/19)

 

12. สงบเสงี่ยมและมีรอยยิ้มขณะพูด ไม่ทำหน้าบึ้งตึงใส่ผู้อื่น 

     มีรายงานจากท่าน อบิดดัรด๊าอ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

ปรากฏว่าท่านร่อซูล จะไม่พูดคำพูดใดนอกจากท่านจะมีรอยยิ้มด้วย” 

(บันทึกโดย อิมามอะหมัด)

 

13. ไม่พูดจาหยาบคาย ไม่สุภาพ เพราะมิใช่ลักษณะของผู้ศรัทธา 

     มีรายงานจากท่านอบูมูซา ร่อฎิยัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แจ้งว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

มุสลิม คือ ผู้ที่บรรดาพี่น้องมุสลิมต้องปลอดภัยจากคำพูดและการกระทำของเขา

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม)

 

14. ไม่ควรสาบานพร่ำเพรื่อ ยกเว้นในกรณีที่จำเป็น อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสความว่า

และจงรักษาการสาบานของพวกเจ้าเถิด” 

(อัลมาอิดะฮ์ 5/89)

 

15. ห้ามสาบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ว่าจะเป็นบรรดานบี อัลก๊ะอ์บ๊ะฮ์ บรรดามลาอิกะฮ์ บรรพบุรุษ หรือฐานะ ตำแหน่ง เกียรติและศักดิ์ศรีใดๆ มีรายงานว่า ท่านอิบนุ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า 

ท่านจงอย่าสาบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

ดังนั้น ผู้ใดจะสาบาน เขาก็จงสาบานต่ออัลลอฮ์เถิด

( บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม)

 

          และท่านอิบนุ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ยังได้เล่าอีกว่า ท่านได้ยินชายคนหนึ่งกล่าวว่าข้าขอสาบานต่ออัลกะอ์บะฮ์ท่านอิบนุ อุมัรจึงกล่าวขึ้นว่า ท่านจงอย่าสาบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ เพราะแท้จริง ฉันได้ยินท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

ผู้ใดที่สาบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ แน่นอน เขาก็ได้ปฏิเสธศรัทธาหรือตั้งตั้งภาคีแล้ว

(บันทึกโดยอัตติรมิซีย์)

 

16. หมั่นกล่าวขออภัยโทษจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทุกๆ ครั้งเมื่อเราเกิดผิดพลาด

          มีรายงานจากท่านฮุซัยฟะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านได้ปรับทุกข์กับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถึงการที่ท่านเป็นคนพูดจาไม่ไพเราะ ชอบด่าทอ หยาบคาย แล้วท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็กล่าวว่า

ท่านควรขออภัยโทษให้มาก แท้จริง ฉันจะขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ 100 ครั้ง ในทุกๆ วัน

(บันทึกโดย อบนุมาญะฮ์และอิบนุซซุนนีย์)

 

17. ระมัดระวังคำพูด รักษาลิ้น ลด ละ และเลิกข้อห้ามต่างๆ ที่เกิดจากลิ้นดังต่อไปนี้ 

   - การโกหก ไม่ว่าจะตั้งหรือล้อเล่น เพราะถือเป็นความผิดร้ายแรงและบาปใหญ่

   - การนินทา หรือพูดถึงผู้อื่นในทางไม่ดี เพราะเป็นการให้เห็นถึงการมีจิตใจบกพร่องและ น่ารังเกียจ และไม่มีความเป็นสุภาพชนของผู้ที่นินทาผู้อื่น

   - การใส่ร้ายและพูดให้ร้ายผู้อื่น เพื่อให้เกิดความบาดหมาง ผิดใจกัน หรือเกลียดชังต่อกัน ซึ่งทำให้เห็นถึงการมีจิตใจที่สกปรก ตกต่ำ และเห็นแก่ตัว

   - การโต้เถียงอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อเอาชนะ การฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด และพูดในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ข้อเท็จจริงในสิ่งนั้น

   - เยินยอตนเอง และยกตนข่มท่าน

   - สาปแช่ง ด่าทอ ลบหลู่เกียรติและศักดิ์ศรีผู้อื่น

   - ตำหนิหรือเหยียดรูปลักษณ์ของผู้อื่น

   - หยอกล้อหรือตลกขบขันมากเกินไป จนทำให้หมดความน่าเชื่อถือและหมดความละอาย

   - ดูถูกและเหยียดหยามผู้ที่อ่อนแอกว่า

   - สรรเสริญ เยินยอหรือให้เกียรติผู้อื่นมากเกินพอดี จนกลายเป็นการประจบสอพลอ

 

รายงานจากท่านอุกบะฮ์ อิบนุ อามิร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ฉันได้ยินท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

จงระมัดระวังลิ้นของท่าน จงพึงพอใจบ้านของท่าน และจงร้องไห้ในความผิดของท่าน

(บันทึกโดย อิมามอัตติรมิซีย์)

 

จากท่านซุฟยาน อิบนุ อับดุลลอฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า

ฉันได้กล่าวกับท่านร่อซูล ว่าโอ้ ร่อซูลุลลอฮ์ ท่านโปรดบอกฉันถึงสิ่งที่ฉันจะต้องยึดมั่นไว้ด้วยเถิด

ท่านกล่าวว่าท่านจงกล่าวเถิดว่า พระเจ้าของฉันคืออัลลอฮ์ และท่นก็จงดำรงไว้ตามคำกล่าวนั้น

แล้วฉันก็ถามว่าโอ้ ร่อซูลุลลอฮ์ สิ่งใดกันที่ฉันควรกลัวมากที่สุด? “

แล้วท่านก็จับ"ลิ้น"ของท่านแล้วกล่าวขึ้นว่าสิ่งนี้แหละ

(บันทึกโดย อิมามอัตติรมิซีย์)

 

 

ที่มา : วารสาร สายสัมพันธ์...♥