ผู้ ต า ม
โดย อ.มุนีร มูหะหมัด
ผู้ตาม ในที่นี้หมายถึง ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองหรือการดูแลของผู้ที่เป็นอิมามหรือผู้นำ หน้าที่ของผู้ตามคือ การเชื่อฟังปฏิบัติตามอิมาม หรือผู้นำในกรณีที่เขาปฏิบัติตามบัญญัติของอัลลอฮฺ ถ้าหากเกิดการขัดแย้งกันก็ให้ยึดคำชี้ขาดจากอัลกุรอานและหะดีษ พระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า
“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย สูเจ้าทั้งหลายจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ
จงเชื่อฟังร่อซูล และบรรดาผู้ปกครองจากพวกสูเจ้า
ถ้าหากว่า พวกสูเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใด ก็จงกลับไปยังอัลลอฮฺ (อัลกุรอาน) และร่อซูล (อัล หะดีษ)”
(อันนิซาอฺ 4/59)
หน้าที่อีกประการหนึ่งของผู้ตาม หรือประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองคือ การคัดเลือกผู้ปกครองที่เหมาะสม มีความเคร่งครัดในบัญญัติศาสนา มีความรู้ ความสามารถ มิใช่คัดเลือกเนื่องจากการเป็นญาติ เป็นมิตรสหาย หรือโดยสินบน หรือโดยผลประโยชน์
จากอบีบักรฺ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ใดแต่งตั้งเครือญาติให้ดำรงตำแหน่ง เนื่องจากความรักใคร่
โดยที่เขาพบว่า มีคนที่เหมาะสมกว่าเขาอยู่ เขาจะไม่ได้พบกับกลิ่นอายของสวรรค์”
(บันทึกโดย อิบนุ อะซากิร)
จากอบู ฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ขณะที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮะซัลลัม นั่งคุยอยู่กับหมู่ชน
ชาวอาหรับทะเลทรายได้มาหาท่านแล้วกล่าวว่า “วันกิยามะฮ์จะเกิดขึ้นเมื่อไร?”
ท่านร่อซูลยังคงพูดต่อไป บางคนในกลุ่มชนนั้นกล่าวว่า ท่านร่อซูลได้ยินสิ่งที่ชาวอาหรับทะเลทรายพูด ท่านไม่ชอบในสิ่งที่เขาพูด บางคนกล่าวว่า ท่านไม่ได้ยิน จนกระทั่งท่านพูดจบ
ท่านกล่าวว่า “ผู้ที่ถามเกี่ยวกับวันกิยามะฮ์อยู่ที่ไหน?”
เขากล่าวว่า “ฉันอยู่นี่ โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ”
ท่านร่อซูลกล่าวว่า “เมื่อความซื่อสัตย์สูญหายไป ก็จงรอคอยวันกิยามะฮ์เถิด”
เขากล่าวว่า “มันจะสูญหายไปได้อย่างไร?”
ท่านร่อซูลกล่าวว่า“เมื่อภารกิจถูกมอบหมายแก่ผู้ที่ไม่เหมาะสม ก็จงรอคอยวันกิยามะฮ์เถิด”
(บันทึกโดย อัล บุคอรีย์)
การให้คำปรึกษาหารือเป็นหน้าที่ของผู้ที่ภายใต้การปกครองที่จะต้องนำเสนอ หรือให้คำแนะนำแก่อิมาม และผู้ปกครอง เพราะอัลลอฮฺตรัสว่า
“และสูเจ้าจงตักเตือน แท้จริงการตักเตือนเป็นประโยชน์ต่อบรรดาผู้ศรัทธา”
(อัซซาริยาต 51/55)
จากกอบี รุกอยยะฮฺ ตะมีม อิบนิเอาสฺ อัดดารียฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ศาสนาคือ การตักเตือนกัน”
เรากล่าว่า “เพื่อผู้ใด?”
ท่านนบีกล่าวว่า “เพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อร่อซูลของพระองค์ เพื่อบรรดาอิมาม(ผู้นำ) ของบรรดามุสลิม และเพื่อมุสลิมโดยทั่วไป”
(บันทึกโดย อัล บุคอรีย์และมุสลิม)
ความรับผิดชอบต่อพ่อแม่
พ่อแม่เป็นผู้ที่มีความสำคัญสำหรับลูกทุกคน เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิด ให้การเลี้ยงดู ให้การอบรมสั่งสอนตั้งแต่เยาว์วัยจนกระทั่งเติบใหญ่ ออกค่าเลี้ยงดู ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน จนทำให้มีอาชีพ มีการงานที่มั่นคง มีครอบครัวที่เต็มไปด้วยความผาสุก หลายคนสำนึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ แต่ก็มีบางคนที่เอาตัวรอดโดยใช้ชิวิตอย่างสุขสบาย และปล่อยให้พ่อแม่ต้องตกระกำลำบาก ความประเสริฐของการทำดีต่อพ่อแม่ปรากฏอยู่มากมาย ในหะดีษของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
เช่น หะดีษซึ่งเล่าโดยท่านอิบนิอุมัร กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ชาย 3 คน จากผู้มีชีวิตในอดีตก่อนพวกท่านได้เข้าไปพักในถ้ำ เมื่อพวกเขาเข้าไป หินก้อนใหญ่ได้เลื่อนลงมาจากภูเขาแล้วปิดปากถ้ำ โดยกักขังพวกเขาอยู่ภายใน พวกเขากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดทำให้พวกท่านหลุดพ้นจากก้อนหินก้อนนี้ นอกจากท่านทั้งหลายจะขอดุอาอฺจากอัลลอฮฺด้วยการงานที่ดีของพวกท่าน
คนหนึ่งจากพวกเขากล่าวว่า
โอ้ อัลลอฮฺ ฉันมีพ่อแม่ซึ่งแก่ชรา ฉันไม่เคยให้น้ำนมดื่มแก่ผู้ใดจากภรรยา บุตร หรือ (ให้ความสำคัญแก่) ทรัพย์สินก่อนหน้าท่านทั้งสองเลย วันหนึ่งฉันออกไปเลี้ยงแกะยังสถานที่ห่างไกล โดยที่ฉันมิได้กลับมาจนกระทั่งท่านทั้งสองนอนหลับไปแล้วฉันรีดนมใส่ไว้ในภาชนะของท่านทั้งสอง และฉันพบว่าท่านทั้งสองนอนหลับ ฉันรังเกียจที่จะปลุกท่านทั้งสองให้ตื่นขึ้นและฉันไม่ต้องการที่ให้ครอบครัวหรือทรัพย์มีความสำคัญก่อนหน้าท่านทั้งสอง ฉันยังคงรออยู่เพื่อให้ท่านทั้งสองตื่นขึ้น เมื่อถึงเวลาฟัจรฺ บรรดาลูกๆ ต่างร้องงอแงเนื่องจากความหิวโหยอยู่ที่เท้าทั้งสองของฉัน แล้วท่านทั้งสองตื่นขึ้น และท่านก็ดื่มจากภาชนะของทั้งสอง
โอ้ อัลลอฮฺ ถ้าหากว่า ฉันทำเช่นนี้ โดยปรารถนาเพื่อพระพักตร์ของพระองค์ ขอพระองค์ทรงเปิดทางให้แก่เราจากสภาพที่เราเป็นอยู่นี้ โดยให้ก้อนหินนี้เขยื้อนออก แล้วมันก็เขยื้อนออก...”
(บันทึกโดย อัล บุคอรียฺและมุสลิม)
นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งจากผลของการทำความดีต่อพ่อแม่ด้วย ความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ การเนรคุณต่อพ่อแม่ถือเป็นบาทใหญ่ จากอิบนิอัมรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ความพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า อยู่ในความพอใจของพ่อแม่
และความกริ้วโกรธของพระองค์อยู่ในความกริ้วโกรธของทั้งสอง”
(บันทึกโดย อัฎฎอบรอนียฺ)
จากอบี บักเราะฮฺ โดยเป็นหะดีษมัรฟัวะอฺว่า
“ทุกความผิด พระองค์อัลลอฮฺทรงประวิงการลงโทษตามที่พระองค์ทรงประสงค์จนถึงวันกิยามะฮ์
นอกจาก การเนรคุณต่อพ่อแม่ พระองค์จะทรงรีบด่วนในการลงโทษแก่ผู้ทำความผิด”
(นำเสนอโดย อะหมัด)
ความรับผิดชอบต่อลูก
ลูกเป็นของขวัญที่อัลลอฮฺประทานให้แก่ผู้ที่เป็นพ่อแม่ ขณะเดียวกันก็เป็นอะมานะฮฺหรือของฝากที่พระองค์ทรงให้พ่อแม่ต้องดูแล และเขาทั้งสองจะต้องรับผิดชอบต่อผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลด้วย หน้าที่ของพ่อแม่ที่มีต่อลูกคือ จะต้องให้การสั่งสอนอบรมลูกให้เป็นผู้ที่มีการอีมานศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และมีความตักวาต่อพระองค์
จากอิบนิ อับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า บรรดาซอฮาบะฮฺกล่าวว่า โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ เรารู้ว่า สิทธิของพ่อเป็นอย่างไร แล้วสิทธิของผู้ที่เป็นลูกคืออะไร ?
ท่านร่อซูล กล่าวว่า“ท่านจะต้องตั้งชื่อที่ดีแก่เขาและต้องสอนมารยาทที่ดีแก่เขา”
(บันทึกโดย อัล บัยฮะกียฺ)
ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิอุมัร กล่าวว่า
“ท่านจงสอนมารยาทให้แก่ลูกของท่าน แท้จริง ท่านจะต้องรับผิดชอบในตัวเขาว่า ท่านอบรมมารยาทอะไรกับเขา ท่านได้สอนวิชาความรู้อะไรให้กับเขา ขณะเดียวกัน เขาก็ต้องรับผิดชอบในการทำดีต่อท่านและการเชื่อฟังท่าน”
การสั่งสอนความรู้จะต้องเป็นความรู้ทางศาสนา และความรู้ในการดำรงชีวิตด้วย
ความรับผิดชอบต่อผู้ด้อยฐานะ
ผู้ด้อยฐานะได้แก่ ผู้ยากจน ผู้ขัดสน ผู้ตกทุกข์ได้ยาก คนชรา เด็กกำพร้า หญิงหม้าย บุคคลเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของผู้มีฐานะที่จะต้องให้ความช่วยเหลือต่อพวกเขา เพราะพระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า
“และในบรรดาผู้ที่ในทรัพย์สินของพวกเขามีส่วนที่ถูกกำหนดไว้ สำหรับผู้ที่ขอและผู้ที่ไม่ขอ”
(อัล มะอาริจ 70/24-25)
ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้มีฐานะจะต้องจัดสรรส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินจ่ายเป็นซากาตให้แก่ผู้มีสิทธิ และจะต้องแบ่งส่วนจากทรัพย์สินจ่ายเป็นซอดาเกาะฮฺให้แก่ผู้ด้อยฐานะการที่ผู้มีฐานะยึดติดอยู่กับทรัพย์สิน ทำให้ผู้ด้อยฐานะ ต้องประสบกับความทุกข์ยากลำเค็ญ เขาจะต้องรับผิดชอบในการฝ่าฝืนบัญญัติของอัลลอฮฺ ทรัพย์สินนั้นจะกลายเป็นห่วงไฟที่จะลงโทษเขาในวันกิยามะฮฺ อัลกุรอานกล่าวว่า
“บรรดาผู้ที่สะสมทองคำและเงิน และไม่จ่ายมันในหนทางของอัลลอฮฺ จงแจ้งข่าวดีแก่พวกเขาถึงการลงโทษอันเจ็บปวดเถิด วันที่มันถูกนำไปเผาไปนรก แล้วสิ่งนั้นถูกนำมานาบที่หน้าผากของพวกเขา สีข้างของพวกเขา และข้างหลังของพวกเขา (มีเสียงกล่าวว่า) นี่คือสิ่งที่พวกสูเจ้าได้สะสมไว้ เพื่อตัวของ พวกสูเจ้า ดังนั้น พวกเจ้าจงลิ้มรสสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้เถิด”
(อัตเตาบะฮฺ 9/34-35)
จากอบู ฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ชายคนหนึ่งได้มาหาท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ชายคนนั้นกล่าวว่า “โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ซอดาเกาะฮฺใดที่ได้รับการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด?”
ท่านร่อซูลกล่าวว่า “การที่ท่านทำซอดาเกาะฮฺขณะที่ท่านมีสุขภาพดี มีความมักมากในทรัพย์สิน กลัวว่าจะยากจน และอยากร่ำรวย ท่านไม่อิดเอื้อน ในการทำซอดาเกาะฮฺจนกระทั่งวิญญาณมาถึงลูกกระเดือก แล้วท่านก็กล่าวว่า นี่ให้แก่คนนี้ นั่นให้แก่คนนั้น โน่นให้แก่คนโน้น”
(หะดีษมุตตะฟัก อลัยฮฺ)
ความรับผิดชอบต่อลาภยศ ทรัพย์สิน เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ ตำแหน่ง
เป็นความปรารถนาของบุคคลทั่วไป จึงมีการใช้ความอุตสาหะพยายามขวนขวาย เพื่อไขว่คว้ามาให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม จะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม จะสุจริตหรือทุจริต โดยเหตุนี้ บางครั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน อำนาจ เกียรติยศ ชื่อเสียง บางคนมักจะกระทำทุกวิถีทาง แม้จะต้องขายอะกีดะฮฺของตัวเองหรือขายศาสนาของตัวเองเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมาย
สิ่งที่น่าสมเพชของมุสลิมบางคนเป็นไปตามหะดีษของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จาก อบู ฮุอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ท่านทั้งหลายจงรีบทำความดีก่อนที่ความสับสนวุ่นวายจะมาถึงซึ่งเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของค่ำคืน โดยที่บุคคลอยู่ในตอนเช้าเป็นมุมิน (ผู้ศรัทธา) และในตอนเย็นเป็นกาฟิร (ผู้ปฏิเสธ) ในตอนเย็นเป็นกาฟิรและในตอนเช้าเป็นมุมิน เขาขายศาสนาของเขาโดยแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์จากโลกดุนยา”
(บันทึกโดยมุสลิม)
ที่มา วารสาร มูลนิธิชี้นำสันติสุข