ในการละหมาด หัวใจของบ่าวอยู่กับอัลลอฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  4526


ในการละหมาด หัวใจของบ่าวอยู่กับอัลลอฮฺ

 

โดย . อับดุลหะมี๊ด บรอฮิมี

 

          พระองค์อัลลอฮฺ จะทรงรับการงานที่ดี จากบ่าวพระองค์ จะทรงเพิ่มพูนรางวัล และ ผลบุญแก่เขา และในหัวอกที่บ่าวนั้น ผูกพันอยู่กับการปฏิบัติ จากสิ่งที่ถูกต้องของการละหมาด ดังนั้น หากบ่าวดำรงการละหมาดอย่างสมบูรณ์ โดยไม่มีข้อบกพร่อง ยอมจำนนอยู่กับพระองค์อัลลอฮฺเพื่อที่จะให้พระองค์ทรงรับการละหมาด และประทานสาเหตุต่างๆ ที่มาเพิ่มพูนความรัก ความเมตตาของพระองค์ต่อเขา คือการตอบรับของพระองค์ สำหรับเขายิ่งไปกว่านั้น เขาก็กลายเป็นผู้ที่ไม่เห็นอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น ซึ่งจะสมบูรณ์ได้ ด้วยการที่หัวใจของเขานั้นต้องมุ่งอยู่กับอัลลอฮฺ ในการปฏิบัติฟัรฎู นั่นคือ การละหมาด 

 

         ดังนั้น การที่มีจิตใจมุ่งอยู่กับอัลลอฮฺ คือวิญญาณของการละหมาด ท่านอบูดาวูด ท่านอันนะซาอียฺ และอิมามอิบนุฮิบบาน ได้รายงานว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

          “แท้จริง บ่าวคนหนึ่งที่กำลังทำการละหมาด ในละหมาดหนึ่งอยู่นั้น ซึ่งจะไม่ถูกบันทึกแก่เขาว่า เขาได้หนึ่งในหกหรือหนึ่งในสิบของการละหมาด แต่อันที่จริงแล้ว ที่ถูกบันทึกแก่บ่าว จากการละหมาด ของเขานั้น คือสิ่งที่จิตใจของเขามุ่งอยู่กับการละหมาด

 

ท่านอิหม่ามอัลฆอซาลี ได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มที่ 1 หน้า 161 ว่า 

          แท้จริง มนุษย์ไม่สามารถที่จะเอาหัวใจมามุ่งอยู่กับการละหมาดได้ทั้งหมด โดยไม่คิดอะไรเลย ซึ่งดังกล่าวนี้ไม่มีมนุษย์สักคนที่จะสามารถ ทำได้ นอกจากจำนวนที่น้อยนิด และเมื่อไม่สามารถมุ่งอยู่กับการละหมาดได้ ตลอดทั้งการละหมาด เนื่องจากมีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากจะมุ่งอยู่กับสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นการมุ่งสู่การละหมาด แม้เพียงชั่วครู่เดียวก็ตาม ชั่วครู่ที่เหมาะสมที่สุดนั้น คือ ช่วงของการตักบีรอตุลเอี๊ยะรอม  

         และท่านอัลฆอซาลี ยังได้กล่าวอีกว่า และเราหวังว่า สภาพของผู้เผลอไผล หลงลืม ในขณะทำการละหมาดของเขา ตลอดการละหมาดนั้น จะไม่เหมือนกับสภาพของคนที่ทิ้งการละหมาดทุกประการ 

          แล้วก็ยังได้กล่าวต่ออีกว่า ผลของคำพูดที่ว่า การที่มีจิตมุ่งมั่น คือ วิญญาณของการละหมาด ซึ่งก็คือ เสี้ยวที่เหลืออยู่เพียงชั่วครู่ของวิญญาณ นั่นก็คือ ความมีจิตมุ่งอยู่ขณะตักบีรฯ ดังนั้น การบกพร่องของจิตที่ไม่มุ่งอยู่กับการละหมาดคือการทำลายวิญญาณของการละหมาด และการเพิ่มขึ้นของจิตที่มุ่งอยู่กับการละหมาด ซึ่งกี่มากน้อยของชีวิตที่ไม่ไหวติง เนื่องจากใกล้สิ้นใจ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการละหมาดของผู้เผลอไผล หลงลืม ขณะทำการละหมาด เว้นแต่ตอนตักบีร กับร่างอันไม่ไหวติงของผู้ที่ใกล้จะสิ้นใจ พระองค์อัลลอฮฺทรงโปรดช่วยเหลือด้วยเถิด

 

          การมีจิตมุ่งกับพระองค์ในการละหมาดนั้น เป็นพรอันประเสริฐแก่ตัวของเขา และนำมาซึ่งความสูงส่ง ความยิ่งใหญ่แก่เขา และคนเรานั้น ไม่อาจข่มใจของเขา ให้มุ่งอยู่กับดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งนี้เป็นนิสัยของมนุษย์  และข้อบังคับในเชิงปฏิบัติต่อผลของการละหมาด เพื่อยับยั้งผู้ละหมาด จากการกระทำสิ่งที่น่ารังเกียจ และสิ่งที่ศาสนาไม่ยอมรับในทุกด้านของความผูกพันต่างๆ ของเรา

 

          ท่านอิบนุ ฮาติดได้รายงาน จากสายรายงานของท่านอิมรอน อิบนุ ไซยนฺ ได้รายงานว่าท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เกี่ยวกับพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ ในซูเราะฮฺอัลอังกะบู้ต อายะฮฺที่ 45 ตรัสว่า 

แท้จริง การละหมาดนั้น จะยับยั้งจากสิ่งที่ลามก และสิ่งชั่วช้าที่ศาสนาไม่ยอมรับ” 

 

ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตอบว่า

         “ผู้ใดที่การละหมาดของเขา ไม่ได้ยับยั้งเขา จากสิ่งลามกทั้งหลาย และจากสิ่งที่ชั่วช้า ที่ศาสนา ไม่ยอมรับนั้น การละหมาดนั้น ก็ไม่ใช่เป็นการละหมาด สำหรับเขา

 

 ในรายงานของท่านอิบนุ อับบาส รายงานว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

          “แท้จริงการละหมาดของเขา ไม่ได้ยับยั้งสิ่งลามกทั้งหลาย และจากสิ่งที่ชั่วช้าที่ศาสนาไม่ยอมรับแล้วละก็ การละหมาดนั้นก็มีแต่จะทำให้เขาห่างไกลจากอัลลอฮฺ

 (บันทึกหะดีษ โดยอัฏฏอบรอนียฺ)

 

ท่านอบูลาลียะฮฺอธิบายพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ ตรัสว่า

แท้จริง การละหมาดนั้น จะมายับยั้งสิ่งลามกทั้งหลาย และชั่วช้าที่ศาสนาไม่ยอมรับ” 

         ท่านอธิบายว่า แท้จริงในการละหมาดมีสามประการด้วยกัน ที่การละหมาดใดที่ปราศจากประการใด ประการหนึ่งใน ทั้งสามนี้ ก็ไม่ถือว่าการละหมาดนั้นเป็นการละหมาด นั่นก็คือ ความสุจริตใจ ความเกรงกลัว และการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซึ่งความสุจริตใจนั้น จะมาใช้เขาให้กระทำความดี และความเกรงกลัว ก็จะมายับยั้งเขาจาก ความชั่ว และการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ก็คือ อัลกุรอาน ที่จะเอามาใช้ และห้ามเขาไม่ให้กระทำสื่งที่ไม่ดี

     ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสในซูเราะฮฺลุกมาน อายะฮฺที่ 18 ว่า 

และสูเจ้า อย่าได้เชิดหน้าใส่ผู้คนอย่างยโส และอย่าได้เดินบนหน้าแผ่นดินอย่างจองหองไร้มารยาท

 

ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม ที่ได้กล่าวว่า

ผู้ที่จิตใจของเขามีความยโสโอหังสักเพียงเท่าผงธุลี เขาจะไม่ได้เข้าสวรรค์

     ชายคนหนึ่งถาม ท่านนบีว่าแท้จริง คนๆ หนึ่งชอบที่จะให้เสื้อผ้า รองเท้าของเขาดูดีครับ

     ท่านนบีตอบว่าแท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงงดงาม ซึ่งพระองค์ทรงรักผู้ที่สง่างาม ส่วนความยโสโอหังนั้น คือ การไม่ยอมรับความจริง และเหยียดหยามผู้คน

 

          ดังนั้น เขาจะต้องสำนึกอยู่เสมอว่า ความโกรธกริ้วของพระองค์อัลลอฮฺนั้น จะมาขวางกั้นการงานที่ดีของเขาไม่ให้ถูกตอบรับจากพระองค์ ซึ่งพระองค์คือผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงสูงส่งเหนือใครและเป็นผู้ทรงอหังการทั้งในชั้นฟ้าและแผ่นดิน พระองค์จะไม่ทรงรับการตั้งภาคีใดๆ และไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ ซึ่งหากเขาไม่มีสำนึกเช่นนี้ เขาย่อมเป็นชาวนรกคนหนึ่งอย่างแน่นอน

 

 

ที่มา วารสารมูลนิธิชีนำสันติสุข