เครื่องดื่มที่ต้องห้าม และที่อนุญาตให้บริโภค
  จำนวนคนเข้าชม  21875


เครื่องดื่มที่ต้องห้าม และที่อนุญาตให้บริโภค

 

โดย .อับดุลลอฮฺ มานะ 

 

เครื่องดื่มที่ต้องห้ามมีมากมายอาทิ เช่น

 

     1. สุราทุกชนิด เพราะอัลลอฮฺ ตรัสในซูเราะอัลมาอิดะฮฺ 5/90 ว่า

 

 “แท้จริงสุรา การพนัน แท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญและการเสี่ยงทายนั้นเป็นสิ่งโสมม อันเกิดจากการงานของชัยฎอน

ดังนั้น สูเจ้าทั้งหลายจงหลีกห่างมันเถิด เพื่อว่าสูเจ้าจะได้รับชัยชนะ

เกี่ยวกับสุรานั้น มีรายงานจากอิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 “อัลลอฮฺทรงสาปแช่งสุรา ผู้ดื่มสุรา ผู้รินสุรา ผู้ขายสุรา ผู้ซื้อสุรา ผู้จ้างกลั่นสุรา ผู้บริการสุรา ผู้ใช้ให้บริการสุรา และผู้มีรายได้จากสุรา

 (บันทึกโดย อบูดาวูด อิบนุมาญะฮฺและอัลฮากิม โดยมีสายรายงานถูกต้อง)

 

     2. เครื่องดื่มที่ทำให้มึนเมา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เจือปนอยู่ทุกชนิด ไม่ว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม เพราะมีรายงานจากอิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 “สิ่งมึนเมาทุกชนิด คือ สุรา และสุราทุกชนิดเป็นที่ต้องห้าม

 (บันทึกโดยมุสลิม อบูดาวูด และติรมิซีย์)

ดังนั้น เครื่องดื่มที่ต้องห้ามในความหมายนี้ได้แก่ เบียร์ วิสกี้ ไวน์ทุกชนิด กระแช่ บรั่นดี แชมเปญ

 

     3. ปัสสาวะ

 

     4. น้ำนมของสัตว์ที่ห้ามรับประทานเนื้อของมัน

 

     5. ของเหลวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันเบนซิน น้ำมันโซล่า ทินเนอร์ น้ำมันสน น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก น้ำมันเกียร์ น้ำกรด น้ำมันหล่อลื่น ยาฆ่าแมลง

 

ผลร้ายของการดื่มสุรา 

     การดื่มสุราจะทำให้บุคคลเป็นโรคตับแข็ง การเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคกล้ามเนื้อหัวใจหยุด การทำงานเฉียบพลัน

 

การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในภาวะคับขัน 

     อัลลอฮฺทรงประทานบัญญัติศาสนามาเพื่อพิทักษ์ปัจจัย 5 ประการ คือ

1. พิทักษ์ชีวิต

2. พิทักษ์ทรัพย์สิน

3. พิทักษ์ศาสนา

4. พิทักษ์สติปัญญา

5. พิทักษ์เกียรติยศ

 

          ท่านอิมามฆอซาลี กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของบัญญัติศาสนาที่มีต่อมนุษยชาตินั้นมีอยู่ 5 ประการ คือ การรักษาศาสนา รักษาชีวิต รักษาเผ่าพันธุ์ และรักษาทรัพย์สมบัติของคนเหล่านั้นไว้ ซึ่งถือว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์ การทำให้หลักมูลฐานเหล่านี้สูญหายไปย่อมถือว่าเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้เกิดแก่สังคมมนุษย์

          โดยเหตุนี้เจตนารมณ์ของอิสลามจึงมีมาเพื่อจัดระเบียบการดำเนินชีวิต เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์ในโลกดุนยานี้และโลกอาคิเราะฮฺ

 

อิสลามบัญญัติห้ามมิให้มนุษย์รับประทานอาหารบางชนิด เช่น 

1. ห้ามรับประทานสัตว์ที่ตายเอง 

          เนื่องจากเกรงว่าสัตว์นั้นอาจเป็นโรคตาย เนื้อสัตว์อาจแปรเปลี่ยนสภาพไปจนไม่เป็นการดีที่จะนำมารับประทาน สัตว์ที่ตายเองทำให้เลือดยังคงปะปนอยู่กับเนื้อ อันอาจจะทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียเข้าไปอยู่ในเนื้อสัตว์ เป็นต้น

 

2. ห้ามรับประทานเลือด

          เพราะเลือดเป็นแหล่งหนึ่งที่สะสมเชื้อโรค และการกินเลือดเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง

 

3. ห้ามรับประทานเนื้อสุกร

          เนื่องจากธรรมชาติของเนื้อสุกรเป็นสัตว์ที่มีไขมันมาก และนิสัยของสุกรนั้นชอบกินของสกปรก นอกเหนือไปจากธรรมชาติของสุกรแล้วก็มีพยาธิและเชื้อโรคต่างๆ อยู่เช่น พยาธิตัวจี๊ด พยาธิตัวตืด พยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง เป็นต้น

 

          การห้ามรับประทานอาหารประเภทต่างๆ เหล่านี้ มิใช่ว่าอิสลามห้ามมิให้มนุษย์รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ หากแต่ว่าเป็นการห้ามรับประทานอาหารที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นไปในรูปของกันไว้ดีกว่าแก้ทีหลัง

 

ข้อผ่อนผันในการดื่มและรับประทานอาหารต้องห้าม 

          แม้ว่าอิสลามห้ามรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มบางประเภท ถ้าหากว่าไม่มีอาหารหะล้าลรับประทาน ก็อนุญาตให้รับประทานอาหารที่ต้องห้ามได้โดยจะต้องอยู่ในเงื่อนไขต่อไปนี้

     1. ความหิวกระหายจะต้องมีความรุนแรง ไม่อาจจะทนได้แล้ว 

     2. กลัวว่าความหิวกระหายนี้จะทำให้ถึงแก่ชีวิต ถ้าหากว่าความหิวกระหายยังไม่ถึงระดับที่จะถึงแก่ชีวิต ก็ไม่อนุญาตให้รับประทานหรือดื่มอาหารที่ต้องห้าม

     3. การรับประทานอาหารต้องห้ามเพียงเพื่อประทังความหิวเท่านั้น มิใช่รับประทานจนอิ่ม

     4. จะต้องมีความรังเกียจที่จะรับประทานอาหารที่หะรอม อัลลอฮฺตรัสในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ 2/173 ว่า

 แล้วผู้ใดได้รับความคับขัน โดยมิใช่ผู้เสาะแสวงหา และมิใช่เป็นผู้ละเมิดขอบเขตแล้วไซร้ ก็ไม่มีบาปใดๆ แก่เขา

แท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ

 

 

ที่มา วารสาร มูลนิธิชี้นำสันติสุข