ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือต่อกัน
  จำนวนคนเข้าชม  21304


ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือต่อกัน

 

เรียบเรียงโดย อิบนุมะฮฺดี 

          ศาสนาอิสลามนั้นกำชับให้บรรดาผู้ศรัทธานั้นตระหนักถึงความเป็นพี่น้องกัน ที่ต้องรักใคร่กัน ต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในความดีก็เพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกเขาเองทั้งสิ้น คำสั่งใช้หรือคำสั่งห้ามใดๆของศาสนาอิสลามที่มาจากอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์และความสงบสุขแก่วิถีชีวิตของมนุษย์เองทั้งสิ้น หนึ่งในคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่เรียกร้องให้บรรดาผู้ศรัทธาทำนั่น คือ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

 

سورة المائدة 2 (وَتَعَاوَنُواْ عَلَى الْبَرِّ وَالتَّقْوَى وَلاَ تَعَاوَنُواْ عَلَى الإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ)

และพวกจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง

และจงอย่าช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน” 

(ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 2)

           การให้ความช่วยเหลือต่อกันนั้น นำมาซึ่งภาคผล และประโยชน์ต่างๆมากมาย ได้แก่


      1. สร้างความสุขให้เกิดขึ้น


          การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้น สร้างความสุขให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนในสังคม และนำมาซึ่งความสุขแก่ตัวผู้ให้ความช่วยเหลือเองด้วย เพราะคงไม่มีใครที่เขาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นในความดีและมันจะนำมาซึ่งความเศร้า ความเสียใจในภายหลัง แต่ทว่าโดยปกติ ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเมื่อได้ช่วยเหลือผู้อื่นมันจะนำมาซึ่งความสุขแก่เขา

          ความสุขที่เกิดขึ้นจากระบบแห่งการให้ความช่วยเหลือต่อกันและกันนั้น สร้างประโยชน์และความสุขให้แก่ทุกๆฝ่าย ทั้งผู้ให้ ผู้รับ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ได้เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่ก็ย่อมมีความสุขเมื่อได้เห็นผู้อื่นให้ความช่วยเหลือต่อกัน คือไม่ต้องเป็นผู้ให้หรือผู้รับก็จะมีความสุขเมื่อเห็นผู้อื่นให้ความช่วยเหลือต่อกัน ดังนั้นศาสนาอิสลามจึงได้กำชับแก่บรรดาผู้ศรัทธาให้ให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือต่อกัน เพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง ให้แก่ผู้อื่น ให้แก่ผู้คนในสังคมทั้งหมด

          และการให้ความช่วยเหลือต่อกันนั้นไม่เพียงสร้างความสุขแก่ชีวิตในโลกดุนยานี้เท่านั้นแต่จะนำไปสู่การได้รับความสุขในชีวิตแห่งโลกอาคิเราะห์ด้วย เพราะการให้ความช่วยเหลือนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรม การงานที่ดี และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงยืนยันว่า ความดีนั้นทำให้เกิดความสุข ผู้ที่ทำความดีนั้นย่อมอยู่ในความโปรดปรานของอัลลอฮฺในวันกิยามะห์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า 

(إِنَّ الْأَبْرَارَ لَفِي نَعِيمٍ) سورة المطففين 22

แท้จริงบรรดาผู้ทรงคุณธรรมจะอยู่ในความโปรดปรานอย่างแน่นอน” 

 (ซูเราะห์อัลมุฏ็อฟฟิฟีน อายะห์ที่ 22)

     2.  สร้างความรักให้เกิดขึ้น

 

          การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในความดีนั้นยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความรักที่มีต่อกันระหว่างผู้ศรัทธา ผู้ศรัทธานั้นสัญลักษณ์ของพวกเขาคือ การให้ความช่วยเหลือกัน เกื้อกูลต่อกัน และพวกเขานั้นจะได้รับความเอ็นดูเมตตาจากอัลลอฮฺ ตะอาลา เนื่องจากที่พวกเขานั้นได้เอ็นดูเมตตาต่อกันและกัน ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

(وَالْمُؤْمِنُونَ وَالْمُؤْمِنَاتُ بَعْضُهُمْ أَوْلِيَاءُ بَعْضٍ يَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَيُقِيمُونَ الصَّلاَةَ وَيُؤْتُونَ الزَّكَاةَ وَيُطِيعُونَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ أُوْلَئِكَ سَيَرْحَمُهُمُ اللَّهُ إِنَّ اللَّهَ عَزِيزٌ حَكِيمٌ) سورة التوبة 71

และบรรดาผู้ศรัทธาชาย และบรรดาผู้ศรัทธาหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน

ซึ่งพวกเขาจะใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดี และห้ามปรามในสิ่งที่ชั่ว

และพวกเขาจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และจ่ายซะกาต

และภักดีต่ออัลลอฮฺ และรอซูลของพระองค์

ชนเหล่านี้แหละ อัลลอฮฺจะทรงเอ็นดูเมตตาแก่พวกเขา

แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” 

(ซูเราะห์อัตเตาบะฮฺ อายะห์ที่ 71)

 

          และการช่วยเหลือต่อกันนั้นยังส่งผลให้เกิดความรักใคร่ กลมเกลียวกันระหว่างบรรดาผู้ศรัทธาที่มากขึ้นๆ เพราะบรรดาผู้ศรัทธานั้นเมื่อพวกเขาให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มันจะขจัดซึ่งความเห็นแก่ตัว ความอิจฉาต่อกัน หรือความคิดที่ไม่ดีต่อกันออกไปจากพวกเขา เท่ากับว่า การช่วยเหลือต่อกันนั้นมันได้เพิ่มพูนความรัก ความเมตตา ความเอื้อเฟื้อต่อกัน ให้หัวใจของผู้ศรัทธา และขจัดซึ่งความเกลียดชัง อิจฉาริษยา เห็นแก่ตัว ออกไปจากหัวใจผู้ศรัทธา และพวกเขาจะได้รับความเอ็นดูเมตตาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในสิ่งที่พวกได้ช่วยเหลือกัน

          คุณลักษณะหนึ่งของบรรดาผู้ศรัทธาคือพวกเขามีความรักกัน และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะพวกเขานั้นเปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกัน หากส่วนหนึ่งส่วนใดเจ็บปวดส่วนอื่นก็จะได้รับผลกระทบด้วย ดังที่มีรายงานจากท่าน นัวอฺมาน อิบนิบะชีร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

مَثَلُ الْمُؤْمِنِينَ فِي تَوَادِّهِمْ وَتَرَاحُمِهِمْ وَتَعَاطُفِهِمْ مَثَلُ الْجَسَدِ؛ إِذَا اشْتَكَى مِنْهُ عُضْوٌ تَدَاعَى لَهُ سَائِرُ الْجَسَدِ بِالسَّهَرِ وَالْحُمَّى

         “เปรียบเทียบบรรดาผู้ศรัทธาในด้านความรัก ความเอ็นดูเมตตา และการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลของพวกเขาที่มีต่อกันนั้นเหมือนกับร่างกายเดียวกัน กล่าวคือ เมื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกายก็จะเจ็บปวดไปด้วยทั่วร่างกายทำให้ให้นอนไม่หลับ เกิดอาการไข้” 

(รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)

 

 3. ทำให้เกิดการพัฒนาของสังคม ความสามัคคีและความสงบสุขของผู้คนในสังคม

 

          สังคมที่พัฒนานั้นคือสังคมที่ผู้คนต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในความดี การช่วยเหลือกันนั้นคือกุญแจแห่งการพัฒนา กิจการต่างๆในสังคมนั้นจะประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพหากมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สังคมที่มีการช่วยเหลือกันนั้นย่อมบ่งบอกถึงสังคมที่พัฒนาและมีคุณภาพ เป็นสังคมที่สงบสุข ผู้คนในสังคมมีความสามัคคีต่อกัน ไม่เป็นศัตรูต่อกัน ไม่ทำร้ายไม่อธรรมต่อกัน แต่ผู้คนต่างก็สนับสนุนกันในความดีและช่วยเหลือกันในสิ่งที่เดือดร้อน 

          และแน่นอนหากว่าผู้คนในสังคมนั้น ไม่มีการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นั่นย่อมจะนำผู้คนในสังคมไปสู่ความล้าหลัง ความแตกแยก ความวุ่นวายในสังคม ที่ผู้คนมีความตระหนี่ เห็นแก่ตัว แก่งแย่งชิงดีกัน มีการละเมิด การอธรรมต่อกัน เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการมา สังคมย่อมไม่เกิดการพัฒนาและผู้คนก็แตกความสามัคคี และในที่สุดสังคมก็จะล่มสลาย ความพินาศ ดังหะดีษที่ว่า

          รายงานจากท่านญาบิร บินอับดุลลอฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

(اتَّقُوا الظُّلْمَ فَإِنَّ الظُّلْمَ ظُلُمَاتٌ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَاتَّقُوا الشُّحَّ فَإِنَّ الشُّحَّ أَهْلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ حَمَلَهُمْ عَلَى أَنْ سَفَكُوا دِمَاءَهُمْ وَاسْتَحَلُّوا مَحَارِمَهُمْ) رواه مسلم

          “ท่านทั้งหลายจงระวังการอธรรมเถิด เพราะแท้จริงการอธรรมนั้นคือความมืดมนต่างๆในวันกิยามะห์ และท่านทั้งหลายจงระวังความตระหนี่ เพราะแท้จริงมันเคยทำลายผู้คนในยุคก่อนพวกท่านให้พินาศมาแล้ว มัน(ความตระหนี่)ทำให้พวกเขาต้องหลั่งเลือดกัน และทำให้พวกเขาถือเอาสิ่งที่ต้องห้ามละเมิดกลายเป็นที่อนุมัติ” 

(รายงานโดยมุสลิม)

 


4. ได้รับการตอบแทนจากส่วนความดีที่ได้ช่วยเหลือไป 

 

           ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันของมนุษย์นั้นก็มีต่อตัวของมนุษย์เอง ที่เขาจะได้รับผลประโยชน์จากการให้ความช่วยเหลือต่อกันและกัน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

سورة النساء 85(مَّن يَشْفَعْ شَفَاعَةً حَسَنَةً يَكُن لَّهُ نَصِيبٌ مِّنْهَا)

ผู้ใดที่ให้ความช่วยเหลือย่างดีก็จะเป็นของเขา ซึ่งส่วนหนึ่งจากความดีนั้น” 

(ซูเราะห์อันนิซาอฺ อายะห์ที่ 85)

 

          ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือในความดีนั้น สำหรับผู้ที่ให้ความช่วยเหลือเขาก็จะได้รับส่วนการตอบแทนในการช่วยเหลือนั้นทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์ สำหรับในดุนยานั้นเมื่อเขาได้ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นไปเขาก็จะได้รับการช่วยเหลือตอบแทนจากผู้อื่นเช่นเดียวกัน ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ หากเขาให้ความช่วยเหลือผู้คน ผู้คนก็จะให้ความช่วยเหลือเขาเช่นกัน จึงเกิดวงจรแห่งการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

          และสำหรับในอาคิเราะห์นั้นเขาก็จะได้รับการตอบแทนจากผลบุญแห่งการช่วยเหลือที่เขาทำไว้ในดุนยา หากช่วยเหลือผู้อื่นในความดีแล้วทำให้เกิดการทำความดีมากขึ้น ผู้ที่ให้การช่วยเหลือก็จะได้รับส่วนของความดีที่ผู้คนทำด้วย โดยไม่ถูกตัดทอนแต่อย่างใด และแน่นอนการให้ความช่วยเหลือในความชั่วนั้น เขาก็จะได้รับส่วนของความชั่วในโลกดุนยานี้และได้รับการลงโทษของอัลลอฮฺในโลกอาคิเราะห์ด้วย

ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า

سورة النساء 85 (وَمَن يَشْفَعْ شَفَاعَةً سَيِّئَةً يَكُن لَّهُ كِفْلٌ مِّنْهَا ۗ وَكَانَ اللَّهُ عَلَىٰ كُلِّ شَيْءٍ مُّقِيتًا)

และผู้ใดให้ความช่วยเหลือย่างชั่ว ก็จะเป็นของเขา ซึ่งส่วนหนึ่งจากความชั่วนั้น

และปรากฏว่าอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

 (ซูเราะห์อันนิซาอฺ อายะห์ที่ 85)

 

          และหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม รายงานจากท่านอบูมูซา อัลอัชอะรีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า

(كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا جَاءَهُ السَّائِلُ، أَوْ طلِبَتْ إِلَيْهِ حَاجَةٌ، قَالَ: اشْفَعُوا تُؤْجَرُوا، وَيَقْضِي اللَّهُ عَلَى لِسَانِ نَبِيِّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَا شَاءَ) رواه البخاري ومسلم

            “ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อมีผู้ร้องขอความช่วยเหลือหรือต้องการความช่วยเหลือมาหาท่าน ท่านร่อซูลได้กล่าว(แก่บรรดาศอฮาบะห์)ว่า : พวกท่านจงให้ความช่วยเหลือ พวกท่านจะได้รับผลตอบแทน และอัลลอฮฺจะจัดการให้ลุล่วงตามคำพูดของนบีของพระองค์ ตามที่พระองค์ทรงประสงค์” 

(รายงานโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)


5.
ได้รับการช่วยเหลือและการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะห์

           การให้ความช่วยเหลือต่อกันนั้นย่อมนำมาซึ่งการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่และสร้างประโยชน์ให้แก่กันและกัน ผู้ได้รับการช่วยเหลือก็ได้สิ่งที่เขาต้องการหรือได้ขจัดสิ่งที่เดือดร้อน ในขณะที่ผู้ให้การช่วยเหลือก็จะได้รับการช่วยเหลือตอบจากผู้อื่นในโลกดุนยาด้วยประสงค์ของอัลลอฮฺและได้รับผลบุญการตอบแทนอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮฺในโลกอาคิเราะห์

 

           ดังนั้น ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือต่อกันนั้น จะได้รับทั้งในขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลกดุนยา และชีวิตในโลกอาคิเราะห์ด้วย ดังหะดีษที่มีรายงานจากท่านอบีฮุร็อยเราะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

 

(مَنْ نَفَّسَ عَنْ مُؤْمِنٍ كُرْبَةً مِنْ كُرَبِ الدُّنْيَا نَفَّسَ اللهُ عَنْهُ كُرْبَةً مِنْ كُرَبِ يَوْمِ الْقِيَامَةِ، وَمَنْ يَسَّرَ عَلَى مُعْسِرٍ يَسَّرَ اللهُ عَلَيْهِ فِي الدُّنْيَا وَالْآخِرَةِ، وَمَنْ سَتَرَ مُسْلِمًا سَتَرَهُ اللهُ فِي الدُّنْيَا وَالآخِرَةِ، وَاللهُ فِي عَوْنِ الْعَبْدِ مَا كَانَ الْعَبْدُ فِي عَوْنِ أَخِيهِ) رواه مسلِم

 

          “ผู้ใดก็ตามที่ช่วยให้มุสลิม(ผู้ศรัทธา)หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างหนึ่งจากบรรดาความทุกข์แห่งดุนยา อัลลอฮฺจะทรงปลดปล่อยเขา(จาก)ความทุกข์หนึ่งของบรรดาความทุกข์ในวันกิยามะฮฺ

     และผู้ใดให้ความสะดวกแก่ผู้ที่กำลังยากลำบาก อัลลอฮฺจะทรงให้ความสะดวกแก่เขาทั้งในโลกนี้และอาคิเราะฮฺ

     และผู้ใดปกปิดความอับอายของมุสลิม อัลลอฮฺจะทรงปิดความอับอายของเขาทั้งในโลกนี้และอาคิเราะฮฺ

     อัลลอฮฺพร้อมที่จะช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ ตราบที่บ่าวคนนั้นชอบที่จะช่วยเหลือพี่น้องของเขา

 (รายงานโดยมุสลิม)

 

          ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้พูดถึง ภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือนั้น มันมีผลทั้งในโลกนี้และโลกหน้า โดยท่านนบีได้บอกให้ทราบถึงความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างโลกดุนยา ซึ่งเป็น โลกแห่งการงาน(دار العمل) และ โลกอาคิเราะห์ ซึ่งเป็น โลกแห่งการตอบแทน(دار الجزاء) ว่าการงานแห่งการช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมในโลกดุนยา จะกลายเป็นการตอบแทนในโลกอาคิเราะห์ ซึ่งสามารถบอกได้ว่าสำหรับมนุษย์นั้น โลกดุนยานั้นคือโลกแห่งการให้ความช่วยเหลือ และโลกอาคิราะห์นั้นคือโลกแห่งการได้รับความช่วยเหลือและตอบแทนอย่างสมบูรณ์และเพิ่มพูนด้วย เพราะแม้ว่าการตอบแทนแก่ผู้ให้การช่วยเหลือนั้นจะได้รับในดุนยาขณะที่มีชีวิตอยู่ด้วยก็ตาม แต่ทว่าเขาจะได้รับอีกครั้งอย่างครบถ้วนสมบูรณ์นั้นในโลกอาคิเราะห์

 

          โดยท่านนบีก็เน้นย้ำไปที่ภาคผลของการให้ความช่วยเหลือต่อพี่น้องมุสลิม ผู้ศรัทธา ในด้านต่างๆที่ภาคผลที่ผู้ให้การช่วยเหลือจะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับการให้ความช่วยเหลือของเขา โดยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้อธิบายว่า 

 

  •  ผู้ใดที่ให้การช่วยเหลือต่อพี่น้องมุสลิมโดยการช่วยให้เขาหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างหนึ่งในโลกดุนยา อัลลอฮฺจะทรงให้ความช่วยเหลือแก่เขาโดยขจัดซึ่งความทุกข์หนึ่งในวันกิยามะห์ ซึ่งความทุกข์ในวันกิยามะห์นั้นรุนแรงสาหัสยิ่งกว่าความทุกข์ที่ได้รับในโลกดุนยาแน่นอน 

 

  •  หากช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกง่ายดายแก่ผู้ที่กำลังประสบกับความยากลำบาก อัลลอฮฺจะทรงให้ความสะดวกง่ายดายแก่เขาในชีวิตทั้งดุนยาและอาคิเราะห์ ซึ่งความยากลำบากในอาคิราะห์รุนแรงยิ่งกว่าความยากลำบากในดุนยาเช่นกัน

 

  •  หากช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมโดยการปกปิดความผิดที่น่าละอายของพี่น้องมุสลิม โดยไม่เอามาประจานหรือสร้างความเสียหาย อัลลอฮฺก็จะทรงปกปิดความผิดที่น่าอับอายให้ทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะห์ ซึ่งความน่าอับอายในโลกอาคิเราะห์ต่อความผิดนั้นก็มีมากกว่าโลกดุนยาเช่นกัน 

 

  •  และอัลลอฮฺนั้นพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือต่อบ่าวของพระองค์ ตราบเท่าที่บ่าวคนนั้นยังคงหมกมุ่นอยู่ในการให้ความช่วยเหลือต่อพี่น้องมุสลิมของเขา ซึ่งความช่วยเหลือที่อัลลอฮฺให้บ่าวนั้นย่อมยิ่งใหญ่กว่าความช่วยเหลือที่บ่าวให้แก่กัน

 

            ดังนั้นภาคผลแห่งการให้ความช่วยเหลือที่จะได้รับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้น มีมากกว่าความช่วยเหลือที่มนุษย์ให้แก่กัน ซึ่งการที่จะได้รับการตอบแทนและการช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ นั้นขึ้นอยู่ที่การให้การช่วยเหลือของเราที่มีต่อพี่น้องมุสลิม ยิ่งเราให้ความช่วยเหลือต่อพี่น้องมุสลิมมากเพียงใด อัลลอฮฺก็จะทรงให้การช่วยเหลือเราที่มากยิ่งกว่า

 

            การให้ความช่วยเหลือต่อกันนั้น ภาคผลที่ได้รับนั้นยิ่งใหญ่ มหาศาลกว่าสิ่งที่ได้ทำไป การตอบแทนนั้นยิ่งใหญ่และมากกว่าการงานที่ได้ทำไปอย่างแน่นอน การลงทุนที่ไม่มีทางขาดทุนนั่นคือการลงทุนต่อการทำความดี การให้ความช่วยเหลือต่อกันในความดี กำไรที่ได้รับนั้นย่อมมากกว่าสิ่งที่ได้ลงทุนไป นี่คือความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

 

           ดังนั้นสำหรับบรรดาผู้ศรัทธานั้นก็ไม่ควรที่จะปล่อยโอกาสของการได้รับการตอบแทนอันยิ่งใหญ่ โดยการปล่อยโอกาสที่จะช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมให้หลุดลอยไปเป็นอันขาด หากว่าเราได้ละทิ้งหรือพลาดโอกาสแห่งการช่วยเหลือไป นั่นเท่ากับว่าเราได้พลาดโอกาสแห่งการได้รับความดี ได้รับการตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ไปด้วย

 

 

วัลลอฮุอะอฺลัม