ความอดทนที่ได้จากการถือศีลอด
คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย วันนี้เป็นวันที่ 1 เดือนเชาวาล เป็นวันอีดิลฟิฏรฺ วันแห่งการรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองหลังจากที่เราได้เสร็จสิ้นภารกิจต่างๆจากการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนแล้ว เราเฉลิมฉลองกันในวันนี้ ไม่ใช่เพราะเราดีใจที่เดือนเราะมะฎอนผ่านพ้นเราไปเสียที แต่เราเฉลิมฉลองเพราะเรามีความรู้สึกว่าเราได้รับชัยชนะจากการที่เราสามารถเอาชนะจิตใจของตนเองได้ และได้มีโอกาสใช้ชีวิตในเดือนเราะมะฎอนอย่างคุ้มค่า เพราะตลอดหนึ่งเดือนเต็มที่เราได้ปฏิบัติภารกิจต่างๆด้วยการละหมาดตะเราะเวี๊ยะหฺ ละหมาดกิยามุลลัยลิ์ อ่านอัลกุรอาน แจกจ่ายอาหารละศีลอด จ่ายซะกาต บริจาคเศาะดะเกาะฮฺ ขอดุอาอ์ ซิกรุลลอฮฺ รำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อิสติฆฟารฺ ขออภัยโทษต่อพระองค์ เตาบัต กลับเนื้อกลับตัวกลับใจต่อพระองค์ อดทนทำอะมัลศอและฮฺ ทำอิบาดะฮฺต่างๆมากมาย และหลายๆท่านยังได้ปิดท้ายภารกิจด้วยการอิอฺติกาฟที่มัสยิดในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนด้วย
เราจะเห็นว่าทุกๆภารกิจที่เราทำนั้นต้องใช้ความอดทน ต้องใช้การเสียสละ เสียสละทั้งในเรื่องของเวลา เสียสละในเรื่องของร่างกาย เสียสละในเรื่องของทรัพย์สิน ซึ่งก่อนที่เราจะละหมาดอีดิลฟิฏรฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็ยังทรงมีคำสั่งให้เราและผู้อยู่ใต้การอุปการะดูแลของเราได้เสียสละทรัพย์สินในการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยข้าวสารจำนวนหนึ่งศออฺหรือหนึ่งกันตัง(ประมาณ 2.74 กิโลกรัม)แก่คนยากจนขัดสนอีกด้วย
การจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺนี้จึงเป็นคำสั่งปิดท้ายภารกิจการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นทารก เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม และแน่นอนเราก็ยินดีปฏิบัติตามด้วยการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺกันอย่างครบถ้วน เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกว่า การจ่ายซะกาตฟิตรฺจะเป็นสิ่งที่มาช่วยชำระล้างตัวเราให้สะอาดจากบาปหรือความบกพร่องที่เราได้ทำในระหว่างการถือศีลอด นับเป็นความโปรดปราน ความเมตตาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานวิธีการต่างๆให้เราปฏิบัติ เพื่อที่พระองค์จะได้ทรงอภัยโทษให้แก่เรา และทรงให้เราได้หลุดพ้นจากบาป จากความผิดต่างๆ เพราะบาปและความผิดต่างๆนั้นจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราไม่ได้เข้าสวนสวรรค์ และต้องได้รับการลงโทษก่อน
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราขวนขวายทำ และมีความอดทนในการปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮฺอย่างมากมาย เป็นเพราะเรามียะกีน คือมีความมั่นใจต่อสัญญาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ว่าเราจะได้รับรางวัลตอบแทนอย่างครบถ้วน แล้วก็ยังได้รับการอภัยโทษจากพระองค์ วันนี้ เราจึงเปรียบเสมือนคนที่ได้ลบล้างความผิดต่างๆไปจนหมดสิ้น แล้วก็ยังมีผลบุญเก็บสะสมไว้เต็มกระเป๋าเพื่อเดินทางไปสู่โลกอาคิเราะฮฺ และได้รับสวนสวรรค์เป็นรางวัลตอบแทน อย่างนี้แล้วจะไม่ให้เราดีใจได้อย่างไร ?
ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺยูนุส อายะฮฺที่ 58 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
قُلْ بِفَضْلِ اللَّهِ وَبِرَحْمَتِهِ فَبِذَٰلِكَ فَلْيَفْرَحُوا هُوَ خَيْرٌ مِّمَّا يَجْمَعُونَ
“(มุฮัมมัด)จงประกาศออกไปเถิดว่า...ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮฺ อีกทั้งด้วยความเมตตาของพระองค์
ดังกล่าวนั้นพวกเขาจงดีใจเถิด...ซึ่งมันดียิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขาสะสมไว้”
ดังนั้น ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่คนๆหนึ่งจะได้รับความโปรดปราน ได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอีกแล้ว ความโปรดปราน ความเมตตาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานแก่เราก็มาจากการที่เราปฏิบัติตามคำสั่งใช้ คำสั่งห้ามของพระองค์อย่างเต็มที่ เป็นการปฏิบัติด้วยอิคลาศ ต้องไม่มีการโอ้อวดหรือมีเจตนาอื่นๆแอบแฝง และต้องตรงตามรูปแบบของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงขอให้เราได้ชุกูรฺ ขอบคุณอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ทรงให้เราได้มีชีวิตอยู่จนถึงขณะนี้ และได้มีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจต่างๆอย่างมากมาย
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนเป็นรุกุ่นสำคัญประการที่สี่ของหลักปฏิบัติในอิสลาม ที่มุสลิมซึ่งบรรลุศาสนภาวะและมีสติสัมปชัญญะต้องถือปฏิบัติทั้งชายและหญิง มีเป้าหมายเพื่อให้เราบรรลุถึงการเป็นผู้ที่มีอัตตักวา หรือภาษาไทยใช้คำว่า ความยำเกรง ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮ อายะฮฺที่ 183 ที่เราได้ยินกันอยู่เสมอ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้าแล้ว
เช่นเดียวกับที่ได้ถูกบัญญัติแก่บรรดาผู้ที่มาก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว
เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง”
นั่นก็หมายความว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงวางบทบัญญัติให้การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ได้นำเราไปสู่การเป็นผู้ที่มีอัตตักวา มีความยำเกรงต่อพระองค์ ดังนั้น ใครก็ตามที่ทำให้การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนของเขานั้นครบเงื่อนไขของการกระบวนการถือศีลอด ทำโดยอิคลาศต่อ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพียงองค์เดียว ทำอย่างตรงตามรูปแบบของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อนั้นการถือศีลอดของเขาก็จะนำเขาไปสู่เป้าหมายของการถือศีลอด ซึ่งก็คืออัตตักวา การยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริง
บทพิสูจน์ว่าเราได้บรรลุถึงการยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้วก็คือ การที่เราพยายามใช้ชีวิตประจำวันของเราให้อยู่ในความพอพระทัยของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็คือเชื่อฟังและปฏิบัติตามในทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งใช้ให้ทำ ในขณะเดียวกันก็ละเว้นและออกห่างจากทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้าม ...ถามใจตัวเองว่า... การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนในปีนี้ได้จากไปแล้ว เราได้เกิดความรู้สึกที่พร้อมจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์หรือไม่ ? แค่ไหน ? ถ้าเราเกิดความรู้สึกอย่างนั้น เราก็บรรลุถึงอัตตักวาแล้ว และผลตอบแทนที่เราจะได้รับก็คือรางวัลอันไม่สามารถคำนวณนับได้
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺเล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
«قَالَ اللهُ عَزَّ وَجَلَّ :كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ لَهُ إِلاَّ الصِّيَامَ، هُوَ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ»
“อัลลอฮฺ อัซซะวะญัลได้ตรัสว่า
การงานทุกๆอย่างของมนุษย์นั้น จะได้รับผลบุญตอบแทนตามส่วนที่เขาได้ลงทุนลงแรงทำไป
ยกเว้น การถือศีลอดเท่านั้น ที่ผลบุญตอบแทนของการถือศีลอดเป็นสิทธิของข้า
และข้าจะตอบแทนแก่เขาตามความประสงค์ของข้า”
นั่นก็คือ โดยปกติ เมื่อเราทำความดีหนึ่ง ผลบุญตอบแทนที่เราจะได้รับก็จะได้รับเป็นสิบเท่าจนกระทั่งถึง 700 เท่า ยกเว้นการถือศีลอดที่บรรลุถึงอัตตักวาเท่านั้น ผลบุญตอบแทนที่เราจะได้รับก็จะขึ้นอยู่กับความประสงค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาว่าจะทรงให้เราเท่าไร ? อันนี้ขึ้นอยู่กับผลงานของเราว่า ทำเพื่อพระองค์แค่ไหน ? ปฏิบัติการงานอย่างครบถ้วนแค่ไหน ? บกพร่องมากน้อยแค่ไหน ? ทำตรงตามความประสงค์ของพระองค์แค่ไหน ? ทำถูกใจพระองค์ไหม ? ดังนั้น การงานที่อิคลาศ และตรงกับรูปแบบของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และทำอย่างเต็มกำลังความสามารถจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันเป็นเงื่อนไขของการตอบรับอะมัลอิบาดะฮฺต่างๆของเรา
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเราได้นำเราไปสู่อัตตักวา ก็คือ อัศศ็อบรฺ หรือความอดทน
ความอดทน ก็คือการที่เราสามารถระงับยับยั้งคำพูดและการกระทำของเราที่จะทำให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตาลาไม่ทรงพอพระทัย หรือการหักห้ามตัวเราจากการกระทำสิ่งที่เป็นบาป หรือมะอฺศิยะฮฺ ความชั่วต่างๆ อันนำไปสู่การไม่พอพระทัยของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทำให้พระองค์ทรงโกรธกริ้ว ในขณะเดียวกัน ความอดทนก็คือการที่เราสามารถจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆเพื่อทำสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงพอพระทัย หรือทำสิ่งที่เป็นคำสั่งของพระองค์ได้
การถือศีลอดต้องอาศัยความอดทนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ อดทนทางด้านจิตใจอย่างไร ? ต้องอดทนที่จะไม่คิดในสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไร้สาระ อดทนต่อความหิว ความกระหาย อดทนที่จะไม่คิดทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่ออดทนทางด้านจิตใจได้ ความอดทนทางร่างกายก็จะตามมา อดทนไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่พูด ไม่ทำในสิ่งที่ไร้สาระ ไม่นินทากล่าวร้ายใคร ไม่หลอกลวงใคร ไม่ผิดสัญญา ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร ไม่สอดแนมใคร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ย ไม่ทำสิ่งต่างๆที่เป็นความชั่ว เมื่อเราสามารถผ่านสถานการณ์ความอดทนในช่วงของการถือศีลอดได้ เราก็สามารถนำเอาความอดทนที่เราได้รับการฝึกฝนในช่วงการถือศีลอดเราะมะฎอนนั้น มาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราได้
ในชีวิตประจำวัน เราจะต้องใช้ความอดทนใน 2 สถานการณ์
สถานการณ์ในยามสุขสบาย เมื่อเวลาที่เราสุขสบาย มีความสุข มีความสมหวังในสิ่งต่างๆ ประสบความสำเร็จในชีวิตตามที่เราปรารถนา เมื่อเราได้รับสิ่งเหล่านี้ ก็พึงทราบไว้เถิดว่า มันจะเป็นเวลาที่เราหลงลืมอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ง่ายที่สุด และเป็นเวลาที่เราสามารถฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ง่ายๆ ดังนั้น การอดทนที่จะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา การที่เราจะไม่หลงลืมพระองค์ในสถานการณ์ที่อยู่ในความสุขสบายจึงเป็นเรื่องยาก ซึ่งผู้ศรัทธาจะต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากที่จะพาตัวเองให้พ้นจากฟิตนะฮฺในเรื่องนี้ เพื่อที่จะยังคงยืนหยัดการเป็นผู้ศรัทธาอย่างมั่นคงเอาไว้ให้ได้
ความอดทนในอีกสถานการณ์หนึ่งก็คือ ในสถานการณ์ที่เป็นความยากลำบาก ความยากจน ความขัดสน ความไม่ดีต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะถ้าเราไม่มีความอดทน ก็อาจจะทำให้เราหลุดออกจากการเป็นผู้ศรัทธาได้ เพราะอาจจะทำให้พูดจาหมิ่นเหม่ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อาจจะเอะอะโวยวาย ตัดพ้อต่อว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังนั้น ความอดทนจึงเป็นปัจจัยหรือเป็นคุณสมบัติที่ทำให้บรรดาผู้ศรัทธาได้มีความยืนหยัดอย่างมั่นคงในหลักการศาสนา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ที่มีความอดทนได้รับรางวัลตอบแทนอย่างไม่สามารถคำนวณนับได้
ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัซซุมัรฺ อายะฮฺที่ 10 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า
(إِنَّمَا يُوَفَّى الصَّابِرُونَ أَجْرَهُمْ بِغَيْرِ حِسَابٍ)
“แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้นจะได้รับรางวัลตอบแทนของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องคำนวณ”
ก็คือได้รับรางวัลตอบแทนอย่างมากมายนั่นเอง
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ท่านอิมามอิบนุล ก็อยยิม อุละมาอ์คนสำคัญท่านหนึ่งของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ได้แบ่งความอดทนที่เราต้องประสบในชีวิตประจำวันออกเป็น 3 ประเภท
♣ ความอดทนประเภทที่หนึ่งก็คือ อดทนที่จะทำอะมัลอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อดทนที่จะทำสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งใช้ อดทนที่จะไม่ยอมให้ชัยฏอนมาชักจูงได้ง่ายๆ เช่น ไม่อยากถือศีลอด แต่ก็อดทนที่จะถือ ไม่อยากละหมาด แต่ก็อดทนที่จะละหมาด พยายามทำ เมื่อเวลาที่อากาศหนาวเย็น ไม่อยากอาบน้ำละหมาด แต่ก็อดทนที่จะอาบน้ำละหมาดท่ามกลางความหนาวเย็นนั้น
♣ ความอดทนประเภทสองก็คือ อดทนที่จะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อดทนในการละทิ้งสิ่งที่เป็นข้อห้ามของพระองค์ อดทนในการยับยั้ง หักห้ามใจตัวเอง อดทนต่อความเพริดแพร้ว ความชอบ ความสุขต่างๆของโลกดุนยารวมถึงอารมณ์ใฝ่ต่ำต่างๆ
♣ ความอดทนประเภทสาม ก็คืออดทนต่อกอฎอ-กอฎัร หรือกฏสภาวะการณ์ต่างๆ ในเรื่องของความไม่ชอบทั้งหลาย ความกลัว ความเจ็บไข้ได้ป่วย สุขภาพที่อ่อนแอ ความยากจนขัดสน ความทุกข์ยาก การสูญเสียต่างๆ อดทนในขณะต่อสู้กับศัตรู อดทนต่อบททดสอบ หรืออดทนต่อมุศีบะฮฺต่างๆที่มาประสบเรา ไม่โกรธ ไม่ตัดพ้อต่อว่า ไม่ตีโพยตีพาย แต่รับมือด้วยทีท่าที่สุขุม ยอมรับ พร้อมทั้งกล่าวว่า อินนาลิลลาฮิ วะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน หากเขามีความอดทนและปฏิบัติได้อย่างนี้ เขาก็จะได้รับคำชมเชยและได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ดังนั้น การดำเนินชีวิตประจำวันของเราภายหลังจากผ่านเดือนเราะมะฎอนไปแล้ว ก็คือการที่เราต้องอดทนในการที่จะทำสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลทรงสั่งใช้ และออกห่างจากทุกๆคำสั่งที่เป็นข้อห้าม และสามารถรับมือกับมุศีบะฮฺต่างๆได้ด้วยความอดทน เราต้องศึกษาเรียนรู้ในเรื่องศาสนาอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้ทราบว่า อะไรที่เป็นเรื่องที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาสั่งใช้ให้เราทำ และอะไรเป็นเรื่องที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งห้าม เราจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
เราอย่าปล่อยให้วันเวลาผ่านไปโดยไม่ศึกษาเรียนรู้ในเรื่องศาสนา ซึ่งเราสามารถศึกษาได้ในหลายช่องทาง ทางสื่อออนไลน์ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว ก็สามารถค้นคว้า หาความรู้ในด้านหลักการศาสนาได้อย่างมากมาย แต่ก็ต้องระมัดระวังให้เป็นสื่อที่อยู่ในหลักการศาสนาที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ด้วย และขอให้เราได้ตระหนักอยู่เสมอว่า ในขณะที่เราใช้ความอดทนในการปฏิบัติคำสั่งที่เป็นข้อสั่งใช้ของศาสนาอยู่นั้น ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องใช้ความอดทนในการที่จะละทิ้งสิ่งที่เป็นข้อห้ามด้วยเช่นกัน เราอย่าทำทั้งสองสิ่งควบคู่กันไป เพราะการทำสิ่งที่เป็นข้อห้าม หรือสิ่งที่เป็นมะอฺศิยะฮฺต่างๆควบคู่ไปกับสิ่งที่เป็นข้อสั่งใช้ มันจะมาฉุดรั้งเราไม่ให้เข้าสวรรค์ และทำให้เราต้องได้รับการลงโทษในความผิดต่างๆก่อน
الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر ، الله أكبر، الله أكبر، الله أكبر
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย สุดท้ายนี้ ในโอกาสวันอีดิลฟิฏรฺ ขอให้เราได้ร่วมกันกล่าวตักบีร ให้ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ขอให้เรารำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอ สำนึกถึงความโปรดปรานที่พระองค์ทรงมีต่อเรา ด้วยการกล่าวสรรเสริญพระองค์ และขอบคุณพระองค์ที่ทรงให้เรายังคงมีชีวิต และให้เราได้ทำอะมัลอิบาดะฮฺอย่างเข้มแข็ง ด้วยการฏออัต เชื่อฟังต่อพระองค์และปฏิบัติตนให้อยู่ในคำสั่งของพระองค์อย่างเคร่งครัดให้เต็มกำลังความสามารถของเรา และอย่าลืมการถือศีลอดสุนัต 6 วันในเดือนเชาวาล โดยจะถือติดต่อกันทั้ง 6 วันหรือจะไม่ติดต่อกันก็ได้ การถือศีลอดสุนัต 6 วันในเดือนเชาวาลหลังจากการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนจะได้รับผลบุญเสมือนกับการถือศีลอดตลอดทั้งปี
ขอให้เราได้มะอัฟต่อกัน ขอดุอาอ์ให้แก่กัน เยี่ยมเยียนกัน และแสดงความรื่นเริงต่อกัน แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของศาสนา อย่าได้ล่วงละเมิดขอบเขตของศาสนาเป็นอันขาด เพราะนั่นเท่ากับเราได้ก่ออธรรมให้กับตัวเอง
ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอภัยโทษให้แก่เรา และทรงให้อะมัลศอและฮฺ ความดีต่างๆที่เราได้สะสมมาตลอดทั้งเดือนเราะมะฎอน รวมถึงความดีที่เราได้ร่วมกันปฏิบัติในเช้าวันนี้ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิตในอีกสิบเอ็ดเดือนข้างหน้าต่อไป เพื่อเราจะได้รับความสำเร็จทั้งในโลกดุนยานี้และโลกอาคิเราะฮฺ
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 27 ว่า
«إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ اللَّهُ مِنَ الْمُتَّقِينَ»
“แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรับการงานของผู้ที่ตักวาเท่านั้น”
( ที่มา...คุฏบะฮฺวันอีดิลฟิตรฺ ปี ฮ.ศ.1437 มัสยิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )