ความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือต่อกัน
เรียบเรียงโดย อิบนุมะฮฺดี
ศาสนาอิสลามนั้นได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการให้ความช่วยเหลือต่อกันและกันเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดให้บรรดาผู้ศรัทธานั้นตระหนักว่า พวกเขานั้นเป็นพี่น้องกัน ซึ่งแน่นอนในความเป็นพี่น้องนั้น ต้องมีความรักใคร่ต่อกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยนั่นก็คือ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และย้ำเตือนว่าอย่าได้ปล่อยให้เกิดความเกลียดชังกันหรือการเป็นศัตรูกันเป็นอันขาด
ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู ตะอาลา ตรัสว่า
سورة الحجرات 10 (إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ إِخْوَةٌ فَأَصْلِحُوا بَيْنَ أَخَوَيْكُمْ وَاتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ)
“แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นพวกเจ้าจงไกล่เกลี่ยประนีประนอมกัน
ระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของพวกเจ้า และจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา”
(ซูเราะห์อัลหุญุรอต อายะห์ที่ 10)
และหะดีษรายงานจากท่าน นัวอฺมาน อิบนิบะชีร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
مَثَلُ الْمُؤْمِنِينَ فِي تَوَادِّهِمْ وَتَرَاحُمِهِمْ وَتَعَاطُفِهِمْ مَثَلُ الْجَسَدِ؛ إِذَا اشْتَكَى مِنْهُ عُضْوٌ تَدَاعَى لَهُ سَائِرُ الْجَسَدِ بِالسَّهَرِ وَالْحُمَّى
“เปรียบเทียบบรรดาผู้ศรัทธาในด้านความรัก ความเอ็นดูเมตตา และการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลของพวกเขาที่มีต่อกันนั้น เหมือนกับร่างกายเดียวกัน
กล่าวคือ เมื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกายก็จะเจ็บปวดไปด้วยทั่วร่างกายทำให้ให้นอนไม่หลับ เกิดอาการไข้”
(รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)
และหะดีษรายงานจากท่านอบีมูซาอัลอัชอะรีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
رواه البخاري (وَشَبَّكَ بَيْنَ أَصَابِعِه الْمُؤْمنُ لِلْمُؤْمِنِ كَالْبُنْيَانِ يَشُدُّ بَعْضُهُ بَعْضًا)
“ผู้ศรัทธากับผู้ศรัทธานั้น เปรียบดังเช่น อาคารที่บางส่วนของมันยึดติดกับอีกบางส่วน
และท่านได้ประสานนิ้วมือของท่านเข้าหากัน”
(รายงานโดยบุคอรีย์)
คนเป็นพี่น้องกันย่อมมีความรักใคร่ต่อกัน เอ็นดูเมตตาต่อกัน ไม่ละเมิดต่อกัน ไม่ทำร้ายกัน ช่วยแหลือเกื้อกูลต่อกันและให้ความช่วยเหลือเมื่อพี่น้องเดือดร้อน ลำบาก นี่คือความเป็นพี่น้องต่อกัน อาคารหลังเดียวกันองค์ประกอบต่างๆย่อมคอยค้ำจุนซึ่งกันและกัน หากส่วนหนึ่งส่วนใดเสียหาย ชำรุด ย่อมส่งผลกระไปยังส่วนอื่นๆของอาคารเช่นกัน
ศาสนาอิสลามนั้นกำชับให้ผู้ศรัทธาไม่ละเลยต่อหน้าที่ที่ตนเองจะต้องปฏิบัติต่อผู้อื่น เสมือนที่ตนเองก็ได้รับความช่วยเหลือมาจากผู้อื่น คือ เมื่อได้มาก็ต้องให้ไป เมื่อเป็นผู้รับแล้วก็ต้องเป็นผู้ให้ เมื่อมนุษย์ทุกคนได้รับความช่วยเหลือ ฉะนั้นมนุษย์ทุกคนก็ต้องให้ความช่วยเหลือเช่นกัน นี่คือวงจรแห่งรับและให้ความช่วยเหลือ และแน่นอน เมื่อเป็นผู้ให้แล้วก็จะได้รับต่ออีกเช่นกัน ดังเช่นที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
(مَّن يَشْفَعْ شَفَاعَةً حَسَنَةً يَكُن لَّهُ نَصِيبٌ مِّنْهَا) سورة النساء 85
“บุคคลใดให้ความช่วยเหลืออย่างดี เขามีสิทธิ์ได้รับส่วนดีจากความช่วยเหลือนั้น ”
(ซูเราะห์อันนิซาอฺ อายะห์ที่ 85)
และหะดีษรายงานจากท่านอบีฮุร็อยเราะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
(وَاللهُ فِي عَوْنِ الْعَبْدِ مَا كَانَ الْعَبْدُ فِي عَوْنِ أَخِيهِ) رواه مسلِم
“อัลลอฮฺพร้อมที่จะช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ ตราบที่บ่าวคนนั้นยังคงอยู่ในการช่วยเหลือพี่น้องของเขา”
(รายงานโดยมุสลิม)
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงวางหลักเกณฑ์แห่งการให้ความช่วยเหลือต่อกันและกันไว้ว่า จะต้องให้การช่วยเหลือต่อกันในเรื่องของคุณธรรมความดี และความยำเกรง(การเชื่อฟังอัลลอฮฺและไม่ฝ่าฝืนพระองค์) และห้ามการช่วยเหลือกันในความชั่วและการเป็นศัตรูกันเป็นอันขาด ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
سورة المائدة 2 (وَتَعَاوَنُواْ عَلَى الْبَرِّ وَالتَّقْوَى وَلاَ تَعَاوَنُواْ عَلَى الإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ)
“และพวกจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง
และจงอย่าช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน”
(ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 2)
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสั่งใช้ให้บรรดาผู้ศรัทธานั้นช่วยเหลือกันและกัน สนับสนุนกันในเรื่องของคุณธรรมความดี และความยำเกรง ซึ่งสิ่งที่เป็นคุณธรรมนั่นก็คือ การทำสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ คืออิบาดะห์ ทำความดี สร้างความดีให้เกิดขึ้น และความยำเกรงนั่นก็คือ การละทิ้งสิ่งที่อัลลอฮฺ ทรงห้าม คือความชั่วทั้งหลาย
และยังไม่เพียงพอในการช่วยเหลือกันในความดีและละทิ้งสิ่งที่อัลลอฮฺห้ามเท่านั้น แต่บรรดาผู้ศรัทธานั้นยังต้องไม่ช่วยเหลือกันและกัน สนับสนุนกัน ในเรื่องของสิ่งที่เป็นบาป และการเป็นศัตรูต่อกัน ซึ่งสิ่งที่เป็นบาปนั่นก็คือ การละทิ้งสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ให้ปฏิบัติ เช่น ละทิ้งละหมาด ละทิ้งการให้ซะกาต หรือละทิ้งความดีต่างๆ และสิ่งที่เป็นบาปคือบรรดาความชั่วทั้งหลาย เป็นต้น และการเป็นศัตรูกันนั่นก็คือ การสร้างความเกลียดชังต่อกัน ระหว่างผู้ศรัทธา และละเมิดต่อสิทธิของกันและกันทั้งด้าน ชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติยศ
และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า
(وَالْمُؤْمِنُونَ وَالْمُؤْمِنَاتُ بَعْضُهُمْ أَوْلِيَاءُ بَعْضٍ يَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَيُقِيمُونَ الصَّلاَةَ وَيُؤْتُونَ الزَّكَاةَ وَيُطِيعُونَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ أُوْلَئِكَ سَيَرْحَمُهُمُ اللَّهُ إِنَّ اللَّهَ عَزِيزٌ حَكِيمٌ) سورة التوبة 71
“และบรรดาผู้ศรัทธาชาย และบรรดาผู้ศรัทธาหญิงนั้น บางส่วนของพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลืออีกบางส่วน
ซึ่งพวกเขาจะใช้ให้ปฏิบัติในสิ่งที่ดีและห้ามปรามในสิ่งที่ชั่ว และพวกเขาจะดำรงไว้ซึ่งการละหมาด
และจ่ายซะกาต และภักดีต่ออัลลอฮฺ และรอซูลของพระองค์
ชนเหล่านี้แหละ อัลลอฮฺจะทรงเอ็นดูเมตตาแก่พวกเขา
แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ”
(ซูเราะห์อัตเตาบะฮฺ อายะห์ที่ 71)
ดังนั้นแก่นแท้ของการช่วยเหลือกันและกันที่จะสร้างประโยชน์และก่อให้เกิดความสงบสุขแก่มนุษย์นั้น คือต้องช่วยเหลือกันในการทำความดี ละทิ้งความชั่ว และไม่ช่วยเหลือกันในการละทิ้งความดี ทำความชั่วและการเป็นศัตรูต่อกัน หากว่าสังคมมนุษย์ได้นำกฎของอัลลอฮฺนี้ไปใช้ แน่นอนสังคมนั้น ย่อมเกิดสันติภาพและความสงบสุขอย่างแน่นอน
การช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามวิถีอิสลามนั้น ถือเป็นรากฐานแห่งการพัฒนาของสังคมที่แท้จริง เพราะแน่นอนสังคมที่มีแต่การให้ความช่วยเหลือกันและกันนั้น คือสังคมที่ผู้คนนั้นมีความรักใคร่ กลมเกลียวกัน ไม่คิดร้ายปองร้ายต่อกัน ไม่ละเมิดอธรรมต่อกัน ผู้คนมีจิตใจเมตตา เผื่อแผ่เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ไม่ตระหนี่ต่อกัน มีแต่การแบ่งปันกัน ดังเช่นสังคมของท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาศอฮาบะห์ ถือเป็นสังคมแห่งความสงบสุข และเป็นสังคมแห่งการช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อต่อกันอย่างแท้จริง
“สังคมแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกันคือสังคมแห่งความสุข
เพราะการช่วยเหลือซึ่งกันและกันสร้างความสุขให้แก่ผู้ให้และผู้รับ”
หากว่าผู้คนในสังคมใดๆนั้น ไม่มีการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นั่นย่อมบ่งบอกถึงสภาพอีกด้านของสังคมว่าจะต้องมีความเห็นแก่ตัว มีการละเมิด การอธรรมต่อกัน ผู้คนไม่แบ่งปันกันไม่เอื้อเฟื้อต่อกัน และนำมาซึ่งการปองร้ายทำร้ายกันในที่สุด ดังหะดีษที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เตือนถึงความหายนะที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากการอธรรม การลเมิดต่อกันและความตระหนี่ ไว้ว่า
รายงานจากท่านญาบิร บินอับดุลลอฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
(اتَّقُوا الظُّلْمَ فَإِنَّ الظُّلْمَ ظُلُمَاتٌ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَاتَّقُوا الشُّحَّ فَإِنَّ الشُّحَّ أَهْلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ حَمَلَهُمْ عَلَى أَنْ سَفَكُوا دِمَاءَهُمْ وَاسْتَحَلُّوا مَحَارِمَهُمْ) رواه مسلم
“ท่านทั้งหลายจงระวังการอธรรมเถิด เพราะแท้จริงการอธรรมนั้นคือความมืดมนต่างๆในวันกิยามะห์
และท่านทั้งหลายจงระวังความตระหนี่ เพราะแท้จริงมันเคยทำลายผู้คนในยุคก่อนพวกท่านให้พินาศมาแล้ว
มัน(ความตระหนี่)ทำให้พวกเขาต้องหลั่งเลือดกัน และทำให้พวกเขาถือเอาสิ่งที่ต้องห้ามละเมิดกลายเป็นที่อนุมัติ”
(รายงานโดยมุสลิม)
ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการอธรรมการละเมิดกันระหว่างผู้คนนั้นก็เพราะ พวกเขาไม่มีความรักใคร่ต่อกัน ไม่เอื้อเฟื้อต่อกัน พวกเขาไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่แบ่งกันกัน จึงนำมาสู่การมีความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ และการแก่งแย่งกันด้วยความไม่เป็นธรรม ละเมิดต่อชีวิตเลือดเนื้อ ทรัพย์สิน และเกียรติยศ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการมา จนนำไปสู่ความพินาศของสังคม ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกไว้ในที่สุด
จึงกล่าวได้ว่า สังคมแห่งความพินาศ คือ สังคมที่ปราศจาการให้ความช่วยเหลือต่อกัน ผู้คนในสังคมเช่นนี้ต่างก็แสวงหาสิ่งที่ตนเองต้องการจนไม่ใส่ใจต่อการที่จะต้องไปละเมิด ชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติยศของผู้อื่น และ สนใจแต่สิ่งที่ตนเองจะต้องได้จนลืมสิ่งที่ตนเองจะต้องให้ไป ดังนั้นการบ่มเพาะเรื่องความเอื้อเฟื้อต่อกัน การให้ความช่วยเหลือต่อกัน และนำไปปฏิบัติในวิถีชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ป้องกันและขจัดสภาพสังคมแห่งความหายนะ ความพินาศออกไป และนำสังคมแห่งความสงบสุขเข้ามาแทน
การช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของมนุษย์ที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่จะต้องตระหนัก ให้ความสำคัญและนำวิถีแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันในความดีและกันมาสู่การปฏิบัติในชีวิตของตน ในครอบครัวของตน ในสังคมของตน และเมื่อนั้นหากการให้ความช่วยเหลือต่อกันและกัน ได้กระจัดกระจายไปทั่วทุกคน ทุกครอบครัว ทุกสังคม แน่นอนสันติภาพ ความสงบสุข ย่อมเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน
“สร้างความสุขให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และมนุษยชาติ
ด้วยกับการนำวิถีแห่ง “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” ไปอยู่ในวิถีชีวิต”
วัลลอฮุอะอฺลัม