อิสลาม...ศาสนาแห่งความยุติธรรมและเป็นกลาง
  จำนวนคนเข้าชม  3052


อิสลาม...ศาสนาแห่งความยุติธรรมและเป็นกลาง

แปลเรียบเรียง ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา


          
ความยุติธรรมและเป็นกลาง ถือเป็นหนึ่งในหลักธรรมคำสอนที่สำคัญยิ่งของบทบัญญัติศาสนาอิสลาม ทั้งในด้านการศรัทธาและการปฏิบัติ การไม่ละเมิดขอบเขตและไม่หละหลวมนั้น เป็นหนึ่งในกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติที่สำคัญที่สุด เนื่องจากว่ากฎนี้ถือเป็นรากฐานอันสำคัญยิ่งของบทบัญญัติในด้านการศรัทธาและการปฏิบัติ และพวกเราคือประชาชาติที่ตั้งอยู่บนความเป็นกลางในหลักการอิสลามในเรื่องหลักๆและในเรื่องปลีกย่อย
 

ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัล-กุรอานไว้ว่า

وَكَذَلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا لِّتَكُونُواْ شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ

"และในทำนองเดียวกันนั้น เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง

เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษย์ทั้งหลาย 

(อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 143)

          และผู้ที่ยึดมั่นในความเป็นกลางนั้นคือ ผู้ที่มีคุณธรรมและเที่ยงตรง ดังนั้น ประชาชาติอิสลามจึงเป็นประชาชาติที่ตั้งอยู่บนความเป็นกลางท่ามกลางประชาติทั้งหลาย และกลุ่มอะห์ลุสซุนนะฮฺ วั้ลญะมาอะฮฺ ( ผู้ที่ยึดมั่นในอิสลามที่ตั้งอยู่บนอัลกุรอาน และแบบฉบับของท่านรอซูล ) ก็เป็นกลุ่มที่ตั้งอยู่บนความเป็นกลางในระหว่างกลุ่มและนิกายต่างๆของประชาชาติอิสลามเช่นกัน ซึ่งการวินิจฉัยอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากบรรดานักวิชาการอิสลาม เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี 

คำกล่าวที่ว่า " ไม่ละเมิดขอบเขต " หมายถึง ไม่คลั่งไคล้และไม่ตึงเครียดหรือเกินเลยขอบเขต 

ส่วนคำกล่าวที่ว่า " ไม่หละหลวม " หมายถึง ไม่ประมาท ไม่ละเลย และไม่บกพร่อง 

          โดยที่กฎนี้ได้ยึดหลักฐานมาจาก อายะห์อัลกุรอานที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และนอกจากนี้ก็ยังมีหลักฐานจากคำพูดของท่านนบีมูฮัมหมัด ซ็อลลัลลอหุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งท่านได้กล่าวตอบกับท่านอับดุลลอฮฺ บุตรของอัมรฺ บุตรของอาศ หลังจากที่เขาได้กล่าวกับท่านนบี  ว่า

" แน่แท้ฉันจะละหมาดในยามคํ่าคืน โดยไม่นอนไม่หลับ และฉันจะถือศีลอดตลอดชีวิต

ท่านนบี  จึงกล่าวแก่เขาว่า " ท่านได้กล่าวเช่นนี้หรือ "? 

อับดุลลอฮฺ บุตรของ อัมร์ตอบว่า " ใช่ครับ ท่านรอซูล

       ท่านนบี  จึงกล่าวว่า " แท้จริงท่านนั้นไม่สามารถทำในสิ่งดังกล่าวได้หรอก แต่จงละหมาดในยามคํ่าคืนและนอนพักผ่อน และจงถือศีลอดและหยุดพัก และจงถือตลอดสามวันในทุกๆเดือน ..."  

(ฮาดิษนี้รายงานโดยอิมามบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)

 

          จากคำกล่าวของท่านนบีมุฮัมหมัด ซ็อลลัลลอหุอะลัยฮิวะซัลลัมในที่นี้ ถือว่าเป็นคำสั่งสอนและแนวทางในการยึดมั่นให้อยู่ในความเป็นกลาง นั่นก็คือ ท่านได้สั่งสอนท่านอับดุลลอฮฺ บุตรของ อัมร์ว่า อย่าละหมาดในยามคํ่าคืนตลอดทั้งคืน หรือนอนตลอดทั้งคืน แต่จงละหมาดและแบ่งเวลาให้พอดีในการละหมาดและการนอนพักผ่อน และจงอย่าถือศีลอดตลอดทั้งปี หรือไม่ถือศีลอดเลยแม้แต่วันเดียว แต่จงถือศีลอดและพักผ่อน

 

          ดังนั้นจึงไม่มีระบบบาทหลวงหรือนักบวชในศาสนาอิสลาม และไม่มีการละเมิด,ฝืนธรรมชาติหรือหย่อนยาน แต่อิสลามได้สอนให้อยู่อย่างเป็นกลางและยุติธรรม อิสลามจึงเป็นศาสนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติชีวิตของมนุษย์ในการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ โดยที่ท่านนบีมุฮัมหมัด ซ็อลลัลลอหุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า 

           " หากว่าคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านง่วงนอนในขณะที่เขากำลังละหมาด ก็จงนอนพักผ่อนจนกว่าเขาจะหายง่วงเสียก่อน เพราะว่า หากเขาละหมาดในขณะที่ง่วงนอนนั้น เขาอาจจะไม่มีสมาธิในการละหมาด ซึ่งเขาอาจด่าหรือตำหนิตัวเองโดยที่เขามิรู้ตัวก็เป็นได้ "

          จากหะดีษบทนี้มีคำสอนว่า แท้จริงมนุษย์นั้น ตราบใดที่เขายังมีความสดชื่นกระฉับกระเฉง เขาก็จงละหมาดในยามคํ่าคืน แต่ถ้าหากว่า เมื่อใดก็ตามที่เขาง่วงนอนก็อย่าฝืนสังขารตัวเองด้วยการละหมาดทั้งๆที่ยังง่วงนอน อันเป็นสาเหตุให้เขากระทำบาป นั่นก็คือการด่าและตำหนิตัวเอง

 

          ซึ่งคำกล่าวของท่านนบีมุฮัมหมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า " จงละหมาดในขณะที่มีความสดชื่นกระฉับกระเฉง " เป็นการบ่งบอกว่า อิสลามปราศจากการละเมิดขอบเขตในการประกอบศาสนกิจ โดยอนุญาตให้ผู้ศรัทธานอนหลับได้จนถึงเช้า ถึงแม้ว่าเขาไม่ได้ละหมาดในยามคํ่าคืนเลยก็ตาม  

          และคำกล่าวของท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวาสัลลัม ที่ว่า " ดังนั้น เมื่อหากเขาง่วงจนไม่สามารถละหมาดในยามคํ่าคืนได้ ก็จงนอนเถิด " จากคำกล่าวนี้มีคำสอนว่า " ห้ามสุดโต่งหรือเกินเลยขอบเขตในการปฏิบัติศาสนกิจ " เพราะอิสลามมิได้ตั้งอยู่บนความสุดโต่งหรือเกินเลยขอบเขต 

 

          ดังที่ท่านนบีมุฮัมหมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

" การประกอบศาสนกิจที่พระองค์อัลลอฮฺทรงรักมากที่สุด ก็คือ

การงานที่ถูกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าจะเป็นการงานที่เล็กน้อยก็ตาม "

           การประกอบศาสนกิจอย่างมากมายโดยที่ผู้กระทำต้องฝืนสังขารตนเอง มิใช่สิ่งที่จะทำให้ได้มาซึ่งความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ แต่ทว่าเป้าหมายของบทบัญญัติอิสลามอันแท้จริงนั้นก็คือการปฏิบัติศาสนกิจอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยก็ตาม จากคำกล่าวนี้บ่งบอกให้เราทั้งหลายทราบว่า อิสลามปราศจากการเกินเลยขอบเขตและการละหลวม 

 

           ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยละหมาดในยามคํ่าคืนมากกว่า ๑๑ รอกาอัต ไม่ว่าจะในเดือนรอมฎอนหรือเดือนอื่นๆก็ตาม ทั้งๆที่ท่านนั้นชอบปฏิบัติศาสนกิจมากกว่าผู้ใดทั้งสิ้น ซึ่งการกระทำของท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมในเรื่องนี้ บ่งบอกให้เราทราบว่า ท่านนบีต้องการอบรมสั่งสอนให้ประชาชาติของท่านยึดแนวทางของท่านในการปฏิบัติศาสนกิจ 

 

          ฉะนั้นความเป็นกลาง คือเกราะป้องกันจากการละเมิดขอบเขต  แท้จริงผู้ใดก็ตามที่ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเกินขอบเขตจึงเป็นที่น่าวิตกว่า การงานของเขาจะมีผลลัพธ์ออกมาไม่ดี เนื่องจากได้มีหะดีษบทหนึ่งของท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้ระบุว่า 

          "แท้จริงสำหรับตัวของท่านเอง มีสิทธิที่ท่านต้องปฏิบัติต่อตนเอง และสำหรับพระเจ้าของท่านก็มีสิทธิที่ท่านจะต้องปฏิบัติต่อพระองค์ และสำหรับภรรยา ( คู่ครอง )ของท่านก็มีสิทธิ ที่ท่านจะต้องปฏิบัติต่อนาง ดังนั้น จงมอบสิทธิให้แก่ทุกๆคนอย่างเหมาะสม"

 

         และในหะดีษอีกบทหนึ่งได้เล่าเหตุการณ์ขณะที่มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาสอบถามบรรดาภรรยาของท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมว่า การปฏิบัติศาสนกิจของท่านบีนั้นเป็นอย่างไร ? ซึ่งก่อนที่พวกเขาจะได้รับคำตอบของภรรยาของท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมนั้น 

ก็มีชายคนหนึ่งในกลุ่มพูดขึ้นมาว่า " แท้จริง ฉันจะละหมาดในยามคํ่าคืนและฉันจะไม่หลับไม่นอน

และชายอีกคนหนึ่งก็กล่าวว่า " และฉันจะถือศีลอดทุกวัน โดยไม่หยุดพัก

และมีชายอีกคนได้กล่าวว่า " และฉันจะไม่แต่งงาน

       เมื่อท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอหุอลัยฮิวะซัลลัมได้ยินเช่นนั้นแล้ว ท่านจึงขึ้นไปบนมิมบัร ( แท่นที่ใช้กล่าวปราศัยหรือบรรยายศาสนธรรม ) โดยหลังจากที่ท่านได้สรรเสริญแด่พระองค์อัลลอฮฺเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

       ท่านได้กล่าวว่า " เหตุไฉนคนเหล่านี้ถึงได้กล่าวเช่นนั้นออกมา เพราะแท้จริงฉันนั้นถือศิลอด แต่ฉันก็มีวันหยุดพัก และฉันละหมาดในยามคํ่าคืน แต่ฉันก็มีเวลาสำหรับนอน และฉันก็แต่งงานกับบรรดาสตรี ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ปรารถนาสิ่งอื่นที่มิใช่แบบฉบับของฉัน เขาผู้นั้นมิใช่พวกของฉัน

        ​   และหลักฐานในเรื่องดังกล่าวนั้นมีมากมาย ซึ่งหลักฐานที่ได้นำมาเสนอข้างต้นนี้ก็เป็นการพอเพียงแล้วสำหรับผู้ที่ต้องการข้อเท็จจริง

 

           อีกตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญที่จะนำมาเสนอให้ท่านได้ทราบเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจนในเรื่องนี้ได้มากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ เรื่องของทัศนะจากกลุ่มต่างๆในเรื่องของพระนามและคุณลักษณะต่างๆของอัลลอฮฺ โดยกลุ่มชาวอะห์ลุสซุนนะห์ วัลญะมาอะห์ได้มีทัศนะและความเห็นที่ยุติธรรมและเป็นกลาง ต่างจากกลุ่มที่หลงผิดทั้งหลาย ซึ่งกลุ่มอะห์ลุสซุนนะห์ วัลญะมาอะห์มีความเห็นในเรื่องนี้ว่า มุสลิมทุกคนจำเป็นที่จะต้องเชื่อและยึดมั่นว่า พระองค์อัลลอฮฺนั้นทรงมีพระนามและคุณลักษณะต่างๆอันสูงส่งและคู่ควรกับความยิ่งใหญ่ของพระองค์ โดยที่เราจะต้องศรัทธาตามที่พระองค์ได้ทรงบอกไว้ในอัล-กุรอานหรือที่ท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวไว้ในหะดีษของท่าน โดยเราจะไม่ทำการบิดเบือน, ปฏิเสธ, ตีความ หรือเปรียบเทียบสิ่งอื่นใดกับพระองค์ ดังนั้นชาวอะห์ลุสซุนนะห์ วัลญะมาอะห์จึงเป็นกลุ่มที่เป็นกลางโดยที่ไม่ละเมิดขอบเขตและไม่ละหลวมหรือหย่อนยานดังเช่นกลุ่มอื่นๆ 


          และเช่นเดียวกันในเรื่องของกฎกำหนดสภาวการณ์ ( กอฎอและกอฎัร ) กลุ่มอะห์ลุสซุนนะห์ วัลญะมาอะห์ก็มีจุดยืนที่ยุติธรรมและเป็นกลาง ซึ่งต่างจากกลุ่มญะบะรียะฮฺ และกลุ่มเกาะดะรียะฮฺ

 

          และเช่นเดียวกันกลุ่มอะห์ลุสซุนนะห์ วัลญะมาอะห์ก็มีความยุติธรรมและเป็นกลางในเรื่องของความรักต่อบรรดาวงศาคณาญาติของท่านนบีมุฮัมมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยรักพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งต่างจากกลุ่มคอวาริจที่เกลียดพวกเขา และต่างจากกลุ่มชีอะห์ที่รักพวกเขาเหล่านั้นอย่างคลั่งใคล้และเกินขอบเขต

 

           และเช่นเดียวกัน กลุ่มอะห์ลุสซุนนะห์ วัลญะมาอะห์ มีความเป็นกลางในเรื่องของผู้กระทำบาปใหญ่ ซึ่งต่างจากกลุ่มคอวาริจ และกลุ่มมุรญิอะห์ เนื่องจากกลุ่มอะห์ลุสซุนนะห์ วัลญะมาอะห์นั้นไม่มีความเชื่อว่า ผู้ที่กระทำบาปใหญ่จะคงมีการศรัทธา (อีมาน) อย่างสมบูรณ์ ซึ่งต่างจากกลุ่มมุรญีอะห์(ซึ่งเชื่อว่าผู้กระทำบาปใหญ่จะยังคงมีความศรัทธาอีมานที่สมบูรณ์) และกลุ่มอะห์ลุสซุนนะห์ วัลญะมาอะห์ไม่เห็นว่าผู้ที่กระทำบาปใหญ่จะปราศจากการศรัทธาโดยสิ้นเชิง ซึ่งต่างจากกลุ่มคอวาริจ 

 

          โดยที่กลุ่มอะห์ลุสซุนนะห์ วัลญะมาอะห์นั้นจะไม่ตัดสินว่า ผู้ที่กระทำบาปใหญ่จะได้เข้าสวรรค์หรือตกนรก แต่ทว่าสถานภาพของเขานั้นขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺ ซึ่งหากพระองค์ทรงประสงค์ให้เขาได้เข้าสวรรค์ พระองค์ก็จะทรงให้อภัยโทษแก่เขาด้วยกับความเมตตาและความโปรดปรานของพระองค์ และหากพระองค์ทรงประสงค์ที่จะให้เขาตกนรก พระองค์ก็จะมิทรงให้อภัยโทษแก่เขา แต่จะทรงลงโทษในขุมนรกตามบาปที่เขาได้กระทำเอาไว้ด้วยกับความยุติธรรมของพระองค์ จนกว่าเขาจะถูกชำระบาปของเขาจนหมดสิ้นแล้ว พระองค์จึงจะให้เขาได้เข้าสวรรค์ในภายหลัง และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ในทุกๆสิ่งอย่างดียิ่ง 

          และที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักความศรัทธาเชื่อมั่น ส่วนในด้านการปฏิบัตินั้นจะขอยกตัวอย่างเพื่อเป็นข้อคิดและอุทาหรณ์ให้ท่านได้ทราบดังต่อไปนี้ ยกตัวอย่าง เช่น ผู้คนบางกลุ่มทำการละหมาดในยามคํ่าคืนโดยไม่หลับไม่นอน และถือศีลอดทุกวันโดยไม่หยุดพักเลยสักวัน การกระทำเช่นนี้มิใช่เป็นคำสอนของอิสลาม แต่ทว่าอิสลามนั้นได้สอนให้ละหมาดในยามคํ่าคืน และให้นอนหลับพักผ่อน และสั่งสอนให้ถือศีลอด และให้มีวันหยุดพัก ดังนั้นท่านรอซูลุลลอฮฺ ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงกล่าวว่า

" การถือศีลอดตลอดทั้งปีนั้นมิใช่แบบอย่างของฉัน "

 

          ♦ และอีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้คนบางกลุ่มทำการปฏิบัติศาสนกิจเพียงอย่างเดียว โดยละทิ้งการแต่งงาน ซึ่งการกระทำเช่นนี้มิได้เป็นแบบอย่างมาจากอิสลาม เพราะแท้จริงอิสลามนั้นสั่งสอนให้มุสลิมผู้ศรัทธาปฏิบัติศาสนกิจ และเช่นเดียวกันนั้นก็ได้สั่งให้แต่งงาน ฉะนั้นการแต่งงานในขณะศึกษาหาความรู้จึงไม่เป็นการขัดแย้งกัน และเช่นเดียวกันการละหมาดในยามคํ่าคืนและการเรียกร้อง เชิญชวนไปสู่อัลลอฮฺก็มิได้เป็นการขัดแย้งกับการแต่งงานเช่นเดียวกัน

 

          ♦ และอีกตัวอย่างหนึ่ง แท้จริงคนที่ให้ความสำคัญกับการละหมาดในยามคํ่าคืนจนเกินขอบเขต จนกระทั่งไม่สามารถตื่นขึ้นมาทำละหมาดซุบฮิได้ การกระทำของเขาดังกล่าวนี้ถือเป็นการกระทำที่ผิด เนื่องจากว่า อิสลามได้สอนให้เรียบเรียงลำดับความสำคัญของการประกอบศาสนกิจให้เหมาะสม โดยให้ปฏิบัติและเอาใจใส่ให้ความสำคัญกับการประกอบศาสนกิจที่เป็นภาคบังคับ ( ฟัรฎู ) ก่อนศาสนกิจที่เป็นภาคอาสาสมัคร ( ซุนนะห์ หรือ มุสตะฮับ ) เพราะศาสนกิจที่เป็นภาคบังคับนั้นเป็นศาสนกิจหลัก ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่อดนอนในยามคํ่าคืน จนกระทั่งไม่สามารถตื่นขึ้นมาทำการะหมาดซุบฮิได้นั้นจึงเป็นผู้กระทำผิด ไม่ว่าเขาจะอดนอนเพื่อปฏิบัติศาสนกิจหรือกระทำสิ่งอื่นๆก็ตาม

 

          ♦ และอีกตัวอย่างหนึ่ง แท้จริงมนุษย์นั้นมีสิทธิต่างๆมากมายที่เขาจะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้ 

     1. สิทธิที่เขาจะต้องปฏิบัติต่อพระองค์อัลลอฮฺนั้นก็คือ การปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสั่งใช้ โดยปฏิบัติในสิ่งที่เป็นภาคบังคับ ( ฟัรฎู )ให้ครบสมบูรณ์ก่อนที่จะปฏิบัติในสิ่งที่เป็นภาคอาสาสมัคร (ซุนนะห์ หรือ มุสตะฮับ )

 

     2. สิทธิของเขาที่จะต้องปฏิบัติต่อตนเอง โดยที่เขาจะต้องดู และ พิจารณาถึงความเหมาะสมหรือแบ่งการปฏิบัติภารกิจต่างๆให้พอดีกับความสามารถของตนเอง เช่น ปฏิบัติศาสนกิจอย่างพอดี โดยมีการพักผ่อน เช่นการถือศีลอด โดยถือศีลอดและหยุดพักเพื่อให้ร่างกายและจิตใจของเขานั้นมีความกระฉับกระเฉง สดชื่นแจ่มใส

 

     3. สิทธิของมนุษย์ที่เขาจะต้องปฏิบัติกับผู้อื่น อย่างเช่น ชี้แนะผู้อื่นให้กระทำความดี และห้ามปราม,ตักเตือนให้เขาออกห่างจากการทำความชั่ว ตลอดจนให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน

 

     4. สิทธิของเขาที่จะต้องปฏิบัติต่อภรรยาของเขา นั่นก็คือ เขาจะต้องตักเตือน และแนะนำให้นางกระทำความดีและออกห่างจากการกระทำความชั่ว และเขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับนางอย่างดีและมีความสุข และเขาจะต้องรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆที่นางมีความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเครื่องนุ่มห่ม เครื่องใช้ เงินทอง หรือที่พักอาศัย  

 

          จากสิทธิเหล่านี้ เราจะสังเกตุเห็นได้ว่า อิสลามนั้นเป็นศาสนาที่ตั้งอยู่บนความยุติธรรม เพราะอิสลามสอนให้มุสลิมผู้ศรัทธา มอบสิทธิให้กับทุกๆคนอย่างเหมาะสม โดยห้ามมิให้ละเมิดหรือเกินเลยขอบเขต

          ดังนั้น มุสลิมผู้ศรัทธาทุกๆคน จำเป็นที่จะต้องดำรงชีวิตและปฏิบัติตนให้อยู่ในความยุติธรรมในทุกๆแขนงและทุกๆด้าน โดยไม่ละเมิดขอบเขตและไม่หละหลวมหย่อนยาน