ไม่ตักเตือนกัน สังคมก็พินาศ
  จำนวนคนเข้าชม  6596


ไม่ตักเตือนกัน สังคมก็พินาศ 

อับดุลสลาม เพชรทองคำ 

 

          อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านนุอฺมาน อิบนิ บะชีร เราะฎิยัลลฮุอันฮุมาเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

مَثَلُ الْقَائِمِ عَلَى حُدُودِ اللَّهِ وَالْوَاقِعِ فِيهَا؛ كَمَثَلِ قَوْمٍ اسْتَهَمُوا عَلَى سَفِينَةٍ, فَأَصَابَ بَعْضُهُمْ أَعْلَاهَا, وَبَعْضُهُمْ أَسْفَلَهَا, فَكَانَ الَّذِينَ فِي أَسْفَلِهَا إِذَا اسْتَقَوْا مِن الْمَاءِ مَرُّوا عَلَى مَنْ فَوْقَهُمْ, فَقَالُوا: لَوْ أَنَّا خَرَقْنَا فِي نَصِيبِنَا خَرْقًا وَلَمْ نُؤْذِ مَنْ فَوْقَنَا, فَإِنْ يَتْرُكُوهُمْ وَمَا أَرَادُوا هَلَكُوا جَمِيعًا, وَإِنْ أَخَذُوا عَلَى أَيْدِيهِمْ نَجَوْا وَنَجَوْا جَمِيعًا

 

          “อุปไมย (บุคคลสองประเภทอันได้แก่...)ผู้ที่ยืนหยัดปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺกับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ อุปมาดั่งคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่บนเรือลำเดียวกัน แล้วพวกเขาก็ได้จับฉลากกัน เพื่อจะแยก-ว่าใครจะได้อยู่ด้านบนของเรือ และใครจะได้อยู่ด้านล่างของเรือ (เมื่อแยกกลุ่มคนได้แล้วว่า ใครได้อยู่ด้านบนของเรือ ใครได้อยู่ด้านล่างของเรือ พวกเขาก็จะใช้ชีวิตร่วมกันอยู่บนเรือ)

          แต่ครั้นเมื่อผู้ที่อยู่ด้านล่างของเรือต้องการจะใช้น้ำ พวกเขาก็ต้องเดินขึ้นไปชั้นบนของเรือ ต้องเดินผ่านผู้ที่อยู่ด้านบน (เพื่อที่จะไปตักน้ำมาใช้) (ด้วยเหตุนี้ พวกที่อยู่ด้านล่างของเรือ)จึงได้พูดขึ้นว่า หากเราเจาะเรือตรงด้านของเรา (คือเจาะด้านล่างของเรือ เพื่อจะนำน้ำมาใช้ได้อย่างสะดวก ไม่ต้องขึ้นไปด้านบน) จะได้ไม่ไปรบกวนคนที่อยู่ด้านบนด้วย

        (เมื่อเป็นอย่างนี้)หากคนที่อยู่ด้านบนปล่อยให้ผู้ที่อยู่ด้านล่างทำตามความต้องการที่ว่านี้ พวกเขาก็ต้องพินาศ (เพราะเรือก็จะต้องจมน้ำ แล้วทุกคนก็ต้องจมน้ำ)กันทั้งหมด แต่หากว่า พวกเขา(ที่อยู่ด้านบนของเรือได้)ร่วมมือกัน (ห้ามปรามกัน ชี้แจง ตักเตือนกันถึงผลที่จะเกิดขึ้น เพื่อ)ไม่ให้ผู้ที่อยู่ด้านล่างของเรือได้เจาะเรือ (และพวกที่อยู่ด้านล่างของเรือก็เชื่อฟัง ไม่เจาะเรือ มันก็จะทำให้เรือไม่จมน้ำ ดังนั้น ) กลุ่มคนทั้งหมดก็จะได้รับความปลอดภัย(จากการจมน้ำ)

 

         จากอัลหะดีษบทนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้เปรียบเทียบให้เราเห็นว่า กลุ่มคนที่อยู่ด้านล่างของเรือ เขาไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจว่า หากมีใครไปเจาะเรือ มันก็จะทำให้เรือรั่ว เมื่อเรือรั่ว น้ำก็จะเข้ามาในเรือ แล้วมันก็จะทำให้เรือจมน้ำ เมื่อเรือจมน้ำ มันก็จะทำให้คนที่อยู่บนเรือ จมน้ำกันไปทั้งหมด

         ดังนั้น คนที่อยู่ด้านบนของเรือ ในเมื่อเขามีความรู้ มีความเข้าใจในเรื่องนี้ แล้วเขาเห็นว่าคนที่อยู่ด้านล่างจะเจาะเรือ เขาก็ต้องไปบอก ไปตักเตือน ไปห้ามปรามคนที่อยู่ด้านล่างของเรือว่า อย่าได้ทำอย่างนั้นนะ เพราะถ้าทำอย่างนั้น มันก็จะทำให้เรือจมน้ำ แต่ถ้าหากว่า คนที่อยู่ด้านบนของเรือ เมื่อมีความรู้แล้ว ไม่ยอมตักเตือน ไม่ยอมห้ามปรามคนที่อยู่ด้านล่างของเรือ ปล่อยให้คนที่อยู่ด้านล่างของเรือเจาะเรือได้ตามสบาย เจาะเรือได้ตามใจชอบ ผลก็คือ เรือรั่ว เรือก็ต้องจมน้ำ คนบนเรือทุกคนก็ต้องจมน้ำกันหมด

 

          อุทาหรณ์นี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมยกขึ้นมาเพื่อสั่งสอน เพื่อตักเตือนประชาชาติของท่าน หรืออุมมะฮฺของท่าน ตักเตือนเราทุกคนในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเล็กหรือสังคมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภายในครอบครัวของเรา ภายในหมู่บ้านของเรา ให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยการตักเตือนกัน กำชับกันในการทำความดี ตักเตือนกันให้เรียนรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา แล้วก็ยืนหยัดในการปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในขณะเดียวกันก็ต้องห้ามปรามเรื่องของความชั่วด้วย ตักเตือนกันไม่ให้ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตักเตือนกันไม่ให้หลงออกจากแนวทางที่ถูกต้อง

 

          เมื่อคนที่มีความรู้ แล้วก็ยืนหยัดในการปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา ได้เห็นอะไรไม่ถูกไม่ต้องเกิดขึ้นในสังคมของตัวเอง ก็ต้องมีการบอกกล่าว มีการตักเตือนกัน แล้วคนที่ได้รับการตักเตือนก็ต้องยอมรับฟัง ไม่ดื้อดึง ไม่ดื้อรั้น เพราะไม่อย่างนั้น ความไม่ดี การฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติศาสนาก็จะมีการระบาดในสังคมของพวกเขา ซึ่งในท้ายที่สุด มันจะนำมาซึ่งความพินาศ เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็จะทรงส่งการลงโทษลงมา จะส่งบะลาลงมาแก่สังคมนั้น ทุกคนก็จะโดนบะลากันหมด ไม่ได้แยกว่าใครเป็นผู้ยืนหยัดในบทบัญญัติศาสนา แล้วไม่โดน หรือใครที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติศาสนา จึงจะโดน แต่ความจริงคือโดนบะลากันหมด

ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอัมฟาล อายะฮฺที่ 25 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

และพวกเจ้าจงระวังการลงโทษ ซึ่งการลงโทษนั้นมันไม่ได้จะประสบเฉพาะผู้อธรรม

ไม่ได้ประสบเฉพาะผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น

(คนที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาก็โดนด้วย) และพึงรู้ไว้เถิดว่า แท้จริง อัลลอฮฺทรงเป็นผู้รุนแรงในการลงโทษ

 

         สาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีความรู้ ผู้ที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาต้องถูกลงโทษด้วย เพราะพวกเขานิ่งเงียบ เพิกเฉย ไม่ยอมตักเตือน ไม่ยอมห้ามปรามการฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนา ปล่อยให้ความไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นในสังคม โดยที่เขาไม่ได้ทำอะไรเลย ดังนั้น การที่เราจะทำความดี ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาอยู่เพียงคนเดียว ก็ไม่สามารถที่จะยับยั้งภัยบะลาหรือการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้

          ในสมัยท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีผู้ถามท่านนบีว่า หมู่บ้านที่มีคนดี มีคนศอและฮฺอยู่ด้วยนั้น จะได้รับการลงโทษ ได้รับการความพินาศด้วยหรือ ?

         ท่านนบี ตอบว่า "ใช่" อันเนื่องมาจากการที่เขานิ่งเงียบ ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจต่อการที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนาเกิดขึ้นในสังคม โดยเขาไม่ได้ห้ามปราม ไม่ได้ตักเตือนอะไร ! 

 แล้วท่านนบีก็อ่านอายะฮฺอัลกุรอานในซูเราะฮฺอัลอิสรออ์ อายะฮฺที่ 16 ที่ว่า 

وَإِذَا أَرَدْنَا أَن نُّهْلِكَ قَرْيَةً أَمَرْنَا مُتْرَفِيهَا فَفَسَقُوا فِيهَا فَحَقَّ عَلَيْهَا الْقَوْلُ فَدَمَّرْنَاهَا تَدْمِيرًا

และเมื่อเราปรารถนาที่จะทำลายหมู่บ้านใด !

เราได้บัญชาใช้พวกฟุ่มเฟือยของหมู่บ้านนั้นๆ(ให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา )

(แต่แล้ว)พวกเขาก็ฝ่าฝืน !

ดังนั้น ดำรัส(การลงโทษจึง)สมควรแก่มันแล้ว และเราได้ทำลายมันให้พินาศ

 

          และเช่นเดียวกัน บรรดาบนีอิสรออีลก็ถูกสาปแช่ง ถูกลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็เพราะพวกเขาเพิกเฉยต่อสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ไม่ขัดขวางต่อความชั่วความผิดที่เกิดขึ้น ปล่อยให้สิ่งที่ผิดบทบัญญัติศาสนาแพร่หลายอยู่ในสังคมโดยไม่ห้ามปรามอะไรเลย

ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 78-79 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ตรัสว่า

لُعِنَ الَّذِينَ كَفَرُوا مِن بَنِي إِسْرَائِيلَ عَلَىٰ لِسَانِ دَاوُودَ وَعِيسَى ابْنِ مَرْيَمَ ۚ ذَٰلِكَ بِمَا عَصَوا وَّكَانُوا يَعْتَدُونَ ( 78 )

          “บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาของบรรดาบนีอิสรออีลนั้น ได้ถูกสาปแช่งด้วยถ้อยคำของ(นบี)ดาวูด และ(นบี)อีซาบุตรของมัรยัม อันเนื่องมาจากการที่พวกเขาฝ่าฝืน(บทบัญญัติศาสนา) และที่พวกเขาเคยละเมิดกัน

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสาปแช่งบรรดาบนีอิสรออีลผู้ปฏิเสธศรัทธาให้กลายเป็นลิง ด้วยถ้อยคำของนบีดาวูด เพราะพวกเขาละเมิดในวันสับปะโต วันเสาร์อันเป็นวันที่พวกเขาถูกห้ามจับปลา แต่พวกเขาก็ฝ่าฝืนไปจับปลาโดยใช้เล่ห์เพทุบาย และยุคต่อมาพระองค์ทรงสาปแช่งพวกเขาให้กลายเป็นลิงด้วยถ้อยคำของนบีอีซา เพราะพวกเขาขอร้องให้ท่านนบีอีซานำสำรับอาหารจากฟากฟ้ามาให้พวกเขารับประทาน เพื่อพวกเขาจะได้เชื่อมั่นต่อท่านนบีอีซามากยิ่งขึ้น และสัญญาว่าจะไม่ฝ่าฝืน แต่ครั้นพระองค์ได้ประทานสำรับอาหารมาให้ พวกเขาก็กลับดื้อดึงและฝ่าฝืนเหมือนเดิม

كَانُوا لَا يَتَنَاهَوْنَ عَن مُّنكَرٍ فَعَلُوهُ ۚ لَبِئْسَ مَا كَانُوا يَفْعَلُونَ ( 79 )

ปรากฏว่าพวกเขาต่างไม่ห้ามปรามกันในสิ่งชั่วร้ายที่พวกเขาได้กระทำมันขึ้น

ช่างเลวร้ายจริง สิ่งที่พวกเขากระทำ

 

         เราได้ยินอยู่เสมอถึงคำสอนที่ว่า มุสลิมนั้นเปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกัน เมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเจ็บปวด ส่วนอื่นๆก็ย่อมเจ็บปวดไปด้วย ดังนั้น เมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดของสังคมมุสลิมป่วย มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนาเกิดขึ้น ทั้งหมดของสังคมนั้นก็ย่อมป่วยไปด้วย คนทุกคนที่อยู่ในสังคมนั้นก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย

          ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้มีความรู้ และยืนหยัดในการปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะต้องเอาใจใส่ ไม่นิ่งเฉยต่อการฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนาที่เกิดขึ้นในสังคม พวกเขาจะต้องหาทางยับยั้งสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม สิ่งที่ผิดต่อบทบัญญัติศาสนาในทุกวิถีทาง เพื่อให้ทุกคนในสังคมได้รับความปลอดภัยจากการลงโทษของอัลลอฮฺ ซูบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          นี่ก็คืออีกเรื่องหนึ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมีความรัก มีความเป็นห่วงอุมมะฮฺหรือประชาชาติของท่าน ท่านจึงได้สั่งสอนวิธีที่จะทำให้เราได้รับความสุข ความปลอดภัยจากการถูกลงโทษ ท่านได้เรียกร้องเราให้ช่วยเหลือกัน สนับสนุนกันในการกำชับกันให้ทำความดี และห้ามปรามการทำความชั่ว หากเราละเลย ละทิ้งในเรื่องนี้ มันก็จะเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งการลงโทษอย่างเฉียบพลัน เมื่อการลงโทษได้เกิดขึ้นแล้ว การขอดุอาอ์ในเรื่องนั้นก็จะไม่ถูกตอบรับ

          อัลหะดีษ (หะซัน) ในบันทึกของอิมามอัตติรฺมีซีย์ รายงานจากท่านฮุซัยฟะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า 

وَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ لَتَأْمُرُنَّ بِالْمَعْرُوفِ وَلَتَنْهَوُنَّ عَنْ الْمُنْكَرِ أَوْ لَيُوشِكَنَّ اللَّهُ أَنْ يَبْعَثَ عَلَيْكُمْ عِقَابًا مِنْهُ ثُمَّ تَدْعُونَهُ فَلَا يُسْتَجَابُ لَكُمْ

 

          “ ฉันขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า พวกท่านจงสั่งกำชับกันให้ทำความดี และต้องร่วมมือกันห้ามปรามความชั่ว (เพราะถ้าพวกท่านไม่ทำเช่นนั้น) อัลลอฮฺก็จะทรงส่งการลงโทษของพระองค์ลงมายังพวกท่านอย่างเฉียบพลันทันที (เมื่อถึงเวลานั้น) แม้หากพวกท่านจะวิงวอนขอจากพระองค์ พระองค์ก็จะไม่ทรงตอบรับ(คำวิงวอนขอของพวกท่าน)

 

          ดังนั้น ในครอบครัวของเรา ในหมู่บ้านของเรา ในสังคมของเราก็ต้องรักษาในเรื่องของการตักเตือนซึ่งกันและกันเอาไว้ ถ้าหากมีเรื่องอะไรที่มันจะออกนอกลู่นอกทางในเรื่องของบทบัญญัติศาสนา ไม่ว่าจะเรื่องของชิริก เรื่องของบิดอะฮฺ เรื่องการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติศาสนาต่างๆ อย่างนี้ก็ต้องบอกกัน ก็ต้องชี้แจงกันให้ทราบ อย่าละเลย ต้องรีบทำทันที เพราะถ้าปล่อยไว้ให้เนิ่นนาน ความผิดต่างๆก็จะแพร่กระจายออกไป ความเข้าใจที่ผิดต่อบทบัญญัติศาสนาก็จะแพร่ออกไป ซึ่งมันก็จะนำมาซึ่งการแตกความสามัคคีของคนในสังคม 

เราจึงต้องมีการตักเตือนกัน...... 

♦ เพื่อให้บทบัญญัติศาสนาที่ถูกต้องได้ดำรงอยู่ต่อไป 

♦ ตักเตือนกันเพื่อให้เราได้ศรัทธามั่นและปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนาที่ถูกต้อง 

♦ ตักเตือนกันเพื่อให้เราได้เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ และ

♦ ตักเตือนกันเพื่อให้ห่างไกลจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม 

♦ ตักเตือนกันเพื่อให้เราระมัดระวังไม่ทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของพระองค์ 

♦ ตักเตือนเพื่อให้เราทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความอิคลาศ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

♦ เพื่อให้การงานทุกอย่างที่เราทำนั้นได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในวันกิยามะฮฺ

 

 

( ที่มา...นะศีหะหฺประจำสัปดาห์ มัสยิดดารุลอิหฺซาน บางอ้อ )