เดือนรอมฎอน เดือนแห่งการบริจาค
คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวาหรือความยำเกรงต่อพระองค์ เพราะความยำเกรงต่อพระองค์นั้นหากมีอยู่ในหัวใจของเราแล้วก็จะเป็นเสมือนกำแพงที่ขวางกั้นเราไม่ให้ทำสิ่งที่เป็นชิริก สิ่งที่เป็นบิดอะฮฺ สิ่งที่เป็นมะอฺศิยะฮฺ สิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และจะเป็นแรงผลักดันให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นอิบาดะฮฺ สิ่งที่เป็นอะมัลศอและฮฺต่างๆ ซึ่งผลของการที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา คือ การปกป้องตัวของเราเองให้รอดพ้นจากการถูกทรมานในกุบูร และปกป้องเราจากการถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ สำหรับในโลกดุนยานี้ เราก็จะได้รับชีวิตที่ดีงาม และในโลกอาคิเราะฮฺก็จะได้รับรางวัลตอบแทนด้วยสวนสวรรค์ และสิ่งพิเศษมากมายที่อยู่ภายในสวนสวรรค์นั้น
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ขณะนี้ เราได้ใช้ชีวิตอยู่ในเดือนเราะมะฎอนแล้ว ขอให้ทุกคนได้ชุกุรฺ ขอบคุณอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ทรงให้มีชีวิตอยู่จนถึงขณะนี้ ได้มีโอกาสถือศีลอดที่มีความประเสริฐมากมาย และอยู่ในเดือนเราะมะฎอนอันเป็นเดือนที่มีความประเสริฐซ้อนอยู่ในความประเสริฐอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนจึงถือเป็นสุดยอดของความประเสริฐอีกอย่างหนึ่ง ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมอบให้ เพื่อเป็นความเมตตา จึงขอให้เราได้ขอบคุณต่อความเมตตาของพระองค์ด้วยการใช้วันเวลาในเดือนนี้อย่างคุ้มค่าที่สุด ถือศีลอดและปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮฺต่างๆด้วยหัวใจ และการกระทำที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่อพระองค์เพียงองค์เดียว โดยต้องละทิ้งจากเรื่องของชิริก และพยายามให้อะมัลอิบาดะฮฺนั้นตรงตามรูปแบบซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งผลของการกระทำ ก็คือความดีงามทั้งหลายในชีวิตที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจะได้รับ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบัญญัติหลักปฏิบัติของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน โดยมีเป้าหมายให้บรรดาผู้ศรัทธาได้บรรลุถึงสถานะของอัตตักวา-ความยำเกรง ดังอายะฮฺอัลกุรอานที่เราได้ยินได้ฟังกันเสมอ ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 183 ว่า
يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ
”ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดเป็นฟัรฎู(คือเป็นการบังคับ)แก่พวกเจ้า
ดั่งเช่นที่ได้ถูกกำหนดแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง”
นั่นแสดงว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์ที่จะมอบการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนให้เป็นเครื่องมือ เพื่อให้เราใช้การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนนี้สร้างความยำเกรง หรือสร้างอัตตักวาให้เกิดขึ้นในหัวใจ ทั้งนี้เพราะการถือศีลอดมีกฏข้อใช้ มีกฎข้อห้าม และกฎข้อห้ามในบางเรื่อง ก็เป็นเรื่องที่ศาสนาอนุญาตในเวลาปกติ แต่กลับมาถูกห้ามในช่วงของการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน ที่เห็นชัดๆก็คือ เคยรับประทานอาหารที่หะลาลได้ในช่วงกลางวัน แต่ก็มาถูกห้ามในเดือนเราะมะฎอนนี้ อย่างนี้ ถ้าหากเราสามารถที่จะอดทนได้ ยอมปฏิบัติตามกฏที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงวางไว้ นั่นแสดงว่า เรายอมปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในทุกๆเรื่อง ซึ่งนั่นก็คือ อัตตักวา หรือความยำเกรง เราจะบรรลุถึงสถานะของความยำเกรงได้ ก็ต่อเมื่อเราดำเนินชีวิตด้วยสิ่งที่ดีงามตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ และออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้าม และปฎิบัติตามแบบฉบับที่มีมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมซึ่งเป็นเราะซูลของพระองค์เท่านั้น
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนจะมีอิบาดะฮฺหลักๆที่ปฏิบัติกันคือ การถือศีลอดในช่วงกลางวัน การละหมาดกิยามุลลัยลิ์ในช่วงกลางคืน การบริจาค การอ่านอัลกุรอาน การเอี๊ยะอฺติกาฟในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน การขอดุอาอ์ การซิกรุลลอฮฺ การอิสติฆฟาร การขออภัยโทษ การเตาบะฮฺ การกลับเนื้อกลับตัว
จะเห็นว่าอิบาดะฮฺต่างๆที่ทำในเดือนเราะมะฎอนนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเรากับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่การบริจาคหรือเศาะดะเกาะฮฺ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับฮักกุลอาดัม ตัวเรากับเพื่อนมนุษย์ สำหรับในเรื่องของการบริจาคนี้ ขอให้เรามาพิจารณาว่าท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมปฏิบัติอย่างไร ?
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัตติรมีซีย์ [أخرجه الترمذي عن أنس รายงานจากท่านอนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ถูกถามว่า “เศาะดะเกาะฮฺหรือการบริจาคใดที่ประเสริฐที่สุด ?”
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมตอบว่า
أفضل الصدقة صدقة في رمضان “การบริจาคที่ดีที่สุด คือการบริจาคในเดือนเราะมะฎอน”
เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ประตูสวรรค์ถูกเปิด ประตูแห่งความเมตตาถูกเปิด ประตูนรกถูกปิด เป็นเดือนแห่งการปลดปล่อยบ่าวของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ออกจากไฟนรก เป็นเดือนที่บรรดาชัยฏอนถูกล่ามโซ่ เดือนเราะมะฎอนจึงถือเป็นเดือนที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาจำนวนเดือนทั้งหมด เป็นหัวหน้าแห่งเดือนทั้งหลาย เป็นเดือนแห่งอัลกุรอาน เป็นเดือนแห่งการทำอิบาดะฮฺต่างๆ เป็นเดือนแห่งการอภัยโทษ
เมื่อเดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่มีความประเสริฐมากมาย ดังนั้น การบริจาคในเดือนนี้จึงถือว่ามีความดี มีความประเสริฐที่สุด มากกว่าเดือนอื่นๆทั้งหมด เฉกเช่นที่การละหมาดที่มัสยิดหะรอมมักกะฮฺ จะได้รับผลบุญเพิ่มพูนเป็น 100,000 เท่าของการละหมาดที่มัสยิดอื่นๆ และการละหมาดที่มัสยิดหะรอมมะดีนะฮฺ จะได้รับผลบุญเพิ่มพูนเป็น 1,000 เท่าของการละหมาดที่มัสยิดอื่นๆ และการที่ค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺเพียงค่ำคืนเดียว มีความดีงามมากกว่าหนึ่งพันเดือน นั่นก็หมายถึงว่า การทำอิบาดะฮฺแต่ละอย่างๆ หรือแม้แต่เพียงอย่างเดียวในคืนลัยละตุ้ลก็อดร์เพียงคืนเดียว จะได้รับผลบุญตอบแทนอย่างมากมายมหาศาล
นี่คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงอิบาดะฮฺที่ถูกปฏิบัติในช่วงเวลา หรือสถานที่ที่มีความประเสริฐ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ได้รับผลบุญเพิ่มพูนขึ้นด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้ ใครที่เขาบริจาคในเดือนเราะมะฎอน เขาก็จะได้รับความประเสริฐมากมาย ได้รับผลบุญตอบแทนหลายเท่าตัว มากยิ่งกว่าการบริจาคในเดือนอื่นๆ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่ได้รับการขนานนามว่า”ชะฮฺรุลมุวาซาฮฺ شهر موا ساة คือเดือนแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เดือนที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน” เป็นเดือนที่ท่านนบีจะมีความใจบุญเป็นอย่างมาก อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอิบนิ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า
كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَجْوَدَ النَّاسِ وَكَانَ أَجْوَدُ مَا يَكُونُ فِي رَمَضَانَ حِينَ يَلْقَاهُ جِبْرِيلُ وَكَانَ يَلْقَاهُ فِي كُلِّ لَيْلَةٍ مِنْ رَمَضَانَ فَيُدَارِسُهُ الْقُرْآنَ فَلَرَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَجْوَدُ بِالْخَيْرِ مِنْ الرِّيحِ الْمُرْسَلَ
“ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นผู้ที่ใจบุญที่สุด และท่านจะใจบุญมากยิ่งขึ้นในเดือนเราะมะฎอน (มากกว่าเดือนอื่นๆ) ขณะที่ท่านญิบรีลได้พบกับท่าน และท่านญิบรีลจะพบกับท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทุกๆคืนในเดือนเราะมะฎอน และจะทบทวนอัลกุรอานกับท่านญิบรีล ท่านเราะซูลุลลอฮ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นผู้ที่ใจบุญในความดีงามยิ่งกว่าสายลมที่พัดผ่านเสียอีก”
และเพราะความใจบุญนี้เอง ในเดือนเราะมะฎอน ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะซัลลัม จึงส่งเสริม สนับสนุนให้เราเลี้ยงอาหารละศีลอดแก่ผู้ที่ถือศีลอด เพราะการเลี้ยงอาหารละศีลอดให้แก่ผู้ถือศีลอดก็ถือเป็นการบริจาค และเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเป็นการกระทำที่ทำให้ได้รับผลบุญอีกด้วย อัลหะดีษ (หะซัน เศาะเฮี๊ยะหฺ) ในบันทึกของอิมามอัตติรฺมีซีย์ รายงานจากท่าน عَنْ زَيْدِ بْنِ خَالِدٍ الْجُهَنِيِّ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
رواه الترمذي وقال حديث حسن صحيح . : " مَنْ فَطَّرَ صَائِمًا كَانَ لَهُ مِثْلُ أَجْرِهِ غَيْرَ أَنَّهُ لا يَنْقُصُ مِنْ أَجْرِ الصَّائِمِ شَيْئًا "
“ผู้ใดก็ตามที่ให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอดคนหนึ่ง เขาก็จะได้รับผลบุญเช่นเดียวกับที่ผู้ถือศีลอดได้รับ
โดยที่ผลบุญของผู้ถือศีลอดนั้นไม่มีการลดหย่อนแม้แต่น้อย”
นอกจากผลบุญของผู้ถือศีลอดจะไม่ลดลงแล้ว เขายังจะได้รับการอภัยโทษในบาปต่างๆของเขา และได้รับการปลดปล่อยต้นคอของเขาออกจากไฟนรกอีกด้วย นั่นก็หมายถึง การลงโทษที่ถูกโซ่ล่ามคออยู่ในไฟนรกนั้นจะได้รับการปลดปล่อย
บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีก็ถามว่า “โอ้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ใช่ว่าทุกคนจะมีสิ่งที่จะให้เป็นอาหารละศีลอดแก่ผู้ศีลอด” หมายถึงว่า คนยากจนขัดสนคงไม่สามารถจะบริจาคเพื่อจะเอาผลบุญเหล่านี้ได้
ท่านนบี จึงตอบว่า “อัลลอฮฺจะทรงให้ผลบุญดังกล่าวนี้แก่ผู้ที่ให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนด้วยการลิ้มรสครั้งหนึ่งของนม หรือผลอินทผลัมสักเมล็ดหนึ่ง หรือน้ำสักอึกหนึ่ง
และผู้ใดก็ตามที่ให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ละศีลอดคนหนึ่งจนอิ่ม เขาก็จะได้รับการอภัยโทษจากบาปต่างๆ ของเขา และพระองค์จะทรงให้เขาได้ดื่มน้ำจากบ่อน้ำของฉัน
เมื่อเขาได้ดื่มแล้ว เขาก็จะไม่กระหายอีกเลย และสำหรับเขานั้นจะได้รับผลบุญเช่นเดียวกับผลบุญของผู้ถือศีลอด โดยไม่มีสิ่งใดพร่องไปเลยแม้แต่น้อย”
(ส่วนนี้อยู่ในบันทึกของอิมามอิบนุ คุซัยมะฮฺ )
นั่นก็หมายความว่า แม้แค่น้ำที่จะให้คนได้ละศีลอดสักอึกหนึ่ง หรือนมสักจิบหนึ่ง หรืออินทผาลัมสักเม็ดหนึ่ง เพียงเท่านี้ที่เขาได้บริจาคในการให้อาหารละศีลอดแก่ผู้ที่ถือศีลอด เขาก็สามารถที่จะได้รับผลบุญมากมายมหาศาลนี้ได้เช่นกัน
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย การบริจาคข้างต้นที่พูดถึงคือ การบริจาคทรัพย์สิน ทรัพย์สมบัติ เป็นเรื่องของสุนัต ไม่ใช่ซะกาต เพราะซะกาตเป็นฟัรฎูสำหรับมุสลิมทุกคนที่เข้าเงื่อนไขตามที่บทบัญญัติศาสนากำหนดไว้ต้องปฏิบัติอยู่แล้ว แต่การบริจาคที่เป็นสุนัต คือการที่เราเสียสละทรัพย์สมบัติเพียงบางส่วนของเรา ให้แก่ผู้ที่อ่อนแอกว่า (ผู้ที่อ่อนแอก็หมายถึง อ่อนแอในเรื่องของสภาพร่างกาย เช่น ป่วย ไม่สบาย มีอวัยวะร่างกายไม่สมบูรณ์ อ่อนแอในเรื่องที่มีทรัพย์สมบัติน้อย อ่อนแอในเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงแหล่งที่มาของการทำมาหากิน รวมถึงผู้ที่ได้รับการอธรรม ถูกเข่นฆ่า ไม่ว่าจะอยู่ใกล้เรา หรือพี่น้องมุสลิมที่อยู่ห่างไกลเรา เช่นที่พม่า ที่ปาเลสไตน์) การบริจาคก็จะมาช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ถือเป็นการช่วยเหลือกันในสังคม ทำให้สังคมเข้มแข็ง ทำให้คนในสังคมมีความสุข ซึ่งเราจะยังไม่พูดถึงการบริจาคในรูปแบบอื่นๆ
วันนี้เราจะพูดกันในเรื่องของความประเสริฐของการบริจาคในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เน้นย้ำ และกล่าวถึงผลบุญอันมากมายที่ผู้บริจาคในเดือนเราะมะฎอนจะได้รับ จึงขอให้เราได้ปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านนบีด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เราไม่ต้องไปคิดว่าเดือนเราะมะฎอนมีคนบริจาคกันเยอะแยะแล้ว เดี๋ยวเราค่อยไปบริจาคในเดือนอื่นๆ เพราะความคิดอย่างนี้ไม่สอดคล้องกับแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ท่านนบีจะบริจาคในทุกๆเดือน และทำให้มากยิ่งขึ้นในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งเป็นการทำให้เดือนเราะมะฎอนมีความคึกคัก ทำให้ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าได้มีความสุขด้วย และมีส่วนที่จะทำให้เขาได้นำส่วนที่ได้รับการบริจาคมาไปบริจาคบ้าง เป็นการส่งต่อความดี ทำให้ทุกคนได้รับผลบุญจากการบริจาคในเดือนเราะมะฎอน ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนยากจนขัดสน คนอ่อนแอ
ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ก่อนจบคุฏบะฮฺในวันนี้ ขอให้ตระหนักว่า เมื่อเราอยู่ในสภาพของผู้ถือศีลอดให้เรารักษามารยาทของการถือศีลอด โดยเราต้องพยายามศึกษาเรียนรู้ ข้อห้ามข้อใช้เพื่อที่จะให้การถือศีลอดของเราถูกต้อง และไม่เป็นโมฆะ รักษาจิตใจให้คิดแต่เรื่องดีๆ รักษาคำพูดให้พูดแต่เรื่องดีๆ รักษาอวัยวะร่างกายให้ห่างไกลจากสิ่งต้องห้ามและสิ่งไร้สาระทั้งหลาย หมั่นขออิสติฆฟาร ขออภัยโทษในความผิดต่างๆทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ขอให้เราได้เตาบะฮฺ กลับเนื้อกลับตัวกลับใจ ..’และสิ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ การขอดุอาอ์ให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดช่วยเหลือเราให้การถือศีลอดของเราง่ายดาย ได้รับการตอบรับจากพระองค์ โปรดให้เราได้รักษาการถือศีลอดและกิยามุลลัยลิ์ในเราะมะฎอนให้เข้มแข็ง และให้มีความขะมักเขม้นตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือน และให้เราได้พบกับค่ำคืนของลัยละตุลก็อดรฺ อินชาอัลลอฮฺ
เมื่อได้ขอดูอาอ์ให้ตัวเองแล้ว ก็อย่าลืม ขอให้ลูกให้หลาน ให้ครอบครัว ให้หมู่บ้าน ให้สังคมส่วนรวม ให้พี่น้องมุสลิมที่อยู่ห่างไกล ที่ได้รับความอธรรมอยู่ในขณะนี้ด้วย
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดเมตตาเราให้มีชีวิตอยู่จนจบเราะมะฎอนในปีนี้ และขอให้ได้พบกับเราะมะฎอนในปีถัดไป ให้ได้ปฏิบัติอะมัลศอและฮฺต่างๆด้วยความอิคลาศ มุ่งหวังตั้งใจเพื่อหวังรางวัลตอบแทนจากพระองค์เพียงองค์เดียว ตัดขาดจากการทำชิริก ห่างไกลจากการทำบิดอะฮฺ ขอให้เราได้รับการอภัยโทษจากพระองค์ในความผิดต่างๆที่ผ่านมา ขอพระองค์ทรงรับอะมัลศอและฮฺต่างๆของเราที่ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเราะมะฎอนปีนี้ และขอพระองค์โปรดให้เรามีชีวิตอยู่และได้พบกับเดือนเราะมะฎอนปีหน้า ....อินชาอัลลอฮฺ
คุฏบะฮฺวันศุกร์ ณ มัสยิดดารุ้ลอิห์ซาน