การโอ้อวดที่ชอบมาแอบแฝงอยู่ในหัวใจ
  จำนวนคนเข้าชม  22560


การโอ้อวดที่ชอบมาแอบแฝงอยู่ในหัวใจ

 อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

จุดตัดสินที่จะเรียกการกระทำต่างๆของเราว่าคือ การโอ้อวดหรือการริยาอ์ ก็คือ เนียต

เนียตหรือนียะฮฺ (نِيَّة) หมายถึง ความตั้งใจ หรือการตั้งเจตนาที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด

          หากสิ่งที่เราต้องการจะทำ เป็นเรื่องของมะอฺศิยะฮฺ การทำบาปต่างๆ ถึงแม้ว่าเรามีเนียตที่ดีในการทำมะอฺศิยะฮฺ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการทำความดี ยกตัวอย่างเช่น ไปขโมยเงินคนๆหนึ่ง โดยมีเจตนาดี มีเนียตที่ดีว่า เพื่อเอามาช่วยเหลือคนจน อย่างนี้ไม่ถือเป็นความดี และถ้าหากว่าทำมะอฺศิยะฮฺแล้ว ยังมีเนียตที่ไม่ดีอีก อย่างนี้จะมีบาปเพิ่มขึ้น

 

          หากสิ่งที่เราต้องการทำเป็นเรื่องของมุบาหาต เรื่องของสิ่งที่ศาสนาอนุญาต อย่างเช่นการใช้อินเตอร์เน็ต ศาสนาไม่ได้ห้าม อนุญาตให้เราใช้อินเตอร์เน็ตได้ ถ้าเราเข้าไปในเว็ปที่เป็นวิชาความรู้ต่างๆ เข้าไปอ่านโดยเรามีเนียตว่า ให้ความรู้เหล่านั้นพาตัวเราไปสู่ความใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างนี้ถือเป็นอิบาดะฮฺ แต่ถ้าเราเข้าไปอ่านเฉยๆ อ่านสนุกๆ ไม่ได้เนียตอะไร อย่างนี้ก็ไม่มีผลตอบแทน แต่ถ้าเข้าไปดูไปอ่านเรื่องที่ผิดต่อบทบัญญัติศาสนา อย่างนี้ก็เป็นบาป

         แต่หากสิ่งที่เราต้องการทำเป็นเรื่องของการเฏาะอัต-การเชื่อฟังและปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา การงานประเภทนี้ต้องอาศัยเนียตที่ดีตั้งแต่เริ่มต้น จึงจะได้รับผลบุญ

         เนียตที่ดีหมายถึง เนียตที่ทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว โดยไม่ยอมให้มีชิริกใดๆแฝงอยู่ในเนียตนั้นเลย นั่นก็คือเรื่องของอัลอิคลาศ

          ถ้าหากมีเจตนาจะให้คนอื่นเห็นสิ่งที่เราทำ เรียกว่าริยาอ์-การโอ้อวด อย่างนี้ถือเป็นมะอฺศิยะฮฺ และเป็นชิริกเล็ก ซึ่งชิริกเล็กนี้อาจนำไปสู่ชิริกใหญ่ได้ด้วย นักปราชญ์ของอัลอิสลามจะแบ่งเป็น 3 กรณี

 

         กรณีแรกคือ เจตนาตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องการทำเพื่อให้คนเห็น คนชื่นชม หรือทำเพื่อต้องการอำนาจ ต้องการเกียรติยศชื่อเสียง เกิดริยาอ์ขึ้นในหัวใจตั้งแต่แรก สภาพอย่างนี้เรียกว่า การริยาอ์ หรือการโอ้อวด ถือเป็นชิริกเล็กประเภทหนึ่ง เรียกว่า เคาะฟีย์ คือชิริกที่ซ่อนเร้น มองไม่เห็น มีชิริกในการเนียตหรือการตั้งเจตนา เป็นการทำชิริกทางใจ ในสภาพอย่างนี้จะทำให้การทำอิบาดะฮฺต่างๆของเรานั้น เสียหาย ไม่ได้รับผลบุญ ไม่ได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          กรณีที่สองคือ เจตนาตั้งแต่แรกว่าทำเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่ในระหว่างที่ทำการงานนั้น ทำๆไปก็เริ่มมีริยาอ์มีการโอ้อวดเกิดขึ้น กรณีนี้จะมี 2 อย่าง

     อย่างแรก หากว่าการงานหรืออิบาดะฮฺเป็นการงานที่ไม่ได้เชื่อมโยงกัน เช่น การทำเศาะดะเกาะฮฺ ตอนเริ่มทำมีเนียตที่ดี ก็ถือว่าเศาะดะเกาะฮฺตอนนั้นใช้ได้ แต่พอทำๆไปตอนหลัง เนียตเริ่มเปลี่ยนไป มีการริยาอ์เกิดขึ้น อย่างนี้การเศาะดะเกาะฮฺในช่วงนี้ ใช้ไม่ได้ เป็นโมฆะ

      อย่างที่สองหากว่าเป็นการงานที่เชื่อมโยงกัน เช่น การละหมาด เมื่อตอนเริ่มต้นละหมาดมีเนียตดี แต่พอละหมาดไป มีคนเข้ามาเห็นมากขึ้นๆ ก็เริ่มมีการริยาอ์เกิดขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ หากเราพยายามที่จะลบความรู้สึกริยาอ์ออกไป อย่างนี้การริยาอ์จะไม่ส่งผลใดๆต่อการละหมาดหรือการงานของเรา แต่ถ้าเราไปยินยอมให้การริยาอ์ดำเนินต่อไป ไม่ยอมขจัดมันออกไป อย่างนี้การละหมาดของเรา หรือการงานอิบาดะฮฺของเราใช้ไม่ได้เลย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงรับ

 

          กรณีที่สาม หากเราทำอิบาดะฮฺ หรือปฏิบัติการงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเกิดริยาอ์ขึ้น อย่างนี้ถือเป็นวัสวาส-ความลังเล จะไม่มีผลกระทบกับการงานที่ได้ปฏิบัติเสร็จสิ้นไปแล้ว และไม่มีผลต่อคนที่ทำด้วย

 

เรามาดูว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวถึงการริยาอ์-การโอ้อวดไว้อย่างไร ?

 

         อัลหะดีษในมุสนัดของท่านอิมามอะหฺมัด รายงานจากท่านมะหฺมูด บิน ละบีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

إِنَّ أَخْوَفَ مَا أَخَافُ عَلَيْكُمْ الشِّرْكُ الْأَصْغَرُ»، 

“แท้จริง สิ่งที่ฉันกลัวว่ามันจะประสบกับพวกท่านมากที่สุด คือเรื่องของชิริกเล็ก”

นั่นก็คือ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมีความเป็นห่วงพวกเราเป็นอย่างมาก ว่าจะทำชิริกเล็กนี้

บรรดาเศาะฮาบะฮฺ ถามว่า โอ้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ชิริกเล็กคืออะไร ? 

ท่านนบี ตอบว่า มันคือการริยาอ์-การโอ้อวด


         ท่านนบี จึงได้เตือนเราเอาไว้ ให้เราได้ระมัดระวังเรื่องของการริยาอ์-การโอ้อวด อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺมัด ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

«أَيُّهـَا النَّاسُ اتَّقُوا الشِّرْكَ، فَإِنَّهُ أَخْفَى مِنْ دَبِيبِ النَّمْلِ،

“พวกท่านจงกลัวการชิริกเล็กเถิด เพราะแท้จริง มันแฝงเร้นยิ่งกว่ามดดำที่คลานอยู่บนหินดำเสียอีก”

 

          ท่านนบีได้เปรียบเทียบการริยาอ์-การโอ้อวดว่า มันเหมือนกับมดดำที่คลานอยู่บนหินดำ คือมันแทบจะมองไม่เห็นเลย เวลาที่มดดำมันเดินไปบนพื้นที่ที่มีสีดำ ถ้าไม่สังเกตให้ดี เราก็แทบจะมองไม่เห็นมัน

        การเปรียบเทียบนี้ก็เพื่อให้เราได้ตระหนักว่า การริยาอ์หรือการโอ้อวดนั้น มันมักจะแอบแฝงเข้ามาอยู่ในหัวใจของเรา อยู่ในเนียตของเราโดยที่เราไม่ทันได้ระวังตัว ไม่ทันรู้ตัว แทบจะไม่รู้ตัวเลย แล้วหากมันแอบแฝงเข้ามาในเนียต ในการกระทำของเรา มันมีผลให้ความดีต่างๆ อะมัลศอและหฺต่างๆที่เราทุ่มเททำไปตั้งมากมายก่ายกอง กลายเป็นโมฆะ เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาไม่ทรงตอบรับสิ่งดีๆที่เราทำ ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ให้ดี

 

           จะขอยกตัวอย่างถึงสิ่งที่เราต้องระมัดระวังในเรื่องของการริยาอ์หรือการโอ้อวดที่มันแฝงอยู่ในหัวใจของเรา โดยที่เราอาจจะมองไม่เห็น หรือไม่รู้ตัว 

     ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัฎฎุฮา الضُّحَىٰ อายะฮฺสุดท้าย อายะฮฺที่ 11 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

وَأَمَّا بِنِعْمَةِ رَبِّكَ فَحَدِّثْ

“และส่วนเนี๊ยะอฺมะฮฺแห่งพระเจ้าของเจ้านั้น เจ้าจงบอกกล่าวเถิด”

 

         อายะฮฺนี้ บอกให้เรา ได้บอกเล่าเนี๊ยะอฺมะฮฺ ความเมตตา ความโปรดปราน ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานแก่เราให้คนอื่นได้ทราบ เช่น ได้รับริสกีเป็นเงินจำนวนมาก ก็ให้เราบอกเพื่อที่จะแบ่งปันริสกีให้แก่คนที่ยากจนขัดสน บอกด้วยความรู้สึกที่ขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา สำนึกในมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อเรา บอกเพื่อให้ผู้อื่นได้ทราบถึงความเมตตาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีต่อบ่าวของพระองค์ บอกเพื่อที่จะได้ใช้ริสกีนั้นไปในหนทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ให้ปิดบังเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้จ่ายริสกีไปในหนทางของพระองค์ ไม่บริจาค ไม่จ่ายซะกาต

 

          และไม่ใช่การบอกโดยมีเจตนาเพื่อจะโอ้อวดว่า ฉันได้ริสกีมาก คือมีความเย่อหยิ่ง มีความโอ้อวดแฝงอยู่ในการบอกนั้น เห็นไหมว่า เส้นแบ่งของเจตนาในการบอกนี่มันห่างกันนิดเดียว นี่แหละ ที่ท่านนบีของเราจึงได้เปรียบการโอ้อวด ว่ามันแฝงเร้นยิ่งกว่ามดดำที่คลานอยู่บนหินดำเสียอีก ถ้าไม่รู้เท่าทันมัน เราก็ทำมันไปเสียแล้ว ไม่รู้ตัว เมื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เราพูดออกไป บอกออกไปถึงเนี๊ยะอฺมะฮฺ ความดีงามต่างๆที่เราได้รับ แต่ต้องระมัดระวังเนียตของเราในการบอกด้วย ให้มันเป็นการบอกที่รู้สึกสำนึกในความเมตตาของพระองค์ ไม่ใช่บอกเพราะต้องการจะโอ้อวด......

 

          มาดูอีกตัวอย่างหนึ่งของการโอ้อวด ว่ามันแฝงเร้นยิ่งกว่ามดดำที่คลานอยู่บนหินดำเสียอีก มาพิจารณากันอีกสักตัวอย่างที่นักปราชญ์ของอัลอิสลามได้เตือนเราไว้ คือเรื่องที่บางครั้ง คนเราก็พูดตำหนิติเตียนตัวเองในที่สาธารณะ เรื่องอย่างนี้ก็ต้องระวัง เพราะมันอาจกลายเป็นว่า การที่เราตำหนิตัวเองให้คนอื่นฟัง มันก็อาจจะมีเจตนาแฝงเพื่อให้คนอื่นคิดว่า เราตำหนิตัวเองเพราะเราเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนยอมรับความผิดพลาด ยอมรับความบกพร่อง เพื่อให้ผู้คนได้พูดชมเชย พูดสรรเสริญ อันเป็นการยกย่องตัวเองทางอ้อม ซึ่งท่านอิบนุ เราะญับ ปราชญ์อะฮฺลุซซุนนะฮฺ ฯ ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งได้ระบุไว้ว่า นี่คือรูปแบบหนึ่งที่ซับซ้อนของการริยาอ์หรือการโอ้อวด คือไม่ใช่การมาพูดจาชมเชยตัวเองตรงๆ แต่พูดตำหนิตัวเองเพียงเพื่อให้คนอื่นมาชมเชยตัวเองทางอ้อม....เห็นไหมครับ เห็นความซับซ้อนของการริยาอ์-ความโอ้อวดที่มันแฝงอยู่ในหัวใจของเราไหม ? ถ้าหากไม่มีปราชญ์ ไม่มีอุละมาอ์มาชี้ให้เห็น เราก็อาจจะมองไม่ออกว่า แม้แค่การตำหนิตัวเองให้คนอื่นฟัง มันก็อาจจะกลายเป็นว่า เราได้ให้ความโอ้อวดแฝงอยู่ในการตำหนิตัวเองของเราได้เหมือนกัน

 

          ♣ การริยาอ์-การโอ้อวดอาจอยู่ในรูปแบบของการแต่งกายที่ดูซ่อมซ่อ คือแต่งกายให้ดูซ่อมซ่อด้วยเจตนาเพื่อต้องการสร้างความประทับใจให้ผู้อื่นได้รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ไม่สนใจรูปลักษณ์ภายนอก สนใจแต่เรื่องของโลกอาคิเราะฮฺ

 

     ♣ หรือในทางตรงข้าม การริยาอ์-การโอ้อวดอาจอยู่ในชุดที่หรูหราฟู่ฟ่า เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ที่พบเห็น

 

     ♣ หรืออาจจะสวมใส่ชุดของอุละมาอ์ โดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้คนได้มองว่าเขาเป็นอุละมาอ์คนหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนั้นทำไปโดยมีเจตนาแฝงไปด้วยการโอ้อวด

 

     ♣ แต่โดยมารยาทอันดีงามของมุสลิมนั้น หากใครมีความสามารถที่จะหาเสื้อผ้าดีๆมาสวมใส่ ก็ให้เขาสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีๆนั้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความรู้สึกขอบคุณที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีเมตตาต่อเขา โดยเขาจะต้องไม่แสดงความเย่อหยิ่งใดๆ หรือมีเจตนาในเรื่องของการโอ้อวด

 

     ♣ แต่ถ้าเขาไม่มีความสามารถที่จะหาเสื้อผ้าดีๆมาสวมใส่ได้ ก็ให้เขาแต่งตัวให้เหมาะกับฐานะของเขา นี่คือสิ่งที่นักวิชาการแนะนำไว้

 

          การริยาอ์-การโอ้อวดอาจอยู่ในรูปของการคบหากับผู้คนก็ได้ ตัวอย่างเช่น คนๆหนึ่งทำตัวสนิทสนมกับผู้รู้ คอยติดตามผู้รู้ โดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้คนได้เห็นว่า เขาเป็นลูกศิษย์คนสำคัญของผู้รู้ท่านนั้น ลักษณะนี้ก็อยู่ในเรื่องการริยาอ์ การโอ้อวด เราต้องมีเจตนาในการหาความรู้ เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          การริยาอ์ การโอ้อวดอาจอยู่ในรูปของลูกหลานของเรา เมื่อเราเลี้ยงลูกหลานให้มีความสามารถในเรื่องต่างๆ ท่องจำอัลกุรอานได้ ท่องดุอาอ์ได้ ชนะการแข่งขันในด้านต่างๆ ก็ต้องระมัดระวังที่จะคุยอวดต่อหน้าคนอื่น หรือรู้สึกลำพองใจในความสำเร็จนั้น หากเราจะเล่าเรื่องให้คนอื่นๆฟังก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นเรื่องของการคุยโม้โอ้อวด ขอให้เรามีเจตนาที่บริสุทธิ์ในการเล่า เพื่อกระตุ้นพ่อแม่คนอื่นๆให้ปฏิบัติต่อลูกเช่นเดียวกับที่เราปฏิบัติ

 

         นั่นก็คือตัวอย่างบางตัวอย่างที่นักวิชาการของเราได้แนะนำไว้ เพื่อทำให้เราพอจะมองเห็นถึงการริยาอ์-การโอ้อวดที่มันสามารถจะแฝงเข้ามาอยู่ในหัวใจของเรา ในการกระทำต่างๆของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยว่า มันคือการริยาอ์- การโอ้อวด

 

กับดักของการริยาอ์-การโอ้อวด

 

         ซึ่งชัยฏอนมันจะมีบทบาทเป็นอย่างมากที่จะทำให้เราตกอยู่ในความริยาอ์ การโอ้อวดนี้ แต่ถ้าเราสำนึกหรือตระหนักถึงคำตักเตือนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่ให้ระมัดระวังเรื่องการริยาอ์นี้ การโอ้อวดนี้ เราก็จะระมัดระวังมัน จนกระทั่งตกอยู่ในสภาพที่ทำให้เราต้องยับยั้งการทำความดีโดยสิ้นเชิง เพราะความกลัวต่อการริยาอ์นี้ ความคิดเช่นนี้ก็คือ กับดักของชัยฏอน

 

          จะขอยกตัวอย่างในเรื่องนี้ จากคำถามของสตรีคนหนึ่ง ที่เธอมีคำถามไปถามท่านชัยคฺ บินบาซ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ นักปราชญ์ของอัลอิสลามคนสำคัญท่านหนึ่งของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ ฯในยุคปัจจุบัน เธอมีคำถามไปถามว่า เธอมีความกลัวต่อการโอ้อวดเป็นอย่างมาก จนไม่สามารถที่จะให้คำแนะนำต่อคนบางคนได้ หรือแม้แต่จะบอกพวกเขา ไม่ให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นเรื่องมะอฺศิยะฮฺ เพราะกลัวว่า การทำอย่างนั้นจะกลายเป็นเรื่องของการโอ้อวด มีความกลัวว่า คนอื่นจะคิดว่าเธอกำลังโอ้อวด ดังนั้น เธอจึงไม่ให้คำแนะนำใดๆ ไม่มีการตักเตือนใดๆต่อผู้คน เธอบอกกับตัวเองว่า พวกเขาเป็นคนมีการศึกษา พวกเขาคงไม่ต้องการคำตักเตือนของเธอ เธอจึงขอให้ท่านชัยคฺ ช่วยแนะนำเธอหน่อย

 

ท่านชัยคฺบิน บาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ จึงได้ให้คำตอบว่า...

          “นี่คือหนึ่งในกับดักของชัยฏอน ที่มันใช้วิธีการยับยั้งมุสลิมไม่ให้เรียกร้องเชิญชวนผู้คนไปสู่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ยับยั้งมุสลิมไม่ให้กำชับผู้คนมาสู่การทำความดี ห้ามปรามผู้คนจากการทำความชั่ว

           ดังนั้น หนึ่งในหลายวิธีที่ชัยฏอนมันทำ คือการทำให้เราคิดว่า “การกระทำดังกล่าว” เป็นการโอ้อวด หรือคิดว่า “ผู้คน” จะคิดว่าการกระทำของเรานั้นเป็นการโอ้อวด ดังนั้นเราไม่ควรที่จะให้ความสนใจต่อสิ่งดังกล่าว หากแต่สิ่งที่เราควรทำคือ การทำความดีต่อไป เพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว เราควรมีความอิคลาศต่อเนียตของเรา

          เราอย่าใส่ใจต่อ กับดักของชัยฏอน เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงรู้อย่างดีถึงสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเรา เจตนาของเราและความจริงใจของเราที่มีต่อพระองค์ และความจริงใจที่เรามีต่อบ่าวของพระองค์

         แน่นอนว่า “การโอ้อวด” คือชิริก คือการตั้งภาคี และมันไม่เป็นที่อนุมัติในอัลอิสลาม หากแต่มันก็ไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับมุสลิมผู้ศรัทธาที่จะยับยั้งตัวของพวกเขาจากการทำบางสิ่งบางอย่างที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้ เช่นการเรียกร้องผู้คนมาสู่อัลลอฮฺ การเชิญชวนผู้คนมาสู่สิ่งที่ดีงาม และการห้ามปรามผู้คนจากสิ่งที่ชั่วร้าย อันเนื่องมาจาก “ความกลัวต่อการโอ้อวด”

          ดังนั้น เราจำต้องตระหนักถึงสิ่งนี้ เราควรทำในสิ่งที่เราได้รับคำสั่งใช้ให้กระทำ ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 71 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

وَالْمُؤْمِنُونَ وَالْمُؤْمِنَاتُ بَعْضُهُمْ أَوْلِيَاءُ بَعْضٍ ۚ يَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ وَيُقِيمُونَ الصَّلَاةَ وَيُؤْتُونَ الزَّكَاةَ وَيُطِيعُونَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ ۚ أُولَٰئِكَ سَيَرْحَمُهُمُ اللَّهُ ۗ إِنَّ اللَّهَ عَزِيزٌ حَكِيمٌ

           “บรรดาผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิง คือเอาลิยาอฺ (ผู้ช่วยเหลือ ผู้สนับสนุน สหาย ผู้ปกป้อง) ของกันและกัน พวกเขากำชับใช้ (ผู้คน) มาสู่ อัล มะอฺรูฟ (คือการเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว และทุกๆ สิ่งที่อิสลามได้สั่งใช้ให้กระทำ) และพวกเขาห้ามปราม (ผู้คน) จากอัล มุงกัรฺ (คือห้ามการเชื่อในพระเจ้าหลายองค์ และฝ่าฝืนต่อทุกๆ สิ่งที่อิสลามสั่งห้าม) พวกเขาทำการละหมาด จ่ายซะกาตฺ และเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ อัลลอฮฺจะประทานความเมตตาต่อพวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ และผู้ทรงปรีชาญาณ”

 

          นั่นก็คือ คำตอบโดยสรุปของท่านชัยคฺ บิน บาซ ที่เราต้องใส่ใจด้วยเหมือนกัน เพราะเราก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่ติดกับดักของชัยฏอนในเรื่องนี้ได้ อันเนื่องมาจากความสลับซับซ้อนของการริยาอ์ – การโอ้อวดที่มันแฝงเข้ามาอยู่ในหัวใจของเรา โดยที่เราก็อาจไม่รู้ตัว ไม่ได้ตั้งใจ ที่ท่านนบีบอกว่า มันแฝงเร้นยิ่งกว่ามดดำที่คลานอยู่บนหินดำเสียอีก

 

          ดังนั้น เราจะมีวิธีป้องกันตัวเองในเรื่องนี้อย่างไร ? ก็ขอให้มาพิจารณาอัลหะดีษในเรื่องนี้ต่อ เมื่อบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้ถามท่านนบีว่า

     โอ้ ท่านเราะซูลุลลอฮฺ แล้วเราจะป้องกันมัน(การริยาอ์ การโอ้อวด)ได้อย่างไร ? ในเมื่อมันแฝงเร้นยิ่งกว่ามดดำที่คลานอยู่บนหินดำอย่างนี้ 

     ท่านนบี ตอบว่า ท่านทั้งหลายจงกล่าวว่า

اللَّهُمَّ إِنَّا نَعُوذُ بِكَ مِنْ أَنْ نُشْرِكَ بِكَ شَيْئًا نَعْلَمُهُ، وَنَسْتَغْفِرُكَ لِـمَا لا نَعْلَمُ 

     “โอ้อัลลอฮฺ แท้จริง เราขอความคุ้มครองต่อพระองค์ให้พ้นจากการที่เราได้ตั้งภาคีใดๆต่อพระองค์โดยที่เรารู้ตัว (นั่นก็หมายถึงว่า ขอให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงคุ้มครองเรา ปกป้องเราให้พ้นจากการทำชิริกที่เรารู้อยู่ว่ามันเป็นชิริก ขอให้เราได้ออกห่างจากมัน ไม่ไปทำมัน)

     และขออภัยโทษต่อพระองค์ในสิ่งที่เราได้ตั้งภาคีโดยที่เราไม่รู้ (ก็คือเราได้ทำสิ่งที่เป็นชิริกเข้าโดยที่เราไม่รู้ตัวว่ามันเป็นชิริก ก็ขอให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงอภัยโทษให้แก่เราด้วย)”

          นั่นก็คือ ดุอาอ์ที่ท่านนบีของเราให้เราอ่านเพื่อใช้ป้องกันการโอ้อวดที่มันจะแฝงเข้ามาในการกระทำต่างๆของเรา ก็ขอให้เราได้กล่าวอยู่เสมอๆเพื่อป้องกันการริยาอ์หรือการโอ้อวดในหัวใจของเรา ขอเป็นภาษาไทยก็ได้

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานบะเราะกะฮฺ ความจำเริญ ความเมตตาแก่เรา ขอพระองค์โปรดอภัยโทษในความผิดต่างๆของเรา โปรดให้เราเป็นผู้ที่มีอิคลาศในการทำอิบาดะฮฺทั้งหมด ขอให้เราได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักอะกีดะฮฺอย่างถูกต้อง และปฏิบัติตนอย่างดีงามเพื่อจะได้ดำรงตนให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องเที่ยงตรง และห่างไกลจากแนวทางที่หลงผิด ขอให้เราได้ศรัทธาและยึดมั่นในหลักการศาสนาของพระองค์อย่างเหนียวแน่น อย่างมั่นคง และเสียชีวิตในสภาพที่นอบน้อมยอมจำนนต่อพระองค์โดยสิ้นเชิง

 

( ที่มา...นะศีฮัตประจำสัปดาห์ มัสยิดดารุ้ลอิหฺซาน บางอ้อ )