การถือศีลอดเพื่อไปสู่อัตตักวา
  จำนวนคนเข้าชม  4698

การถือศีลอดเพื่อไปสู่อัตตักวา

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ 

 

          ขณะนี้เรากำลังอยู่ในสภาพของผู้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน อันเป็นสภาพของผู้ที่มีอีมานต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเป็นสภาพที่เราจำเป็นต้องชุกูรฺต่อพระองค์ที่ทรงเมตตาเราให้ได้มีชีวิตจนถึงในขณะนี้ ในเดือนเราะมะฎอนอันเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยบะเราะกะฮฺ ความจำเริญ เป็นเดือนพิเศษจากเดือนอื่นๆ

 

          การที่เราได้ถือศีลอด ถือเป็นความโปรดปราน ความเมตตาประการหนึ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ประทานแก่เรา ก็คือให้เราได้เชื่อฟังและปฏิบัติหลักรุก่นอิสลามในเรื่องของการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ดังนั้นจึงถือเป็นหน้าที่ที่เราต้องขอบคุณอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วยการตั้งใจมั่นที่จะต้องปฏิบัติตัวเป็นบ่าวที่ดีของพระองค์ โดยการพยายามปฎิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งใช้ และออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้าม พร้อมทั้งปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งเป็นเราะซูลของพระองค์โดยเคร่งครัด

 

          การถือศีลอดมีเป้าหมาย เป้าหมายของการถือศีลอดคือ ทำให้ผู้ถือศีลอดบรรลุถึงสถานะของความยำเกรง ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 183 ว่า

 

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ

 

”ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดเป็นฟัรฎูแก่พวกเจ้า

เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง

 

          การถือศีลอดถูกบัญญัติมาเพื่อให้เราเกิดความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังนั้นเราจะไม่สามารถบรรลุถึงสถานะของความยำเกรงได้ เว้นแต่เราจะต้องดำเนินชีวิตด้วยสิ่งที่ดีงามตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ และออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้าม และปฎิบัติตามแบบฉบับที่มีมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

          การถือศีลอดถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เราเป็นผู้ยำเกรง เพราะมันเป็นการฝึกฝนเราให้เป็นผู้ที่อดทนและต่อสู้ในการที่จะดำเนินชีวิตไปตามหลักบัญญัติศาสนา อันเนื่องจากการถือศีลอดมีกฎข้อห้ามของการถือศีลอดทั้งๆที่บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ศาสนาอนุมัติในเวลาปกติ แต่มาถูกห้ามเฉพาะในเดือนนี้ ซึ่งหากเราทำได้ สามารถที่จะอดทนได้ บทบัญญัติในเรื่องอื่นๆ เราก็สามารถที่จะทำได้เช่นกัน ซึ่งมันก็จะทำให้เราสามารถบรรลุถึงสถานะของความยำเกรงได้

          การถือศีลอดไม่ใช่แค่การงดเว้นจากสิ่งที่เราได้รับอนุมัติอยู่แล้วในเวลาปกติ หรือในเดือนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหะลาล เครื่องดื่มหะลาลและการมีเพศสัมพันธ์ที่หะลาล แต่ยังรวมถึงอวัยวะทุกๆส่วนของร่างกายต้องถือศีลอดทั้งหมด

     ♦ หูทั้งสองข้างของเราจะต้องไม่ฟังสิ่งที่ไร้สาระ ไม่ฟังเรื่องโปปดมดเท็จ

     ♦ ตาทั้งสองดวงของเราต้องไม่มองสิ่งที่มันเลวทรามหรือสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย ไม่มองสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์ใคร่

     ♦ หัวใจของเราต้องรู้จักยั้บยังชั่งใจ ไม่คิดในเรื่องที่ไม่เหมาะสม ระงับหัวใจจากความปรารถนาที่ผิดหลักการศาสนา และความคิดต่างๆที่ทำให้ออกห่างจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หัวใจของเราต้องมุ่งไปที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมีความมุ่งหวังที่จะได้รับการตอบแทนจากพระองค์

      ♦ ปากของเราต้องไม่พูดในสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่พูดสิ่งที่มันไร้สาระ สิ่งต้องห้ามทั้งหลาย ไม่โหก ไม่นินทา ไม่ใส่ร้าย ไม่เป็นพยานเท็จ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การถือศีลอดของเราเสียหาย

     ♦ มือและเท้าของเราต้องไม่ไปทำเรื่องชั่ว หรือเรื่องที่มันผิดบัญญัติศาสนาทั้งหลาย

 

          การถือศีลอดจะต้องสามารถห้ามปรามเราจากสิ่งลามกและความชั่วร้ายได้ สามารถหักห้ามเราจากสิ่งไร้สาระได้ สามารถปกป้องเราไม่ให้กล่าวร้ายนินทาใคร ไม่อิจฉาริษยาใคร สามารถขัดเกลาจิตใจของตัวเราให้บริสุทธิ์ ไม่เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวได้ มันไม่ได้รับประโยชน์อะไรที่เราจะยอมหิวกระหายมาตลอดทั้งวันในการงดเว้นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงอนุมัติในชีวิตประจำวันของเรา แล้วเราไปทำให้มันเสียหายด้วยการการทำสิ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้าม

 

          ดังนั้นเราจึงต้องอดทนและต่อสู้ต่อความต้องการ ความอยากในเรื่องต่างๆที่ไม่ถูกหลักการศาสนา เดือนเราะมะฎอนจึงถือเป็นเดือนแห่งการอดทนและต่อสู้ และรางวัลของการอดทนและต่อสู้จากการถือศีลอดนี้ก็คือการตอบแทนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงมอบให้ด้วยพระองค์เอง แล้วยังได้รับการอภัยโทษในความผิดต่างๆ และได้รับรางวัลเป็นสวนสวรรค์ โดยที่ผู้ถือศีลอดจะได้เข้าประตูอัรรอยยาน อันเป็นประตูที่ผู้ถือศีลอดเท่านั้นจะได้รับ

 

          จงพิจารณาตัวเราว่า เราะมะฎอนในแต่ละปีที่ผ่านไปนั้น ทำให้เรามีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ ก็แสดงว่าเราได้ขาดทุนเสียแล้ว ดังนั้นเราต้องพิจารณาทบทวนตัวเองอยู่เสมอ สิ่งใดที่เราทำดีอยู่แล้ว ดีตามหลักการศาสนา ไม่ใช่ดีตามใจของเรา ก็ให้เรารักษาสิ่งนั้นไว้ และเราต้องทำให้มันดีมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย ส่วนสิ่งไหนที่มันไม่ดี ขัดต่อหลักการศาสนา เราต้องพยายามละทิ้งและออกห่าง และอย่าทำความดีควบคู่กับการทำความชั่ว เพราะความชั่วที่ทำจะมาเป็นตัวขัดขวางไม่ให้เข้าสวรรค์ เราต้องปรับปรุง  ต้องแก้ไข เต้องทบทวนตัวเราว่า เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเราอย่างไรในเดือนเราะมะฎอน ไม่ทำตัวให้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการพนัน เรื่องของซินา เรื่องของการดื่มสุรายาเมา เรื่องของอบายมุขต่างๆ เพราะเรื่องเหล่านี้มันจะทำให้ตัวเราต้องออกห่างจากความเมตตาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          เมื่อดูแลตัวของเราเองแล้ว เรายังต้องดูแลคนใกล้ๆตัว คนในครอบครัวของเราด้วย ต้องสั่งใช้กันให้ทำความดี และห้ามปรามกันในเรื่องความชั่ว ดูแลลูกหลาน ใครที่มีลูกหลานที่โตบรรลุศาสนภาวะแล้ว ต้องบังคับให้เขาถือศีลอด ส่วนใครที่มีลูกหลานที่ยังเด็กอยู่ ยังไม่บรรลุศาสนภาวะก็ต้องฝึกเขาให้ถือศีลอด เริ่มตั้งแต่อนุบาลสามก็เริ่มฝึกได้แล้ว การฝึกก็ค่อยๆเป็นค่อยๆไป เริ่มจากเมื่อรับประทานทานอาหารเช้า แล้วก็อดนมหนึ่งมื้อในช่วงสาย บอกเขาว่าถือศีลอด พอถึงเวลากลางวันก็ให้ทานได้ บอกเขาว่ายังเป็นเด็กอยู่ ถึงเวลาละศีลอดแล้ว ก็ให้ทานอาหารได้ ปีต่อๆไปก็ค่อยๆลดอาหาร เครื่องดื่มลงทีละอย่างสองอย่าง เด็กๆก็จะค่อยๆปรับตัวได้เอง ต้องบอก ต้องสอนเขาถึงความสำคัญของเรื่องนี้ การฝึกฝนลูกหลานของเราให้เกิดความเคยชินในเรื่องของหลักการศาสนา จะทำให้รากฐานทางศาสนาถูกปลูกฝังลงในจิตใจลูกหลานของเรา เราอย่าปล่อยให้ลูกหลานของเราเติบโตขึ้นมาโดยไม่ได้ฝึกฝนอะไรเลย เพราะการฝึกลูกหลานของเราให้มีความเคยชินกับบทบัญญัติศาสนา จะส่งผลดีต่อลูกหลานของเราในอนาคต ทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ

 

          เราะมะฎอนถือเป็นเดือนแห่งอัลกุรอาน เพราะเป็นเดือนที่อัลกุรอานทั้ง 30 ญุซถูกประทานลงมาในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺซึ่งค่ำคืนนี้ก็อยู่ในเดือนเราะมะฎอน โดยถูกประทานลงมาไว้ที่เลาฮุลมะฮฺฟูซ จากนั้นท่านญิบรีลก็ทยอยนำลงมาให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมต่างวาระ ต่างเหตุการณ์ตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จนครบถ้วนโดยใช้เวลา 23 ปี อัลกุรอานคือกะลามุลลอฺฮฺ ไม่ใช่สิ่งถูกสร้างแต่เป็นคำพูดของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา 

 

          อัลกุรอานเป็นคัมภีร์เดียวในโลกที่ถูกอ่านมากที่สุดโดยเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนจะถูกอ่านมากกว่าเดือนอื่นๆ การอ่านอัลกุรอานถือเป็นการทำอิบาดะฮฺชนิดหนึ่งและยังถือเป็นการซิกรุลลอฮฺ หรือเป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาที่ประเสริฐที่สุด พระองค์ทรงให้ผลบุญของการอ่านอัลกุรอานในทุกๆตัวอักษร ตัวอักษรละหนึ่งความดี และทุกๆหนึ่งความดีจะมีค่าทวีคูณเป็นสิบเท่า ถ้าเราอ่านอัลกุรอานจบหนึ่งคอตัม คิดดูว่าเราจะได้รับผลบุญมากมายขนาดไหน 

          และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลายังทรงให้ผู้ที่อ่านอัลกุรอานอย่างชำนาญอยู่ในตำแหน่งอันมีเกียรติยิ่งในสวรรค์ ได้อยู่ร่วมกับมะลาอิกะฮฺผู้ทรงเกียรติในสวรรค์

          ส่วนผู้ที่อ่านอัลกุรอานไม่คล่อง ไม่ชำนาญ ท่านก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะหากท่านอ่าน ท่านจะได้ผลบุญเป็น 2 เท่าคือ ได้รับผลบุญของการอ่าน และได้รับผลบุญของความลำบากในการอ่าน ผลบุญอันมหาศาลและผลตอบแทนที่ดีงามเช่นนี้ น่าจะเป็นแรงจูงใจให้เราให้ความสำคัญกับการอ่านอัลกุรอานกันให้มาก

 

          ในเดือนเราะมะฎอน บรรดาสะละฟุศศอและหฺ หรือบรรดาบรรพชนในยุค 300 ปีแรกของอิสลาม ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและเป็นที่รักยิ่งของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ต่างก็ตระหนักถึงความสำคัญและผลบุญมากมายจากการอ่านอัลกุรอาน แต่ละท่านจะขะมักเขม้นในการทำอิบาดะฮฺและอ่านอัลกุรอานกันอย่างมากมาย พวกเขาจะคอตัมอัลกุรอาน จะอ่านอัลกุรอานจบมากกว่าหนึ่งครั้งในเดือนนี้ 

     ♥ บางท่านอ่านจบเล่มถึง 60 ครั้งในหนึ่งเราะมะฎอน ......

     ♥ บางท่านอ่านช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอนจบเล่มวันละหนึ่งครั้ง อ่านช่วงกลางคืนหลังละหมาดตะรอเวียะหฺจบเล่มสามคืนต่อหนึ่งครั้ง .... 

     ♥ บางท่านอ่านจบหนึ่งคอตัมในเวลาสามคืน เมื่อถึงช่วงสิบวันสุดท้ายจะคอตัมในทุกๆคืน ....

     ♥ บางท่านอ่านจบวันละครั้งหรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำ จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะอ่านอัลกุรอานให้มากในเดือนเราะมะฎอนนี้ อันเป็นการปฏิบัติตามแบบอย่างของบรรดาสะละฟุศศอและฮฺ ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ดำเนินแบบฉบับมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หากเราอ่านไม่จบเล่มก็ถือว่าเราได้พลาดผลบุญอันใหญ่หลวงไปเสียแล้ว บรรดาสะละฟุศศอและฮฺจะอ่านอัลกุรอานกันอย่างมากทั้งในเวลาละหมาดและนอกเวลาละหมาด และมักจะคอตัมหนึ่งจบในช่วงเวลาหลังละหมาดมัฆริบถึงละหมาดอิชาอ์ในทุกๆคืนของเดือนเราะมะฎอน ....

     ♥ บางท่านจะงดอิบาดะฮฺที่เป็นซุนนะฮแล้วหันมามุ่งอยู่กับการอ่านอัลกุรอานเพียงอย่างเดียว 

         นั่นคือตัวอย่างของการอ่านอัลกุรอานของบรรดาสะละฟุศศอและหฺ บรรพชนผู้เคร่งครัดในอิสลาม บุคคลที่ถือเป็นต้นแบบให้คนในยุคหลังได้ปฏิบัติตาม แล้วตัวเราเล่าได้ให้ความสำคัญกับการอ่านอัลกุรอานกันระดับไหน ?

 

          การเพียรพยายามอ่านอัลกุรอานอยู่เป็นประจำ จะกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เราจะรู้สึกว่าการอ่านอัลกุรอานยิ่งอ่านก็ยิ่งมีรสชาติ อ่านได้อย่างไม่รู้จักเบื่อหน่ายเลย นอกจากอ่านอัลกุรอานแล้ว เรายังต้องตะดับบุร ต้องศึกษาหาความหมาย หาความเข้าใจในสิ่งที่เราอ่านด้วย อ่านแล้วต้องได้บทเรียน อ่านแล้วต้องได้ข้อคิด ได้ข้อเตือนสติ ได้ข้อเตือนใจ มีความรู้มากมายเต็มไปหมดในอัลกุรอาน ได้รับผลบุญจากการอ่าน ได้รับตำแหน่งในสวรรค์ เมื่ออ่านแล้ว หาความเข้าใจแล้ว ก็พยายามท่องจำด้วย สามารถนำไปอ่านในละหมาดได้ ส่วนผู้ที่เป็นมะมูมก็สามารถฟังเข้าใจตามการอ่านของอิมามได้

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามมุสลิม ที่รายงานมาจากท่านอบูหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุได้เล่าว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถามว่า

«أَيُحِبُّ أَحَدُكُمْ إِذَا رَجَعَ إِلَى أَهْلِهِ أَنْ يَجِدَ فِيْهِ ثَلَاثَ خَلَفات عِظَامٍ سِمَان؟ قُلْنَا: نَعَمْ، قَالَ: فَثَلاَثُ آَيَات يَقْرَأُ بِهِنَّ أَحَدُكُمْ فِيْ صَلَاتِهِ خَيْرٌ لَهُ مِنْ ثَلاَث خَلَفَات عِظَامٍ سِمَان»

     “พวกท่านชอบไหมที่เมื่อท่าน(ละหมาดเสร็จแล้ว ท่านได้)กลับไปหาครอบครัว แล้วพบว่ามีอูฐตัวใหญ่อ้วนพลี 3 ตัวอยู่กับครอบครัวด้วย” 

     พวกเราตอบว่า “ชอบครับ” 

     ท่านนบี  จึงกล่าวว่า “3 อายะฮฺที่พวกท่านคนใดอ่านมันในละหมาดของเขา ดีกว่าที่เขาจะได้อูฐตัวใหญ่อ้วนพลี 3 ตัวนั่นเสียอีก”

 นี่คือความประเสริฐของผู้ที่ได้ท่องจำอัลกุรอาน และนำไปอ่านในการละหมาดของพวกเขาจะได้รับ

 

ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้บอกไว้ว่า

          “ผู้ใดก็ตามที่ถือศีลอดด้วยจิตใจที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาและหวังผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษบาปของเขาที่เขาได้ทำมา”

 

          เราทุกคนสามารถทำผิดพลาด ทำความผิดได้ตลอดเวลาอาจจะรู้ตัว อาจจะไม่ได้ตั้งใจ ถ้าหากเราเสียชีวิตโดยที่ความผิดเหล่านั้นยังติดตัวเรา แน่นอนเหลือเกินว่าเราจะต้องได้รับการลงโทษในนรก ดังนั้นการได้รับอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงถือเป็นเรื่องที่มุอ์มินผู้ศรัทธาปรารถนา เพราะการที่เขาเสียชีวิตในสภาพที่ไม่มีความผิดติดตัว จะทำให้เขาปลอดภัยจากการถูกลงโทษในนรก และได้เข้าสวรรค์โดยทันที

 

          ผู้ใดก็ตามที่การถือศีลอดของเขาอีมานต่ออัลลอฮฺ คือเขามีความเชื่อมั่นต่อคำสัญญาของอัลลอฮฺ และหวังผลบุญการตอบแทนจากอัลลอฮฺเท่านั้น ไม่มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง ไม่มีการโอ้อวด ไม่หวังคำชมเชยใดทั้งสิ้น หรือหวังอย่างอื่นๆ เขาก็จะได้รับการอภัยโทษในความผิดต่างๆที่เขาได้ทำมา ยกเว้นบาปใหญ่ที่เขาต้องเตาบะฮฺตัวเท่านั้น

 

          ดังนั้น เราอย่าปล่อยให้เราะมะฎอนผ่านไปโดยที่เราได้แต่ความหิวกระหายจากการอดอาหาร ได้แต่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ความง่วงเหงาหาวนอนจากการละหมาดในยามค่ำคืน โดยไม่ได้รับผลบุญอะไรเลย ไม่ได้รับความดีงามใดๆเลย 

 

          ท่านนบีบอกว่า "ช่างน่าอัปยศเหลือเกินสำหรับคนๆหนึ่งที่เราะมะฏอนได้มาสู่เขาแล้ว แต่เขากลับไม่ได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา” 

 

          และต้องทำให้สิ่งต่างๆที่เราทำโดยเฉพาะในเดือนนี้ที่มีผลบุญตอบแทนอย่างมากมาย ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยการทำสิ่งต่างๆด้วยการมีอีมานต่อพระองค์ และทำการงานทุกอย่างอย่างมีความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆต่อพระองค์ และตรงตามแบบฉบับที่มีมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่าแฝงการชิริกหรือการตั้งภาคี และอย่าให้มีเรื่องของการริยาอ์ การโอ้อวดเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นการงานที่สูญเปล่า ไม่ให้ประโยชน์ใดๆแก่เราเลย

 

          นอกจากนี้ มีความดีอีกมากมายที่ส่งเสริมให้ทำในเดือนเราะมะฎอน การร่วมละหมาดกิยามุลลัยลิ์หรือละหมาดตะรอเวียะหฺ พร้อมญะมาอะฮฺ 

          ท่านนบีบอกว่า “ผู้ใดก็ตามที่ละหมาดตะรอเวียะหฺ พร้อมกับอิมามจนเสร็จสิ้นการละหมาด เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับการละหมาดตลอดทั้งคืน” 

          ดังนั้นใครที่อยากได้ผลบุญเสมือนได้ละหมาดซุนนะฮฺตลอดทั้งคืนก็ให้ปฏิบัติตามนี้ และ

          “ผู้ใดก็ตามที่ละหมาดกิยามุลลัยลิ์ ละหมาดตะรอเวียะหฺในคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยจิตใจที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาและหวังผลบุญตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษบาปที่ผ่านมา”

 

           คนที่จะพบกับคืนลัยละตุลก็อดรฺก็คือคนที่ขวนขวาย คนที่ขะมักเขม้นทำอิบาดะฮฺตลอดทุกคืนในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ....

 

          ขอให้เราละหมาดสุนัตทั้งกลางวันและกลางคืน ขอดุอาอ์ให้มากๆ โดยเฉพาะในขณะที่อยู่ในสภาพที่กำลังถือศีลอด เพราะดุอาอ์จะถูกตอบรับ และกล่าวซิกรฺลลอฮฺให้มากๆ ใช้เวลาให้หมดไปกับการทำความดี บริจาคทาน และเลี้ยงละศีลอด ชักชวนกันทำความดี ห้ามปรามจากความชั่ว และห่างไกลจากสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ไร้สาระ ประการสำคัญต้องปฏิบัติทุกสิ่งที่ฟัรฎูเป็นวาญิบให้ครบถ้วน โดยยืนหยัดต่อการอีมานหรือมีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียวทั้งในคำพูดและการกระทำ ไม่ทำชิริกและไม่ทำบิดอะฮฺ

 

          เมื่อเราอยู่ในสภาพของผู้ถือศีลอดก็ขอให้เรารักษามารยาทของการถือศีลอด ศึกษาเรียนรู้ข้อห้ามข้อใช้เพื่อที่การถือศีลอดของเราจะได้ถูกต้อง และไม่เป็นโมฆะ ขอให้เราระมัดระวังรักษาลิ้นของเรา และอวัยวะร่างกายของเราให้ห่างไกลจากสิ่งต้องห้ามและสิ่งไร้สาระทั้งหลาย หมั่นขออภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่เสมอในความผิดที่เราทำอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เตาบะฮฺ กลับเนื้อกลับตัวกลับใจ ยุติสิ่งที่ผิดพลาด หันมายึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง 

 

          ..’และสิ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือการขอดุอาอ์ให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดช่วยเหลือเราให้การถือศีลอดของเราง่ายดาย ได้รับความโปรดปรานจากพระองค์ ได้รับการตอบรับจากพระองค์ และโปรดให้เราเป็นหนึ่งในผู้ที่พระองค์ทรงปลดปล่อยให้รอดพ้นจากการลงโทษของไฟนรก ขอให้ได้เราได้รับสวนสวรรค์ และโปรดให้เราได้รักษาการถือศีลอดและกิยามุลลัยลิ์ในเราะมะฎอนให้เข้มแข็ง และให้มีความขะมักเขม้นตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือน และให้เราได้พบกับค่ำคืนของลัยละตุลก็อดรฺ อินชาอัลลอฮฺ

 

 

( จากคุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสยิดดารุ้ลอิหฺซาน บางอ้อ )