ไม่เสียเปล่ากับการแสวงหาความรู้
อับดุลสลาม เพชรทองคำ
เราเคยคิดหรือเคยรู้สึกบ้างไหมว่า เรียนอะไรมาตั้งมากมาย แต่ทำไมเหมือนกับเราไม่รู้อะไรเลย หรือไม่เห็นได้รับประโยชน์อะไรจากความรู้ที่เรียนมา หรือบางคนก็อาจจะเรียนมาในด้านหนึ่ง แต่กลับมาทำงานอีกด้านหนึ่ง จบบัญชีมาแต่มาเป็นครู หรือจบคอมพิวเตอร์ จบวิศวกรรมศาสตร์ จบนิเทศศาสตร์ จบสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่กลับมาเปิดร้านขายอาหาร บางทีอาจจะมีคนมาพูดว่า เรียนมาทางด้านหนึ่งแต่กลับมาทำงานอีกด้านหนึ่ง อย่างนี้เสียดายเวลาที่ไปร่ำเรียนมา หรืออะไรๆในทำนองนี้ ก็เลยอยากจะเล่าถึงคนๆหนึ่งที่เขาบอกว่า เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการศึกษา หรือการแสวงหาความรู้เลย เขาก็เลยมีคำถามไปถามอุละมาอ์ ชัยคฺท่านหนึ่ง คือท่านชัยคฺ ศอลิหฺ บินอับดุลอะซีซ ซึ่งเป็นอะหฺลุลชัยคฺ เป็นอุละมาอ์อะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺในยุคปัจจุบัน
คำถามไปถามท่านชัยคฺศอลิหฺ ฯว่า เขาได้แสวงหาความรู้มาหลายปี แต่เหมือนกับว่าเขาไม่เคยเก็บสะสมข้อมูลใดๆเลย และมีความรู้สึกราวกับว่า ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการแสวงหาความรู้นั้นเลย เขาก็เลยขอให้ท่านชัยคฺศอลิหฺ ฯช่วยแนะนำเขาที
ท่านชัยคฺ ศอลิหฺ บินอับดุลอะซีซ ก็ได้ตอบคำถามของเขาว่า “เราอย่าได้พูดว่า เราไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการแสวงหาความรู้ เพราะการแสวงหาความรู้นั้น โดยตัวของมันเองถือเป็นรูปแบบหนึ่งของอิบาดะฮ์”
คำตอบของท่านชัยคฺ ศอลิหฺฯ หมายความว่า การศึกษา การแสวงหาความรู้เป็นอิบาดะฮฺประเภทหนึ่ง เพราะเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงชอบ ทรงพอพระทัย เป็นสิ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมสั่งใช้ให้อุมมะฮฺของท่านหรือประชาชาติของท่านได้ยึดถือปฏิบัติ
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอิบนุมาญะฮฺ รายงานจากท่านอนัส บินมาลิก เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
طَلَبُ العِلْمِ فَرِيْضَةٌ عَلى كُلِّ مُسْلِمٍ»]
“การแสวงหาความรู้เป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน”
ดังนั้น ในขณะที่เรากำลังแสวงหาความรู้อยู่นั้น มันก็เหมือนกับว่าเรากำลังทำอิบาดะฮฺอยู่ กำลังแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แล้วท่านชัยคฺก็ได้กล่าวถึงเรื่องของชายคนหนึ่งที่ได้ฆ่าคนตายไปร้อยศพ ซึ่งเรื่องของชายที่ฆ่าคนตายไปร้อยศพนี้เป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่ในอัลหะดีษ เรามาดูในบันทึกของอิมามมุสลิม โดยมีรายงานจากท่านอะบูสะอื๊ด บินมาลิก บินซินาน อัลคุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวไว้ ซึ่งจะขอสรุปเรื่องว่า
ท่านนบี เล่าว่า ในสมัยก่อนหน้านี้ (คือก่อนสมัยของท่านนบี ) มีชายคนหนึ่งได้ฆ่าคนตายไป 99 ศพ หลังจากนั้น เขาก็ได้ไปถามหาว่า ใครคือคนที่มีความรู้มากที่สุดในแผ่นดินนี้ มีคนบอกกับชายคนนี้ว่า มีนักบวชคนหนึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้มากที่สุดในแผ่นดินนี้ ชายคนนี้จึงเดินทางไปหานักบวชผู้นั้น เมื่อคนทั้งสองพบกัน
ชายคนนี้จึงถามนักบวชผู้นั้นว่า คนที่ฆ่าคนตายไป 99 ศพ สามารถเตาบะฮฺตัวได้หรือไม่ ?
นักบวชผู้นั้นตอบว่า ไม่ได้ ชายคนนี้ก็เลยฆ่านักบวชผู้นั้นตายเป็นศพที่หนึ่งร้อย
หลังจากนั้น ชายคนนี้ก็ยังคงเดินทางไปถามหาคนที่มีความรู้มากที่สุดในแผ่นดินนี้ต่อไป จนกระทั่งมีคนบอกถึงนักปราชญ์คนหนึ่ง ชายคนนี้จึงเดินทางไปหานักปราชญ์ท่านนั้น เมื่อคนทั้งสองพบกัน
ชายคนนี้ได้ถามนักปราชญ์ท่านนั้นด้วยคำถามว่า คนที่ฆ่าคนอื่นตายไป 100 ศพ สามารถเตาบะฮฺตัวได้หรือไม่ ?
นักปราชญ์ท่านนั้นก็ตอบว่า ได้สิ ใครเล่าจะมาขวางท่านจากการเตาบะฮฺตัว
ถ้าหากท่านมีความประสงค์อยากจะเตาบะฮฺตัว ก็ขอให้ท่านเดินทางไปยังเมืองๆหนึ่ง ...แล้วนักปราชญ์ท่านนั้นก็ได้บอกชื่อเมืองๆนั้นไป แล้วก็บอกกับชายคนนี้ว่า ผู้คนหรือประชาชนที่อาศัยอยู่ที่เมืองนั้น พวกเขาจะอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็ขอให้ท่านอิบาดะฮฺอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาร่วมกับพวกเขา และอย่าได้กลับไปยังเมืองของท่านอีก เพราะเมืองของท่านนั้นเป็นเมืองแห่งความชั่วร้าย
เมื่อชายคนนี้ได้ยินนักปราชญ์พูดดังนั้น จึงออกเดินทางไปยังเมืองๆนั้น แต่ปรากฏว่า เมื่อเดินทางไปได้ประมาณครึ่งทาง มะลาอิกะฮฺแห่งความตายก็ได้มาพบกับชายคนนี้ ก็คือได้มาเอาชีวิตของชายคนนี้(ตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) หลังจากนั้นมะลาอิกะฮฺแห่งความเมตตาก็จะมานำตัวเขาไป ในขณะเดียวกัน มะลาอิกะฮฺแห่งการลงโทษก็จะมานำตัวเขาไปเช่นกัน จึงได้เกิดการถกเถียงกันขึ้นระหว่างมะลาอิกะฮฺทั้งสอง
มะลาอิกะฮฺแห่งความเมตตาก็บอกว่า ชายคนนี้ได้เตาบะฮฺตัวแล้ว ได้กลับเนื้อกลับตัวแล้ว ด้วยหัวใจที่หวังเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา (ดังนั้น เขาจึงควรไปฉัน)
แต่มะลาอิกะฮฺแห่งการลงโทษก็บอกว่า ชายคนนี้ไม่เคยทำความดีใดๆเลย (ดังนั้น เขาจึงควรไปกับฉัน)
ต่อจากนั้น (ตามหะดีษก็บอกว่า)ได้มีมะลาอิกะฮฺอีกท่านหนึ่งปรากฏกายในรูปของมนุษย์ (ตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา) ดังนั้น มะลาอิกะฮฺแห่งความเมตตากับมะลาอิกะฮฺแห่งการลงโทษจึงขอให้มะลาอิกะฮฺท่านนี้ช่วยตัดสิน มะลาอิกะฮฺท่านนี้จึงบอกว่า พวกท่านจงวัดระยะทางระหว่างเมืองทั้งสอง (คือวัดระยะทางจากจุดที่เขาเสียชีวิตกับเมืองที่เขาจากมากับเมืองที่เขากำลังจะเดินทางไป) ว่าชายคนนี้อยู่ใกล้เมืองไหนมากกว่า ถ้าระยะทางของเมืองไหนอยู่ใกล้กว่า ชายคนนี้ก็จะเป็นคนของเมืองนั้น
เมื่อได้ยินดังนั้น มะลาอิกะฮฺทั้งสองจึงได้ทำการวัดระยะทาง แล้วก็พบว่าชายคนนี้อยู่ใกล้เมืองที่เขาต้องการจะเดินทางไปเพื่อเตาบะฮฺตัวมากกว่า ชายคนนี้จึงเป็นคนของเมืองที่เขากำลังจะเดินทางไป มะละอิกะฮฺแห่งความเมตตาจึงได้นำตัวชายคนนี้ไป
เรื่องนี้แสดงว่า...อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงรับการเตาบะฮฺ ทรงรับการกลับเนื้อกลับตัวของชายคนนี้แล้ว
ท่านทั้งหลายเห็นไหมครับว่า..ใครเล่า ที่จะมาขวางกั้น หรือมาขัดขวางระหว่างตัวเรากับการเตาบะฮฺตัวต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พิจารณาตัวเราดูเถิดว่า ความผิดของเรา ความบาปของเรามากกว่าชายคนนี้ไหม ? พิจารณาเถิดครับว่าชายคนนี้ทำความผิดมามากขนาดไหน แต่ทันทีที่เขามุ่งมั่นเดินทางไปแสวงหาความรู้ เพื่อมุ่งไปสู่การเตาบะฮฺตัวต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างตั้งใจ อย่างจริงใจ เมื่อเขาได้เสียชีวิตลง ทั้งๆที่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำความดีใดๆ เขาก็ยังได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้ว
นั่นก็คือเรื่องของชายคนหนึ่งที่ท่านชัยคฺ ศอลิหฺ บินอับดุลอะซีซ ยกตัวอย่างจากอัลหะดีษเพื่อชี้ให้เห็นว่าคนๆหนึ่งที่ทำความผิดมาอย่างมากมาย แต่แล้วก็ได้มุ่งมั่นเดินทางแสวงหาผู้มีความรู้ เพื่อให้บอกถึงวิธีที่จะไปสู่ความใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นการแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ถึงแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้ทำความดีใดๆ เขาก็ได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้ว นี่คือความประเสริฐของการที่เราได้เริ่มต้นในการแสวงหาความรู้ ถึงแม้ว่าเมื่อเราเรียนรู้แล้วเราอาจจะจะลืมเลือนไปบ้าง หรือเรามีความรู้สึกว่าเราไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากความรู้นั้นเลยก็ตาม อย่างน้อยๆ เราก็ได้ทำอิบาดะฮฺในอีกรูปแบบหนึ่ง ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นการดำรงไว้ซึ่งคำสั่งของพระองค์ และเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
เมื่อพูดถึงความรู้ ก็ต้องเป็นความรู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงชอบ ทรงพอพระทัย ไม่ใช่ความรู้ที่พระองค์ทรงรังเกียจ ทรงโกรธกริ้วดังเช่น ความรู้ที่จะนำไปใช้ในการฉ้อโกง ความรู้ที่จะนำไปใช้ในการทำร้าย ทำลายผู้อื่น
ความรู้ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงชอบ ทรงพอพระทัยก็คือความรู้ที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเราในการดำเนินชีวิตบนโลกดุนยาหรือโลกอาคิเราะฮฺก็ตาม แต่ความรู้ที่ถือว่ามีเกียรติและสูงส่งมากที่สุด ก็คือความรู้ที่เกี่ยวกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เกี่ยวกับการกระทำของพระองค์ เกี่ยวกับพระนามอันดีงามของพระองค์ เกี่ยวกับคุณลักษณะอันสูงส่งของพระองค์ ตลอดจนเกี่ยวกับบทบัญญัติศาสนาของพระองค์ เป็นความรู้ที่นำไปสู่การศรัทธาและมอบเตาฮีดแด่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นความรู้ที่นำไปสู่การตัดขาดจากเรื่องของการทำบิดอะฮฺและเรื่องของชิริก เป็นความรู้ที่ทำให้รู้จักศาสนาอิสลาม หรือความรู้ที่ทำให้รู้จักท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ความรู้เหล่านี้ก็คือความรู้ที่ยังประโยชน์
เมื่อเราได้มุ่งแสวงหาความรู้แล้ว ก็ขอให้เราได้พิจารณาถึงจุดมุ่งหมายในการแสวงหาความรู้ของเรา โดยพยายามให้มันอยู่ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. แสวงหาความรู้โดยมีความตั้งใจที่จะขจัดความไม่รู้ออกไปจากตัวเรา ให้ความรู้นั้นลบล้างความโง่เขลาออกจากตัวเรา
2. แสวงหาความรู้เพื่อที่จะได้มีความรู้ในการที่จะทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วยอิบาดะฮฺที่ถูกต้อง
3. แสวงหาความรู้เพื่อให้อะกีดะฮฺหรือหลักการเชื่อมั่นของเราถูกต้องและมั่นคง
4. แสวงหาความรู้เพื่อให้ความรู้นั้นนำไปสู่ความใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
5. แสวงหาความรู้เพื่อให้พ้นจากความคลุมเครือหรือความสงสัยในเรื่องต่างๆ
6. อย่าให้การแสวงหาความรู้ทำให้เรามีความหลงใหลในเกียรติยศชื่อเสียง อย่าให้นำไปสู่ความโอ้อวด
ท่านอิมามชาฟิอีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ (เจ้าของมัซฮับชาฟิอีย์) กล่าวว่า
طَلَبُ الْعِلْمِ أَفْضَلُ مِنَ النَّافِلَةِ
“การแสวงหาความรู้ประเสริฐกว่าการละหมาดที่เป็นสุนัต(หรือบางอิบาดะฮฺที่เป็นสุนัต ตราบใดที่มันเป็นไปด้วยความอิคลาศ)”
อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอะบูดาวูด จากรายงานของท่านอะบู อัดดัรดาอ์ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ سَلَكَ طَرِيقًا يَطْلُبُ فِيهِ عِلْمًا سَلَكَ اللَّهُ بِهِ طَرِيقًا مِنْ طُرُقِ الْجَنَّةِ، وَإِنَّ الْمَلَائِكَةَ لَتَضَعُ أَجْنِحَتَهَا رِضًا لِطَالِبِ الْعِلْمِ وَإِنَّ الْعَالِمَ لَيَسْتَغْفِرُ لَهُ مَنْ فِي السَّمَوَاتِ وَمَنْ فِي الْأَرْضِ وَالْحِيتَانُ فِي جَوْفِ الْمَاءِ وَإِنَّ فَضْلَ الْعَالِمِ عَلَى الْعَابِدِ كَفَضْلِ الْقَمَرِ لَيْلَةَ الْبَدْرِ عَلَى سَائِرِ الْكَوَاكِبِ وَإِنَّ الْعُلَمَاءَ وَرَثَةُ الْأَنْبِيَاءِ وَإِنَّ الْأَنْبِيَاءَ لَمْ يُوَرِّثُوا دِينَارًا وَلَا دِرْهَمًا وَرَّثُوا الْعِلْمَ فَمَنْ أَخَذَهُ أَخَذَ بِحَظٍّ وَافِرٍ»
♥ “ผู้ใดที่แสวงหาหนทางเพื่อให้ได้รับความรู้ อัลลอฮฺจะทรงนำเขาไปสู่หนทางของสวรรค์ มะลาอิกะฮฺจะกางปีกเพื่อแสดงความความยินดีต่อผู้แสวงหาวิชาความรู้
♥ สำหรับผู้รู้นั้นจะมีผู้ขออภัยโทษให้แก่เขาทั้งสิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน แม้กระทั่งบรรดาฝูงปลาในท้องทะเล (ก็จะขออภัยโทษให้แก่เขา)
♥ แท้จริงความประเสริฐของผู้มีความรู้เหนือผู้ทำอิบาดะฮฺเพียงอย่างเดียว เปรียบเสมือนดวงจันทร์เต็มดวงที่เหนือกว่าบรรดาหมู่ดวงดาว
♥ แท้จริงบรรดาผู้ที่มีความรู้คือทายาทของบรรดานบี บรรดานบีไม่ได้ทิ้งมรดกไว้เป็นเงินดีนารฺหรือดิรฮัม แต่ทว่ามรดกที่บรรดานบีได้ทิ้งไว้ก็คือวิชาความรู้
♥ ดังนั้น ผู้ใดที่ได้ครอบครองมัน(คือได้ครอบครองความรู้)ถือว่าเขาผู้นั้นได้ครอบครองส่วนที่ดีเลิศมากมายแล้ว”
จากอัลหะดีษข้างต้น จะเห็นว่าคนที่แสวงหาหนทางเพื่อให้ได้รับความรู้ เขาย่อมได้รับความประเสริฐ 6 ประการ ดังนี้
1. อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะประทานความสะดวกง่ายดายในการไปสู่สวรรค์
2. มะลาอิกะฮฺจะแสดงความยินดีกับเขา
3. สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน แม้กระทั่งฝูงปลาในท้องทะเลจะช่วยขออภัยโทษให้แก่เขา
4. ผู้มีความรู้มีความประเสริฐมากกว่าผู้ทำอิบาดะฮฺเพียงอย่างเดียว( หมายถึงมีความประเสริฐมากกว่าผู้ที่ทำอิบาดะฮฺโดยปราศจากความรู้ )
5. ผู้มีความรู้ได้เป็นทายาทของบรรดานบี ไม่ใช่นบีท่านเดียวแต่เป็นบรรดานบีทั้งหมด
6. ผู้มีความรู้คือผู้ที่ได้ครอบครองสิ่งที่ดีเลิศ นำพาผู้มีความรู้ไปสู่การมีเกียรติทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ
นั่นก็คือ ส่วนหนึ่งของความประเสริฐในการแสวงหาความรู้ เพื่อไปสู่ความโปรดปรานของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังนั้น เมื่อเราได้เริ่มต้นในการศึกษาหาความรู้ หรือแสวงหาความรู้ มันก็ถือเป็นเรื่องที่ดี มีบะเราะกะฮฺ ไม่เป็นการเสียเปล่าอย่างแน่นอน อินชาอัลลอฮฺ ถึงแม้ว่า เมื่อเราได้เรียนรู้ไปแล้ว เราจะลืมเลือนไปบ้าง หรือรู้สึกว่าไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากความรู้นั้น แต่แท้จริงแล้ว มันก็มีความประเสริฐอยู่ในตัวของมัน แต่ก็ขอให้เราได้ตระหนักว่า อิสลามกำชับให้มุสลิมทุกคนแสวงหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางโลก หรือความรู้ทางด้านศาสนา แต่อิสลามให้ความสำคัญกับความรู้ทางด้านศาสนาเป็นอย่างยิ่ง
ในประวัติศาสตร์อิสลามระยะแรกๆ เราจะพบว่า นักวิชาการที่เชี่ยวชาญความรู้ทางโลก จะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญความรู้ทางด้านศาสนาด้วยเสมอ อิสลามจะไม่แยกความรู้ทางโลกออกจากความรู้ด้านศาสนา คือให้เรียนควบคู่กันไป เพราะอิสลามให้ความสำคัญต่อการที่มุสลิมจะปลอดภัยจากการถูกลงโทษ และได้รับความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเป็นผู้ที่มุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านศาสนาที่มีรากฐานมาจากอัลกุรอานและอัลหะดีษ ขอพระองค์โปรดเพิ่มพูนความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้แก่เราด้วยเถิด
(( ที่มา...เอกสารอัล-อิศลาหฺ (อัล-อิศลาหฺ สมาคม บางกอกน้อย) อันดับที่ 429-432 ปีที่ 83 ตุลาคม-ธันวาคม 2558 ))