อิสลาม กับ วงจรพรีออเดอร์ ออนไลน์
  จำนวนคนเข้าชม  10738


อิสลาม กับ วงจรพรีออเดอร์ ออนไลน์

 

เรียบเรียงโดย อับดุลวาเฮด สุคนธา 

          อิสลามให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอิสลามที่มีความสมบูรณ์และครอบคลุม และกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในระบบเศรษฐกิจนั้น อัลลอฮฺทรงบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าทุกสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างในโลกนี้ก็เพื่อเป็นประโยชน์และสร้างความสะดวกสบายแก่มวลมนุษย์

          อิสลามได้ให้สัญญาว่าผู้ทำธุรกิจจะได้รับรายได้มหาศาล อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา กล่าวไว้ในอัลกุรอานว่า

«وَأَحَلَّ اللهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا )     “และอัลลอฮฺได้อนุมัติการค้าและห้ามดอกเบี้ย” 

 

(อัล-บากอเราะฮฺ 2: 275)

อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า 

فَإذا قُضِيَتْ الصَّلاةُ فَانتَشِرُوا فِي الأَرْضِ وَابْتَغُوا مِنْ فَضْلِ اللَّهِ

ต่อเมื่อการละหมาดได้สิ้นสุดลงแล้ว ก็จงแยกย้ายกันไปตามแผ่นดิน และจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺ

(ยุมอะ 10)

อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

لَيْسَ عَلَيْكُمْ جُنَاحٌ أن تَبْتَغُوا فَضْلاً مِنْ رَبِّكُمْ

ไม่มีโทษใด แก่พวกเจ้า การที่พวกเจ้าจะแสดวงหาความกรุณาอย่างหนึ่งอย่างใดจากพระเจ้าของพวกเจ้า” 

(บะกอเราะ 198)

อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

(رِجَالٌ لا تُلْهِيهِمْ تِجَارَةٌ وَلا بَيْعٌ عَنْ ذِكْرِ اللَّهِ)

บรรดาชายผู้ที่การค้าและการขายมิได้ทำให้พวกเขาหันห่างออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์” 

(นูร 37)

ท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

عليكم بالتجارة فإن فيها تسعة أعشار الرزق» 

“สูเจ้าจงมีส่วนร่วมในธุรกิจ เพราะเก้าจากสิบส่วนของแหล่งรายได้มาจากกิจกรรมทางธุรกิจ” 

(หะดีษมุรสัล ดูใน ตัครีจญ์ อัล-อิหฺยาอ์ ของ อัล-อิรอกีย์ 2/79)

และท่านศาสนทูต  เคยตอบคำถามเกี่ยวกับชนิดของงานที่ดีที่สุดว่า

«عمل الرجل بيده، وكل بيع مبرور»

“งานที่ทำด้วยมือของพวกท่านเองและการซื้อขายทุกรูปแบบที่ถูกต้องและได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ”

 (รายงายโดยอัล-บัซซาร และ วินิจฉัยว่าเศาะฮีหฺโดย อัล-หากิม)

 

          อันที่จริงแล้วอัล-กุรอานได้กล่าวถึงผู้ที่เดินทางเพื่อการค้าในอายะฮฺเดียวกับผู้ที่ต่อสู้ในหนทางของอิสลาม อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ดำรัสไว้ว่า

«وَآخَرُونَ يَضْرِبُونَ فِي الْأَرْضِ يَبْتَغُونَ مِن فَضْلِ اللهِ وَآخَرُونَ يُقَاتِلُونَ فِي سَبِيلِ اللهِ» 

“และบางคนอื่นต้องเดินทางไปในดินแดนอื่นเพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺ

และบางคนอื่นต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ...” 

(อัล-มูซซัมมิล 73: 2)

          อิสลามได้กล่าวถึงการซื้อขายในหลายๆโอกาส อัล-กุรอานได้ให้ความหมายของการซื้อขายไว้ชัดเจนว่า

«يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ لاَ تَأْكُلُواْ أَمْوَالَكُمْ بَيْنَكُمْ بِالْبَاطِلِ إِلاَّ أَن تَكُونَ تِجَارَةً عَن تَرَاضٍ مِّنكُمْ» 

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่ากินทรัพย์ของพวกเจ้าในระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ

นอกจากมันจะเป็นการค้าที่เกิดจากความพอใจของทั้งสองฝ่าย...”  

(อัล-นิสาอ์ 4: 29)

 

           แม้ว่าอิสลามได้ให้สัญญาถึงผลประโยชน์มหาศาลที่นักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จจะได้รับแล้ว อิสลามก็ได้ตักเตือนถึงโอกาสมากมายที่นักธุรกิจมีที่จะหลอกลวงลูกค้า ท่านศาสนทูต ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม  ได้บอกเล่าและตักเตือนในเวลาเดียวกันว่า

«إِيَّاكُمْ وَكَثْرَةَ الْحَلِفِ فِي الْبَيْعِ، فَإِنَّهُ يُنَفِّقُ ثُمَّ يَمْحَقُ» 

“จงออกห่างจากการนำเสนอที่ไม่ถูกต้องในการซื้อขายด้วยการชอบสาบานบ่อยๆ

เนื่องจากมันจะทำให้เกิดการขายที่มากขึ้น (ในระยะแรก) แต่จะทำให้ขาดทุนหลังจากนั้น” 

(มุสลิม)

 

          ปัจจุบันในสังคมมุสลิมการทำธุระกิจค้าขายมีอย่างแพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะการชื้อขายในระบบ แบบพรีออเดอร์ ออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าส่วนน้อยเท่านั้นที่จะปฏิบัติตามและเคร่งครัดในหลักการของศาสนา บางครั้งทำทุกวิธีทางเพื่อให้ได้กำไรและสิ่งที่ตนเองต้องการโดยไม่คำนึงถึงหลักการของศาสนาอย่างถี่ถ้วน  บางคนอาจจะกระทำโดยที่ไม่รู้อย่างละเอียดว่า ศาสนาอิสลามกล่าวเอาไว้อย่างไรเกี่ยวกับการทำธุระกิจบนโลกออไลน์ สิ่งแรกที่พ่อค้าแม่ค้าจะต้องมี คือ คุณสมบัติของการชื้อขายในอิสลาม   ดังนี้ 

องค์ประกอบการซื้อขายในอิสลาม 

• ผู้ขายและผู้ซื้อ

• สินค้า ชัดเจน

• ราคาสินค้า ต้องชัดเจน

• การเสนอขายและการสนองรับ

• เป็นกรรมสิทธิ์ ครอบครอง มีอำนาจในสินค้า

 

คุณสมบัติของผู้ค้าขายมี ดังนี้

          รายงานจากท่านอิหม่ามอะหมัด จากหะดีษ อับดุลลอฮฺ อิบนุ อัมร์ แท้จริงท่านนบี  กล่าวว่า  คุณลักษณะ 4 อย่าง หากมีในตัวของท่านแล้ว ท่านก็จะไม่เสียดายต่อสิ่งที่ขาดหายไปจากสิ่งที่ไม่ได้รับในโลกนี้ 

• การรักษาสัญญา

• พูดความจริง 

• มีมารยาทที่ดี  

• พอเพียงไม่ละโลภในปัจจัยยังชีพ 

 

          ตัวบทนี้ ได้บอกความสำคัญอย่างมากมายโดยเฉพาะตัวบุคคลของมุสลิมทุกคน ที่จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนต่อการใช้ชีวิตในสังคมจะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะเหล่านี้ ตัวบทนี้ได้ให้ความสำคัญในด้านการคบค้าสมาคม เช่นในเรื่องการชื้อขาย ติดต่อสัมพันธ์ทางธุรกิจ กับบริษัทต่างๆ เพื่อให้การชื้อขายนั้นถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม ด้วยกับการมีคุณลักษณะที่ดีงาม  คุณลักษณะนี้ เป็นรากฐานของการทำธุรกิจของมุสลิม และจะนำมาซึ่งผลกำไรอย่างมากมาย ในตัวบทนี้ ถือได้ว่า เป็น ตัวบทที่จะเยียวยา กับคนที่ทำธุรกิจในสังคมได้อย่างดี  และสังคมนั้นกำลังเผชิญต่อความตกต่ำ ท่ามกลางความวุ่นวาย การ คดโกง บิดพลิ้ว พูดเท็จ ไร้มารยาท ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียอย่างมากมาย คุณลักษณะที่ไม่ดี นำมาซึ่งสิ่งที่ไม่ดี เช่น ทรัพย์สินที่ได้มาไม่ถูกต้อง ผลกำไรที่ ผิดๆ 

 

          ฉะนั้น มุสลิมทุกคนจะต้องรักษา 4 คุณลักษณะ นี้เอาไว้ เพื่อเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจอย่างถูกต้องและดีงาม เป็นการบ่งบอกถึงมารยาทของอิสลามที่ดีในการคบค้าสมาคม  หากว่าใครก็ตามมีคุณลักษณะเหล่านี้ แน่นอนเลยว่าเขานั้นจะประสบความสำเร็จในด้านการค้าขายและการทำธุรกิจ ได้รับผลกำไรที่ล้ำค่าทั้งโลกนี้และโลกหน้า จากสำนวนที่ท่านนบีใช้ในตัวบทที่บอกว่า ไม่มีสิ่งใดมีค่าในโลกนี้ หากท่านนั้น มี 4  คุณลักษณะ หมายถึงสิ่งที่เขาได้รับและผลกำไร หากเขารักษาคุณลักษณะนี้เอาไว้

 

 การขายแบบ พรีออเดอร์ 

          Pre-Order (พรีออเดอร์) คือ การสั่งสินค้า(ออเดอร์สินค้าต่างๆ) ผ่านตัวกลางเพื่อติดต่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การพรีออเดอร์ แบ่งออกเป็นสองแบบ คือ

 
          รูปแบบที่ หนึ่ง   แบบที่ผู้ขายออกเงิน พรีออเดอร์ เพื่อนำสินค้าเข้ามาขายเอง ในข้อนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีทุนตั้งต้น ข้อดี คือ มีภาพสินค้าที่ชัดเจน น่าเชื่อถือ สามารถขายสินค้าให้แก่ลูกค้าได้ทันที

 
          รูปแบบที่สอง   แบบที่ให้ลูกค้าจ่ายเงินก่อน แล้วทำการสั่งซื้อสินค้าให้ ในข้อนี้จะมีข้อดี คือ ถึงไม่มีทุนมากนักก็สามารถค้าขายได้ โดยถือว่าคุณเป็นผู้รวบรวมยอดการสั่งซื้อสินค้าต่างๆ และประสานงานกับโรงงาน หรือร้านค้า เพื่อนำสินค้าที่ได้มาส่งมอบให้แก่ลูกค้านั้นเอง  พูดง่ายๆ ก็คือ การฝากซื้อของนั่นเอง
 

     ♦ การขาย พรีออเดอร์รูปแบบที่หนึ่ง ถือว่า อนุญาต เพราะ สินค้าอยู่ในการครอบครองของพ่อค้าและแม่ค้า

     ♦ การขายระบบ สินค้าพรีออเดอร์รูปแบบที่สอง ไม่ต่างอะไร กับการขายของที่ไม่ได้ครอบครอง

 

ในกรณี รูปแบบที่สอง คือ 

  •  ผู้ขายโฆษณา,แปะรูปภาพสินค้า ขายสินค้า(โดยที่คุณไม่มีสต๊อกสินค้าเลย) 
  •  ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าที่คุณ(พร้อมชำระเงินบางส่วน หรือ ทั้งหมดแล้วแต่จะตกลง) 
  •  ผู้ขายไปสั่งซื้อ(ชำระเงิน)จากโรงงาน 
  •  โรงงานส่งสินค้าไปที่ลูกค้า หรือจะให้ส่งสินค้ามาที่ผู้ขายแล้วส่งต่อให้ลูกค้า แล้วแต่ตกลงกันตามแผนการตลาดของแต่ละคน

 

คำถาม 

ฮุกุ่มการชื้อขายในสินค้าที่ไม่ได้ครอบครอง ?

 

คำตอบ 

          การชื้อขายจำเป็นเลย สำหรับผู้ขาย หรือพ่อค้านั้นจะต้องครอบครองสินค้า ในขณะทำข้อตกลงซื้อขาย ศาสนาไม่อนุมัติให้ขายสินค้าที่ยังไม่มี เช่น ขายผลไม้ที่ยังไม่มีที่ต้น หรือขายลูกสัตว์ที่แม่ของมันจะตั้งท้อง หรือขายน้ำนมที่มีอยู่ในเต้านม เป็นต้น เนื่องจากมีหลักฐานจากอัลหะดีษระบุว่า มีชายคนหนึ่ง ที่ต้องการขายสินค้า แต่สินค้านั้นไม่มีอยู่ ณ ที่เขา โดยที่เขานั้นจะไปชื้อที่ตลาด  ท่านนบี  กล่าวว่า 

     (لاَتَبِعْ مَالَيْسَ عِنْدَكَ)     “ท่านอย่าขายสิ่งที่ไม่มี ณ ที่ท่าน” 

(รายงานโดย อบูดาวูด)

 

          ท่านอิบนุ ก็อยยิมกล่าวว่า ท่านนบีได้สั่งห้ามอย่างชัดเจนการห้ามขายสินค้า โดยที่เขานั้นไม่ได้ครอบครอง ณ ที่เขาซึ่งการชื้อขายในลักษณะนี้ เข้าข่ายการฉ้อโกง ใครก็ตามที่เขาขายสินค้าใดโดยที่เขาไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ของนั้นๆ เมื่อตกลงเรียบร้อยแล้วไปชื้อสินค้าที่ตลาด แล้วส่งรับสินค้า บางทีสินค้าอาจจะได้รับหรือไม่ได้รับ รูปแบบนี้เข้าข่ายการหลอกลวง ฉ้อโกง รูปแบบนี้ห้าม 

(หนังสือ ซาดุลมะอาด)

          เช่นเดียวกันท่าน อิบนุ ก็อยยิม กล่าวอีกว่า  การชื้อขายโดยที่ไม่มีสินค้าเข้าข่ายในรูปแบบการชื้อขาย ที่เรียกว่า ไม่มีสินค้าและไม่รู้ว่าสินค้านั้นจะได้รับหรือ ไม่ได้รับ เกิดความเสี่ยงในลักษณะนี้ บทบัญญัติศาสนาจึงห้าม เพราะอยู่ในรูปแบบทำให้เกิดการฉ้อโกงได้ ตามในตัวบทของท่าน ฮากีม อิบนุ อิซาม อิบนุ อุมัร ข้างต้นนี้

          เช่น ผู้ขายต้องการขายสินค้าซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ครอบครอง ต่อมาเขาไปชื้อแล้ว ถึงส่งไปให้ลูกค้า แบบนี้เข้าข่าย การฉ้อโกง 

(จาก หนังสือ ซาดุลมะอาด)

 

คำถาม 

          มีชายคนหนึ่งต้องการชื้อสินค้า แต่มีพ่อค้า บอกว่า ฉันช่วยไปชื้อสินค้าให้ แต่ทำข้อตกลงก่อนว่า ฉันขอ 30 ต่อ 100 บาท คือ ราคา สินค้า 1000 พ่อค้าเอากำไร สามร้อย ทำสัญญาเสร็จไปชื้อของที่ตลาด ฮุกุ่มว่าอย่างไร 

 

คำตอบ 

          ห้ามทำการชื้อขาย เพราะเขานั้นไม่มีสินค้านั้น ณ ที่เขา และเขาไม่ได้ครอบครองมัน ห้ามทำสัญญาการชื้อขายโดยที่ผู้ขายนั้นไม่มีสินค้า  ท่านนบี  กล่าวว่า 

     (لاَتَبِعْ مَالَيْسَ عِنْدَكَ)     “ท่านอย่าขายสิ่งที่ไม่มี ณ ที่ท่าน” 

(รายงานโดย อบูดาวูด)

          ดังนั้นสินค้าหรือราคาต้องอยู่ในอำนาจด้วยการปกครอง หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของคู่ตกลงซื้อขาย การที่ผู้เป็นเจ้าของซื้อขายทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน หรือผู้ปกครอง หรือผู้จัดการที่ถูกแต่งตั้งไว้ทำการซื้อขายทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่อยู่ในการปกครอง หรือผู้ได้รับมอบอำนาจ (วะกีล) ทำการซื้อขายทรัพย์ของผู้อื่นที่ถูกมอบอำนาจให้ตน (มุวักกิล) ทั้งหมดถือว่าใช้ได้

            เช่น เขาได้รับมอบหมายจากเจ้าของสินค้าให้ทำการขายในสินค้านั้น ขายบ้านหลังนี้ ราคาเท่านี้ ลักษณะแบบนี้ หรือ เป็นตัวแทนของบริษัท หรือศูนย์การค้า ตัวแทนโรงงาน ไปเปิดบริการสินค้าต่างๆสามารถชื้อขายได้เพราะมีกรรมสิทธิ์ในการขายสินค้านั้นและได้รับมอบหมายในการขายเช่นเดียวกัน

การมอบหมายจะต้องชัดเจน เช่น 

♣ ราคาชัดเจน

♣ ลักษณะชัดเจน 

♣ รูปแบบชัดเจน

          หากว่าการมอบหมายไม่ชัดเจน ศาสนาห้ามรับสินค้านั้นเพราะนำไปสู่การขัดแย้ง แตกแยกกัน ฉะนั้นถ้าหากบุคคลที่เข้าไปดำเนินการซื้อขายไม่มีอำนาจในทรัพย์สินและไม่อยู่ในฐานะของบุคคลที่ถูกระบุข้างต้น การดำเนินการดังกล่าวก็ถือว่าเป็นโมฆะ เนื่องจากมีหลักฐานในอัล-หะดีษระบุว่า :

(لاَبَيْعَ إِلاَّفِيْمَاتَمْلِكُ)     “ไม่มีการซื้อขายนอกจากในสิ่งที่ท่านครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์อยู่เท่านั้น” 

(รายงานโดย อบูดาวูด )

 

 

รวบรวมจากเว็ป เชคซอแหละ มุนัจญิด และ เว็ปของศูนย์ฟัตวาของประเทศซาอุเดียอารเบีย