เอกลักษณ์ของเดือนเราะมะฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  5695


เอกลักษณ์ของเดือนเราะมะฎอน
 

อาจารย์อนิส เพ็ชรทองคำ

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทั้งหลาย ญาติพี่น้องและผู้ที่มาร่วมละหมาดญุมอะฮฺในวันศุกร์นี้ทุกท่าน พวกท่านทั้งหลายพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เพราะการยำเกรงอัลลอฮฺ คือการปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ การออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม เป็นทางรอดทางเดียวจริงๆที่จะทำให้พวกเราทุกท่านนั้นปลอดภัยจากการลงโทษในวันกิยามะฮฺ และประสบความสำเร็จด้วยกับการเป็นผู้ได้รับชัยชนะ ด้วยกับสวนสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในโลกอาคิเราะฮฺ

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทั้งหลาย อีกไม่กี่วันนี้ละก็จะเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนแล้ว อินชาอัลลอฮฺ ให้เรามาขอดุอาอ์ ขอให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงโปรดให้มีชีวิตอยู่จนถึงเดือนเราะมะฎอน มีชีวิตอยู่ในการที่จะเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน ใกล้จะเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดียิ่งที่ควรทราบถึงความประเสริฐของเดือนเราะมะฎอน เพราะเมื่อเวลาที่เราทราบถึงคุณค่าของสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราจะได้มีการเตรียมตัว มีการวางแผนทีดีกว่าเดิม อย่าปฏิบัติตัวในเดือนเราะมะฎอนให้เหมือนกับเดือนอื่นๆ คงเคยได้ยินคำพูดที่พูดกันเป็นประจำว่า เราะมะฎอนมาอีกแล้ว ไวจริงเลย ขนาดว่าสิบเอ็ดเดือนคุณยังบอกว่าเราะมะฎอนยังมาไว เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าอีกแค่ 30 วันก็จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ถ้าหากเราไม่เตรียมตัว ไม่เตรียมพร้อมในการต้อนรับเดือนเราะมะฎอน

 

         ซึ่งก็อีกแค่ไม่กี่วันถ้าไม่เตรียมตัว หรือไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนหน้านี้ การตักตวง การฉกฉวย มันก็จะลดน้อยถอยลง เราจะไม่ได้รับคุณประโยชน์ของเดือนเราะมะฎอนอย่างเต็มที่ ก็เป็นเรื่องที่ฝากกันเอาไว้ให้คิด ถ้าย้อนไปดูบรรดาเศาะฮาบะฮฺในสมัยของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม บรรดาเศาะฮาบะฮฺบอกว่า ก่อนที่เดือนเราะมะฎอนจะมาครี่งปี มีความคิด มีความต้องการที่อยากให้เดือนเราะมะฎอนเข้ามาถึงตัวของเขาแล้ว อยากจะถึงเดือนเราะมะฎอนไวๆ มีความคิดแบบนี้มาตั้งครึ่งปี แล้วพอถึงเดือนเราะมะฎอน เขาก็จะใช้เวลานั้นกอบโกยอย่างเต็มที่ หลังจากเดือนเราะมะฎอนผ่านไปก็มีความคิดในการโหยหา มีความคิดถึงบรรยากาศในเดือนเราะมะฎอนที่ผ่านพ้นไปอีกครึ่งปี เพราะฉะนั้นชีวิตของบรรดาเศาะฮาบะฮฺก็เลยกลายเป็น เราะมะฎอนทั้งปี แต่เราอาจจะไม่ถึงขั้นของบรรดาเศาะฮาบะฮฺ ก็ขอให้มีสักเล็กน้อยในการเตรียมตัว เตรียมใจ วางแผนเพื่อจะเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน เพื่อจะไปกอบโกยในเดือนเราะมะฎอนอย่างเต็มที่นั่นเอง 

 

          ในปีที่ผ่านๆมา มีใครบ้างไหมที่มีความคิดว่า เมื่อเดือนเราะมะฎอนผ่านพ้นไปแล้ว ตัวเราที่มีชีวิตอยู่ 20-30- 40- 50 ปี จะมีปีไหนบ้างไหมที่มีความคิดว่า ผ่านพ้นไปแล้ว รู้สึกว่า คุ้ม อยู่ในเราะมะฎอนตั้งแต่ต้นจนจบเราะมะฎอน ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้ม ได้ทำอิบาดะฮฺอย่างเต็มที่ พอจะมีสักปีบ้างไหม ถ้าหากว่าเรามีความคิดแบบนี้ แสดงว่าตัวเรานี้มีการเตรียมพร้อม มีการวางแผนมาก่อนล่วงหน้า พอมาถึงเดือนเราะมะฎอน เรารู้ว่าวันนี้จะทำอะไร พรุ่งนี้จะทำอะไร มะรืนนี้จะทำอะไร แล้วก็สามารถที่จะปฏิบัติตามแผน ปฏิบัติอิบาดะฮฺได้ตามที่ได้วางแผนไว้ วางแผนทั้งแรงกายแรงใจได้ครบถ้วนสมบูรณ์ในเดือนเราะมะฎอน คือเป็นที่พอใจสำหรับตัวเราเองเมื่อจบเดือนเราะมะฎอนไปเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าหากไม่เคยเลย เคล็ดลับมีไม่ยากเลย ถ้าหากย้อนกลับไปดูปีก่อนๆไม่เคยเลย แม้แต่ปีที่แล้วก็ยังไม่พอใจ ก็มีเคล็ดลับง่ายๆ

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทั้งหลาย เดือนเราะมะฎอนจะมีเอกลักษณ์อยู่ 5 ประการ หากใครก็ตามที่สามารถจะทำได้ครบทั้ง 5 เอกลักษณ์นี้ ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีการวางแผน มีการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน

ประการที่หนึ่ง คือการศิยาม ก็คือการถือศีลอด ซึ่งเป็นวาญิบในเดือนเราะมะฎอน

ประการที่สอง คือการกิยาม ก็คือการยืนขึ้นละหมาดในช่วงกลางคืน

       ประการที่สาม คือการเศาะดะเกาะฮฺ ก็คือการบริจาคทาน ทั้งในเรื่องของทรัพย์สิน อาหาร หรือแม้แต่ในเรื่องของการออกกำลังในการช่วยเหลือผู้อื่น

       ประการที่สี่ คืออัลกุรอาน เพราะเดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งอัลกุรอาน เป็นเดือนที่อัลลอฮฺ ประทานอัลกุรอานลงมา ซึ่งมีความประเสริฐมากมายของการอ่านอัลกุรอาน

ประการที่ห้า คืออัลเอี๊ยะอฺติกาฟ ก็คือการพำนักอยู่ในมัสยิด

 

          สิ่งที่อยากจะเน้นในวันนี้ก็คือ ทำอย่างไรให้เราสามารถดึงเอกลักษณ์ของเดือนเราะมะฎอนทั้งห้าประการนี้เข้ามาสู่ตัวของเราเอง ให้เรารู้สึกว่า เมื่อจบเราะมะฎอนแล้ว เรามีความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จที่ได้ปฏิบัติเอกลักษณ์ทั้งห้าของเดือนเราะมะฎอน นอกจากได้ลงมือปฏิบัติแล้ว ยังได้รับผลประโยชน์ มีอีมานที่เพิ่มขึ้น มีตักวาที่เพิ่มขึ้น ในการทำอิบาดะฮิทั้งห้าประการ ซึ่งจะทำให้ท่านแยกแยะออกระหว่างการถือศีลอดที่เป็นประเพณีกับการถือศีลอดที่เป็นอิบาดะฮฺของเดือนเราะมะฎอน เพราะถ้าถือศีลอดเป็นประเพณีทุกๆปี มันก็เหมือนกับการทำตามที่คนอื่นเขาทำกัน การกิยาม การละหมาดตะรอเวี๊ยะหฺ เราก็ลุกขึ้นยืนละหมาดทำตามที่เขาทำกัน แต่ขาดเป้าหมาย ขาดความรู้ถึงเป้าหมายที่แท้จริงของอิบาดะฮฺนั้นๆ เพราะฉะนั้นการจะเข้าถึงได้ด้วยกับสองประการง่ายๆ ก็คือการเตรียมตัวและการวางแผน หมายถึงการหาความรู้ก่อนการทำอิบาดะฮฺ 

 

          จุดประสงค์ประการแรกคือ คุณต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงใช้ให้ทำคืออะไร ใช้ให้ทำเพื่ออะไร แต่ถ้าหากว่าไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร มันก็ล่องลอย จะไปสนามหลวงต้องรู้แล้วว่านั่งรถสายอะไร ถ้าหากว่าไม่รู้ว่าสนามหลวงอยู่ตรงไหน เป้าหมายก็เลื่อนลอยแล้ว แล้วยังไม่รู้ว่าจะนั่งรถสายอะไรไปอีก มันก็ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ยาก เดินไปมันก็จะช้า เพราะฉะนั้นถ้ารู้เป้าหมายที่แท้จริงของอิบาดะฮฺที่เราจะทำ และศึกษาหาความรู้ในความประสริฐของมัน เพื่อเป็นแรงผลักดันตัวของเราเองทำให้มีความประสงค์ที่อยากจะทำ 

          ทำไมในสมัยท่านนบี บรรดาเศาะฮาบะฮฺยืนละหมาดได้ทั้งคืน ในขณะที่สมัยเรา ถ้ายืนได้สักหนึ่งหรือสองชั่วโมงก็ถือว่าเก่งแล้ว บางคนอาจจะได้ครึ่งคืน บางคนอาจจะได้สี่ถึงห้าชั่วโมงก็แล้วแต่ แต่ว่าทำไมในสมัยนั้นจึงทำได้ตลอดทั้งคืน ทั้งนี้เพราะเขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมันมีภาคผลมหาศาล ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วว่าเป้าหมายที่แท้จริงว่าอัลลอฮฺทรงให้เราทำอะไร และรู้ถึงวิธีการที่ถูกต้องและศึกษาหาความรู้ก่อนการทำอิบาดะฮฺนั้นๆ สองประการนี้ละครับที่จะช่วยทำให้เราไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของการทำอิบาดะฮฺได้ แล้วพอจบอิบาดะฮฺนั้นแล้ว เราจะรู้สึกว่าเรามีความภูมิใจ มีความชื่นใจในสิ่งที่เราทำสำเร็จไป ซึ่งมันสามารตรวจสอบได้ 

 

          เวลาเราทำอิบาดะฮฺเรื่องใดก็ตามเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว เราสามารถที่จะย้อนกลับมาดูตัวเราว่า เรานั้นมีอีมานเพิ่มพูนขึ้นมากหรือเปล่า ด้วยกับการดูความคิดเห็น ดูท่าที ดูการปฏิบัติตัวต่อคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ถ้าหากอัลลอฮฺทรงบอกว่าการละหมาดจะห้ามเราจากความชั่ว ความลามกและสิ่งที่มันไม่ดี เมื่อเราละหมาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรามีท่าทีต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร มีท่าทีต่อความชั่วอย่างไร มีท่าทีต่อสิ่งลามกอนาจารอย่างไร สิ่งนี้มันจะเป็นมาตรวัดว่า เมื่อเราทำอิบาดะฮฺสิ่งหนึ่งสิ่งใดจบเรียบร้อยแล้ว เรามีความยำเกรงอัลลอฮฺเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ไม่มีใครที่สามารถจะวัดได้ นอกจากตัวของเราเอง 

 

เอกลักษณ์ของเดือนเราะมะฎอนห้าประการก็คือ

 

เอกลักษณ์ของเดือนเราะมะฎอนประการแรก การถือศีลอด 

ในอัลกุรอานบอกเอาไ ว้ว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดให้แก่พวกเจ้า

เหมือนกับที่ได้ถูกกำหนดให้แก่กลุ่มชนที่มาก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อให้พวกเจ้านั้นมีความยำเกรง”

 

          นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของการถือศีลอด ”  لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ    เพื่อให้มีความยำเกรง “ เพื่อให้มีความตักวา ไม่ใช่ถือเพื่อให้หิว ไม่ใช่ถือเพื่อให้เห็นใจคนที่เขาไม่มีอาหารกิน ไม่ใช่ถือเพื่อต้องการให้ร่างกายขับสารพิษ ไม่ใช่ถือเพื่อต้องการให้เรานั้นให้อาหารแก่คนยากจน ให้เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง แต่มันเป็นเพียงประโยชน์ เป็นผลพลอยได้ของการถือศีลอด 

ท่านนบีกล่าวว่า 

«مَنْ صَام رَمَضَانَ إيمَاناً وَاحْتِسَاباً غُفِرَ لَـهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِـهِ».

“ใครก็ตามที่ถือศีลอดอย่างมีอีมาน และหวังผลตอบแทน ความผิดที่แล้วๆมาของเขา อัลลอฮฺจะทรงยกโทษให้”

 

          อย่าไปโฟกัสในช่วงท้ายของหะดีษว่า ความประเสริฐของการถือศีลอดก็คืออัลลอฮฺจะทรงยกโทษความผิดต่างๆที่ผ่านมาให้ แต่อย่าลืมดูตรงกลางซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน มีเงื่อนไขว่า จะทรงยกโทษให้เมื่อ ” إيمَاناً وَاحْتِسَاباً ถือศีลอดด้วยกับการอีมาน” ถือเพราะเชื่อฟังว่ามันเป็นบทบัญญัติหนึ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งเรามา และเปฏิบัติตามด้วยความศรัทธา ไม่ใช่ถือตามประเพณี เพราะฉะนั้นเมื่อเราถือตามประเพณี มันก็จะหลุดข้อนี้ไป การหวังผลตอบแทนที่อัลลอฮฺจะทรงให้ ถือศีลอดด้วยกับการอีมานว่าเป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ ถือแล้วหวังว่าอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนให้ ซึ่งการตอบแทนของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงบอกไว้ในหะดีษกุดซีย์ 

หะดีษที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า ทุกๆการงานของบนีอาดัมเป็นของเขา ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด การจ่ายซะกาต อะไรก็แล้วแต่ ทุกๆงานนั้นจะเป็นของเขา เป็นผลบุญให้กับบ่าวเอง แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มให้ สิบเท่า เจ็ดสิบเท่า จนถึงเจ็ดร้อยเท่า จนมาถึงไม่มีขีดจำกัด ยกเว้นการถือศีลอดอย่างเดียว

          ขนาดอัลลอฮฺทรงบอกว่าทุกอย่างเลย ยกเว้นอย่างเดียว แสดงว่ามันจะต้องเป็นอิบาดะฮฺที่สำคัญมาก อัลลอฮฺทรงบอกว่า" การถือศีลอดของบ่าวแต่มันเป็นของข้า และข้านี่แหละที่จะตอบแทนให้กับบ่าวเอง” ไม่มีจำนวนจำกัด แต่แน่นอนมันจะต้องมากกว่าสิบเท่า เจ็ดสิบเท่า เจ็ดร้อยเท่า 

          ตามรายงานของหะดีษบอกว่าการงานอื่นอัลลอฮฺจะทรงตอบแทนเท่านี้ ยกเว้นการถือศีลอด พระองค์จะทรงตอบแทนด้วยพระองค์เองเพราะการถือศีลอดมันเป็นสิ่งที่รู้กันระหว่างสอง คือตัวของเราเองกับพระเจ้า ถ้าเราบอกว่าเราถือศีลอด แต่แอบไปกินอะไรมาแล้วออกมา ทำปากให้แห้งๆหน่อย คนเขาก็คิดว่าเราถือศีลอด นี่มันเรื่องของการตักวาเพียวๆเลย หรือจะเป็นนอกเราะมะฎอน อยู่มาวันหนึ่งเราถือศีลอด ไม่มีใครรู้ครับ แม้กระทั่งคนในครอบครัว มันเป็นความลับระหว่างตัวของเราเองกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ถ้าใครถาม มันไม่ได้ออกมาเป็นท่าทาง มันอยู่ที่จิตใจของเรา ทำแล้วได้ตักวา

 

เอกลักษณ์ของเดือนเราะมะฎอนประการที่สอง อัลกิยาม 

           คือการละหมาดช่วงเวลากลางคืน ไม่ว่าจะเป็นละหมาดตะรอเวี๊ยะหฺ ทำไมเรียกตะรอเวี๊ยะหฺ เพราะมาจากคำว่า ตัรวียะหฺ หรือ ตัรเวี๊ยะหฺ แปลว่าพัก ละหมาดแล้วพัก ละหมาดแล้วพัก ในละหมาดนี้เราก็รู้สึกตัรเวี๊ยะหฺไปด้วย ให้รู้สึกว่ายืนละหมาดแล้วผ่อนคลาย ละหมาดเสร็จก็ผ่อนคลาย เพราะฉะนั้นอย่าละหมาดในที่ที่อิมามอ่านอย่างรวดเร็ว และทำละหมาดอย่างรวดเร็ว ก้มๆเงยๆอย่างรวดเร็วเพื่อจะเอาจำนวน นั่นไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของการละหมาดตะรอเวี๊ยะหฺหรือการละหมาดกิยามุลลัยลิ์ 

          ละหมาด 2 ร่อกะอัตแล้วก็พัก ไปมัสยิดใกล้ๆที่เขาอ่านช้าๆ อ่านน้อยๆไม่เป็นไรแต่อ่านช้าๆ เพราะถ้าเอาจำนวนจะละหมาดเร็วๆ อ่านเร็วๆมันก็จะทำให้เหนื่อย มันไม่ใช่เป็นการพักแล้ว หรือจะเป็นละหมาดตะฮัจญุด หรือละหมาดสุนัตอะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นในยามค่ำคืน เรียกว่ากิยามุลลัยลิ์ทั้งหมด หรือจะเรียกละหมาดตะรอเวี๊ยะหฺว่าเป็นกิยามุลลัยลิ์ก็ได้ หรือจะเรียกละหมาดตะฮัจญุดว่าเป็นกิยามุลลัยล์ก็ได้ นี่เป็นประเด็นเรื่องคำศัพท์

           การละหมาดกิยามุลลัยล์ ในตอนกลางคืนภาคผลของมันมีซึ่ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม บอกว่า

          โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย เจอกันให้สลาม ให้สลามกันให้เยอะๆ ให้อาหารกัน ให้อาหารคนยากคนจน ติดต่อเครือญาติ อย่าอยู่แบบของใครของมัน แม้แต่คนที่ไม่ชอบเรา เราก็ต้องติดต่อ และจงละหมาดในยามค่ำคืน ในตอนที่มนุษย์ทั้งหลาย หรือตอนที่คนอื่นเขานอนหลับ อาจจะเป็นช่วงกลางดึก อาจจะเป็นข่วงต้นคืน อาจจะเป็นช่วงกลางของกลางคืน หรืออาจจะเป็นช่วงปลายของกลางคืน ถ้าทำได้สี่ประการนี้ก็จะได้เข้าสวนสวรรค์อย่างมีความสันติ

 

           เพราะฉะนั้นการละหมาดกิยามุลลัยล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเราะมะฎอนจะมีภาคผลมหาศาล ขอให้เรานั้นปฏิบัติกัน ก็เริ่มจากเบาๆก่อน ท่านนบีบอกว่า เมื่อจะเริ่มละหมาดกิยามุลลัยลิ์ซึ่งไม่ใช่ละหมาดที่คุ้นเคยที่ทำตลอดปี ใครที่ละหมาดตลอดปีก็จะไม่ใช่เรื่องที่หนักหนาสำหรับเขา แต่ว่าอยู่ๆจะมาละหมาด 8 ร่อกะอะฮฺเลย ท่านนบีจึงบอกให้เริ่มให้เบาๆก่อน สองร่อกะอะฮฺแรกอย่าอ่านยาว วอร์มอัพก่อน อ่านกลางๆ อ่านช้าๆ อ่านสั้นๆ ที่เหลือก็ว่ากันไป เหมือนกัน ตื่นละหมาดในช่วงกลางคืน ช่วงตีสอง ตีสาม ถึงตะฮัจญุด สองร่อกะอะฮฺแรกก็ให้สั้นๆก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยๆขยับขยาย จะยาวก็ไม่เป็นไร

 

เอกลักษณ์ประการที่สาม การศ่อดะเกาะฮฺ 

          คือการจับจ่ายเงินหรือการออกแรงในด้านที่ทำประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ แต่ถ้าไม่มีแรง แต่มีเงินก็ออกเงินในการบริจาคทานให้กับคนนั้นคนนี้ หรือเลี้ยงอาหารละศีลอด หรือว่าเสาะหาคนที่เขามีความเดือดร้อน ในการจับจ่ายเงินของเราในทางของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ถ้าไม่มีเงินก็ออกแรง เขาจัดอาหารเลี้ยงละศีลอดกัน เราก็ไปช่วย เขามีการขนอาหารไปเลี้ยง เรามีรถ เราก็ไปช่วยขน นั่นก็คือเศาะดะเกาะฮฺเช่นเดียวกัน ซึ่งภาคผลของการทำเศาะดะเกาะฮฺก็หลากหลาย 

 

           ซึ่งความประเสริฐในการทำเศาะดะเกาะฮฺ จะเป็นร่มเงาให้แก่เราในวันกิยามะฮฺ วันที่ไม่มีร่มเงาใดๆ เลย และดวงอาทิตย์ก็อยู่ห่างจากเราไม่เกินเมตรสองเมตร อยู่ตรงศีรษะเรา มันเป็นวันที่แดดร้อน เป็นวันที่หนักหนาสำหรับมนุษย์ แต่ถ้ามีร่มเงาที่ได้จากการทำเศาะดะเกาะฮ ยิ่งทำมาก ร่มเงาก็ยิ่งเยอะ มันก็จะเป็นทั้งตัวช่วยและตัวป้องกันความร้อนให้แก่เราในวันกิยามะฮฺนั่นเอง

 

เอกลักษณ์ประการที่สี่ คือการอ่านอัลกุรอาน 

           เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งอัลกุรอาน เราจึงต้องอ่านอัลกุรอานกันให้บ่อยๆ อ่านอัลกุรอานกันให้มากๆ วิธีทำก็คือต้องวางแผนล่วงหน้า วันนี้จะอ่านเท่าไร วางแผนในสิ่งที่มันเป็นไปได้ ถ้าทั้งปีไม่เคยอ่านเลย แต่พอเข้าเราะมะฎอน ในวันหนึ่งจะอ่านวันละ 5 ญุซ 10 ญุซ อย่างนี้มันเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก วางเป้าหมายที่มันสามารถทำได้ วันหนึ่งอ่าน 5 หน้า 10 หน้า แล้วก็เพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ การอ่านอัลกุรอานทั้งในเราะมะฎอนและนอกเราะมะฎอนจะมีผลบุญอยู่แล้ว แต่เมื่อมาอ่านในเดือนเราะมะฎอน มันก็จะยิ่งเพิ่มผลบุญให้แก่เรามากยิ่งขึ้นขึ้น

«مَنْ قَرَأَ حَرْفًا مِنْ كِتَابِ اللهِ فَلَهُ بِهِ حِسِنَةٌ، وَالحَسَنَةُ بِعَشْرِ أَمْثَالِهَا، لَا أَقُوْلُ: الم حَرْفٌ، وَلَكِنْ أَلِفٌ حَرْفٌ، وَلَامٌ حَرْفٌ، وَمِيْمٌ حَرْفٌ»

“ใครก็ตามที่อ่านหนึ่งอักษรในอัลกุรอาน เขาจะได้รับหนึ่งความดี หนึ่งความดีเพิ่มเป็นสิบ”

           ท่านนบีบอกว่าอ่าน อลิฟ ลาม มีม ไม่ใช่หนึ่งอักษรนะ แต่อลิฟคือหนึ่งอักษร ลามคือหนึ่งอักษร มีม คือหนึ่งอักษร เพราะฉะนั้น เมื่ออ่านอลิฟ ลาม มีม ก็คืออ่านสามอักษรได้รับผลบุญเท่ากับสามสิบความดี เพราะฉะนั้นการอ่านฟาติหะฮฺทั้งซูเราะฮฺ การอ่านอัลกุรอานหนึ่งหน้าไม่ได้สร้างความยากลำบากอะไรกับเรามากมายในการที่จะอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่านในเดือนเราะมะฎอน อ่านในเดือนแห่งอัลกุรอาน มันก็ยิ่งเพิ่มพูนภาคผลให้แก่เรามากยิ่งขึ้นนั่นเอง

 

เอกลักษณ์ประการสุดท้าย คือการเอี๊ยะอฺติกาฟ 

           คือการพำนักอยู่ในมัสยิด เพื่ออิบาดะฮฺ เพื่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นี่คือเป้าหมาย การพำนักอยู่ในมัสยิดในเวลาที่เจาะจงเพื่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจในแต่ละบทบัญญัติทุกอย่าง เพื่อให้เราสามารถที่จะทำได้ถูกต้อง ถูกวิธี พอเราทราบเป้าหมายแล้วว่า อัลลอฮฺทรงให้เราทำอันนี้..อันนี้,,อันนี้ มีเป้าหมายเพื่ออะไร ถ้าหากเราทราบถึงเป้าหมาย เราก็จะสามารถกำหนดพฤติกรรมต่ออิบาดะฮฺของเราได้อย่างถูกต้อง ทำตามวิธีของมันได้อย่างถูกต้อง 

 

           การเอี๊ยะอฺติกาฟที่ถูกต้องตามแบบฉบับของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คือการเอี๊ยะอฺติกาฟในสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ตั้งแต่คืนวันที่ยี่สิบเอ็ดจนกระทั่งวันที่ประกาศเห็นเดือน โดยจะไม่ออกไปไหน แต่ถ้าเรามีกิจธุระ เราก็สามารถจะลดจำนวนวันได้ แต่ให้รู้ว่าท่านร่อซูลทำในสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน และท่านร่อซูลก็ได้เปิดกว้างเอาไว้ว่าไม่จำเป็นต้องในเดือนเราะมะฎอนก็ได้ จะเป็นนอกเหนือเดือนเราะมะฎอนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสิบวันก็ได้ หนึ่งวันก็ได้ กี่วันก็ได้ หรือกำหนดเป็นชั่วโมงก็ได้ หรือเมื่อเวลาที่เราเข้ามาละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด เราก็สามารถที่จะตั้งเจตนาว่า เรา เอี๊ยะอฺติกาฟครี่งชั่วโมงก็ได้ เพราะฉะนั้นการเอี๊ยะอฺติกาฟของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมีแบบอย่างในสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ใครสามารถที่จะทำได้ มันก็เป็นความดีสำหรับเขาในการทำเอี๊ยะฮฺติกาฟด้วย และก็เป็นการทำตามแบบฉบับของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย 

 

          ทั้งหมดที่กล่าวมา ห้าเอกลักษณ์ของเดือนเราะมะฎอนเพื่อเป้าหมายเดียวเท่านั้นเองก็คือเพื่ออัตตักวา คือการยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแท้จริง นักวิชาการหลายท่านบอกว่า การที่อัลลอฮฺทรงต้องการให้เราได้อัตตักวานี้แหละ จึงเป็นที่มาของการกำหนดเอกลักษณ์ทั้งห้าประการในเดือนเราะมะฎอน หรือกำหนดการทำอิบาดะฮฺในเดือนเราะมะฎอนขึ้นมาเพื่อต้องการให้เรานั้นได้อัตตักวา เพราะฉะนั้นการตักวา เราจะได้มาก็ด้วยกับการที่เราทำอิบาดะฮฺนั้นดัวยความเข้าใจ ทราบถึงเป้าหมาย ทราบถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการทำอิบาดะฮฺแต่ละอย่าง ทำมันอย่างถูกต้อง การที่จะทำมันอย่างถูกต้องได้ก็ต้องศึกษาหาความรู้ ศึกษาหาวิธีการ การศึกษาในตัวของอิบาดะฮฺนั้นๆก่อนที่จะได้ลงมือทำ อย่าไปทำตามประเพณี หรือว่าปีหนี่งทำทีหนึ่งอาจจะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดทุกปี ก็เลยมีความคิดว่าการถือศีลอดก็คือการอดอหาร แต่ที่จริงแล้วมันมีความหมาย ความประเสริฐกว่านั้นมากมาย

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทั้งหลาย เมื่อเราะมะฎอนผ่านมาแล้ว อย่าให้มันเสียโอกาสผ่านไป อย่าให้เสียโอกาสในการตักตวง พยายามให้เราะมะฎอนของเรานั้นเป็นเราะมะฎอนที่ใกล้เคียงกับที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้สร้างขึ้น การเตรียมตัวของเรา การวางแผนของเรา และการปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างดีที่สุดในเดือนเราะมะฎอน เพื่อที่หลังจากเดือนเราะมะฎอนแล้วจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดาย ไม่ต้องมานั่งเสียใจว่า สิ่งที่ทำไปแล้วจะถูกตอบรับหรือเปล่า นั่นคือเรื่องของอัลลอฮฺ แต่สิ่งที่เราทำนั้น เราทำเต็มที่หรือยัง ถ้าหากเราทำเต็มที่แล้ว หาความรู้แล้ว ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้องแล้ว ทำด้วยอีมานและหวังผลตอบแทน อินชาอัลลอฮฺ เราก็จะได้รับการตักวา และการตอบแทนจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างแน่นอน 

 

           อีกประการหนึ่งที่ต้องทำในเดือนเราะมะฎอน ก็คือการสร้างบรรยากาศให้เกิดขึ้น เราต้องเข้าใจว่า การอีมานในยุคเรามันไม่เหมือนในสมัยของบรรดาเศาะฮาบะฮฺ เนื่องจากอะไรๆมันก็ถดถอยลงไป สิ่งที่จะช่วยเราได้ก็คือการสร้างบรรยากาศของเดือนเราะมะฎอน สร้างบรรยากาศแห่งความดีให้มันเกิดขึ้น พอถึงเดือนเราะมะฎอนก็ถือศีลอดกันให้หมด กลางคืนหลังละหมาดตะรอเวี๊ยะหฺก็นั่งอ่านอัลกุรอานกันให้เยอะๆ ตอนเย็นก่อนละศีลอดก็ถืออาหารส่งให้กัน การสร้างบรรยากาศใช้ได้ผลในทุกๆอย่าง มาช่วยกันสร้างบรรยากาศแห่งเดือนเราะมะฎอน สร้างบรรยากาศแห่งการทำความดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว ในหมู่บ้าน ในสังคมมุสลิมของเราเพื่อให้เราได้ผ่านเดือนเราะมะฎอนโดยกอบโกยได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

          พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทั้งหลาย ถึงแม้ว่าการถือศีลอด การละหมาดในยามค่ำคืน การอ่านอัลกุรอาน การทำเศาะดะเกาะฮฺ การเอี๊ยะอฺติกาฟมีความสำคัญ ทำในเดือนเราะมะฎอน แต่ก็เป็นซุนนะฮฺ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราต้องดำรงอยู่ทั้งในเดือนเราะมะฎอนและนอกเดือนเราะมะฎอนนั่นก็คือ การละหมาดฟัรฎู 5 เวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คนที่ละหมาดตะรอเวี๊ยะหฺไม่เคยขาดเลย แต่ขาดละหมาดฟัรฎูเป็นประจำก็จะไม่ได้รับความดีใดๆเลย เราต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง อะไรที่เป็นฟัรฎูเราขาดไม่ได้ อะไรที่เป็นซุนนะฮฺ ถึงแม้เราจะขาดบ้างก็ไม่เป็นไร แต่เราพยายามทำ แต่ต้องดูวาญิบด้วย ละหมาดฟัรฎู 5 เวลา เราะมะฎอน 30 วัน ขาดไม่ได้ ถ้าขาดก็ต้องมีการชดใช้ ถ้าหากว่าเราจงใจขาด เพื่อไปมุ่งเวลาไปกับการทำซุนนะฮฺ มันก็จะเป็นการเรียงลำดับที่ผิดขั้นตอน แล้วเราก็จะไม่ได้รับความดีใดๆ เพราะฉะนั้นเรียงลำดับให้ถูกต้อง เรียงวาญิบ ละหมาด 5 เวลาอย่าให้ขาด 

 

          มีคำถามจากชาวสวรรค์ที่ถามชาวนรกว่า อะไรที่ทำให้เจ้ามาอยู่ในนรกนี้ คำตอบแรกคือ เราไม่ได้ละหมาด หมายถึงเราไม่ได้ละหมาดวาญิบ คือละหมาดฟัรฎู 5 เวลา ไม่ใช่ว่ามาอยู่ในนรกเพราะไม่ได้ละหมาดตะรอเวี๊ยะหฺ และก็ไม่ได้ใช้จ่าย ไม่ได้จับจ่ายไปในหนทางของอัลลอฮฺ ให้อาหารคนยากคนจน นี่เป็นคำตอบของชาวนรกที่ตอบกับชาวสวรรค์ ฝากเอาไว้ว่า การละหมาดฟัรฎู 5 เวลา ไม่ว่าจะในเดือนเราะมะฎอนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็นสิ่งแรกที่จะต้องถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ และจะมีผลกับการงานอื่นๆของเราด้วย การละหมาดของเราดี การงานอื่นๆมันก็ดีไปด้วย ส่วนอันไหนที่มันบกพร่อง อัลลอฮฺก็จะทรงปัดทิ้งไป ให้มันกลายเป็นการงานที่ดีขึ้นมาได้

 

          สุดท้ายนี้ ขอให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประทานสติปัญญา ความแข็งแรงในร่างกาย การวางแผนที่ดีเพื่อให้เรานั้นเข้าสู่เราะมะฎอนในฐานะที่เป็นผู้ที่เตรียมตัวพร้อม และออกจากเดือนเราะมะฎอนในฐานะที่เป็นผู้ที่เก็บเกี่ยวภาคผลได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

           “พวกท่านทั้งหลายจงรำลึกถึงอัลลอฮฺ แล้วอัลลอฮฺจะทรงรำลึกถึงพวกท่าน และในเนี๊ยะอฺมะฮฺ ความโปรดปรานต่างๆของอัลลอฮฺที่ประทานให้แก่พวกท่าน พวกท่านจงขอบคุณในเนี๊ยะอฺมะฮฺ ความโปรดปรานต่างๆ และอัลลอฮฺจะทรงเพิ่มให้แก่พวกท่าน และหากพวกท่านต้องการสิ่งใดจากพระองค์ ก็จงขอในความโปรดปรานของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงให้แก่พวกท่าน”

 

 

คุตบะฮ์วันศุกร์ ณ มัสยิด ดารุ้ลอิห์ซาน