มุสลิมะฮ์กับการออกรายการโทรทัศน์
  จำนวนคนเข้าชม  4239


มุสลิมะฮ์กับการออกรายการโทรทัศน์

 

เรียบเรียงโดย .. อุมมุ อับดุลลอฮ์

 

          คงไม่มีใครเห็นแย้งว่า ในโลกยุคปัจจุบัน สื่อโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในด้านต่างๆได้อย่างทั่วถึง และดึงดูดใจผู้รับชมได้อย่างไม่เสื่อมคลาย เพราะผู้รับชมสามารถเห็นภาพและได้ยินเสียงไปพร้อมๆกัน ด้วยเครื่องรับที่มีขนาดใหญ่ สะดวกต่อการรับชม เมื่อเราเปิดโทรทัศน์ เราจะพบเห็นเรื่องราวต่างๆมากมาย ทั้งเรื่องที่เกิดประโยชน์กับผู้รับชม และเรื่องที่สามารถนำผู้รับชมไปสู่สภาพที่เสื่อมถอย สิ่งหนึ่งที่เราจะพบมากขึ้นเมื่อเราเปิดโทรทัศน์ก็คือ เราจะพบสตรีมาออกรายการโทรทัศน์กันอย่างแพร่หลาย ในสภาพที่ต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาม ดึงดูดใจ แต่งหน้าทาปาก ไม่เว้นแม้แต่มุสลิมะฮ์ที่เริ่มนิยมมาออกรายการโทรทัศน์กันเพิ่มมากขึ้น

          แต่เนื่องจากเราเป็นมุสลิมะฮ์ เป็นสตรีมุสลิม สถานภาพของเราจึงไม่เหมือนกับสตรีอื่น เพราะอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ตรัสถึงสถานภาพของมุสลิมะฮ์ไว้ในซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ ตอนต้นของอายะฮ์ที่ 32 ว่า

يَا نِسَاءَ النَّبِيِّ لَسْتُنَّ كَأَحَدٍ مِّنَ النِّسَاءِ ۚ

โอ้ บรรดาภรรยาของนบี ! พวกเธอไม่เหมือนกับสตรีใดๆในบรรดาสตรีอื่นๆ..“

 

           คำว่า “يَا نِسَاءَ النَّبِيِّ บรรดาภรรยาของนบี” หมายถึง บรรดาภรรยาของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยเป็นคำสั่งที่ครอบคลุมถึงบรรดาภรรยาของผู้ศรัทธาด้วย ดังนั้น สตรีคนใดที่ปรารถนาจะเป็นผู้ศรัทธา และปรารถนาจะเป็นภรรยาของผู้ศรัทธา แน่นอน เธอจะมีสถานภาพที่ไม่เหมือนกับสตรีอื่นๆที่ไม่ใช่ผู้ศรัทธา เพราะอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงวางกรอบแห่งเกียรติยศให้แก่มุสลิมะฮ์ – สตรีผู้ศรัทธา โดยที่ไม่เคยมีสตรีที่ไม่ใช่ผู้ศรัทธาอื่นใดเคยได้รับมาก่อน เรามาดูกรอบแห่งเกียรติยศที่พระองค์ทรงมอบแก่มุสลิมะฮ์ว่ามีอะไรบ้าง

          ในอัลกุรอานซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ อายะฮ์ที่ 59 อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ قُل لِّأَزْوَاجِكَ وَبَنَاتِكَ وَنِسَاءِ الْمُؤْمِنِينَ يُدْنِينَ عَلَيْهِنَّ مِن جَلَابِيبِهِنَّ ۚ ذَٰلِكَ أَدْنَىٰ أَن يُعْرَفْنَ فَلَا يُؤْذَيْنَ ۗ وَكَانَ اللَّهُ غَفُورًا رَّحِيمًا

          “โอ้นบี ! จงกล่าวแก่บรรดาภรรยาของเจ้าและบุตรสาวของเจ้า และบรรดาสตรีของบรรดาผู้ศรัทธาให้พวกเธอดึงเสื้อคลุมของพวกเธอลงมาปิดตัวของพวกเธอ นั่นเป็นการเหมาะสมกว่าการที่พวกเธอจะเป็นที่รู้จัก เพื่อที่พวกเธอจะได้ไม่ถูกรบกวน แท้จริง อัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

 

          จากนัยของอายะฮ์นี้ คือคำสั่งใช้บรรดาสตรีผู้ศรัทธาว่า เมื่อมีธุระจำเป็นต้องออกนอกบ้าน หรือเมื่อต้องอยู่ต่อหน้าชายที่ไม่ใช่มะห์รอม แม้ว่าจะอยู่ในบ้านของพวกเธอเองก็ตาม พวกเธอจงสวมใส่เสื้อผ้าให้ปกปิดมิดชิดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพราะมันเป็นการเหมาะสมกว่าการที่พวกเธอจะเป็นที่รู้จักของใครๆ และยังเป็นการจำแนกพวกเธอออกจากบรรดาสตรีที่ไม่ใช่ผู้ศรัทธาหรือบรรดาสตรีชาวญาฮิลียะฮ์ (ชาวญาฮิลียะฮ์ หมายถึงผู้คนที่อยู่ในยุคแห่งความป่าเถื่อน ไม่รู้จักเรื่องราวศาสนาอิสลาม ) การปกปิดอย่างมิดชิดนี้ยังเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความละอายและความบริสุทธิ์ของจิตใจ เพื่อพวกเธอจะได้ไม่ถูกคุกคามจากคนชั่ว ตลอดจนบรรดาชายที่มีนิสัยชอบเกี้ยวพาราสี ซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นอยู่เสมอในสังคมยุคปัจจุบันนี้

          ในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ อายะฮ์ที่ 32 อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

يَا نِسَاءَ النَّبِيِّ لَسْتُنَّ كَأَحَدٍ مِّنَ النِّسَاءِ ۚ إِنِ اتَّقَيْتُنَّ فَلَا تَخْضَعْنَ بِالْقَوْلِ فَيَطْمَعَ الَّذِي فِي قَلْبِهِ مَرَضٌ وَقُلْنَ قَوْلًا مَّعْرُوفًا

          โอ้บรรดาภรรยาของนบี ! พวกเธอไม่เหมือนกับสตรีใดๆในบรรดาสตรีอื่นๆ หากพวกเธอยำเกรง (อัลลอฮ์)ก็ไม่ควร(มีจริตมารยาในการ)พูดจาให้เพราะพริ้งอ่อนหวานนัก เพราะจะทำให้ผู้ที่หัวใจมีโรคเกิดความคิดหวังอย่างผิดๆจากตัวของพวกเธอ แต่จงพูดจาด้วยถ้อยคำที่เหมาะสม พอเหมาะพอควร

 

           อายะฮ์นี้ได้ถูกประทานแก่บรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพื่อเป็นการดูแลปกป้องคุ้มครองพวกเธอ โดยคำสั่งนี้ครอบคลุมถึงบรรดาภรรยาของผู้ศรัทธาด้วยเช่นกัน เป็นคำสั่งให้ระวังการพูดจากับผู้ที่ไม่ใช่มะห์รอม โดยสั่งห้ามการพูดจาด้วยน้ำเสียงที่ดัดให้อ่อนหวานเพราะพริ้ง แต่ให้พูดด้วยคำพูดปกติธรรมดา

          และพระองค์ได้ตรัสต่อไปในอายะฮ์ที่ 33 ว่า

وَقَرْنَ فِي بُيُوتِكُنَّ وَلَا تَبَرَّجْنَ تَبَرُّجَ الْجَاهِلِيَّةِ الْأُولَىٰ ۖ وَأَقِمْنَ الصَّلَاةَ وَآتِينَ الزَّكَاةَ وَأَطِعْنَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ ۚ إِنَّمَا يُرِيدُ اللَّهُ لِيُذْهِبَ عَنكُمُ الرِّجْسَ أَهْلَ الْبَيْتِ وَيُطَهِّرَكُمْ تَطْهِيرًا

          “และพวกเธอจงประจำอยู่ในบ้านเรือนของพวกเธอ และอย่าได้เปิดเผยความงาม(ของพวกเธอ) เยี่ยงการเปิดเผยความงามของบรรดาสตรีชาวญาฮิลียะฮ์ยุคก่อน และ(พวกเธอ)จงดำรงการละหมาดและจ่ายซะกาต พร้อมทั้งเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์และร่อซูลของพระองค์

          แท้จริง อัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะขจัดความโสมมออกไปจากพวกเจ้า โอ้สมาชิกของวงศ์ตระกูล(ของท่านนบี) และพระองค์(ทรงประสงค์)จะขัดเกลาพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์”

 

          อายะฮ์นี้เป็นคำสั่งให้บรรดาสตรีผู้ศรัทธาพำนักอยู่ในบ้านเรือนของพวกเธอ อย่าได้ออกไปไหนมาไหนนอกจากมีธุระจำเป็นเท่านั้น และหากมีความจำเป็นต้องออกจากบ้าน พวกเธอต้องอย่าแต่งกายเพื่ออวดโฉม เปิดเผยความงาม หรือแสดงตนประเจิดประเจ้อเยี่ยงการกระทำของบรรดาสตรีชาวญาฮิลียะฮ์ยุคก่อน

          ดังกล่าวนั้นก็คือ ส่วนหนึ่งของกรอบแห่งเกียรติยศที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมอบแก่มุสลิมะฮ์สตรีผู้ศรัทธา ซึ่งพวกเธอถูกสั่งใช้ให้ปกปิดเอาเราะฮ์ของพวกเธอ (เอาเราะฮ์ หมายถึงส่วนที่หลักการศาสนาไม่อนุญาตให้เปิดเผย) สิ่งที่ใช้ปกปิดเอาเราะฮ์นั้นเรียกว่าฮิญาบคำว่าฮิญาบไม่ได้หมายเพียงการนำผ้ามาคลุมผมเท่านั้น

 

           เชคมุฮัมมัด นาศิรุดดีน อัลอัลบานีย์ (อุละมาอ์อะฮ์ลุซซุนนะฮ์ วัลญะมาอะฮ์ ยุคปัจจุบัน) กล่าวว่า อิสลามบังคับใช้ฮิญาบกับสตรีก็เพื่อให้สตรีได้ใช้ปกปิดเอาเราะฮ์ของพวกเธอ เพราะฮิญาบคือสิ่งที่จะมารักษาจิตใจของบรรดาสตรีให้มีความบริสุทธิ์ หากบรรดาสตรีเข้าใจจุดประสงค์ของบทบัญญัติในเรื่องนี้ว่ามีเป้าหมายอย่างไร พวกเธอก็จะเข้าใจว่ามันรวมไปถึงเงื่อนไขต่างๆที่อิสลามกำหนดไว้ คือ การปกปิดทุกสิ่งทุกอย่างที่ห้ามสตรีเปิดเผย มันรวมไปถึงการห้ามแต่งหน้าทาปาก ห้ามเขียนคิ้ว ห้ามใส่น้ำหอมหรือเครื่องหอมออกจากบ้าน


          จากคำฟัตวาของท่านเชคอัลอัลบานีย์ ผู้เรียบเรียงขอกล่าวถึงลักษณะของฮิญาบโดยสรุปก็คือ

- เป็นการปกปิดร่างกายทั้งหมด รวมถึงเครื่องประดับ ยกเว้นสิ่งที่อนุญาตให้เปิดเผยได้

- เนื้อผ้าของฮิญาบต้องไม่โปร่งบางจนมองเห็นสีผิว มองเห็นเรือนร่าง หรือติดแนบไปกับร่างกาย

- แบบจะต้องไม่รัดรูปจนมองเห็นเป็นสัดส่วนของร่างกายอย่างชัดเจน

       - ไม่มีการประดับประดาในตัวของฮิญาบเอง ต้องไม่ดึงดูดความสนใจ ต้องไม่ประดับประดาจนกระทั่งผู้คนต้องหันมาชำเลืองสายตามองเสื้อผ้าของพวกเธอ

       - ต้องไม่เป็นเสื้อผ้าที่ชุฮ์เราะฮ์ คือสวมใส่เพื่อการโอ้อวด มีราคาแพงจนเกินความจำเป็น เข้าข่ายฟุ่มเฟือย

- ไม่ใส่เครื่องหอมใดๆ

- ต้องไม่เป็นเครื่องแต่งกายที่เลียนแบบชาย คือแต่งแล้วดูเหมือนชาย

       - ต้องไม่เป็นเสื้อผ้าที่เลียนแบบเครื่องแต่งกายที่เป็นแบบเฉพาะของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา เช่น เครื่องแบบแม่ชี หรือภิกษุณี เป็นต้น

 

          ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากกรอบแห่งเกียรติยศนี้ เราจะเห็นว่า มุสลิมะฮ์ไม่สามารถที่จะออกรายการโทรทัศน์ได้เลย เพราะมันขัดกับกรอบแห่งเกียรติยศในทุกเรื่อง การต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่สวยงามดึงดูดใจ การต้องแต่งแต้มหน้าตาเพื่อไม่ให้ดูจืดชืดเมื่อโดนกับสปอร์ตไลท์ การที่ต้องใช้น้ำเสียงที่ให้ไพเราะเพราะพริ้ง การต้องออกจากบ้านและยังต้องไปคลุกคลีกับเพศตรงข้ามและพูดคุยกับพวกเขาโดยไม่จำเป็น

          เมื่อพวกเธอปรากฏตัวออกสู่หน้าจอโทรทัศน์ มันก็เท่ากับพวกเธอทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักของใครต่อใคร ในขณะที่พวกเธอไม่รู้จักคนเหล่านั้นทั้งหมด พวกเธอจะรับประกันตัวเองอย่างไรว่า พวกเธอจะปลอดภัยจากสายตาและจิตใจที่โสมมของคนบางคนที่ได้มองเห็นพวกเธอผ่านจอโทรทัศน์ พวกเขาจะคิดเห็นอย่างไรกับพวกเธอ อาจจะวิพากษ์วิจารณ์พวกเธออย่างเสียๆหายๆ หรืออาจจะชื่นชอบพวกเธอ เพราะพวกเธอแต่งตัวสวย ดึงดูดใจ อาจจะหลงใหลในน้ำเสียงของพวกเธอ แหละนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้เกิดฟิตนะฮ์ หรือความไม่ดีไม่งามขึ้นแก่ตัวเธอและสังคม

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า 

«مَا تَرَكْتُ بَعْدِيْ فِتْنَةً ، أَضَرَّعلَى َالرِّجَالِ مِنَ النِّسَاء»  [البخاري برقم 5096 ، ومسلم برقم 2740]

“ไม่มีฟิตนะฮ์ใดหลังจากที่ฉันจากพวกท่านไปแล้วจะเป็นอันตรายสำหรับบุรุษ มากไปกว่าฟิตนะฮ์ที่เกิดจากสตรี”

 

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ ฮะดีสเลขที่ 5096 และอิมามมุสลิม ฮะดีสเลขที่ 2740)

          การปรากฏตัวออกสู่หน้าจอโทรทัศน์พร้อมการแต่งตัวอย่างมากมาย จนกลายเป็นความสวยงามสาธารณะที่ใครๆก็สามารถยลโฉมได้นั้น ก็เปรียบเสมือนกับการลดเกียรติ ลดคุณค่าของตนเอง ลองพินิจพิจารณาดูเถิดว่า ไข่มุกเม็ดงามที่ถูกห่อหุ้ม ถูกปกปิดมิดชิดอย่างดี กับไข่มุกเม็ดงามที่ถูกนำมาวางโชว์อยู่หน้าร้านขายเครื่องประดับนั้น ผู้ซื้อจะตัดสินใจเลือกหยิบเม็ดไหนให้กับตนเอง

          แม้แต่การออกโทรทัศน์เพื่อการดะอ์วะฮ์ศาสนาก็ตาม สำหรับบรรดาสตรีแล้วก็ไม่เป็นที่อนุมัติ เพราะพวกเธอสามารถที่จะดะอ์วะฮ์ด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น การเรียนการสอน การเขียนบทเรียน การเขียนบทความออกเผยแพร่ ซึ่งในปัจจุบันมีช่องทางให้เผยแพร่ได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อินเตอร์เน็ต และประการสำคัญสูงสุด เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับพวกเธอที่จะต้องดะอ์วะฮ์บุคคลในครอบครัว คนใกล้ชิด คนใกล้ตัวของพวกเธอก่อนสิ่งอื่นใด จงอย่าละทิ้งหน้าที่ตรงนี้ของพวกเธอ

 

          เชคอับดุรเราะห์มาน อิบนิ นาศิร อัลบัรรอก (อุละมาอ์อะฮ์ลุซซุนนะฮ์ วัลญะมาอะฮ์ยุคปัจจุบัน) กล่าวไว้ว่า “ไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับบรรดาสตรีที่จะออกรายการโทรทัศน์ ถึงแม้ว่าจะเป็นรายการเพื่อการดะอ์วะฮ์และฟัตวา เพื่อสอนบรรดาสตรี และแม้ว่าเธอจะอยู่ในสภาพที่สวมฮิญาบมิดชิดก็ตามเพราะเหตุว่าบรรดาชายเป็นจำนวนนับไม่ถ้วนสามารถที่จะได้ยินเสียงของเธอ มันจึงไม่มีความจำเป็นที่บรรดาสตรีจะต้องมาดะอ์วะฮ์หรือฟัตวาออกรายการทางโทรทัศน์ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของบรรดาชายที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้สมบูรณ์กว่า นับตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันบรรดาชายยังคงทำหน้าที่สอน ดะอ์วะฮ์และฟัตวาในมัสญิด พวกเขาคือบรรดาเคาะฏีบและอิมาม และไม่เป็นที่อนุญาตให้บรรดาสตรีทำเรื่องดังกล่าว ยกเว้นเฉพาะในบรรดาสตรีด้วยกันเองเท่านั้น

(อ้างอิงhttp://albarrak.islamlight.net/index.php?option=com_ftawa&task=view&id=32357)

 

          เชคมุฮัมมัด อิบนุ ซอและฮ์ อัลอุษัยมีน (อุละมาอ์อะฮ์ลุซซุนนะฮ วัลญะมาอะฮ์ ยุคปัจจุบัน) ได้ถูกถามว่า “เป็นเรื่องที่อนุญาตหรือไม่ ที่จะให้บรรดาสตรีทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศทางโทรทัศน์ ซึ่งผู้ที่ไม่ใช่มะห์รอมของพวกเธอสามารถได้ยินเสียงของพวกเธอ ?”

          ท่านตอบว่าในการทำงาน(นอกบ้าน)ของบรรดาสตรีนั้น ย่อมต้องปะปน คลุกคลีกับบรรดาชายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งอาจจะต้องอยู่ตามลำพังกับพวกเขาในห้องกระจายเสียง ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่อนุมัติ เป็นเรื่องที่ไม่อนุญาต เพราะมีฮะดีสรายงานว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

لَا يَخْلُوَنَّ رَجُلٌ بِامْرَأَةٍ إِلَّا مَعَ ذِي مَحْرَمٍ

“ชายคนหนึ่งจะไม่อยู่ตามลำพังกับหญิงคนหนึ่ง นอกจากจะมีมะห์รอมของเธออยู่ด้วย”

 

         ด้วยเหตุนี้ จึงไม่เป็นที่อนุญาตตลอดไป อีกทั้งเป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อพวกเธอจะต้องพูด พวกเธอก็จะต้องพูดด้วยน้ำเสียงที่ให้ไพเราะเพราะพริ้ง ให้เป็นที่น่าฟัง น่าติดตาม และในบรรดาชายที่เป็นผู้ฟังก็มีทั้งคนที่เป็นหนุ่ม เป็นชายฉกรรจ์ แหละนี่ก็คือภัยที่จำเป็นต้องออกห่าง เพราะมันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟิตนะฮ์”

(อ้างอิง อัลฟะตาวา อัลมัรอะฮ์อัลมุสลิมะฮ์1/433,434)

 

          เชคซอและห์ อิบนุ อับดุลลอฮ์ อัลเฟาซาน (อุละมาอ์อะฮ์ลุซซุนน์ วัลญะมาอะฮ์ ยุคปัจจุบัน ) กล่าวไว้ว่า “ไม่เป็นที่อนุญาตให้สตรีสนทนากับชายซึ่งไม่ใช่มะห์รอมของเธอ นอกเสียจากว่าจะมีธุระจำเป็นเท่านั้น และเมื่อต้องสนทนากันก็จำเป็นที่เธอต้องใช้น้ำเสียงที่ปกติธรรมดา ไม่พูดจาเย้ายวนเชิญชวน และไม่พูดมากเกินความจำเป็น”

(อ้างอิง อัลฟะตาวา อัลมัรอะฮ์อัลมุสลิมะฮ์ 1/432)

 

         ดังนั้น เมื่อมุสลิมะฮ์ออกรายการโทรทัศน์ ก็เท่ากับพวกเธอออกจากกรอบแห่งเกียรติยศที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมอบแก่พวกเธอ เมื่อพวกเธออกจากกรอบแห่งเกียรติยศนี้แล้ว นั่นคือพวกเธอกำลังก้าวย่างตามการล่อลวงของชัยฏอนที่มาคอยล่อลวงด้วยกับความสวยงาม ความทันสมัย และมันคือการที่พวกเธอทำให้ตัวเองมีสถานภาพเหมือนกับบรรดาสตรีอื่นๆที่ไม่ใช่สตรีผู้ศรัทธา

 

          ขอให้มุสลิมะฮ์ – สตรีผู้ศรัทธาได้พึงตระหนักเถิดว่า มันเป็นหน้าที่ของผู้ศรัทธาที่จะต้องเชื่อฟังคำสั่งของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาและร่อซูลของพระองค์ ถึงแม้ว่าคำสั่งในบางเรื่องบางราว หรือบางอย่างมันอาจจะเป็นเรื่องที่ขัดกับอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว แต่เมื่ออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาและร่อซูลของพระองค์ได้ทรงบัญญัติหรือกำหนดสิ่งใดแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดสามารถขัดขืนหรือแสวงหาทางเลือกอื่นได้เลย และจะไม่มีความคิดเห็นหรือคำพูดใดๆ มาตีเสมอเทียบเคียงได้เป็นอันขาด

อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงยืนยันไว้ในซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ อายะฮ์ที่ 36 ว่า 

وَمَا كَانَ لِمُؤْمِنٍ وَلَا مُؤْمِنَةٍ إِذَا قَضَى اللَّهُ وَرَسُولُهُ أَمْرًا أَن يَكُونَ لَهُمُ الْخِيَرَةُ مِنْ أَمْرِهِمْ ۗ وَمَن يَعْصِ اللَّهَ وَرَسُولَهُ فَقَدْ ضَلَّ ضَلَالًا مُّبِينًا

          ไม่บังควรแก่ผู้ศรัทธาชายและผู้ศรัทธาหญิง (ที่จะไม่ปฏิบัติตาม) ในเมื่ออัลลอฮ์และร่อซูลของพระองค์ได้ทรงกำหนดกิจการงานใดแล้ว สำหรับพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นๆอีกในเรื่องของพวกเขา และผู้ใดไม่เชื่อฟังอัลลอฮ์และร่อซูลของพระองค์ แน่นอนเขาได้หลงผิดอย่างชัดแจ้ง

 

          ขออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราท่านทั้งหลายได้มีจิตใจที่มีความยำเกรงต่อพระองค์ และมีหัวใจที่ยึดมั่นยืนหยัดอยู่บนแนวทางที่ถูกต้องของพระองค์ด้วยเถิด

 

( ที่มา... วารสารสายสัมพันธ์ ปีที่ 50 อันดับที่ 565 - 566 มีนาคม – เมษายน 2559 )