“ลูก”จะรู้หรือไม่ !
  จำนวนคนเข้าชม  7331


ลูกจะรู้หรือไม่ !

รียบเรียงโดย..บินติ ซอและห์ 
 

          ♥ “ลูก”จะรู้หรือไม่ว่า...อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้ความสำคัญต่อพ่อแม่รองมาจากการให้เรายอมจำนนต่อเตาฮีด การให้เอกภาพแด่พระองค์ 

          พระองค์ได้ทรงสร้างมนุษย์ผู้เป็นลูกให้เกิดมาเป็นทารกในสภาพที่อ่อนแอยิ่ง เขาไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองใดๆได้เลยแม้แต่เพียงนิดเดียว    แล้วพระองค์ก็ได้ทรงหล่อหลวมหัวใจของพ่อแม่ให้มีความรัก  ความเมตตาสงสาร พร้อมเสียสละทุกสิ่งเพื่อดูแลเลี้ยงดูลูกที่เป็นทารกอย่างเต็มกำลังความสามารถ  เฝ้าเลี้ยงดูทะนุถนอม  ป้อนข้าวป้อนน้ำ อดหลับอดนอน ดูแลเขาตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่อเวลาที่เขาเจ็บไข้ได้ป่วย ดังนั้น พ่อแม่จึงเป็นผู้ที่มีบุญคุณยิ่งต่อลูก 

          และให้ถือเป็นหน้าที่ของลูกที่จะต้องปฏิบัติดี และแสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่  เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ในอัลกุรอานซูเราะฮ์อันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 36   พระองค์ได้ทรงสั่งใช้มนุษย์ให้ปฏิบัติดีต่อพ่อแม่ของเขา ดังนี้

وَاعْبُدُوا اللَّهَ وَلَا تُشْرِكُوا بِهِ شَيْئًا ۖ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا

“พวกเจ้าจงเคารพอิบาดะฮ์อัลลอฮฺ และอย่าตั้งภาคีใดๆต่อพระองค์  และกับบิดามารดานั้น พวกเจ้าจงทำความดีกับท่านทั้งสอง”

 

          ♥ “ลูกจะรู้หรือไม่ว่า... ตลอดเวลาที่ลูกเติบโตขึ้นมานั้นเขามีพ่อแม่ที่มีความรัก  มีความห่วงใยเขา  คอยดูแล เอาใจใส่ ให้การศึกษา คอยสอบถามสารทุกข์สุกดิบ คอยว่ากล่าวตักเตือนเพราะรัก เพราะห่วงใย 

          แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้นมา บางทีเขาก็กลับแสดงท่าทีที่เบื่อหน่าย แข็งกระด้าง รำคาญ ไม่พอใจ ปั้นปึ่ง พูดจาขู่เข็ญข่มขู่กับพ่อแม่ของเขา  หรือเขาคิดว่าการที่เขาเติบโตขึ้นมานั้น  เขาเติบโตขึ้นมาเองโดยไม่ได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากพ่อแท่เลยหรือ ?  

           เสมือนเมล็ดพืชที่ร่วงหล่นอยู่ในดิน  ครั้นได้รับน้ำ  ได้รับฝน มันก็งอกเงยขึ้นมาเองโดยไม่ต้องไปสนใจดูแลมันอย่างนั้นหรือ ? 

           ไม่ใช่เช่นนั้นเลย  ดังนั้น สมควรที่ลูกจะต้องตอบแทนความรัก ความห่วงใย ความปรารถนาดีของพ่อแม่ด้วยท่าทีที่อ่อนโยน มีคำพูดที่อ่อนหวาน นอบน้อม และปฏิบัติดีต่อพ่อแม่ตลอดเวลาและตลอดไป ในอัลกุรอานซูเราะฮ์อัลอิสรออ์  อายะฮฺที่ 23-24  อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا ۚ إِمَّا يَبْلُغَنَّ عِندَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَا أَوْ كِلَاهُمَا فَلَا تَقُل لَّهُمَا أُفٍّ وَلَا تَنْهَرْهُمَا وَقُل لَّهُمَا قَوْلًا كَرِيمًا  *  وَاخْفِضْ لَهُمَا جَنَاحَ الذُّلِّ مِنَ الرَّحْمَةِ

 

           “และจงทำดีต่อบิดามารดา เมื่อท่านหนึ่งท่านใดหรือทั้งสองท่านบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้นจงอย่ากล่าวแก่ท่านทั้งสองด้วยคำ อุฟ ! (คำหยาบคาย คำไม่สุภาพ  คำที่แสดงอารมณ์ไม่ดี รวมถึงกิริยาท่าทีที่ไม่สุภาพต่างๆด้วย)  และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง แต่จงพูดแก่ท่านทั้งสองด้วยคำพูดที่อ่อนโยน และจงนอบน้อมแก่ท่านทั้งสองด้วยการถ่อมตนอันเนื่องจากความเมตตา”

 

          ♥ “ลูก”จะรู้หรือไม่ว่า...อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งลูกให้ทำความดีต่อพ่อแม่  แม้ว่าท่านทั้งสองจะไม่ใช่มุสลิมก็ตาม 

          แต่หากว่าท่านทั้งสองใช้ลูกให้ปฏิเสธคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ก็จงอย่าได้เชื่อฟังท่านทั้งสองในเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด  แต่ลูกก็จำเป็นต้องปฏิบัติดีต่อท่านทั้งสอง ดูแลท่านทั้งสอง  ให้การช่วยเหลือท่านทั้งสองในเรื่องที่ศาสนาอนุญาต  และดำรงตนเป็นมุสลิมที่ดี ในอัลกุรอานซูเราะฮ์ลุกมาน  อายะฮฺที่ 15  อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า 

وَإِن جَاهَدَاكَ عَلَىٰ أَن تُشْرِكَ بِي مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ فَلَا تُطِعْهُمَا ۖ وَصَاحِبْهُمَا فِي الدُّنْيَا مَعْرُوفًا ۖ وَاتَّبِعْ سَبِيلَ مَنْ أَنَابَ إِلَيَّ ۚ

“และหากท่านทั้งสองบังคับเจ้าให้ตั้งภาคีต่อข้า โดยที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น เจ้าอย่าได้เชื่อฟังปฏิบัติตามท่านทั้งสอง

และจงอดทนอยู่กับท่านทั้งสองในโลกนี้ด้วยการทำความดี และจงปฏิบัติตามทางของผู้ที่กลับไปสู่ข้า”

 

 

          ♥ “ลูก”จะรู้หรือไม่ว่า...พ่อแม่มีสิทธิที่จะต้องได้รับการเชื่อฟังจากลูก  สิทธิที่จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากลูก  สิทธิที่จะต้องได้รับเกียรติจากลูก 

          โดยเฉพาะแม่ด้วยแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่ลูกจะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะแม่เป็นผู้ที่อุ้มท้องเขามาด้วยความยากลำบาก  คลอดเขาออกมาด้วยความเจ็บปวด ให้นมจากอกแก่เขา เลี้ยงดู เอาใจใส่ทุกสิ่งทุกอย่าง  จากอัลกุรอานซูเราะฮ์อัลอะห์ก็อฟ อายะฮฺที่ 15 อัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

وَوَصَّيْنَا الْإِنسَانَ بِوَالِدَيْهِ إِحْسَانًا ۖ حَمَلَتْهُ أُمُّهُ كُرْهًا وَوَضَعَتْهُ كُرْهًا ۖ وَحَمْلُهُ وَفِصَالُهُ ثَلَاثُونَشَهْرًا ۚ

“และเราได้สั่งมนุษย์ให้ทำดีต่อบิดามารดาของเขา มารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขาด้วยความเหนื่อยยาก

และได้คลอดเขาด้วยความเจ็บปวด และการอุ้มครรภ์เขาและการหย่านมของเขาในระยะเวลาสามสิบเดือน”

 

จากอัลฮะดีสที่บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และมุสลิม รายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺเล่าว่า  

جَاءَ رَجُلٌ إِلَى رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ: يَا رَسُولَ اللهِ مَنْ أَحَقُّ النَّاسِ بِحُسْنِ صَحَابَتِي؟ قَالَ: «أُمُّكَ» قَالَ: ثُمَّ مَنْ؟ قَالَ: «ثُمَّ أُمُّكَ» قَالَ: ثُمَّ مَنْ؟ قَالَ: «ثُمَّ أُمُّكَ» قَالَ: ثُمَّ مَنْ؟ قَالَ: «ثُمَّ أَبُوكَ».

มีชายคนหนึ่งมาหาท่านร่อซูลุลลอฮ์  และถามท่านว่า ผู้ใดที่สมควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากฉัน ?

ท่านร่อซูล  ตอบว่า มารดาของท่าน  

ชายผู้นั้นถามต่อไปอีกว่า แล้วใครเป็นคนต่อไป  

ท่านร่อซูล  ตอบว่า มารดาของท่าน  

ชายผู้นั้นถามต่อไปอีกว่า  แล้วใครเป็นคนต่อไป  

ท่านร่อซูล  ตอบว่า มารดาของท่าน  

ชายผู้นั้นก็ถามต่อไปอีกว่า  หลังจากนั้นเป็นใครอีก  

ท่านร่อซูล  ตอบว่า บิดาของท่าน...”

 

          ♥ “ลูก”จะรู้หรือไม่ว่า...การดูแลเอาใจใส่พ่อแม่มีความสำคัญมาก  ขนาดที่ว่าการญิฮาด  การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์  ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งเป็นการทำความดีที่ยิ่งใหญ่มาก แต่ก็ยังไม่เท่าเทียมกับการดูแลเอาใจใส่พ่อแม่ 

          ทั้งนี้จากอัลฮะดีสที่บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม  จากรายงานของท่านอับดุลลอฮฺ  อิบนิ อัมร์  อิบนิลอ๊าศ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า

جَاءَ رَجُلٌ إِلَى النَّبِيِّ-صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ-يَسْتَأْذِنُهُ فِي الْجِهَادِ  فَقَالَ أَحَيٌّ وَالِدَاكَ   قَالَ: نَعَمْ   قَالَ: فَفِيهِمَا فَجَاهِدْ

“ชายคนหนึ่งได้มาหาท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และขออนุญาตออกไปญิฮาด 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ถามเขาว่า  “บิดามารดาของท่านยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า ?”  

เขาตอบว่า”ยังมีชีวิตอยู่ครับ”  

ท่านนบี  จึงได้กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านก็จงญิฮาดโดยการรับใช้บิดามารดาของท่าน ปฏิบัติดีกับท่านทั้งสองเถิด”

 

          ♥ “ลูก”จะรู้หรือไม่ว่า...ส่วนหนึ่งของการเอาใจใส่พ่อแม่และปฏิบัติดีกับท่านนั้น ก็โดยการจับจ่ายทรัพย์สมบัติให้แก่ท่านตามกำลังความสามารถของลูกที่มีอยู่  โดยเฉพาะในยามที่ท่านมีความต้องการ แท้จริง พ่อแม่ของเขามีสิทธิในตัวของเขาและทรัพย์สมบัติของเขา  

          ทั้งนี้มีอัลฮะดีสที่บันทึกโดยท่านอิบนุมาญะฮ์  รายงานจากท่านญาบิร อิบนิ อับดุลลอฮ์  ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ  เล่าว่า มีชายคนหนึ่งมาร้องทุกข์กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า 

“แท้จริง ฉันมีทรัพย์สมบัติและฉันก็มีบุตรด้วย พ่อของฉันต้องการเอาทรัพย์สมบัติของฉัน” 

ท่านนบี  จึงบอกให้เขาไปตามพ่อมา แล้วได้สอบถามพ่อของเขาในเรื่องดังกล่าว 

พ่อของเขาตอบว่า สมัยที่ลูกของผมยังเล็ก ผมเลี้ยงดู ดูแลเขาทุกสิ่งทุกอย่าง  พอเขาเติบโตขึ้นมา ผมได้สอนเขาทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็มอบให้กับเขาทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่อัลลอฮ์ทรงอนุมัติให้ ครั้นเขาเติบโตทำการทำงานได้แล้ว ผมอ่อนแรงลง หมดกำลังวังชาทำงานไม่ไหว หยิบเอาสมบัติของเขามาใช้บ้าง ตรงนี้นะหรือที่เขามาหวงทรัพย์ของเขา 

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวกับชายที่มาร้องทุกข์คนนั้นว่า 

     أَنْتَ وَمَالُكَ لِأَبِيكَ     “ตัวท่านและทรัพย์สมบัติของท่านเป็นของบิดาของท่าน”

 

          ♥ “ลูก”จะรู้หรือไม่ว่า...การทำความดีกับพ่อแม่นั้นรวมไปถึงการติดต่อความสัมพันธ์ต่อญาติพี่น้องตลอดจนมิตรสหายอันเป็นที่รักของท่าน 

         ไม่ว่าท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม  และหากท่านทั้งสองได้ทำสัญญาสิ่งใดไว้ หรือได้สั่งเสียสิ่งใดไว้ หรือถ้าท่านไม่ได้สั่งเสียแต่เราทราบถึงความประสงค์ของท่าน  ลูกก็จงปฏิบัติตามให้ครบถ้วน มีอัลฮะดีส รายงานจากท่านอิบนุ อุมัร  ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

أبَرُّ الْبِرِّ أنْ يَصِلَ الرَّجُلُ وُدَّ أبِيهِ

 “แท้จริง ความดีที่สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุดนั้นคือ  การที่คนใดคนหนึ่งได้ติดต่อความสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นที่รักของบิดาของเขา”

 

          ♥ “ลูก”จะรู้หรือไม่ว่า...เมื่อเขาเรียนอัลกุรอาน อ่านอัลกุรอาน  ศึกษาพร้อมทั้งพยายามปฏิบัติไปตามนั้น  ในวันกิยามะฮ์เขาจะเป็นผู้ที่ทำให้พ่อแม่ของเขาได้รับการสวมใส่มงกุฎของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา   

          จากอัลฮะดีสที่บันทึกโดย อิมามอบีดาวู๊ด  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

مَنْ قَرَأَ الْقُرْآنَ وَعَمِلَ بِمَا فِيهِ ، أُلْبِسَ وَالِدَاهُ تَاجًا يَوْمَ الْقِيَامَةِ ، ضَوْءُهُ أَحْسَنُ مِنْ ضَوْءِ الشَّمْسِ فِي بُيُوتِ الدُّنْيَا.......

“ผู้ใดอ่านอัลกุรอานและศึกษา พร้อมทั้งได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน 

ในวันกิยามะฮ์บุพการีทั้งสองของเขาจะได้สวมมงกุฎ  รัศมีของมงกุฎสวยงามยิ่งกว่ารัศมีของดวงอาทิตย์ในโลกดุนยา”

 

          ♥ “ลูก”จะรู้หรือไม่ว่า...การเนรคุณต่อพ่อแม่โดยประพฤติตนในสิ่งที่ทำให้ท่านเดือดร้อน ถือเป็นบาปใหญ่รองจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ 

          บาปใหญ่ก็คือการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขายังไม่ได้เข้าสวรรค์  จากอัลฮะดีสที่บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ อัมร์ อิบนิลอ๊าศ  ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

الْكَبَائِرُ الْإِشْرَاكُ بِاللَّهِ وَعُقُوقُ الْوَالِدَيْنِ وَقَتْلُ النَّفْسِ وَ...

“บรรดาบาปใหญ่ๆมีดังต่อไปนี้ การตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์  การเนรคุณต่อบิดามารดา การฆ่าผู้คน และ...”

 

          ♥ “ลูก”จะรู้หรือไม่ว่า...การดูถูก การสาปแช่ง การด่าว่าพ่อแม่ทั้งทางตรงและทางอ้อมถือเป็นบาปใหญ่ 

          การดูถูก สาปแช่ง ด่าว่าพ่อแม่ทางอ้อมก็เช่น  จากอัลฮะดีสที่บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม  รายงานจากท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ อัมร์ อิบนิลอ๊าศ  ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมาเล่าว่า  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

إِنَّ مِنْ أَكْبَرِ الْكَبَائِرِ أَنْ يَلْعَنَ الرَّجُلُ وَالِدَيْهِ». قِيلَ يَا رَسُولَ اللَّهِ وَكَيْفَ يَلْعَنُ الرَّجُلُ وَالِدَيْهِ قَالَ: «يَسُبُّ الرَّجُلُ أَبَا الرَّجُلِ، فَيَسُبُّ أَبَاهُ، وَيَسُبُّ أَمَّهُ

“แท้จริง ส่วนหนึ่งในบรรดาบาปใหญ่ก็คือการที่ใครคนหนึ่งดูถูก สาปแช่ง ด่าว่าพ่อแม่ของตนเอง“

 

         คนที่นั่งอยู่ในที่นั้นก็แปลกใจว่าคนที่มีสติดีและมีศรัทธาจะดูถูก สาปแช่ง ด่าว่าพ่อแม่ตัวเองได้อย่างไร  ดังนั้นเขาจึงได้ถามว่า “เป็นไปได้อย่างไรที่คนจะดูถูก สาปแช่ง ด่าว่าพ่อแม่ของตนเอง”  

          ท่านนบี  จึงบอกว่า “เขาดูถูก สาปแช่ง ด่าว่าพ่อของคนอื่น   ดังนั้น คนอื่นจึงดูถูก สาปแช่ง ด่าว่าพ่อของเขาเป็นการโต้ตอบ  (และเขาดูถูก สาปแช่ง ด่าว่าแม่ของคนอื่น  ดังนั้นคนอื่นจึงดูถูก สาปแช่ง) ด่าว่าแม่ของเขาเป็นการโต้ตอบเช่นกัน”

          ขนาดว่าการดูถูก การสาปแช่ง การด่าว่าพ่อแม่ยังเป็นบาปใหญ่ แล้วนับประสาอะไรกับการลงไม้ลงมือทำร้าย ฆ่าฟันพ่อแม่ตามที่เรามักได้ยินข่าวออกมาทางสื่อ จะหนักหนาสาหัสแค่ไหน  ขออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงปกป้องเราจากบาป ความชั่วร้ายนี้อย่างเด็ดขาดด้วยเถิด

 

 

           ♥ “ลูกจะรู้หรือไม่ว่า...อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงลงโทษลูกที่เนรคุณต่อพ่อแม่ตั้งแต่ในโลกดุนยานี้   ไม่ต้องรอไปถึงโลกอาคิเราะฮ์

จากอัลฮะดีสที่บันทึกโดย อิมามบุคอรีย์  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

كُلُّ الذُّنُوبِ يُؤَخِّرُ اللَّهُ مِنْهَا مَا شَاءَ إلَى يَوْمِ الْقِيَامَةِ إلَّا عُقُوقَ الْوَالِدَيْنِ فَإِنَّ اللَّهَ يُعَجِّلُهُ لِصَاحِبِهِ فِي الْحَيَاةِ قَبْلَ الْمَمَاتِ

“อัลลอฮ์จะทรงประวิง (การลงโทษ)บาปทั้งหมดของมนุษย์ไปจนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพตามที่พระองค์ทรงประสงค์

ยกเว้นเรื่องการเนรคุณต่อบิดามารดา แท้จริง อัลลอฮ์จะทรงลงโทษผู้ที่ทำบาปชนิดนี้ในโลกดุนยานี้ก่อนที่เขาจะตาย”

 

          ดังนั้น เราต้องทบทวนตนเองอยู่เสมอ  หากเราเป็นผู้ที่บกพร่องต่อหน้าที่ที่มีต่อพ่อแม่  ก็จงเริ่มต้นทำความดีต่อท่านทั้งสอง แสดงความเสียใจ สำนึกผิดแล้ว ขออภัยโทษ แต่หากท่านทั้งสองหรือคนหนึ่งคนใดเสียชีวิตไปแล้วก็ให้เราปฏิบัติตัวเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาพร้อมทั้งขอดุอาอ์ ขอความเมตตาจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้แก่ท่าน  แต่หากเราเป็นผู้ที่ทำความดีต่อพ่อแม่อยู่แล้วก็ขอให้ทำดีต่อไป และทำดีต่อไปเรื่อยๆ  ความโปรดปรานหนึ่งที่อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานแก่เราก็คือ การได้ทำความดีหนึ่งถัดจากความดีอีกอย่างหนึ่ง

 

          ♥ “ลูก”จะรู้หรือไม่ว่า...แท้จริง สวรรค์ของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม  อยู่ใกล้ๆตัวเรา  สามารถคว้ามาครอบครองได้ไม่ยาก 

          หนึ่งในวิธีการนั้นก็คือการคิดดี พูดจาดี ปฏิบัติดีต่อพ่อแม่  มีอัลฮะดีสที่บันทึกโดย อิมามมุสลิม  รายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ  เล่าว่า  ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

 رَغِمَ أَنْفُ ثُمَّ رَغِمَ أَنْفُ ثُمَّ رَغِمَ أَنْفُ قِيلَ مَنْ يَا رَسُولَ اللَّهِ قَالَ مَنْ أَدْرَكَ أَبَوَيْهِ عِنْدَ الْكِبَرِ أَحَدَهُمَا أَوْ كِلَيْهِمَا فَلَمْ يَدْخُلِ الْجَنَّةَ

“ช่างต่ำต้อยเสียจริง... ช่างต่ำต้อยเสียจริง... ช่างต่ำต้อยเสียจริง...

ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับบิดามารดาของเขาในขณะที่ท่านหนึ่งท่านใดหรือทั้งสองท่านเข้าสู่วัยชรา โดยที่เขาผู้นั้นไม่ได้เข้าสวรรค์”

 

          สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ได้เข้าสวรรค์  เพราะเขาไม่ได้ทำความดีกับพ่อแม่ของเขานั่นเอง  เราทำความดีเพราะต้องการยกย่อง เชิดชูและปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะกลัวการลงโทษของพระองค์  เพราะต้องการผลบุญจากพระองค์  ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่เป็นความปรารถนา  เป็นความประสงค์  เป็นความต้องการ  เป็นความพอใจของพ่อแม่ในเรื่องที่ไม่ได้ทำให้หลักอะกีดะฮ์ของเราเสียหาย  ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เราต้องฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แม้จะเป็นเพียงเรื่องที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม  ลูกก็จงรีบปฏิบัติตามโดยทันที  อย่างเต็มใจ ตอบรับทันทีด้วยท่าทีที่นอบน้อม ด้วยคำพูดที่อ่อนโยน อย่าได้รอช้า  ปฏิบัติดีอย่างมีเกียรติก่อนที่พ่อแม่จะพรากจากเราไปโดยที่เราไม่ทันได้รู้ตัว  เราจะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง  แล้วก็พูดว่า  รู้อย่างนี้...รู้อย่างนี้

 

          ♥ “ลูก”จะรู้หรือไม่ว่า...เรื่องที่ลูกต้องไม่ละเลย เรื่องที่ลูกต้องปฏิบัติอยู่เสมอเป็นประจำ  ทั้งในขณะที่พ่อแม่ของเขายังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว  ก็คือการขอดุอาอ์ให้แก่ท่านทั้งสอง

เช่นดุอาอ์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่สอนว่า

رَبِّ اغْفِرْ لِي وَلِوَالِدَيَّ وَ ارْحَمْهُمَا كَمَا رَبَّيَانِي صَغِيرًا 

 คำอ่าน “ร็อบบิฆ ฟิรลี วะลิวาลิดัยยะ  วัรฮัมฮุมา กะมาร็อบบะยานี เศาะฆีรอ”

“โอ้อัลลอฮ์ โปรดอภัยโทษความผิดของข้าพระองค์และความผิดของพ่อแม่ของข้าพระองค์ 

และโปรดเมตตาท่านทั้งสองดั่งที่ทั้งสองเลี้ยงดูข้าพระองค์มาแต่เยาว์วัย”

 

          ขออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เราเป็นบ่าวผู้ยำเกรงต่อพระองค์  และปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ด้วยการปฏิบัติตนให้เป็นลูกที่ซอและฮ์ของพ่อแม่ตลอดไป

 

 (ที่มา ... วารสารสายสัมพันธ์  ปีที่ 50  อันดับที่ 567 – 568  พฤษภาคม – มิถุนายน  2559 )