บะเราะกะฮ์ในเรื่องเวลา
  จำนวนคนเข้าชม  3940


บะเราะกะฮ์ในเรื่องเวลา

อ.อนิส เพ็ชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทั้งหลาย ญาติพี่น้องและผู้มาร่วมละหมาดญุมอะฮฺในวันศุกร์นี้ทุกท่าน พวกท่านทั้งหลายพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด เพราะการยำเกรงอัลลอฮฺ การปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งใช้ และการออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามนั้น เป็นหนทางรอดทางเดียวจริงๆ ที่จะทำให้เรารอดพ้นจากการลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ และเป็นหนทางเดียวจริงๆ เป็นสื่อเดียวจริงๆ ที่จะทำเรามีความสุขทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ 

  

          การตักวา การยำเกรง เป็นซุนนะฮฺที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อเวลาที่ท่านจะขึ้นคุฏบะฮฺ ท่านจะพูดเสมอว่า إتق الله حيثما كنت (อิตตะกิลลาฮฺ ฮัยษุมากุนตะ) ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ให้ท่านมีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะการยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าหากว่ามันมีอยู่ในหัวใจของเรา เราจะอยู่ที่ไหนก็ได้ เราจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ได้ การยำเกรงนี้จะเป็นกรอบให้เราอยู่ในศาสนาของพระองค์ ไม่เฉออกไป ไม่แฉลบออกไป ถ้าหากเรามีอีมานที่มั่นคง มีการตักวาที่มั่นคง แน่นอนเราก็จะอยู่ในหนทางของพระองค์ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ จนบรรลุนิติภาวะ จนกระทั่งเราได้จากโลกนี้ไปในสภาพที่เป็นมุสลิม เป็นมุตตะกีน เป็นผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

  

          ในเรื่องของการยำเกรง มีเศาะฮาบะฮฺท่านหนึ่งชื่อว่า อุบัยย์ บินกะอฺบ์ ได้ถามท่านอุมัร บินอัลค็อฏฏ๊อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า "ท่านช่วยบอกหน่อยเถิดว่า ที่บอกว่าให้เรามีความยำเกรงนั้น คนที่มีความยำเกรงจะมีลักษณะอย่างไรบ้าง จะได้ตรงตามที่ท่านเราะซูลได้สั่งเสียเราไว้ "

     ท่านอุมัรจึงได้ถามกลับไปว่า "ท่านเคยเดินทางที่มันมีขวากหนาม มีหินแหลมคมไหม เคยเดินทางลุยป่าฝ่าดงไหม"

     ท่านอุบัยย์ตอบว่า "เคย"

     ท่านอุมัรก็ถามต่อว่า "เมื่อเคยเจออย่างนั้นแล้ว ท่านทำตัวอย่างไร?" 

     ท่านอุบัยย์ตอบว่า "ให้ตื่นตัว ให้ระมัดระวังตัวเอง ปกป้องตัวเองจากสิ่งที่มันจะเป็นอันตราย "

     ท่านอุมัรจึงบอกว่า "นั่นแหละ การดำเนินชีวิตของมุสลิมในโลกปัจจุบันที่มันมีมะอฺศิยะฮฺ มีความชั่วร้ายต่างๆที่คอยจะดึงเราให้ออกจากหนทางของศาสนาอยู่ตลอดเวลา ท่านก็พึงใช้ชีวิตอย่างนั้นแหละ ให้ตื่นตัว ให้ระมัดระวังตัวเอง ใช้ชีวิตให้อยู่ในหนทางของศาสนาโดยให้ความสำคัญ ให้ความเอาใจใส่ พิจารณาในสิ่งต่างๆที่จะทำ"

         นั่นคือความหมายของคำว่า มุตตะกีน ซึ่งมาจากรากศัพท์ว่า อิตตะกินนะ มาจากคำว่า อิตตะกอ แปลว่า ป้องกัน คือ ป้องกันตัวเองจากสิ่งอันไม่พึงประสงค์ เป็นการยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตามที่ท่านเราะซูลสั่งเสียด้วยการอธิบายของท่านอุมัร บินอัลค็อฏฏ๊อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ

 

         ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ เราเพิ่งผ่านเหตุการณ์การเชือดในวันตัชรีก ในวันอีดิลอัฎฮา เราเพิ่งผ่านเหตุการณ์สิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮฺ เราเพิ่งผ่านเหตุการณ์ในเดือนเราะมะฎอน ซึ่งทั้งหมดนี้ อัลลอฮฺได้ทรงให้มาเหมือนกับเป็นเทศกาล ให้เราได้ตักตวงผลบุญให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว และมันก็จะวนกลับมาอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน 

           ถ้าหากเป็นในสมัยเศาะฮาบะฮฺ พอหมดวันตัชรีก วันหลังจากอีดิ๊ลอัฎฮา บรรดาเศาะฮาบะฮฺก็จะเตรียมตัวเข้าสู่เดือนเราะมะฎอนกันแล้ว ถ้าเป็นพวกเราก็จะต้องเป็นอีกสิบเดือนจึงจะเตรียมตัวเข้าสู่เราะมะฎอน แต่พอมาถึงเดือนเราะมะฎอนจริงๆ ทุกคนก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราะมะฎอนอีกแล้ว ไวจริงๆเลย แต่พอหมดเดือนเราะมะฎอนทุกคนก็จะพูดเหมือนกันอีกว่า เราะมะฎอนผ่านไปแล้ว ไวจริงๆเลย จนกระทั่งมันวนกลับมา นี่แหละครับ มันเป็นช่วงเวลาที่อัลลอฮฺทรงให้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไป เพื่อให้เราได้สัมผัสถึงความโปรดปรานที่พระองค์ทรงมีต่อเรา ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ มีแต่คนที่เตรียมตัวเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านเวลาอันรวดเร็วเท่านั้น 

          เพราะฉะนั้น บรรดาเศาะฮาบะฮฺเตรียมตัวเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน และเมื่อหมดเดือนเราะมะฎอน ต่างเตรียมตัวเข้าสู่สิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮฺ เมื่อหมดสิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮฺ ก็เตรียมตัวเข้าสู่พิธีการฮัจญฺ เตรียมตัวเป็นสเต็ปๆ โดยมีเทศกาลต่างๆที่อัลลอฮฺได้ทรงเตรียมไว้ให้ตลอดทั้งปี ถ้าเราสังเกตเห็น จะมีเทศกาลต่อกันมาเรื่อยๆ เทศกาลนี้ต่อด้วยเทศกาลนั้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเทศกาลที่เราสามารถกอบโกยเอาผลบุญได้ตลอด 
 

           เพราะฉะนั้นพวกท่านทั้งหลายคงจะรู้สึกเหมือนผมว่า ในทุกๆวันนี้ เวลาวันคืนมันผ่านไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน แป๊บๆเดี๋ยวก็หมดวันแล้ว แป๊บๆเดี๋ยวก็เดือนหนึ่งแล้ว เดี๋ยวก็ปีหนึ่งแล้ว แล้วก็ดูว่าแต่ละปีเราทำอะไรลงไปบ้าง มานั่งนับผลงานแต่ละวันๆ บางทีวันหนึ่งแทบจะนับไม่ได้เลย และจะรู้สึกว่าผลงานที่ได้มันน้อยกว่าในอดีต นี่ก็คือเรื่องของการมีบะเราะกะฮฺ การมีความจำเริญในเรื่องเวลาของแต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างกัน บางคนในหนึ่งวันจะทำงานได้มากน้อยไม่เหมือนกัน หรือบางคนอาจทำไม่ได้เลย เป็นเรื่องของบะเราะกะฮฺ ความจำเริญที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงให้แต่ละคนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของแต่ละคน ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะทุกคนต่างรู้สึกเหมือนกันหมดว่าเวลามันผ่านไปอย่างรวดเร็วมาก และมันก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นมาใหม่ เพราะท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เคยบอกไว้ หะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานโดยท่านอะบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุบอกว่า

لا تقوم الساعة حتى يقبض العلم

"วันกิยามะฮฺจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าความรู้ทั้งหมดจะถูกเก็บกลับไป"

           ถ้าเราสังเกตดูจะเห็นว่าท่านผู้มีความรู้ที่ปกติเราหวังพึ่งท่านเหล่านี้ในการตอบปัญหาศาสนา ปัญหาในการปฏิบัติในเรื่องของอิบาดะฮฺ แต่แล้ววันหนึ่งอัลลอฮฺก็ทรงเก็บท่านผู้รู้ไป เก็บไปเรื่อยๆจนกระทั่งท่านผู้รู้หมดไป ก็เหลือแต่คนไม่รู้ เมื่อไม่มีผู้รู้ ผู้คนก็จะพากันหลงทาง เพราะฉะนั้น การเก็บผู้รู้ไปถือเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกให้เรารู้ว่าใกล้ถึงวันกิยามะฮฺแล้ว หะดีษต้นนี้บอกต่อไปอีกว่า

و تكثر الزلازل     "และแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง" 

 ซึ่งเราก็ทราบกันดีอยู่แล้วตามข่าวว่าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หะดีษบอกต่อไปอีกว่า

ويتقارب الزمان     "และช่วงเวลานั้นจะสั้นลง"

 

           หมายความว่าสั้นลงในความเป็นจริง แต่ก่อนมี 24 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้ก็มี 24 ชั่วโมงเหมือนเดิม แต่บะเราะกะฮฺ ความจำเริญในเวลาของเรานั้นมันลดลงไป ถูกถอดถอนออกไป

          อีกหะดีษหนึ่งในบันทึกของอิมามอัตติรฺมิซีย์ รายงานโดยท่านอนัส บินมาลิก ซึ่งเป็นเศาะฮาบะฮฺที่ใกล้ชิดกับท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมและอยู่กับท่านเราะซูลมาตั้งแต่เด็ก ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

لا تقومُ السَّاعةُ حتَّى يتقارَبَ الزَّمانُ وتكونَ السَّنةُ كالشهرِ والشَّهرِ كالجمُعةِ وتكونَ الجُمعةُ كاليومِ ويكونَ اليومُ كالسَّاعةِ

"วันกิยามะฮฺจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าพวกท่านจะรู้สึกว่าวันเวลามันผ่านไปอย่างรวดเร็ว 

จะรู้สึกว่า ปีๆ หนึ่ง เหมือนกับเดือนเดียว"

 

          ปีหนึ่งมี 365 วันก็เสมือนกับว่ามีเพียง 30 วันเท่านั้นเอง และเดือนๆหนึ่งก็มีความรู้สึกว่าเหมือนกับสัปดาห์เดียว และเวลาสัปดาห์เดียวก็เหมือนกับวันเดียว จนกระทั่งวันๆเดียวเหมือนกับว่าเหตุการณ์เพิ่งผ่านไปชั่วโมงเดียว เป็นสิ่งที่ท่านเราะซูลได้พูดเอาไว้แล้วว่า ในยุคหลัง ช่วงเวลามันจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมันก็เกิดขึ้นแล้วในสมัยของเรา นี่คือสิ่งที่บ่งบอกว่าตัวเราอยู่ใกล้กับวันกิยามะฮฺ วันกิยามะฮฺจะเกิดขึ้นเมื่อไรไม่มีใครรู้ 

          ท่านอิบนุ ฮะญัร นักวิชาการหะดีษได้อธิบายหะดีษนี้ว่า "ที่เรารู้สึกว่าเวลามันหายไป หรือเวลามันสั้นลง เป็นเพราะว่าอัลลอฮฺได้ทรงถอดถอนบะเราะกะฮฺ ถอดถอนความจำเริญออกจากเวลาของพวกเรา เนื่องจากว่ามีการฝ่าฝืน มีการพูดในเรื่องไร้สาระ มีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา กันอย่างแพร่หลาย หากมันลามไปถึงหมู่บ้านไหน อัลลอฮฺก็จะทรงถอดถอนบะเราะกะฮฺออกจากหมู่บ้านนั้น มันลามไปถึงพื้นที่ไหน อัลลอฮฺก็จะทรงถอดถอนบะเราะกะฮออกจากคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น มันลามไปที่ประเทศไหน ทวีปไหน อัลลอฮฺก็จะทรงถอดถอนบะเราะกะฮฺออกจนหมดสิ้น จนกระทั่งเรารู้สึกว่าเวลามันใกล้กัน แป๊บเดียวเดี๋ยวก็หมดวันแล้วๆ ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย "

          ท่านอิบนุฮะญัร ได้บอกว่า "เราพบว่า วันเวลาของเรามันผ่านไปเร็วเหลือเกิน"


          ท่านอิมามอิบนุ ฮะญัร เป็นนักวิชาการที่เกิดปี ฮ.ศ. 773 เสียชีวิตปี ฮ.ศ.853 อายุประมาณ 79 ปี ขณะนี้ปี ฮ.ศ.1435 ก็คือท่านบอกไว้เมื่อ 700 ปีที่แล้ว ท่านบอกว่า วันเวลาของเรามันผ่านไปเร็วเหลือเกิน หมายถึงวันเวลาในสมัยของท่านมันผ่านไปเร็วเหลือเกิน ในขณะนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต วันเวลายังผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ขณะนี้เราก็ยังบอกว่า เวลาของเราผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน นั่นคือที่เป็นอย่างนี้เพราะบะเราะกะฮฺถูกถอดถอนออกไป อันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนต่างๆ คนๆหนึ่งฝ่าฝืนในเรื่องหนึ่ง บะเราะกะฮฺจะถูกถอดถอนจากคนๆนั้น ฝ่าฝืนมากจะถูกถอดถอนมาก ฝ่าฝืนน้อยจะถูกถอดถอนน้อย มีคนฝ่าฝืนอยู่ในหมู่บ้าน ส่วนที่เหลือไม่เตือน อัลลอฮฺจะทรงลงโทษหมด เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกันดูแล
 

          ท่านอิบนุ อะบีญัมรอฮฺ เป็นนักวิชาการได้อธิบายว่า คนที่เป็นผู้รู้ คนที่มีกิจการ คนที่ศึกษาหาความรู้อยู่เป็นประจำ คนที่ทำธุรกิจ หรือคนที่เอาใจใส่ในเรื่องของการใช้เวลาจะรู้สึกว่าเวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เขาจะรู้สึกเลยว่ากิจกรรมที่เขาทำแต่ละวัน มันทำได้น้อยกว่าที่เขาเคยทำมาในอดีต ถึงแม้ว่าเวลามันจะเท่ากัน และถึงแม้ว่าการสื่อสาร การคมนาคมจะรวดเร็วแต่ก็กลับทำอะไรได้น้อยลง 


          
ในสมัยท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่ยังไม่มีมะอาศีย์หรือการฝ่าฝืน ไม่มีการละเมิดบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่มีการฝ่าฝืนอย่างแพร่หลาย ในสมัยก่อนถ้าใครไม่มาละหมาดก็จะตามถึงบ้าน แต่ในสมัยนี้ใครไม่มาละหมาดก็ปล่อยไป จนกระทั่งศ็อฟ(แถวละหมาด)เล็กลงเรื่อยๆ นี่แหละเรียกว่ามีการฝ่าฝืนอย่างแพร่หลาย แต่ในสมัยก่อน ถ้ามีใครสักคนเริ่มแตกแถวก็จะไปตามถึงบ้านเลย ถ้าใครไม่มาละหมาดซุบฮฺ 3 วันติดต่อกันก็จะถูกสงสัยแล้วว่าเป็นุสลิมหรือเปล่า หรือว่าเป็นมุนาฟิกกันแน่ เพราะฉะนั้นในการดูแลอย่างนี้ ทำให้บะเราะกะฮฺหรือความจำเริญในเรื่องเวลาของคนในสมัยก่อนมีมากกว่า 

           ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะซัลลัม เมื่อละหมาดซุบฮฺท่านจะอ่านอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺจนจบต้น ต่อด้วยซูเราะฮฺอาละอิมรอน ต่อด้วยซูเราะฮฺอันนิซาอ์ ซึ่งถ้าเป็นเราอ่าน 3 ซูเราะฮฺรวดอย่างนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งก็คงเลยเวลาซุบฮฺไปแล้ว แต่ว่าท่านเราะซูลทำทุกอย่างอยู่ในเวลาซุบฮฺ และตามรายงานหะดีษบอกว่าท่านรุกัวะอฺเท่ากับระยะเวลาที่ท่านอ่าน และสุญูดเท่ากับระยะเวลาที่ท่านอ่าน ถ้าเรามาคิดดูในสติปัญญาของเราแล้ว เราก็คิดว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่มันเป็นไปได้ และมันเป็นไปแล้วเพราะมันมีบะเราะกะฮฺ มีความจำเริญ ถามว่าแปลกไหม ไม่แปลก เพราะถ้าเรามาดูในสมัยนี้ เรามีเวลาสั้น ปีหนึ่งเท่ากับวันหนึ่ง เหมือนเพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้เอง เราะมะฎอนเหมือนกับเพิ่งละหมาดตะเราะเวี๊ยะหฺไปเมื่อวานนี้เอง เพราะฉะนั้นบะเราะกะฮฺเรื่องเวลาของคนในสมัยก่อน เขามีมากจนกระทั่งเขาสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง

          ท่านอุษมาน บินอัฟฟาน เป็นคุลาฟะฮฺรอชิดีนท่านที่สาม ในคืนที่ท่านถูกฆ่า ภรรยาของท่านไปห้ามคนที่จะมาฆ่าท่านอุษมาน แต่ห้ามไม่ได้ ภรรยาของท่านอุษมานจึงบอกกับคนที่จะมาฆ่าท่านอุษมานว่า ถ้าหากว่าท่านประสงค์จะฆ่าท่านอุษมาน ฉันก็คงห้ามอะไรท่านไม่ได้ ท่านอยากฆ่าก็ฆ่าไปเถิด แต่ถ้าท่านประสงค์จะปล่อยให้ท่านอุษมานมีชีวิตอยู่ ท่านก็ปล่อยให้มีชีวิตอยู่ก็แล้วกัน เพราะภรรยาของท่านมั่นใจในตัวท่านอุษมานว่าจะต้องได้เข้าสวรรค์อยู่แล้ว อินชาอัลลอฮฺ อันเนื่องมาจากท่านอุษมานละหมาดคืนหนึ่งอ่านอัลกุรอานจบเล่มในหนึ่งร็อกอะฮฺในทุกคืน แสดงว่าบะเราะกะฮฺในเรื่องเวลาของท่านมีมาก เพราะอัลลอฮฺ ทรงให้บะเราะกะฮฺ ความจำเริญแก่ท่าน ท่านจึงสามารถอ่านอัลกุรอานในละหมาดจบเล่มได้ในหนึ่งร็อกอะฮฺ

           ท่านตะมีม อัดดารีย์ก็อ่านอัลกุรอานในละหมาดจบเล่มได้ในหนึ่งร็อกอะฮฺเช่นเดียวกัน

          ท่านอิมามอัลบุคอรีย์ เป็นนักวิชาการด้านหะดีษ เป็นนักจดหะดีษ ท่านจะขี่อูฐเดินทางไปตามประเทศต่างๆเพื่อรวบรวมหะดีษจากบรรดานักวิชาการหะดีษที่ยังมีชีวิตอยู่ บางครั้งเดินทางไปเป็นแรมเดือนเพื่อไปเอาหะดีษจากคนๆหนึ่ง แต่ปรากฏว่าไปพบว่าคนๆนี้เป็นคนที่ขี้ล้อเล่น พูดล้อเล่นกับหะดีษที่ตัวเองบอก ฟังแล้วไม่น่าเชื่อถือ ก็เลยเดินทางกลับ ไม่รับหะดีษนั้น แต่ถึงขนาดนั้นท่านอิมามอัลบุคอรีย์ก็สามารถรวบรวมหะดีษซึ่งเป็นหะดีษเศาะเฮี๊ยะหฺได้จำนวนมากจนเป็นที่ยอมรับในโลกอิสลาม ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ใช้เวลาแป๊บเดียว เปิดอินเตอร์เน็ต หาหะดีษเศาะเฮี๊ยะหฺ หะดีษเศาะเฮี๊ยะหฺก็ขึ้นมา เพราะฉะนั้นการเดินทางไปค้นหาหะดีษของท่านอิมามอัลบุคอรีย์แต่ละหะดีษจะใช้เวลานาน แต่ท่านก็สามารถรวบรวมหะดีษได้เป็นจำนวนมาก

          ท่านอิมามอัลบุคอรีย์บอกว่า เวลาที่เข้าเดือนเราะมะฎอนในคืนแรกท่านจะเรียกคนมารวมกันแล้วก็ละหมาด เวลาละหมาดในแต่ละร็อกอะฮฺจะอ่านอัลกุรอาน 20 อายะฮฺ จะละหมาดไปเรื่อยๆจนกระทั่งจบเล่ม ก็ลองคำนวณดูว่ามีกี่ร็อกอะฮฺนะครับ หรือในช่วงทานข้าวซุโฮรฺในเดือนเราะมะฎอน ท่านอิมามอัลบุคอรีย์จะอ่านอัลกุรอานทุกวันจำนวนหนึ่งในสามของอัลกุรอาน คืออ่าน 10 ญุซ เพราะฉะนั้นสามวันท่านก็จะได้หนึ่งเคาะตัม ในช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอนท่านจะอ่านอัลกุรอานจบเล่มในทุกๆวัน นั่นก็คือบะเราะกะฮฺเรื่องเวลาของคนในสมัยก่อนที่มีมากมายตามที่อัลลอฮฺได้ทรงให้ไว้
 

          ท่านอิมามนะวะวีย์ เกิดปี ฮ.ศ.631 เสียชีวิตปี ฮ.ศ.676 รวมอายุได้ 45 ปี ระยะเวลา 45 ปีแต่สามารถเรียบเรียงตำรับตำราที่มีความน่าเชื่อถือได้มากมาย และนักวิชาการในยุคปัจจุบันให้การยอมรับ และนำมาใช้อ้างอิง ใช้เป็นหลักฐาน

          ดังกล่าวคือความแตกต่างในบะเราะกะฮฺหรือความจำเริญในเรื่องเวลาของคนในสมัยก่อนที่ยังไม่มีการทำความชั่วอย่างแพร่หลาย หรือไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้ความชั่วเกิดขึ้นในสังคม กับช่วงเวลาของเราที่ถูกถอดถอนบะเราะกะฮฺเนื่องจากว่ามีความชั่วอย่างแพร่หลาย เพราะฉะนั้นบะเราะกะฮฺถูกถอดถอนออกไปขึ้นอยู่กับเวลาที่มันผ่านเลยไป ขณะนี้เราอยู่ในปัจจุบัน พรุ่งนี้บะเราะกะฮฺจะน้อยลง มะรืนนี้ก็จะน้อยลง เราจึงรู้สึกว่าเวลามันสั้นลงเรื่อยๆ ประกอบกับตัวของเราเอง อายุของเราเอง ซึ่งอายุอุมมะฮของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมีอายุโดยเฉลี่ย 60-70 ปี เพราะฉะนั้นต้องรีบเร่งทำความดี ตักเตือนซึ่งกันและกัน อย่าให้มีความชั่ว อย่าให้มีการฝ่าฝืนดังที่เราเห็นอย่างแพร่หลายในสังคมบ้านเรา เพราะมันจะเป็นสาเหตุให้เราถูกถอดถอนบะเราะกะฮฺหรือความจำเริญจากเวลาที่เรามี

           สาเหตุหลักๆที่บะเราะกะฮฺถูกถอดถอนจากตัวของพวกเราคือ การปล่อยให้มีการทำบาปอย่างแพร่หลาย สมัยก่อน คนๆหนึ่งจะไปซื้อเหล้าต้องเดินออกไปซื้อที่ร้าน พอซื้อแล้วก็ต้องห่อกระดาษอย่างดีเพราะกลัวคนจะเห็น เวลาจะทำชั่วจึงต้องใช้เวลา ต้องมีกระบวนการ ต้องมีการวางแผน แต่สมัยนี้ นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ มีไปรษณีย์ใส่กล่องอย่างดีส่งตรงถึงบ้านเลย นั่นคือ มันมีความสะดวกสบายจนสามารถทำให้เราละเมิดบทบัญญัติศาสนาได้ตลอดเวลา ทุกอย่างอยู่ในมือของท่าน ทุกอย่างอยู่ในเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์ของท่าน ทุกอย่างอยู่ทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ของท่าน อยู่ที่ตัวของท่านว่าจะกดดูอะไร จะรับประโยชน์จากมันหรือจะรับโทษจากมัน เพราะทุกอย่างถูกนำเสนออยู่ในมือของท่านแล้ว อยู่ที่ท่านจะเลือก เลือกเพื่อบะเราะกะฮฺของตัวเอง เลือกเพื่อบะเราะกะฮฺในเรื่องเวลาของท่าน และเพื่อบะเราะกะฮฺของคนรอบๆตัวท่านด้วยนะครับ 

 

          อีกเหตุผลหนึ่งของการที่บะเราะกะฮฺถูกถอดถอนออกไปจากเราก็คือ การพูดมาก การพูดในสิ่งที่มันไม่มีประโยชน์ การพูดในสิ่งที่มันเกินเลยขอบเขต การพูดล้อเล่นจนเกินไป


           
ท่านมาลิก บิน ดีนาร ซึ่งเป็นดาอีย์ท่านหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อใครก็ตามสังเกตว่าหัวใจของตัวเองนั้นตายด้าน ตายด้านอย่างไร ก็เช่น เมื่อเห็นคนทำผิดแล้วก็ปล่อยเลยไป ไม่ตักเตือน หรือเมื่อได้เวลาอิกอมะฮฺละหมาดแล้ว ตัวเองยังไม่ยอมลุกไปละหมาด แล้วยังไม่รู้สึกว่าตัวเองทำผิดอะไร อย่างนี้เรียกว่า หัวใจเริ่มตายด้าน เมื่อรู้สึกว่าหัวใจเริ่มตายด้านเป็นประการแรก  

          ประการที่สอง เมื่อรู้สึกว่าร่างกายเริ่มอ่อนแรงจากการทำอิบาดะฮฺ จะไปละหมาดก็ขี้เกียจ จะอ่านอัลกุรอานสัก 2 บรรทัด ขออ่านอัลกุรอานสัก 2 บรรทัดได้ไหมครับ ความจริงทำได้ง่ายๆ แต่ 2 บรรทัดเรามานั่งคิดดูว่าในหนึ่งวัน เราอ่านอัลกุรอานแค่ 2 บรรทัด แค่นี้ได้ทำหรือยัง ถ้ารู้สึกว่าเราขี้เกียจ แสดงว่าร่างกายเริ่มอ่อนแรงจากการทำอิบาดะฮฺ มีความรู้สึกว่าละหมาดตะฮัจญุดเป็นเรื่องใหญ่ ละหมาดซุบฮฺเป็นเรื่องใหญ่ 

          ประการที่สามเมื่อรู้สึกว่าริสกีของเราเริ่มหดหาย พยายามขวนขวายทำตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ทำไมริสกีมันเริ่มหดหายลงเรื่อยๆ

          ท่านมาลิกบอกว่า พึงทราบไว้เถิดว่า ใครก็ตามที่มีลักษณะสามประการดังกล่าวนี้ แสดงว่าเขาพูดมากในเรื่องที่มันไม่เกิดประโยชน์ สมัยก่อนก็คือการพูด การเขียน สมัยนี้ก็รวมเรื่องของการเช็ท การคอมเมนท์ลงในสื่อออนไลน์ต่างๆเข้าไปด้วย

  

          พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพรักทั้งหลาย ไม่มีใครไม่อยากได้บะเราะกะฮฺ

     ♣ บะเราะกะฮฺในอาหารก็หมายความว่า รับประทานเท่าไรก็ไม่รู้จักหมด เรามีอาหารอยู่ถาดหนึ่ง กลัวไม่พอ แต่รับประทานไปรับประทานมามันกลับพอ ทุกคนอิ่ม แถมเหลือด้วย 

     ♣ บะเราะกะฮฺในเวลาหมายถึงว่ามีเวลาอย่างมากมายทั้งๆที่เวลาสำหรับทุกคนเท่ากัน แต่เรามีความรู้สึกว่าเราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าที่คนอื่นเขาทำ 

     ♣ บะเราะกะฮฺในเรื่องของสุขภาพ คือเรามีร่างกายแข็งแรง กำยำอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องไปหาหมอ 

     ♣ บะเราะกะฮฺในเรื่องทรัพย์สิน จ่ายออกไป บริจาคออกไป ในทางตรรกกะ จ่ายออกไป ทรัพย์สินมันต้องลดลง แต่มีหะดีษบอกอย่างชัดเจนว่า ในสิ่งที่บริจาคออกไปนั้นมันไม่สามารถจะมาลดทรัพย์สินของท่านเลย แต่มันกลับจะเพิ่มบะเราะกะฮฺให้กับทรัพย์สินของท่าน ท่านสามารถจะใช้จ่ายได้โดยไม่หมด 

 

          ทั้งหมดนั่นคือเรื่องของบะเราะกะฮฺในเรื่องต่างๆ เพราะฉะนั้น เราต้องยอมรับว่า เราอยู่ในยุคที่บะเราะกะฮฺถูกถอดถอน บวกกับเรานั้นอายุสั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงทรงให้มีเทศกาลต่างๆมาช่วย เช่น ในเดือนเราะมะฎอน เรื่องของคืนลัยละตุลก็อดรฺ ทำความดีในคืนนี้ดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน ทำน้อยแต่ได้มาก เรื่องของการถือศีลอด 6 วันในเดือนเชาวาลเท่ากับถือศีลอดหนึ่งปีเมื่อรวมกับถือศีลอดเราะมะฎอน ทำน้อยแต่ได้มาก เรื่องของการทำความดีในสิบวันแรกของเดือนซุลฮิจญะฮฺ ทำน้อยแต่ได้มาก นอกจากทำความดีแต่ได้ผลบุญเพิ่มพูนแล้ว ยังมีการลดโทษอีกด้วย ลดโทษให้แก่ผู้ถือศีลอดวันอะเราะฟะฮฺ ลดโทษให้สองปี หรือเรื่องของวันอาชูรออ์หรือวันที่สิบเดือนมุหัรรอม ใครที่ถือศีลอดในวันนี้ได้รับการลดโทษหนึ่งปี นี่คือตัวช่วยที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงชดเชยให้กับบะเราะกะฮฺของเวลาที่มันลดน้อยลง บวกกับอายุของเราที่มันสั้นลง

 

          สุดท้ายนี้ ผมขอยกคำพูดของท่านอิมามศอและฮฺ อัลมุฆอมิซีย์ เป็นอิมามและคอเฏ็บมัสยิดกุบาอ์ที่มะดีนะฮฺ กล่าวถึงวิธีดูตัวเองว่ามีบะเราะกะฮฺในเรื่องของเวลาหรือไม่ คือให้สังเกตตัวเองว่า กิจกรรมต่างๆที่เราทำส่วนใหญ่ในแต่ละวัน ถ้ากิจกรรมส่วนใหญ่ของเราอยู่ในเรื่องของการตออะฮฺ (เชื่อฟังและปฏิบัติตาม)ต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็แสดงว่า เรามีบะเราะกะฮฺในเรื่องของเวลา ในวันหนึ่งเราสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย แต่ถ้ากิจกรรมส่วนใหญ่ของเราอยู่ในเรื่องของการบันเทิง การฝ่าฝืน การละเมิดคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แสดงว่าบะเราะกะฮฺจะถูกถอดถอนต่อเราในไม่ช้า เราจะรู้สึกว่าวันคืนของเรามันสั้นกว่าปกติ เพราะคนอื่นเขาสามารถทำอะไรได้มากมาย แต่เราทำอะไรไม่ได้เลย 

          แล้วท่านก็ทิ้งท้ายไว้ว่า เมื่อความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคนอย่างแท้จริงแล้ว เมื่อเราได้ตระหนักในความเป็นพระเจ้าของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างแท้จริงแล้ว เราจะมีความรู้สึกละอายที่จะไปทำการใดๆที่จะไปฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

คุฎบะฮ์วันศุกร์ มัสยิดดารุลอิห์ซาน