รอจนอิกอมะฮแล้วค่อยออกไปละหมาดได้หรือไม่?
  จำนวนคนเข้าชม  3909


รอจนอิกอมะฮแล้วค่อยออกไปละหมาดได้หรือไม่ ?



 

เชคสุลัยมาน อัรรุฮัยลีย์ ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ
อุมมุ อุ้ลยา  แปลสรุปความ


 

คำถาม 

 

ขอคำแนะนำสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ยืนรอละหมาดอยู่ด้านนอกมัสยิด หรือรอจนอิกอมะฮแล้วค่อยออกไปละหมาด ได้หรือไม่ ?




คำตอบ 


การมาละหมาดล่าช้าที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ผู้ที่มาล่าช้าอยู่ภายใต้ 1 ใน 2 สภาพด้วยกัน คือ 


          1.  ส่งผลให้เขาต้องพลาดหรือตามไม่ทันในสิ่งที่อิมามได้ทำไปก่อนแล้ว ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นเรื่องที่ต้องห้าม (ฮารอม) เว้นแต่จะมีอุปสรรคเท่านั้น 


          ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้มุสลิมประวิงเวลาล่าช้าในการไปละหมาดญะมาอะฮฺ จำเป็นที่เขาจะต้องไปละหมาดให้ทันตั้งแต่เริ่มต้น แต่หากมีอุปสรรคจริงๆ ก็ให้เขาอาบน้ำละหมาดอย่างดี เดินไปละหมาดอย่างสงบ และละหมาดตามอิมามเท่าที่ตามทัน และชดใช้ในสิ่งที่เขาขาดตามไม่ทัน 

          แต่หากไปถึงมัสยิดล่าช้าอันเนื่องมาจากมีอุปสรรค  แล้วพบว่าผู้คนต่างละหมาดกันเสร็จหมดแล้ว ก็ให้เขาละหมาดที่มัสยิดเพื่อที่จะได้รับการบันทึกว่า ได้มาละหมาดญมาอะฮฺ แม้ว่าเขาจะละหมาดเพียงลำพังก็ตาม 

          2. การล่าช้าที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้เขาละหมาดตามอิมามไม่ทัน คือ ได้อยู่ทันละหมาดพร้อมกันกับอิมามตั้งแต่เริ่มต้น  เรื่องนี้ถือว่าอนุญาตให้กระทำได้ แต่การรีบเตรียมตัวให้พร้อมในทันทีที่ได้ยินเสียงอะซาน เพื่อมาละหมาดที่มัสยิดแต่เนิ่นๆ นั้น เป็นสิ่งที่สมควรยิ่งกว่า 



          ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เคยสนทนากับคนในครอบครัวของท่าน ครั้นเมื่อท่านได้ยินเสียงอะซาน ท่านก็ทำราวกับว่าไม่ได้กำลังเจรจาพูดคุยใดๆ (รีบเตรียมตัวไปละหมาด) 



          ลำพังการเตรียมตัวไปละหมาด ตั้งแต่ก้าวเท้าออกไปจนกระทั่งถึงมัสยิด ก็ได้รับการจดบันทึกแล้วว่า เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ละหมาด เช่นเดียวกัน การนั่งคอยละหมาด จนกระทั่งลุกขึ้นยืนละหมาด และนั่งซิกรุ้ลลอฮฺหลังละหมาด จนกระทั่งกลับบ้านไป เขาก็จะได้รับการบันทึกว่า เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ละหมาด



          ดังนั้น การยืดเวลาการจดบันทึกนี้ให้ยาวนานขึ้นทั้งก่อนและหลังละหมาด ไม่ว่าจะเป็นจากการรอคอยละหมาดในเวลาถัดไป หรือการมามัสยิดก่อนอาซาน จึงเป็นสิ่งที่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้รับการบันทึกว่าเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ละหมาด



          สำหรับนักเรียนศาสนาแล้ว นับว่าสมควรยิ่งกว่าที่จะต้องรีบมามัสยิดให้ทันละหมาดตั้งแต่เริ่มต้น และขอเตือนว่า พวกเขาคือ “แบบอย่าง” ที่คนอื่นๆ กำลังมองดูอยู่ หากไม่ได้ติดธุระหรือมีอุปสรรคใดๆ ก็จำเป็นต้องรีบมามัสยิดแต่เนิ่นๆ เพราะคนอื่นๆ จะได้ทำตามเอาอย่างเขา และเพื่อไม่ให้คนทั่วไปคิดไม่ดีกับคนเรียนศาสนา เพราะเมื่อคนทั่วไปเห็นนักเรียนศาสนามาละหมาดล่าช้าทั้งๆ ที่ไม่มีอุปสรรค พวกเขาก็อาจคิดไปในแง่ที่ไม่ดีต่างๆ นานา นักเรียนศาสนาจึงสมควรตระหนักในเรื่องนี้ให้มาก


.