ท่านอุบัยย์ อิบนิ กะอฺบ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ผู้เป็นนายแห่งมวลมุสลิม
ฮามิด อะฮฺมัด อัฏฏอเฮร เขียน
อุมมุ อุ้ลยา แปล
ท่านเป็นคนในเผ่าคอซร็อจญ์ เป็นชาวอันศ็อร เป็นผู้ที่ให้สัตยาบันกับท่านร่อซู้ล พร้อมกับคนๆ อื่นอีก 70 คน ในสนธิสัญญาอัลอะกอบะฮ์ครั้งที่สอง ท่านมีฉายาว่า “อะบา มุนซิร” และยังเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มในสมัยท่านร่อซู้ล อีกด้วย ท่านเป็นผู้บันทึกวะฮีย์ เป็นนักต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ และร่วมออกรบกับท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ ในทุกสมรภูมิ
คุณสมบัติทั้งหมดนี้รวมอยู่ในตัวท่านอุบัยย์ อิบนิ กะอฺบ์ อิบนิ ก็อยซฺ อิบนิ อุบัยด์ อัลคอซร่อญีย์ อัลอันซอรีย์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ท่านร่อซู้ล จะกล่าวว่า “อุบัยย์ คือเจ้านายแห่งชาวอันศ้อร”
ท่านอุบัยย์ อิบนิ กะอฺบ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ เป็นหนึ่งในผู้ที่รีบรุดเข้าวสู่ศาสนาอิสลาม เป็นหนึ่งในผู้ศรัทธาภายใต้การเชิญชวนของท่านมุศอับ อิบนิ อุมัยรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ อัลกุรอานทำให้ท่านกลายเป็นทาสรับใช้ เนื่องด้วยสำนวนและความหมายอันวิจิตรงดงาม กระทั่งอัลกุรอานได้เข้าครอบครองหัวใจทั้งหมดของท่าน และท่านก็รักท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺจนหมดใจ ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยได้พบได้เห็นท่าน ท่านปรารถนาจะพบกับท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ ท่านจึงออกไปเพื่อพบกับท่าน ในการทำสนธิสัญญา อัลอะกอบะฮฺ ครั้งที่สอง
ณ ที่นั้น ท่านอุบัยย์ได้พบกับท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการเป็นนบีของอัลลอฮฺให้แก่ท่าน และได้รับรู้ในความมีสัจจะของท่าน ท่านกลับไปยังมาดีนะฮฺอย่างปลื้มปิติที่ได้พบกับท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ และยังคงถวิลหาที่จะได้พบกับท่านอีกครั้ง
วันเวลาผ่านไปอย่างช้าๆ กระทั่งถึงวันที่ชาวเมืองมาดีนะฮฺทั้งหมดปิติยินดีอย่างที่สุด ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ ได้อพยพมายังเมืองมาดีนะฮฺ ท่านได้ทำให้เมืองมาดีนะฮฺสว่างไสว ราวกับเจ้าสาวที่แต่งตัวเสริมสวยรอคอยเจ้าบ่าว ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ ได้ยึดเอามัสยิดของท่านเป็นศูนย์รวมของบรรดามุสลิม หลอมรวมพวกเขาให้อยู่ในถ้อยคำแห่งอัตเตาฮีด และเป็นสถานศึกษาหลักเกณฑ์และคำสอนต่างๆ ของศาสนาอิสลาม
ณ โรงเรียนของท่านนบี ท่านอุบัยย์ได้ซึมซับเรียนรู้คำสอนต่างๆ มากมาย ท่านร่อซู้ล ได้เลือกให้ท่านเป็นหนึ่งในผู้บันทึกวะฮีย์ ท่านอุบัยย์จะเหน็บปากกาไว้ที่ข้างหู รอคอยที่จะจดบันทึกเมื่อถึงเวลาที่ท่านร่อซู้ลมีรับสั่งให้บันทึกอายาตต่างๆ ของอัลลอฮฺ
เมื่ออายาตต่างๆ ถูกประทานลงมา หัวใจของท่านอุบัยย์เบิกบานสว่างไสว ราวกับกระจกเงาที่ผ่องใสเป็นประกาย เสียงแห่งศรัทธาดังขึ้นในหัวใจ ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับท่านอุบัยย์แล้ว ไม่มีเสียงใดที่จะกล่าวพึมพำซ้ำไปซ้ำมานอกจากเสียงของอัลกุรอาน ท่านร่อซู้ล จึงเปิดโอกาสให้ท่านอุบัยย์ได้ใกล้ชิดกับที่ประชุม ท่านอุบัยย์จึงกลายเป็นบุคคลที่รอบรู้เรื่องอัลกุรอานที่สุดในหมู่ผู้ศรัทธา
ท่านร่อซู้ล ได้เคยบอกท่านอุบัยย์ อิบนิ กะอ์บฺ ว่า : “แท้จริง อัลลอฮฺ –ผู้ทรงเกียรติผู้ทรงเกรียงไกร- มีรับสั่งให้ฉันอ่าน “ลัมยะกุนิ้ล ละซีนะกะฟะรู” (ซูเราะฮฺ อัลบัยยินะฮฺ)ให้ท่านฟัง"
ท่านอุบัยย์กล่าวถามด้วยความประหลาดใจว่า : “พระองค์อัลลอฮฺทรงเรียกชื่อของฉันกับท่านเลยหรือครับ ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ?”
ท่านร่อซู้ล ตอบว่า : “ใช่สิ”
กระนั้น ท่านอุบัยย์ก็มิได้หลงไปกับความรอบรู้ของตัวเอง และมิได้หลงภาคภูมิใจกับความพอพระทัยของอัลลอฮฺที่มีต่อท่าน ท่านกลับร่ำไห้ด้วยความซาบซึ้ง เปรมปรีดิ์ในความโปรดปรานและความเมตตาของอัลลอฮฺ และด้วยกับสิ่งนี้เองที่ผู้ศรัทธาทั้งมวลควรปลาบปลื้มยินดี
ท่านอุบัยย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า : “ฉันศรัทธาต่ออัลลอฮฺแล้ว และบนมือของท่าน ฉันได้ยอมจำนนแล้ว และฉันได้ศึกษาเรียนรู้จากท่านแล้ว”
จากนั้นท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ ก็กล่าวถ้อยคำนี้ซ้ำไปซ้ำมา ท่านอุบัยย์กล่าวถามท่านอีกว่า : ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺครับ ท่านเอ่ยชื่อของฉัน ณ ฟากฟ้าอย่างนั้นหรือครับ?
ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า : “ใช่สิ เจาะจงชื่อของท่านและเชื้อสายของท่านท่ามกลางบรรดามลาอิกะฮฺผู้ทรงเกียรติ”
ท่านอุบัยย์ กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น โปรดอ่านให้ฉันฟังด้วยเถิด โอ้ ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ” ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ ได้อ่านซูเราะฮฺ และท่านอุบัยย์ก็ร้องห่มร้องไห้ด้วยความปลาบปลื้มใจในความกรุณาโปรดปรานของอัลลอฮฺ และเช่นนี้เองที่ท่านอุบัยย์ผูกพันอยู่กับอัลกุรอาน กระทั่งท่านสามารถท่องจำอัลกุรอานได้ทั้งหมดในยุคสมัยของท่านร่อซู้ล
ท่านร่อซู้ล ปรารถนาที่จะชี้แนะบรรดามุสลิมให้ทราบถึงความรู้และความเข้าใจในศาสนาของท่านอุบัยย์
ท่านร่อซู้ล กล่าวว่า : “นี่ อบา มุนซิร (ท่านอุบัยย์) ท่านทราบหรือไม่ว่าอายะฮฺใดในคัมภัร์ของอัลลอฮฺที่ยิ่งใหญ่ที่สุด?”
ท่านอุบัยย์ กล่าวตอบว่า : “อัลลอฮุลาอิลาฮะ อิ้ลลา ฮุวัลฮัยยุ้ลก็อยยูม” (อายะฮฺ กุรซีย์)
ท่านร่อซู้ล ภูมิใจและยินดีกับความรอบรู้และความเข้าใจในศาสนาของท่านอุบัยย์ ท่านได้ใช้มือตีเบาๆ ไปที่หน้าอกของท่านอุบัยย์เพื่อแสดงความยินดีกับท่าน พลางกล่าวว่า : ”ขอแสดงความยินดีในความรู้ของท่านด้วย ท่านอบา มุนซิร”
ภายหลังจากที่ท่านร่อซู้ล เสียชีวิต บรรดามุสลิมต่างมาขอคำชี้ขาดตัดสินในเรื่องต่างๆ กับท่านอุบัยย์ ท่านเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องบทบัญญัติต่างๆ ของอิสลาม และเมื่อท่านอบูบักรและท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ปรารถนาจะรวมรวมอัลกุรอาน ท่านอุบัยย์ก็จะอ่านอัลกุรอานให้ท่านเซด อิบนิ ษาบิต ฟัง และจดบันทึกตาม และทำเช่นนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งในสมัยของท่านอุสมาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ
ท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล็งเห็นว่าท่านอุบัยย์นั้นคือแบบอย่างสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาที่จำเป็นจะต้องทุ่มเทให้กับการศึกษาหาความรู้ ไม่ควรจะต้องไปข้องเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ ท่านอุมัรจึงมิได้มอบหมายให้ท่านอุบัยย์มีหน้าที่ในการปกครองดูแลกิจการใดๆ
ครั้นเมื่อท่านอุบัยย์เอ่ยถามท่านอุมัรว่า : “เหตุใดท่านจึงไม่ใช้งานฉันบ้าง?”
ท่านอุมัร ตอบว่า : “ฉันเกรงว่ามันจะทำให้การนับถือศาสนาของท่านแปดเปื้อนมีมลทิน”
เพราะผู้รู้เฉกเช่นท่านอุบัยย์ ไม่บังควรจะมีกิจวัตรอื่นใดอีก นอกจากการทุ่มเทอยู่กับอัลกุรอาน และไม่ควรจะมีสิ่งใดมาทำให้ท่านต้องกังวลวุ่นวายใจ และเพราะท่านอุมัรทราบดีว่า ท่านอุบัยย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ จะอ่านอัลกุรอานจบเล่ม (คอตัม) ภายใน 8 คืนเท่านั้น
ท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ เคยกล่าวไว้ว่า : “ผู้ใดก็ตามที่ปรารถนาจะสอบถามเกี่ยวกับอัลกุรอาน ก็จงมาหาท่านอุบัยย์ อิบนิ กะอฺบ์ เถิด”
ท่านอุมัรยังได้ตั้งชื่อให้ท่านว่า “ซัยยิดุ้ล มุสลิมีน” (ผู้เป็นนายแห่งมวลมุสลิม) และตั้งฉายาให้ท่านว่า “อบา อัฏฏุฟัยล์”
มีอยู่วันหนึ่ง ท่านอุบัยย์ อิบนิ กะอ์บฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ได้ถามท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺว่า :“ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺครับ ผลตอบแทนของการเป็นไข้คืออะไรหรือครับ?”
ท่านร่อซู้ล ตอบว่า : “ผลบุญจะยังคงไหลรินสำหรับคนที่ป่วยไข้ตราบใดที่เท้ายังคงสั่นเทาและเหงื่อยังคงไหลพราก”
ท่านอุบัยย์จึงกล่าวว่า : “ข้าแต่อัลลอฮฺ แท้จริง ข้าพระองค์วอนขออาการเจ็บไข้ ซึ่งไม่อาจขัดขวางข้าพระองค์จากการมุ่งหน้าออกไปในหนทางของพระองค์ จากการมุ่งหน้าออกไปยังบ้านของพระองค์ และจากการมุ่งหน้าออกไปยังมัสญิดของนบีของพระองค์ด้วยเถิด”
และอัลลอฮฺ ตะอาลา ก็ทรงตอบรับดุอาอฺของท่านอุบัยย์ ท่านจึงมักป่วยเป็นไข้อยู่เสมอ หากแต่ท่านสามารถออกไปทำญิฮาด ออกไปละหมาด และไปทำฮัจญ์ได้ ซึ่งแน่นอนว่า ท่านได้รับภาคผลตอบแทนอย่างท่วมท้น ทั้งจากการเจ็บป่วย การภักดีเชื่อฟัง และจากการประกอบอิบาดะฮฺ
ครั้งหนึ่ง ท่านเคยกล่าวว่า : “บ่าวคนใดที่ละทิ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา แน่นอนพระองค์จะทรงปรับเปลี่ยนทดแทนในสิ่งที่ดียิ่งกว่าให้แก่เขา โดยที่เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน”
และหลายต่อหลายครั้งที่ท่านมักจะซาบซึ้งและร่ำไห้ในสมัยที่ท่านร่อซู้ล ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อครั้งที่มวลมุสลิมยังคงอยู่ในความดีงาม ในยามที่วะฮีย์ได้ถูกประทานลงมาให้แก่ท่าน บรรดามุสลิมต่างเรียนรู้ซึมซับและท่องจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับท่านอุบัยย์ ซึ่งมีหน้าที่บันทึกวะฮีย์ และรอคอยดำรัสของอัลลอฮฺครั้งต่อๆ ไป เพื่อที่ท่านจะได้จดบันทึกด้วยมือของท่าน อ่านซ้ำๆ ด้วยลิ้นของท่าน และจดจำด้วยหัวใจของท่าน จากนั้นท่านจะนำมาปฏิบัติ ท่านจึงเป็นผู้ที่ประมวลไว้ซึ่งความรู้และการกระทำอย่างพร้อมเพรียง
ท่านยังป่าวประกาศอีกว่า เมื่อครั้งที่เราอยู่กับท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ใบหน้าของเราหันไปในทางเดียวกัน แต่เมื่อท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺได้จากเราไป ใบหน้าของเราก็แตกแยกกันไปคนละทิศคนละทาง
ท่านอุบัยย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ เป็นผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากมาย ท่านจะครุ่นคิด ใคร่ครวญอย่างมากมาย ท่านมักจะร้องไห้เมื่อนึกถึงวันกิยามะฮฺ และสภาพความน่าสะพรึงกลัวของวันนั้น เมื่อท่านรู้สึกได้ว่าฟิตนะฮฺเริ่มย่างกรายเข้ามา ดุนยาและความเพริศแพร้วของมันกำลังจู่โจมถาโถมเข้าใส่มวลมุสลิม ท่านก็ยิ่งตั้งหน้าตั้งตาทำอิบาดะฮ์มากขึ้น และปราถนาที่จะกลับไปพบกับอัลลอฮฺ ตะอาลา กระทั่งท่านได้สิ้นชีวิตลงในปี ฮ.ศ ที่ 30 ก่อนหน้าที่ท่านจะได้เห็นมีดดาบของมวลมุสลิมกวัดแกว่งฟาดฟันซึ่งกันและกัน ด้วยสายตาของท่านเอง
ขออัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงพอพระทัยท่านอุบัยย์ ผู้เป็นนายแห่งชาวอันศ้อร และผู้เป็นนายแห่งมุสลิมทั้งหลายด้วยเถิด
ที่มา : حياة الصحابة للأطفال (ประวัติศ่อฮาบะฮฺสำหรับเด็ก) หน้า 309-316 สำนักพิมพ์ ดารุ้ลฟัจร์ ลิตตุรอษ ไคโร