ท่านเศาะลาฮุดดีน อัล อัยยูบี
  จำนวนคนเข้าชม  21870

 

 

ท่านเศาะลาฮุดดีน อัล อัยยูบี    صلاح الدين الأيوبي - رحمه الله

 

          เศาะลาฮุดดีนหรือที่ชาวตะวันตกเรียกกันติดปากว่า “ซาลาดิน” มีชื่อภาษาอาหรับเต็มๆว่า เศาะลาฮุดดีน ยูซุฟ อิบนุอัยยูบ บางครั้งก็ถูกเรียกว่า “อัลมาลิก อัลนาซิร เศาะลาฮุดดีน ยูซุฟ 1”

          เขาเกิดเมื่อ ค.ศ.1137 ในตำบลติกริตซึ่งเป็นบ้านเกิดของซัดดัม ฮุสเซน และเสียชีวิตในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1193 ที่เมืองดามัสกัส เป็นหนึ่งในบรรดาวีรชนมุสลิมผู้มีชื่อเสียงที่สุดและเป็นสุลต่านมุสลิมผู้ปกครองอียิปต์ ซีเรีย เยเมนและปาเลสไตน์ และเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์อัยยูบี ในสงครามต่อต้านการรุกรานของพวกครูเสด เศาะลาฮุดดีนประสบความสำเร็จในขั้นสุดท้ายด้วยการยึดเมืองเยรูซาเล็มกลับคืนมาได้ในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ.1187 ซึ่งทำให้การยึดครองของพวกแฟรงค์เป็นเวลา 88 ปีต้องสิ้นสุดลง

        เศาะลาฮุดดีนเกิดในครอบครัวชาวเคิร์ด ในคืนที่เขาเกิด นัจมุดดีน อัยยูบพ่อของเขาได้รวมคนในครอบครัวเดินทางไปยังเมืองอาเล็ปโปเพื่อไปรับใช้อิมาดุดดีน ซางกี ผู้ปกครองชาวเติร์กที่มีอำนาจในซีเรียตอนเหนือ เขาเติบโตในเมืองบัลเบ็กและดามัสกัส แต่ในตอนเริ่มแรกนั้นเศาะลาฮุดดีนให้ความสนใจในเรื่องของศาสนามากกว่าการฝึกฝนทางทหาร เขาเริ่มต้นอาชีพอย่างเป็นทางการเมื่อได้เข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ของอะซัดดุดดีน ชิรกูห์ ลุงของเขาซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารคนสำคัญของเจ้าชายนูรุดดีน ลูกชายและทายาทผู้สืบอำนาจต่อจากซางกี เศาะลาฮุดดีนได้ประสบการณ์ในการรบระหว่างการเดินทางออกศึกสามครั้งยังอียิปต์ ภายใต้การนำของชิรกูห์เพื่อป้องกันการรุกรานของพวกครูเสด


        หลังจากที่ชิรกูห์เสียชีวิต ใน ค.ศ.1169 เศาะลาฮุดดีนก็ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพของกองทหารซีเรียในอียิปต์และเป็นเสนาบดีของราชวงศ์ฟาฏิมียะฮในขณะที่อายุเพียง 31 ปี การที่เขามีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหน้าที่การงานนั้นก็เนื่องมาจากความสามารถของเขาเอง ในฐานะที่เป็นเสนาบดีปกครองอียิปต์ เขาได้รับฉายาว่ากษัตริย์ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเขาเป็นที่รู้จักกันในฐานะสุลต่าน


       ฐานะของเศาะลาฮุดดีนเริ่มสูงขึ้นเมื่อเขาได้ทำลายราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ของพวกชีอะฮ์ที่อ่อนแอลงใน ค.ศ.1171 และนำอิสลามแบบซุนนีห์กลับมายังอียิปต์อีกครั้งหนึ่งซึ่งทำให้เขาเป็นผู้ปกครองอียิปต์แต่เพียงผู้เดียว ถึงแม้ว่าโดยทางทฤษฎีเขายังเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจของนูรุดดีน แต่ความสัมพันธ์นั้นก็สิ้นสุดลงเมื่อเจ้าชายนูรุดดีนสิ้นชีวิตลงใน ค.ศ.1174 หลังจากนั้นไม่นาน เศาะลาฮุดดีนก็ได้ใช้ความเป็นเจ้าของความมั่งคั่งทางด้านการเกษตรในอียิปต์เป็นฐานทางการเงิน พร้อมกับกองทัพเล็กๆที่มีระเบียบวินัยเคลื่อนเข้าไปในซีเรียเพื่ออ้างตัวเป็นผู้สำเร็จราชการของนายเก่าของเขา

       อย่างไรก็ตาม ไม่นานนัก เขาก็ยกเลิกคำกล่าวอ้างดังกล่าวและตั้งแต่ ค.ศ.1174-1186 เขาก็มุ่งมั่นเดินหน้ารวมดินแดนมุสลิมต่างๆของซีเรีย เมโสโปเตเมียตอนเหนือ ปาเลสไตน์และอียิปต์ไว้ภายใต้ร่มธงของเขาโดยใช้วิธีการทูตและวิธีการทางทหารถ้าหากจำเป็น ...ในที่สุด ชื่อเสียงของเขาก็เป็นที่ร่ำลือว่าเป็นผู้ครองที่มีคุณธรรม ปราศจากความชั่วร้ายและความโหดเหี้ยมทารุณ ดังนั้นมุสลิมที่ถูกพวกครูเสดปกครองอย่างกดขี่ทารุณและหาทางต่อต้านอยู่จึงได้หันมาจับอาวุธร่วมกับเขาอีกครั้งหนึ่ง


       การกระทำของเศาะลาฮุดดีนทุกอย่างได้รับการดลใจจากการอุทิศตนให้แก่การญิฮาดต่อต้านพวกครูเสดคริสเตียนอย่างไม่เคยหวั่นไหว ด้วยเหตุนี้เขาจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการเติบโตและแพร่ขยายสถาบันต่างๆของมุสลิม เขาให้การอุปการะนักวิชาการและนักเผยแผ่คำสอนอิสลาม ก่อตั้งวิทยาลัยและมัสญิดสำหรับคนเหล่านั้นและแนะนำให้บรรดานักวิชาการเขียนงานวิชาการออกมาโดยเฉพาะเรื่องการญิฮาด ฟื้นฟูขวัญกำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน

       ความจริงแล้ว การที่เขาทำเช่นนี้ก็เพราะเขาเชื่อว่าความศรัทธาที่มั่นคงเด็ดเดี่ยวและความกระตือรือร้นเป็นสิ่งมีค่าและสิ่งนี้เองที่ทำให้มุสลิมรุ่นแรกๆก่อนหน้านี้ห้าร้อยปีสามารถพิชิตโลกได้ครึ่งหนึ่ง

       ... ชื่อเสียงของท่านเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นนักรบที่กล้าหาญ เฉลียวฉลาดมีความยุติธรรม โอบอ้อมอารีในการปฏิบัติแก่ผู้แพ้ เป็นที่ยกย่องแม้แต่ศัตรูจนถึงขนาดที่ว่าพวกค็อปติก(คริสเตียนออทอดอกซ์ในอียิปต์)เอารูปวาดของเศาะลาฮุดดีนวางไว้ที่แท่นบูชาในโบสถ์

       เศาะลาฮุดดีนปฏิบัติต่อเชลยเป็นอย่างดี ท่านได้ปล่อยเชลยจำนวนมากที่ไม่สามารถหาเงินมาไถ่ตัวได้ และยังใช้เงินส่วนตัวไถ่พวกเชลยเหล่านี้ โดยไม่มีการสังหารเชลยแต่อย่างใด


 

        เศาะลาฮุดดีนประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนดุลอำนาจทางทหารให้เขาเป็นฝ่ายได้เปรียบโดยการที่เขาสามารถรวบรวมและจัดระเบียบกองกำลังที่ไร้ระเบียบวินัยมากกว่าการที่จะใช้เทคนิคใหม่ๆทางทหาร ในที่สุด เมื่อกำลังทหารของเขาพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับอาณาจักรครูเสดได้ ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1187 เศาะลาฮุดดีนก็สามารถทำลายกองทัพของพวกครูเสดได้ที่สมรภูมิ ฮัตตินใกล้กับไทเบอริอาสในปาเลสไตน์ตอนเหนือ

        สงครามครั้งนั้สร้างความเสียหายให้แก่พวกครูเสดอย่างหนักจนมุสลิมสามารถเข้ายึดอาณาจักรแห่งเยรูซาเล็มได้เกือบทั้งหมด เมืองอัคเร, โตรอน, เบรุต, ไซดอน, นาซาเร็ธ, ซีซาเรีย นะบลุส, ญัฟฟาและอัสคาลอนได้ตกเป็นของมุสลิมภายในสามเดือน แต่ความสำเร็จขั้นสูงสุดของเศาะลาฮุดดีนและการสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่พวกครูเสดนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ.1187 เมื่อเมืองเยรูซาเล็มซึ่งเป็นเมืองสำคัญต่อทั้งมุสลิมและคริสเตียนได้ยอมจำนนต่อกองทัพของเขาหลังจากที่ตกอยู่ในมือของพวกแฟรงค์มาเป็นเวลา 88 ปี

        ชาวเมืองเยรูซาเล็มได้รับการปฏิบัติจากกองทัพของเศาะลาฮุดดีนอย่างดีและมีอารยธรรม ผิดกับเมื่อตอนที่พวกแฟรงค์เข้ามายึดครองซึ่งทำให้ชาวเมืองต้องถูกสังหารหมู่อย่างเหี้ยมโหดทารุณนับหมื่นๆคน

        ภาพที่ท่านและกองทัพมุสลิมแสดงต่อพวกครูเสดตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับที่พวกเขาเหล่านี้ ได้เคยสับมุสลิม แหวะหัวใจเด็ก ฟันขาเหวี่ยงไปในอากาศ บังคับให้มุสลิมกระโดดจากที่สูง ในสมัยที่พวกเขายึดเยรูซาเล็มช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 1 เวลานั้นมุสลิมถูกฆ่าจนเลือดไหลนองท่วมหัวเข่าม้าของพวกครูเสด

 


        การยึดเยรูซาเล็มกลับคืนมาของเศาะลาฮุดดีนได้ทำให้พวกครูเสดในยุโรปรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อจะยึดเยรูซาเล็มคืน อันเป็นการประกาศสงครามครูเสดครั้งที่สาม กองทัพครูเสดครั้งนี้มีผู้นำคือ กษัตริย์ริชาร์ด(ใจสิงห์)แห่งอังกฤษ กษัตริย์ฟิลิป ออกัสตัสแห่งฝรั่งเศส และกษัตริย์เฟดเดอริค บาร์บาโรซซ่าแห่งเยอรมันเป็นผู้นำ แต่ปรากฏว่ากษัตริย์เฟดเดอริคจมน้ำตายขณะข้ามแม่น้ำสายหนึ่ง กองทัพเยอรมันจึงไม่มีโอกาสสู้รบกับมุสลิม อย่างไรก็ตามหลังจากที่รบกันมานาน กองทัพทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาสงบศึก ณ เมืองร็อมละฮฺ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1192 โดยชายฝั่งใกล้เมืองอักกาและบริเวณโดยรอบตกเป็นของพวกครูเสด และเศาะลาฮุดดีนยินยอมให้คริสเตียนเดินทางไปสู่เยรูซาเล็ม โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่นำอาวุธเข้าไป สัญญาฉบับนี้เป็นการสิ้นสุดสงครามครูเสดครั้งที่สาม

       ...กษัตริย์ริชาร์ด นั้น เคยกล่าวยกย่อง เศาะลาฮุดดีน ว่าเป็นแม่ทัพที่มีน้ำใจเป็นสุภาพบุรุษ บ่อยครั้งที่เศาะลาฮุดดีน มีน้ำใจให้กับศัตรู ไม่โจมตีศัตรูในขณะเพลี่ยงพล้ำ แต่รอให้ศัตรูตั้งตัวได้ก่อนจึงค่อยรบกันต่อ...

        เมื่อสงครามยุติลง เศาะลาฮุดดีนได้ยกกองทัพไปตรวจเมืองต่างๆและซ่อมแซมสิ่งที่เสียหาย และได้กลับมาพักกับครอบครัวที่นครดามัสกัส   หลังจากที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนหลังม้า ที่กรำศึกมาเป็นเวลานาน ในที่สุด เศาะลาฮุดดีนก็มาถึงจุดสุดท้ายของชีวิต ท่านก็ได้จากโลกนี้ไปในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1193

        ... ในขณะที่ญาติพี่น้องของเขากำลังแย่งส่วนต่างๆของอาณาจักรกันอยู่นั้น สหายของท่านพบว่า ผู้ปกครองของมุสลิมที่ยิ่งใหญ่และมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้ทิ้งทรัพย์สินไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้ทิ้งเงินทองไว้มากมาย ...ไม่พอแม้แต่จะใช้เพื่อจัดการกับศพของตัวท่าน...

        ...หลังจากนั้น ครอบครัวของเศาะลาฮุดดีนก็ยังปกครองอียิปต์และแผ่นดินใกล้เคียงต่อไปอีกไม่นานและในที่สุดก็ถูกพวกมัมลู้กเข้ามายึดอำนาจต่อใน ค.ศ.1250

 

 

 

 

 


 

ที่มา http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=kheedes&date=15-02-2006&group=9&blog=4