สิทธิของเพื่อนบ้าน
เชค มุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน
เพื่อนบ้านหมายถึงผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้กับบ้านของท่าน เพื่อนบ้านมีสิทธิที่ควรจะได้รับจากท่านมากมาย
♣ ถ้าเพื่อนบ้านของท่านมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับท่านและเป็นมุสลิม เขาก็ควรจะได้รับสิทธิสามประการด้วยกันคือ สิทธิในฐานะเพื่อนบ้าน สิทธิในฐานะเครือญาติ และสิทธิในฐานะพี่น้องมุสลิม
♣ ถ้าเพื่อนบ้านของท่านเป็นมุสลิมแต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับท่าน เขาก็ควรจะได้รับสิทธิสองประการคือ สิทธิในฐานะเพื่อนบ้าน และสิทธิในฐานะพี่น้องมุสลิมของท่าน
♣ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับท่านแต่เขาไม่ใช่มุสลิม เขาก็ควรจะได้รับสิทธิสองประการเหมือนกันคือ สิทธิในฐานะเพื่อนบ้าน และสิทธิในฐานะเครือญาติ
♣ ส่วนเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับท่านและไม่ใช่มุสลิม เขาก็ควรจะได้รับสิทธิเพียงประการเดียว นั่นคือ สิทธิในฐานะเพื่อนบ้าน
อัลลอฮฺ ตรัสว่า
(وَبِٱلۡوَٰلِدَيۡنِ إِحۡسَٰنٗا وَبِذِي ٱلۡقُرۡبَىٰ وَٱلۡيَتَٰمَىٰ وَٱلۡمَسَٰكِينِ وَٱلۡجَارِ ذِي ٱلۡقُرۡبَىٰ وَٱلۡجَارِ ٱلۡجُنُبِ ﴾ [النساء : ٣٦]
“และจงทำดีต่อบิดามารดา เครือญาติที่ใกล้ชิด เด็กกำพร้าและผู้ขัดสน
และเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และเพื่อนที่ไม่มีสัมพันธ์ทางเครือญาติ”
(อัน-นิสาอ์ : 36)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَا زَالَ جِبْرِيْلُ يُوْصِيْنِي بِالْجَارِ حَتَّى ظَنَنْتُ أَنَّهُ سَيُوَرِّثُهُ»
“ญิบรีลคอยสั่งเสียฉันอยู่เสมอให้ทำดีต่อเพื่อนบ้าน
จนฉันคาดคิดถึงขั้นว่า เขาจะให้เพื่อนบ้านได้มีสิทธิรับมรดกกันเลยทีเดียว”
(อัล-บุคอรีย์ 6014-6015, มุสลิม 6424-6425)
ดังนั้น ส่วนหนึ่งของสิทธิที่เพื่อนบ้านคนหนึ่งพึงจะได้รับจากเพื่อนบ้านอีกคนหนึ่งคือ การทำดีต่อเขาด้วยสิ่งต่างๆ ที่สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นด้วยทรัพย์สินของเขา ชื่อเสียงหรือบารมีในสังคม และสิ่งที่เกิดประโยชน์ ท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«خَيْرُ الجِيرَانِ عِنْدَ اللهِ خَيْرُهُمْ لِجَارِهِ»
“เพื่อนบ้านที่ประเสริฐที่สุดในทัศนะของอัลลอฮฺ คือ เพื่อนบ้านที่ปฏิบัติดีที่สุดต่อเพื่อนบ้านของเขา”
(อัต-ติรมิซีย์ 1944)
ท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวอีกว่า
«مَنْ كَانَ يُؤْمِنُ بِاللهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ فَلْيُحْسِنْ إِلَى جَارِهِ»
“ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ เขาก็จงทำดีต่อเพื่อนบ้านของเขา”
(อัล-บุคอรีย์ 6019, มุสลิม 48)
และท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าว (แก่ อบู ซัรฺ) ว่า
«إِذَا طَبَخْتَ مَرَقَةً فَأَكْثِرْ مَاءَهَا وَتَعَاهَدْ جِيْرَانَك»
“โอ้ อบู ซัรฺ เอ๋ย เมื่อท่านต้มน้ำแกงท่านจงเติมน้ำให้มาก และจงแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านของท่านด้วย”
(มุสลิม 2625)
ในจำนวนวิธีการทำดีต่อเพื่อนบ้านคือ การมอบของขวัญให้แก่เขาตามโอกาสและเทศกาลต่างๆ เพราะของขวัญเป็นการเสริมสร้างความรักใคร่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และขจัดความรู้สึกบาดหมางและเป็นศัตรูกัน
ส่วนหนึ่งของสิทธิที่เพื่อนบ้านพึงปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านของเขาก็คือ การระงับจากการสร้างความเดือดร้อนแก่เขาทั้งในแง่คำพูดและการกระทำ ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«وَاللَّهِ لَا يُؤْمِنُ، وَاللَّهِ لَا يُؤْمِنُ، وَاللَّهِ لَا يُؤْمِنُ، قِيْلَ: مَنْ يَا رَسُوْلَ اللهِ ؟ قَالَ: الَّذِي لَا يَأْمَنُ جَارُهُ بَوَائِقَهُ»
“ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า เขายังไม่เป็นผู้ศรัทธา เขายังไม่เป็นผู้ศรัทธา เขายังไม่เป็นผู้ศรัทธา”
มีคนถามว่า ผู้ใดหรือโอ้ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ?
ท่านตอบว่า “คนที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ปลอดภัยจากการอธรรมและความเลวของเขา”
(อัล-บุคอรีย์ 6016)
ในอีกรายงานหนึ่งท่านกล่าวว่า
«لَا يَدْخُلُ الْجَنَّةَ مَنْ لَا يَأْمَنُ جَارُهُ بَوَائِقَهُ»
“จะไม่ได้เข้าสวรรค์สำหรับผู้ที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ปลอดภัยจากการอธรรมและความเลวของเขา”
(มุสลิม 46)
มีผู้คนจำนวนมากในปัจจุบันที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสิทธิของเพื่อนบ้าน และเพื่อนบ้านของเขาไม่ปลอดภัยจากความเลวทรามของพวกเขา ท่านจะพบว่าพวกเขาชอบที่จะโต้เถียงกับเพื่อนบ้านอยู่ตลอดเวลา ชอบทะเลาะ ล่วงละเมิดสิทธิ และสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้าน ทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นการปฏิบัติที่ค้านกับคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ และเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวมุสลิม ทำให้จิตใจของพวกเขาเหินห่างกัน และไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ผู้แปล: อันวา สะอุ และ อุษมาน อิดรีส
Islam House