สิทธิของมุสลิมทั่วไป
  จำนวนคนเข้าชม  5711

สิทธิของมุสลิมทั่วไป

 

เชค มุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน

 


          มีสิทธิจำนวนมากมายที่มุสลิมแต่ละคนพึงปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิมของเขา ส่วนหนึ่งของสิทธิเหล่านั้นคือ คำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ตามที่มีระบุในหะดีษเศาะฮีหฺว่า


 

“สิทธิของมุสลิมที่พึงปฏิบัติต่อมุสลิมมีหกประการ คือ 

 เมื่อท่านพบเขาท่านจงให้สลามแก่เขา 

  เมื่อเขาเชิญชวนท่าน ท่านก็จงตอบรับคำเชิญของเขา 

 เมื่อเขาขอคำชี้แนะและตักเตือนจากท่าน ท่านก็จงให้คำชี้แนะและตักเตือนเขา 

 เมื่อเขาจามและกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ ท่านก็จงขอดุอาอ์ให้แก่เขา 

 เมื่อเขาเจ็บป่วยท่านก็จงไปเยี่ยมเยียนเขา และ

 เมื่อเขาเสียชีวิต ท่านก็จงติดตามส่งศพ/ญะนาซะฮฺของเขา” 
 

(มุสลิม 2162, อัล-บุคอรีย์ 1240 ด้วยสำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยระบุว่ามีห้าประการ) 
 

หะดีษข้างต้นได้ชี้แจงถึงสิทธิต่างๆ ที่มุสลิมคนหนึ่งพึงปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิม ดังนี้


 

สิทธิที่หนึ่ง : การให้สลาม 

 

          การให้สลามเป็น สุนนะฮฺ มุอักกะดะฮฺ  (สุนนะฮฺที่เน้นย้ำให้ปฏิบัติ) เพราะสลามเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้ชาวมุสลิมรู้สึกรักใคร่และห่วงใยกัน ดังคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า

 

«لَا تَدْخُلُوْا الْجَنَّةَ حَتَّى تُؤْمِنُوا، وَلَا تُؤْمِنُوا حَتَّى تَحَابُّوا، أَوَلَا أَدُلُّكُمْ عَلَى شَيْءٍ إِذَا فَعَلْتُمُوهُ تَحَابَبْتُمْ؟ أَفْشُوا السَّلَامَ بَيْنَكُمْ»

 

           “พวกท่านจะไม่สามารถสวรรค์ได้ จนกว่าพวกท่านจะศรัทธา และพวกท่านจะไม่ศรัทธาอย่างแท้จริงจนกว่าพวกท่านจะรักใคร่กัน เอาไหม ฉันจะบอกสิ่งหนึ่งแก่พวกท่าน เมื่อพวกท่านปฏิบัติแล้วก็จะเกิดความรักใคร่ในหมู่ของพวกท่าน? นั่นคือ จงโปรยสลามให้แก่กันระหว่างพวกท่าน” 
 

(มุสลิม 54)

 

          ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะให้สลามก่อนแก่ผู้ที่ท่านพบเจอเสมอ และท่านจะให้สลามแก่เด็กๆ เมื่อยามที่ท่านเดินผ่านพวกเขาด้วย สุนนะฮฺให้ผู้น้อยหรือเด็กเริ่มให้สลามแก่ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่าก่อน กลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่าให้สลามแก่กลุ่มที่มีจำนวนมากกว่า และผู้ที่อยู่บนพาหนะให้สลามแก่ผู้ที่กำลังเดิน แต่หากว่าผู้ที่สมควรให้สลามก่อนตามสุนนะฮฺที่ได้กล่าวมาข้างต้นไม่เริ่มให้สลามก่อน ก็ให้อีกฝ่ายหนึ่งให้สลามก่อนแทน เพื่อไม่ให้ขาดการให้สลาม 
 

          ดังนั้น เมื่อผู้น้อยหรือเด็กไม่เริ่มให้สลามแก่ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่า ก็ให้ผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่าเริ่มให้สลามแก่เด็กหรือผู้น้อยแทน และเมื่อกลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่าไม่เริ่มให้สลามแก่กลุ่มที่มีจำนวนมากกว่า ก็ให้กลุ่มที่มีจำนวนมากกว่าเริ่มให้สลามแก่กลุ่มที่มีจำนวนน้อยกว่าแทน เพื่อให้ได้รับผลบุญของการให้และรับสลาม
 

ท่านอัมมารฺ บิน ยาสิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า

 

«ثَلاَثٌ مَنْ جَمَعَهُنَّ فَقَدْ جَمَعَ الإِيمَانَ: الإِنْصَافُ مِنْ نَفْسِكَ، وَبَذْلُ السَّلاَمِ لِلْعَالَمِ، وَالإِنْفَاقُ مِنَ الإِقْتَارِ»

 

“มีสามสิ่งที่ผู้ใดสามารถรวบรวมไว้กับตัวแสดงว่าเขาได้รวบรวมอีมานหรือความศรัทธาไว้แล้ว นั่นคือ

มีจิตใจที่เที่ยงธรรมต่อผู้อื่น

โปรยสลามให้แก่ผู้คน (ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก) และ

การใช้จ่ายหรือการบริจาคทรัพย์สินในช่วงที่ขัดสน” 
 

(อัล-บุคอรีย์ 8) 

 

          การเริ่มให้สลามเป็นสุนนะฮฺที่ถูกส่งเสริม ในขณะที่การตอบสลามนั้นเป็น ฟัรฎูกิฟายะฮฺ (จำเป็นต้องปฏิบัติโดยภาพรวม) เมื่อผู้คนจำนวนหนึ่งในกลุ่มเดียวกันได้ปฏิบัติก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับทุกคน ดังนั้น เมื่อมีการให้สลามต่อกลุ่มชนจำนวนหนึ่งแล้วมีคนใดคนหนึ่งในจำนวนพวกเขาได้ตอบสลามก็ถือว่าเพียงพอและใช้ได้แล้วสำหรับทุกคน

อัลลอฮฺตรัสว่า

 

          “และเมื่อมีคนกล่าวสลามแก่พวกเจ้า (อัสลามุอะลัยกุม) พวกเจ้าจงตอบสลามเขาด้วยสลามที่ดีกว่า (วะอะลัยกุมุส สลาม วะเราะหฺมะตุลลอฮฺ) หรือตอบกลับเท่ากับสลามที่เขากล่าวมา (วะอะลัยกุมุสสลาม)”  
 

(อัน-นิสาอ์ : 86) 

          ดังนั้น การตอบสลามด้วยคำว่า ยินดีต้อนรับ (อะฮฺลัน วะ สะฮฺลัน)เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ เพราะคำกล่าวดังกล่าวไม่ใช่การตอบสลามที่ดีกว่าหรือเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น เมื่อมีคนให้สลามท่านว่า อัสลามุอะลัยกุม ท่านก็จงตอบเขาว่า วะอะลัยกุมุสสลาม และเมื่อมีคนทักท่านว่า อะฮฺลันท่านก็จงทักตอบว่า อะฮฺลัน ให้เหมือนกับเขา และหากมีการกล่าวสำนวนเพิ่มเติมก็จะเป็นการประเสริฐกว่า


สิทธิที่สอง : เมื่อมุสลิมคนหนึ่งเชิญชวนท่าน ท่านก็จงรับคำเชิญของเขา 

          หมายความว่า เมื่อมีพี่น้องมุสลิมเชิญท่านไปยังบ้านของเขาเพื่อรับประทานอาหารหรือทำธุระอื่นๆ ท่านก็จงตอบรับคำเชิญของเขา  การตอบรับคำเชิญเป็น สุนนะฮฺ มุอักกะดะฮฺ (เน้นให้กระทำ) เนื่องจากการตอบรับดังกล่าวจะช่วยโอบอุ้มหัวใจของผู้เชิญ (ไม่ให้เสียความรู้สึก)  และทำให้เกิดความรักใคร่สนิทสนมกัน 

          ในขณะที่การตอบรับการเชิญชวนสู่งานแต่งงาน (วะลีมะฮฺ) นั้นเป็นสิ่งที่วาญิบ  ด้วยเงื่อนไขที่เป็นที่ทราบกัน เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«وَمَنْ لَمْ يُجِبِ الدَّعْوَةَ، فَقَدْ عَصَى اللهَ وَرَسُولَهُ»

“และผู้ใดไม่ตอบรับคำเชิญ แท้จริง เขาได้ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์แล้ว” 

(มุสลิม 1432, อัล-บุคอรีย์ 5177 ด้วยความหมายที่ใกล้เคียง) 

          เป็นไปได้ว่า คำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า  “เมื่อเขาเชิญชวนท่าน ท่านก็จงตอบรับคำเชิญของเขา” นั้น ครอบคลุมแม้กระทั่งการเชิญเพื่อให้ไปช่วยเหลือเขาด้วย เพราะท่านถูกสั่งให้ตอบรับคำเชิญของเขา ดังนั้น เมื่อมีคนเรียกและเชิญชวนท่านให้ไปช่วยเขาแบกหรือยกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือทิ้ง/วางสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรืออื่นๆ ท่านก็จำเป็นต้องไปช่วยเหลือเขา เพราะท่านถูกสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«المُؤْمِنُ لِلْمُؤْمِنِ كَالْبُنْيَانِ يَشُدُّ بَعْضُهُ بَعْضًا»

 “หน้าที่ของผู้ศรัทธาคนหนึ่งที่มีต่อผู้ศรัทธาอีกคนหนึ่ง

เป็นดั่งอาคารหนึ่งที่แต่ละส่วนของอาคารต่างยึดเหนี่ยวซึ่งกันและกัน” 

(อัล-บุคอรีย์ 2446, มุสลิม 2585) 


สิทธิที่สาม : เมื่อมุสลิมคนหนึ่งขอคำชี้แนะและตักเตือนจากท่าน ท่านก็จงให้คำชี้แนะแก่เขา 

          หมายความว่า เมื่อมุสลิมคนหนึ่งมาหาเพื่อขอให้ท่านช่วยตักเตือนและชี้แนะแก่เขา ท่านก็จงชี้แนะและให้คำตักเตือนแก่เขา เพราะการตักเตือนเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา ดังคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม

«الدِّينُ النَّصِيحَةُ: لِلَّهِ وَلِرَسُولِهِ وَلِأَئِمَّةِ المُسْلِمِينَ وَعَامَّتِهِمْ»

 “ศาสนาคือ นะศีหะฮฺ (การชี้แนะ การปรารถนาดี) ต่ออัลลอฮฺ ต่อศาสนทูตของพระองค์

ต่อบรรดาผู้นำของชาวมุสลิม และต่อชาวมุสลิมทุกคน” 

(อัล-บุคอรีย์ 35, มุสลิม 55) 

          แต่หากเขาไม่มาขอคำตักเตือนและคำชี้แนะจากท่าน และท่านทราบว่าเขาจะต้องพบกับอันตรายหรือเขาจะไปทำความผิด ท่านก็จำเป็น (วาญิบ) ต้องให้คำตักเตือนและชี้แนะเขา และถือว่าเป็นหน้าที่รับของท่านถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้มาขอคำตักเตือนจากท่านก็ตาม เพราะการตักเตือนดังกล่าวเป็นการขจัดอันตรายและสิ่งที่ไม่ดีงามอย่างหนึ่งจากพี่น้องชาวมุสลิม แต่ถ้าหากว่าสิ่งที่เขาจะกระทำไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายหรือความผิดบาป และท่านเห็นว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดประโยชน์ต่อคนอื่นมากกว่าเขา ท่านก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวนะศีหะฮฺใดๆ แก่เขา เว้นแต่ว่าเขาจะขอมาขอคำชี้แนะจากท่าน เมื่อถึงเวลานั้นท่านจึงจำเป็นต้องชี้แนะและตักเตือนเขา


สิทธิที่สี่ : เมื่อมุสลิมคนหนึ่งจามและกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ ท่านก็จงขอดุอาอ์ให้แก่เขา 

          หมายความว่า เมื่อมุสลิมคนหนึ่งจามและกล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺว่า “الْحَمْدُ للهِ  -  อัลหัมดุลิลลาฮฺ” (หมายถึง มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ) ท่านก็จงกล่าวแก่เขาว่า “يَرْحَمُكَ اللهُ  – ยัรหะมุกัลลอฮฺ” (หมายถึง ขออัลลอฮฺโปรดประทานความเมตตาแก่ท่าน) เพื่อเป็นการขอบคุณแก่เขาที่ได้กล่าวสรรเสริญพระผู้อภิบาลของเขาขณะจาม แต่หากเขาจามแล้วไม่ได้กล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺ เขาไม่มีสิทธิที่จะได้รับดุอาอ์นี้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องขอดุอาอ์ให้แก่เขา เพราะในเมื่อเขาไม่ได้กล่าวคำสรรเสริญต่ออัลลอฮฺ ผลตอบแทนของเขาก็คือ การไม่สมควรที่จะได้รับดุอาอ์ดังกล่าว

          การขอดุอาอ์ให้แก่ผู้จามเมื่อเขาได้กล่าวสรรเสริญอัลลอฮฺเป็นสิ่งที่วาญิบ และผู้จามก็จำเป็น (วาญิบ) ต้องตอบกลับด้วยคำว่า “يَهْدِيْكُمُ اللهُ وَيُصْلِحُ بَالَكُمْ – ยะฮฺดีกุมุลลอฮฺ วะ ยุศลิห์ บาละกุม” (หมายความว่า ขออัลลอฮฺโปรดประทานทางนำแก่ท่าน และแก้ไขสภาพความเป็นอยู่ของท่านให้ปลอดภัยและเปี่ยมด้วยนิอฺมัต) และถ้าหากผู้จามได้จามอย่างต่อเนื่องก็จงกล่าวขอดุอาอ์แก่เขาจนครบสามครั้ง และถ้ายังจามอีก ก็ให้ท่านกล่าวขอดุอาอ์แก่เขาว่า “عَافَاكَ اللهُ – อาฟากัลลอฮฺ” (หมายถึง ขออัลลอฮฺโปรดให้ท่านหายจากอาการป่วยด้วยเถิด) แทนการกล่าวคำว่า “يَرْحَمُكَ اللهُ” 


สิทธิที่ห้า : เมื่อมุสลิมคนหนึ่งเจ็บป่วยท่านก็จงไปเยี่ยมเขา 

          การไปเยี่ยมผู้ป่วยเป็นสิทธิที่พี่น้องชาวมุสลิมพึงปฏิบัติต่อผู้ป่วย ดังนั้นมุสลิมทุกคนจึงจำเป็น (วาญิบ) ต้องไปเยี่ยมพี่น้องที่ป่วยไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าผู้ป่วยเป็นเครือญาติของท่าน หรือมิตรสหาย หรือเพื่อนบ้าน ก็ยิ่งจำเป็นต้องไปเยี่ยมเยียนพวกเขา

          การไปเยี่ยมผู้ป่วยให้ปฏิบัติตามสภาพของผู้ป่วยและตามสภาพของโรค บางครั้งอาจจำเป็นต้องไปเยี่ยมบ่อยครั้ง และบางครั้งอาจจะเพียงพอเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการคำนึงถึงสภาพของผู้ป่วยและโรคของเขาด้วย

          สำหรับผู้ที่ไปเยี่ยมคนป่วยมีสุนนะฮฺให้สอบถามถึงสภาพและอาการป่วยของเขา ขอดุอาอ์ให้กับเขา และพูดปลอบใจเขาให้หายวิตกกังวลและมีความหวัง เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายป่วยไวขึ้น ผู้เยี่ยมควรจะกล่าวเตือนสติให้ผู้ป่วยเตาบะฮฺต่ออัลลอฮฺด้วยสำนวนที่ไม่ทำให้เขาตกใจ 

          ตัวอย่างเช่น การป่วยของท่านในครั้งนี้เท่ากับว่าท่านได้รับความดีงาม เพราะความป่วยเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺใช้ขจัดบาปต่างๆ และลบล้างความผิดต่างๆ และหวังว่าด้วยการที่ท่านต้องพำนักอยู่กับที่ จะทำให้ท่านได้รับผลบุญที่มากมาย ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ขออภัยโทษจากพระองค์ และขอดุอาอ์ต่อพระองค์ให้มาก


สิทธิที่หก : เมื่อมุสลิมคนหนึ่งเสียชีวิต ท่านก็จงตามส่งศพของเขา 

          การติดตามส่งญะนาซะฮฺหรือการส่งศพ เป็นหนึ่งในบรรดาสิทธิที่มุสลิมพึงปฏิบัติต่อพี่น้องของเขา ขณะเดียวกันการติดตามส่งญะนาซะฮฺก็ยังได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่อีกด้วย ดังมีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านกล่าวว่า


«مَنْ تَبِعَ الجَنَازَةَ حَتَّى يُصَلِّيَ عَلَيْهَا فَلَهُ قِيرَاطٌ، وَمَنْ تَبِعَهَا حَتَّى تُدْفَنَ كَانَ لَهُ قِيرَاطَانِ، قِيلَ: وَمَا القِيرَاطَانِ؟ قَالَ: مِثْلُ الجَبَلَيْنِ العَظِيمَيْنِ»

        “ผู้ใดติดตามส่งญะนาซะฮฺจนกระทั่งเขาได้ละหมาดให้ศพนั้น เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับหนึ่ง กีรอฏ และผู้ใดติดตามญะนาซะฮฺจนกระทั่งศพถูกฝัง เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับสองกีรอฏ” 

มีคนถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า สองกีรอฏนั้นคืออะไร? 

ท่านตอบว่า “เหมือนกับภูเขาใหญ่สองลูก” 

(อัล-บุคอรีย์ 1325, มุสลิม 945) 

          และส่วนหนึ่งของสิทธิที่มุสลิมพึงปฏิบัติต่อพี่น้องมุสลิมคือการไม่สร้างความเดือดร้อนแก่เขา เพราะการสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวมุสลิมเป็นบาปหนัก อัลลอฮฺตรัสว่า

( وَٱلَّذِينَ يُؤۡذُونَ ٱلۡمُؤۡمِنِينَ وَٱلۡمُؤۡمِنَٰتِ بِغَيۡرِ مَا ٱكۡتَسَبُواْ فَقَدِ ٱحۡتَمَلُواْ بُهۡتَٰنٗا وَإِثۡمٗا مُّبِينٗا ٥٨﴾ [الأحزاب : ٥٨]  

“และบรรดาผู้ที่ชอบสร้างความเดือดร้อน ด้วยการกล่าวร้าย ต่อบรรดาผู้ศรัทธาชายและหญิง

ในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้กระทำ แท้จริงพวกเขาได้แบกรับความเท็จและบาปที่ชัดแจ้งแล้ว”

 (อัล-อะห์ซาบ 58) 


          ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ชอบข่มพี่น้องด้วยการสร้างความเดือดร้อนแก่เขา อัลลอฮฺจะลงโทษเขาตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว ก่อนที่พระองค์จะลงโทษในวันอาคิเราะฮฺด้วยซ้ำ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า


          “พวกท่านจงอย่ากริ้วโกรธกัน อย่าอิจฉาริษยากัน อย่าหันหลังไม่พูดจากัน พวกเจ้าจงเป็นพี่น้องกันเถิด โอ้บรรดาบ่าวของอัลลอฮฺ มุสลิมเป็นพี่น้องกับมุสลิม เขาจะไม่อธรรมต่อพี่น้องของเขา เขาจะไม่ปล่อยให้พี่น้องของเขาถูกอธรรมโดยไม่ยื่นมือไปช่วยเหลือ

          และเขาจะไม่ดูถูกและเหยียบหยามพี่น้องของเขา เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับผู้ใดผู้หนึ่งที่จะกลายเป็นคนเลวด้วยการดูถูกเหยียดหยามพี่น้องมุสลิมของเขา  มุสลิมไม่อนุญาตให้ละเมิดต่อบรรดาพี่น้องมุสลิม ทั้งต่อเลือดเนื้อของเขา ทรัพย์สินของเขา และเกียรติของเขา” 

(อัล-บุคอรีย์ 6065, 6076, มุสลิม 2564) 


          สิทธิที่มุสลิมจำเป็นต้องปฏิบัติต่อมุสลิมมีมากมาย ซึ่งสามารถให้ความหมายโดยรวมด้วยคำกล่าวของท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า “มุสลิมคือพี่น้องของมุสลิม” เพราะเมื่อใดก็ตามที่มุสลิมคนหนึ่งปฏิบัติต่อมุสลิมอีกคนหนึ่งบนพื้นฐานของความเป็นพี่น้องกัน เขาย่อมต้องพยายามแสวงหาทุกความดีงามให้แก่พี่น้องของเขา และพยายามหลีกห่างทุกๆ สิ่งที่จะนำอันตรายมาสู่เขา



ผู้แปล: อันวา สะอุ และ อุษมาน อิดรีส 

Islam House