สิทธิของสามีภรรยา
เชค มุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน
การแต่งงานก่อให้เกิดผลพวงที่สำคัญและหน้าที่อันยิ่งใหญ่ เพราะการแต่งงานเป็นการผูกสายสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา ซึ่งแต่ละฝ่ายจำเป็นต้องมอบสิทธิแก่อีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งสิทธิด้านร่างกาย สิทธิด้านสังคม และสิทธิด้านทรัพย์สิน ดังนั้น ทั้งสามีและภรรยาจึงจำเป็นต้องใช้ชีวิตร่วมกันด้วยดี และต้องทุ่มเทในสิทธิที่จำเป็นต้องมอบให้กับอีกฝ่ายด้วยความเต็มใจและยินดี โดยปราศจากการฝืนใจ ไม่จริงจัง และฉาบฉวยในสิ่งที่ได้ทุ่มเทให้แก่อีกฝ่าย อัลลอฮฺตรัสว่า
( وَعَاشِرُوهُنَّ بِٱلۡمَعۡرُوفِۚ﴾ [النساء : ١٩]
“และจงคลุกคลีกับบรรดาภรรยาของพวกเจ้าด้วยดี”
(อัน-นิสาอ์ : 19)
พระองค์ยังตรัสอีกว่า
( وَلَهُنَّ مِثۡلُ ٱلَّذِي عَلَيۡهِنَّ بِٱلۡمَعۡرُوفِۚ وَلِلرِّجَالِ عَلَيۡهِنَّ دَرَجَةٞۗ ﴾ [البقرة: ٢٢٨]
“และบรรดาภรรยาก็ควรได้รับสิทธิอันชอบธรรม เช่นเดียวกับที่พวกนางต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อสามีของพวกนาง
และสำหรับบรรดาสามีจะมีความประเสริฐเหนือกว่าบรรดาภรรยาหนึ่งขั้น
(นั่นคือสิทธิการเป็นผู้ปกครองและต้องได้รับการเชื่อฟังจากภรรยา)”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 228)
ขณะเดียวกันภรรยาก็จำเป็นต้องทุ่มเทให้กับสามีตามเกณฑ์ที่นางจำเป็นต้องทุ่มเทให้กับเขา และเมื่อใดก็ตามที่สามีและภรรยาต่างปฏิบัติตามสิ่งที่แต่ละฝ่ายจำเป็นต้องปฏิบัติต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ชีวิตครอบครัวของทั้งสองก็จะพบกับความผาสุกและการครองชีวิตคู่ระหว่างทั้งสองก็จะยืนนาน แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นก็จะเกิดความขัดแย้งและแตกแยก ทำให้ชีวิตคู่ของทั้งสองฝ่ายต้องระส่ำระสายและไม่เป็นสุข
มีหลักฐานมากมายที่มาในรูปของคำสั่งเสียให้ดูแลสตรี และให้คำนึงถึงสภาพโดยธรรมชาติของนาง และการที่จะให้นางอยู่ในสภาพเพียบพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่างนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลออุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า
“ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติดีต่อเหล่าสตรีเถิด แท้จริงสตรีถูกสร้างมาจากซี่โครง และซี่โครงส่วนที่คดงอที่สุดคือส่วนบนสุดของมัน (นั่นคือสมองหรือความคิดอ่าน) ดังนั้น หากท่านพยายามจะดัดมันให้ตรงก็เท่ากับว่าท่านได้ทำให้มันหักสะบั้นลง และหากท่านปล่อยมันไปมันก็จะยังคงคดงออยู่เหมือนเดิมดังนั้น จึงขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติดีต่อบรรดาสตรีเถิด”
(โดยอัล-บุคอรีย์ 3331, มุสลิม 1468)
ในรายงานอื่นระบุว่า
«إِنَّ الْمَرْأَةَ خُلِقَتْ مِنْ ضِلَعٍ لَنْ تَسْتَقِيمَ لَكَ عَلَى طَرِيقَةٍ، فَإِنِ اسْتَمْتَعْتَ بِهَا اسْتَمْتَعْتَ بِهَا وَبِهَا عِوَجٌ، وَإِنْ ذَهَبْتَ تُقِيمُهَا، كَسَرْتَهَا وَكَسْرُهَا طَلَاقُهَا»
“แท้จริงสตรีถูกสร้างมาจากซี่โครง นางจะไม่สามารถอยู่บนแนวทางใดแนวทางหนึ่งอย่างเที่ยงตรงสำหรับท่านได้
ดังนั้นหากท่านประสงค์จะแสวงหาความสุขกับนาง ท่านก็จะได้รับความสุขกับนางขณะที่นางอยู่ในสภาพที่คดงออยู่
และหากท่านพยายามจะดัดนางให้ตรงก็เท่ากับว่าท่านได้ทำให้นางหักสะบั้นลง และการหักของนางคือการหย่ากับนาง”
(มุสลิม 1468)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لَا يَفْرَكْ مُؤْمِنٌ مُؤْمِنَةً، إِنْ كَرِهَ مِنْهَا خُلُقًا رَضِيَ مِنْهَا آخَرَ»
“สามีผู้ศรัทธาจงอย่าเกลียดภรรยาผู้ศรัทธา
หากเขาไม่ชอบนิสัยที่ไม่ดีบางประการในตัวนาง เขาก็น่าจะพอใจนิสัยที่ดีอื่นๆ ในตัวนาง”
(มุสลิม 1469)
หะดีษต่างๆ ข้างต้นเป็นการชี้แนะจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แก่ประชาชาติของท่านว่า ผู้ชายต้องปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไร และชี้แนะว่าผู้ชายควรจะรับเอาสิ่งที่สะดวกและเรียบง่ายจากผู้หญิง เนื่องจากธรรมชาติแห่งการสร้างของผู้หญิงถูกสร้างขึ้นมาในสภาพที่ไม่สมบูรณ์และไม่ได้ดีพร้อมเสียทุกอย่าง โดยมีความบกพร่องและคดงออยู่ในตัว และผู้ชายไม่สามารถที่จะแสวงหาความสุขกับนางได้อย่างโล่งใจ นอกจากจะต้องยอมรับธรรมชาติที่อัลลอฮฺสร้างนางมาในแบบดังกล่าวด้วยเท่านั้น
บทเรียนที่ได้รับจากหะดีษต่างๆ ข้างต้น ก็คือ มนุษย์ควรทำการเปรียบเทียบและแยกแยะระหว่างความดีงามกับความบกพร่องที่มีอยู่ในตัวผู้หญิง เพราะยามใดที่เขารู้สึกรังเกียจกับนิสัยที่ไม่ดีบางประการของนาง เขาก็ลองนำนิสัยที่ไม่ดีดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับอีกนิสัยหนึ่งของนางที่เขาพึงพอใจ โดยต้องไม่มองนางด้วยสายตาที่เอือมระอาและเกลียดชังเพียงอย่างเดียว
มีสามีจำนวนไม่น้อยอยากได้ภรรยาที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และดีพร้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้ ดังนั้น บรรดาสามีเหล่านั้นจึงตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์และกระวนกระวาย และไม่สามารถที่จะแสวงหาความสุขและอยู่ร่วมกับภรรยาของพวกเขาได้อย่างสบายใจ และบางครั้งก็อาจจะเป็นเหตุนำไปสู่การหย่าร้างกัน ดังคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า
«...وَإِنْ ذَهَبْتَ تُقِيمُهَا، كَسَرْتَهَا وَكَسْرُهَا طَلَاقُهَا»
“และหากท่านพยายามจะดัดนางให้ตรง ก็เท่ากับว่าท่านได้ทำให้นางหักสะบั้นลง
และการหักนางก็คือ การหย่ากับนาง นั่นเอง”
(มุสลิม 1468)
ดังนั้น สามีจึงควรมีความออมชอม อะลุ่มอล่วย ทำเป็นเพิกเฉยและปล่อยวางบ้างในทุกการกระทำของภรรยา หากว่าการกระทำเหล่านั้นของพวกนางไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อศาสนาหรือเกียรติศักดิ์ศรี
ส่วนหนึ่งของสิทธิที่สามีพึงปฏิบัติต่อภรรยาคือ การแสวงหาปัจจัยยังชีพแก่ภรรยา ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
( وَعَلَى ٱلۡمَوۡلُودِ لَهُۥ رِزۡقُهُنَّ وَكِسۡوَتُهُنَّ بِٱلۡمَعۡرُوفِۚ ﴾ [البقرة: ٢٣٣]
“และหน้าที่ของสามีผู้เป็นพ่อเด็ก คือการหาปัจจัยยังชีพและเครื่องนุ่งห่มให้แก่บรรดาภรรยาอย่างชอบธรรม”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 233)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“และหน้าที่ของพวกท่านที่พึงปฏิบัติต่อบรรดาภรรยาของพวกท่าน คือ
การหาปัจจัยยังชีพ และเครื่องนุ่งห่มให้แก่พวกนางอย่างชอบธรรม”
(มุสลิม 2137)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถูกถามว่า "อะไรคือสิทธิที่ภรรยาของคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกเราพึงได้รับ?"
ท่านตอบว่า“ท่านจะต้องให้อาหารแก่นางเมื่อท่านทานอาหาร ให้เครื่องนุ่มห่มแก่นางเมื่อท่านสวมใส่เครื่องนุ่งห่ม จงอย่าตบหน้านาง อย่าด่าทอหรือพูดจาหยาบคายกับนาง และอย่าลงโทษด้วยการปลีกตัวจากนางนอกจากให้ทำแค่ในบ้านเท่านั้น (หมายถึงไม่ลงโทษด้วยการหนีจากนางออกไปนอกบ้าน)”
(อบู ดาวูด 1850)
อีกส่วนหนึ่งของสิทธิที่สามีพึงปฏิบัติต่อภรรยาคือ สามีต้องปฏิบัติอย่างเป็นธรรมระหว่างบรรดาภรรยาทั้งหลายของเขา หากว่าเขามีภรรยามากกว่าหนึ่งคน โดยสามีต้องปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในด้านปัจจัยยังชีพ ที่อยู่อาศัย การร่วมหลับนอน และทุกๆ สิ่งที่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้กับบรรดาภรรยาทั้งสองคน เพราะการเอนเอียงไปทางภรรยาคนใดคนหนึ่งถือว่าเป็นบาปใหญ่ประการหนึ่ง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ كَانَتْ لَهُ امْرَأَتَانِ فَمَالَ إِلَى إِحْدَاهُمَا، جَاءَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ، وَشِقُّهُ مَائِلٌ»
“ผู้ใดมีภรรยาสองคน แล้วเขาปฏิบัติด้วยการเอนเอียงไปทางภรรยาคนใดคนหนึ่ง
เขาจะปรากฏในวันกิยามะฮฺในสภาพที่เอียงข้าง”
(อบู ดาวูด 2133, อัต-ติรมิซีย์ 1141, อิบนุ มาญะฮฺ 1969)
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่สามีไม่สามารถให้ความเท่าเทียมกันแก่ภรรยาทั้งสองได้ อาทิ ความรู้สึกรัก ความเอ็นดู และความสบายใจ เป็นต้น ก็ไม่ถือว่าสามีมีบาปความผิดแต่ประการใด เพราะสิ่งดังกล่าวอยู่นอกเหนือความสามารถของเขา อัลลอฮฺตรัสว่า
( وَلَن تَسۡتَطِيعُوٓاْ أَن تَعۡدِلُواْ بَيۡنَ ٱلنِّسَآءِ وَلَوۡ حَرَصۡتُمۡۖ ﴾ [النساء : ١٢٩]
“และพวกเจ้าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรม (ในด้านความรักและความรู้สึกเอนเอียงของจิตใจ)
ระหว่างบรรดาภรรยาของพวกเจ้าได้เลย ไม่ว่าพวกเจ้าจะพยายามขนาดไหนก็ตาม”
(อัน-นิสาอ์ : 129)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะแบ่งเวรระหว่างบรรดาภรรยาของท่านด้วยความยุติธรรม แล้วท่านจะก็ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺว่า
«اللهم هَذِا قَسْمِي فِيمَا أَمْلِكُ، فَلَا تَلُمْنِي فِيمَا تَمْلِكُ، وَلَا أَمْلِكُ»
“โอ้อัลลอฮฺ นี่คือการแบ่งเวรของฉันซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันครอบครองและสามารถควบคุมได้
ดังนั้น ขอพระองค์โปรดอย่าได้ตำหนิฉันในสิ่งที่พระองค์ทรงครอบครองแต่ฉันไม่ได้ครอบครองมัน
(หมายถึงความรู้สึกรักและเสน่หาระหว่างภรรยา)”
(อบู ดาวูด 2134, อัต-ติรมิซีย์ 1140, อิบนุ มาญะฮฺ 1971)
แต่ถ้าหากว่ามีความเหลื่อมล้ำในการไปอยู่กับภรรยาคนใดคนหนึ่ง โดยที่ภรรยาคนอื่นยินยอม ก็ถือว่าเป็นที่อนุญาต ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้แบ่งเวรอยู่กับท่านหญิงอาอิชะฮฺโดยผนวกรวมกับเวรของท่านหญิงเสาดะฮฺ หลังจากที่นางได้มอบเวรของนางให้แก่อาอิชะฮฺ และในช่วงที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ป่วยครั้งสุดท้ายก่อนการเสียชีวิต
ท่านได้ถามบรรดาภรรยาของท่านว่า “พรุ่งนี้ฉันต้องไปอยู่บ้านใคร? พรุ่งนี้ฉันต้องไปอยู่บ้านใคร?”
บรรดาภรรยาของท่านก็ยินยอมให้ท่านเลือกว่าจะอยู่บ้านใคร ซึ่ง ณ ตอนนั้นท่านนอนรักษาอาการป่วยอยู่ที่บ้านอาอิชะฮฺจนกระทั่งท่านเสียชีวิต
(อัล-บุคอรีย์ 5217, มุสลิม 2443)
ส่วนสิทธิของสามีที่ภรรยาจำเป็นต้องปฏิบัติต่อเขาถือว่ายิ่งใหญ่กว่าสิทธิของภรรยาที่สามีจำเป็นต้องปฏิบัติต่อนาง เนื่องจากคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
(وَلَهُنَّ مِثۡلُ ٱلَّذِي عَلَيۡهِنَّ بِٱلۡمَعۡرُوفِۚ وَلِلرِّجَالِ عَلَيۡهِنَّ دَرَجَةٞۗ ﴾ [البقرة: ٢٢٨]
“และบรรดาภรรยาก็ควรได้รับสิทธิอันชอบธรรม เช่นเดียวกับที่พวกนางต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อสามีของพวกนาง และสำหรับบรรดาสามีจะมีความประเสริฐเหนือกว่าบรรดาภรรยาหนึ่งขั้น (นั่นคือสิทธิการเป็นผู้ปกครองและต้องได้รับการเชื่อฟังจากภรรยา)”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 228)
ผู้ชายคือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง ดูแล และเลี้ยงดูผู้หญิง ด้วยการแสวงหาสิ่งดีๆ และคุณประโยชน์ต่างๆ ให้แก่นาง ต้องคอยอบรมและชี้นำนาง ดังคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
( ٱلرِّجَالُ قَوَّٰمُونَ عَلَى ٱلنِّسَآءِ بِمَا فَضَّلَ ٱللَّهُ بَعۡضَهُمۡ عَلَىٰ بَعۡضٖ وَبِمَآ أَنفَقُواْ مِنۡ أَمۡوَٰلِهِمۡۚ ﴾ [النساء : ٣٤]
“บรรดาบุรุษเพศคือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองและดูแลเลี้ยงดูบรรดาสตรีเพศ ด้วยปัจจัยแห่งความสามารถที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้บุรุษเพศมีเหนือกว่าสตรีเพศ และเนื่องจากบุรุษเพศต้องใช้จ่ายในทรัพย์ของพวกเขา (เพื่อเป็นปัจจัยยังชีพแก่นาง)”
(อัน-นิสาอ์ : 34)
ในจำนวนสิทธิของสามีที่ภรรยาจำเป็นต้องปฏิบัติต่อเขาคือ ภรรยาต้องเชื่อฟังคำสั่งของสามี ยกเว้นในเรื่องที่เป็นการฝ่าฝืนทรยศต่ออัลลอฮฺ (ซึ่งภรรยาไม่จำเป็นต้องเชื่อฟัง) ต้องปกป้องสามีในยามลับตาเขา รวมทั้งต้องดูแลทรัพย์สินของเขาด้วย แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«لَوْ كُنْتُ آمِرًا أَحَدًا أَنْ يَسْجُدَ لِأَحَدٍ؛ لَأَمَرْتُ الْمَرْأَةَ أَنْ تَسْجُدَ لِزَوْجِهَا»
“หากฉันสามารถสั่งให้คนหนึ่งกราบสุญูดต่อคนหนึ่งได้ แน่นอนว่าฉันก็จะสั่งให้ภรรยาสุญูดต่อสามีของนาง (แต่ท่านไม่ได้สั่งเช่นนั้น เพราะการสุญูดต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺเป็นเรื่องต้องห้ามในอิสลาม)”
(อบู ดาวูด 2140, อัต-ติรมิซีย์ 1159)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِذَا دَعَا الرَّجُلُ امْرَأَتَهُ إِلَى فِرَاشِهِ فَأَبَتْ أَنْ تَجِيْءَ، فَبَاتَ غَضْبَانَ عَلَيْهَا، لَعَنَتْهَا الْمَلَائِكَةُ حَتَّى تُصْبِحَ»
“เมื่อสามีคนหนึ่งชวนภรรยามายังที่หลับนอนของเขา แต่ภรรยากลับปฏิเสธไม่ยอมไป ทำให้เขานอนทั้งคืนในสภาพที่โกรธเคือง บรรดามะลาอิกะฮฺก็จะสาปแช่งนางจนถึงรุ่งเช้า”
(อัล-บุคอรีย์ 5193, มุสลิม 1436)
สิทธิของสามีอีกส่วนหนึ่งที่ภรรยาจำเป็นต้องปฏิบัติต่อเขา ก็คือ ภรรยาต้องไม่ยุ่งอยู่กับงานใดๆ ที่ทำให้บกพร่องต่อการปรนนิบัติและให้ความสุขกับสามีได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำอิบาดะฮฺสุนัตก็ตาม เนื่องจากคำสอนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า
«لاَ يَحِلُّ لِلْمَرْأَةِ أَنْ تَصُومَ وَزَوْجُهَا شَاهِدٌ إِلَّا بِإِذْنِهِ، وَلاَ تَأْذَنَ فِي بَيْتِهِ إِلَّا بِإِذْنِهِ»
“ไม่อนุญาตให้สตรีผู้เป็นภรรยาถือศีลอดสุนัต ในขณะที่สามีอยู่กับบ้าน นอกจากจะได้รับอนุญาตจากสามี และต้องไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้าบ้านนอกจากจะได้รับอนุญาตจากสามีก่อน”
(อัล-บุคอรีย์ 5195, มุสลิม 1026)
แท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกว่า ความพอใจของสามีที่มีต่อภรรยา เป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้นางได้เข้าสวนสวรรค์ ดังหะดีษที่บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์จากอุมมุ สะละมะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา นางเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«أَيُّمَا امْرَأَةٍ مَاتَتْ وَزَوْجُهَا عَنْهَا رَاضٍ دَخَلَتِ الْجَنَّةَ»
“ผู้หญิงท่านใดก็ตามที่เสียชีวิตลงในสภาพที่สามีของนางพึงพอใจต่อนาง แน่นอนว่านางจะได้เข้าสวนสวรรค์”
(อัต-ติรมิซีย์ 1161, อิบนุ มาญะฮฺ 1854)
ผู้แปล: อันวา สะอุ และ อุษมาน อิดรีส
Islam House