สิทธิของบุตร
  จำนวนคนเข้าชม  5502


สิทธิของบุตร


 


เชค มุหัมมัด บิน ศอลิห์ อัล-อุษัยมีน



          บรรดาบุตรหมายรวมถึง บุตรชายและธิดา ซึ่งสิทธิต่างๆ ของบุตรนั้นมีมากมาย แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการให้การอบรม ปลูกฝังศาสนา คุณธรรมและจริยธรรมในหัวใจของพวกเขา ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า 


 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงคุ้มครองตัวของพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก

เพราะเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และก้อนหิน” 
 

(อัต-ตะหฺรีม : 6)
 

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

«كُلُّكُمْ رَاعٍ وَكُلُّكُمْ مَسْؤُوْلٌ عَنْ رَّعِيَّتِهِ، وَالرَّجُلُ رَاعٍ فِي أَهْلِهِ وَمَسْؤُولٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ»

 

“ทุกคนในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบ และทุกคนในหมู่พวกท่านต้องถูกสอบสวนต่อความรับผิดชอบของเขา

ผู้ชายเป็นผู้รับผิดชอบต่อครอบครัวของเขา และต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา” 
 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์  853, อัต-ติรมิซีย์ 1705, อบูดาวูด 2928, และอะหฺมัด 2/55)

 


          ลูกหลานคืออะมานะฮฺ(หน้าที่ต้องรับผิดชอบ)บนบ่าของบิดามารดาทุกคน ทั้งสองท่านจะถูกสอบสวนถึงภาระหน้าที่ต่อลูกหลานในวันกิยามะฮฺ และด้วยการอบรมปลูกฝังศาสนาและจริยธรรมแก่ลูกหลานจะทำให้พวกเขากลายเป็นแก้วตาดวงใจแก่พ่อแม่ ทำให้มีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อัลลอฮฺตรัสว่า


 

          “และผู้ศรัทธาทั้งหลาย ที่บรรดาลูกหลานของพวกเขาได้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการศรัทธา เราจะให้ลูกหลานของพวกเขาอยู่ร่วมกับพวกเขา และเราจะไม่ให้ผลบุญจากการงานของพวกเขาลดหย่อนลงจากพวกเขาแต่อย่างใด แต่ละคนนั้นย่อมได้รับการค้ำประกันในสิ่งที่เขาขวนขวายไว้” 
 

(อัฏ-ฏูรฺ : 21)
 

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

«إِذَا مَاتَ العَبْدُ انْقَطَعَ عَمَلُهُ إِلَّا مِنْ ثَلَاثٍ : صَدَقَةٍ جَارِيَةٍ، أَوْ عِلْمٍ يُنْتَفَعُ بِهِ مِنْ بَعْدِهِ، أَوْ وَلَدٍ صَالِحٍ يَدْعُوْ لَهُ»  
 

“เมื่อบ่าวคนหนึ่ง (มนุษย์) ได้เสียชีวิตลง การงานของเขาจะถูกตัดขาด นอกจากการงานสาม ประการ

คือการบริจาคทานที่ถาวร หรือความรู้ที่เป็นประโยชน์ หรือลูกที่ดีซึ่งขอดุอาอ์ให้กับเขา” 
 

(บันทึกโดยมุสลิม  1631, อัต-ติรมิซีย์ 1376, อัน-นะสาอีย์  3651, อะหฺมัด  2/327, อัด-ดาริมีย์ 559)

 


          นี่คือผลของการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยกระบวนการอบรมขัดเกลาที่ดีซึ่งจะยังประโยชน์แก่บิดามารดาหลังจากที่เขาทั้งสองจากโลกนี้ไป มีบรรดาพ่อแม่หลายคนที่มองข้ามภาระหน้าที่นี้จนทำให้ลูกหลานของเขาต้องสูญเสียโอกาสและสิทธิที่พึงได้รับ พวกเขาต่างหลงลืมภาระหน้าที่ต่อลูกๆ พวกเขาไม่เคยที่จะสอบถามว่าลูกหลานไปไหนกัน กลับมาถึงบ้านตอนไหน พวกเขาไปคบหากับเพื่อนคนไหนบ้าง พ่อแม่บางคนไม่เคยชี้แนะแนวทางแก่ลูกๆ ไม่เคยห้ามปรามพวกเขาจากการประพฤติชั่ว 



          แต่ที่น่าแปลกใจยิ่งนักพวกเขาพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำงานเพื่อหาเงิน เพื่อสะสมทรัพย์อย่างมากมาย และพัฒนาสินทรัพย์เหล่านั้นให้งอกเงย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นก็เป็นผู้อื่น ส่วนบรรดาลูกๆ นั้นไม่เคยสนใจที่จะอบรมพัฒนาให้เป็นคนดี ทั้งที่พวกเขาสมควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า



          จำเป็นสำหรับบิดามารดาที่ต้องให้อาหารกายแก่ลูกไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เสื้อผ้าเป็นอาภรณ์ห่มกาย เฉกเช่นนั้นแหล่ะที่เขาทั้งสองต้องให้อาหารด้านจิตใจ ด้วยความรู้และศรัทธา และให้ความยำเกรงเป็นอาภรณ์สำหรับวิญญาณของเขา ซึ่งสิ่งดังกล่าวนั้นย่อมประเสริฐกว่า



          และส่วนหนึ่งจากสิทธิที่พึงมีต่อบุตร คือ การให้ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูด้วยความเหมาะสมเพียงพอไม่ฟุ่มเฟือยหรือตระหนี่เกินไป เพราะนั่นเป็นสิ่งที่จำเป็นที่บรรดาบุตรพึงได้รับ และเป็นการสำนึกในพระกรุณามหาธิคุณที่อัลลอฮฺได้ประทานทรัพย์สินให้แก่เรา จะไปหวงแหนทรัพย์สินจนเกินเหตุทำไมจนตระหนี่ที่จะใช้จ่าย แล้วในที่สุดเมื่อเสียชีวิตทรัพย์สินเหล่านั้นย่อมถูกริบไปหมด แม้ว่าเมื่อบิดามารดายังมีชีวิตอยู่แต่มีความตระหนี่ไม่ยอมให้ค่าเลี้ยงดู บรรดาลูกสามารถเอาทรัพย์สินนั้นมาใช้จ่ายให้เพียงพอต่อการดำรงชีพดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ตอบคำถามแก่ ฮินดฺ บุตรีของอุตบะฮฺ 
(ดังหะดีษที่บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์และมุสลิม)


          และส่วนหนึ่งของสิทธิที่พึงมีต่อบุตร คือ การไม่แสดงความลำเอียงระหว่างบุตรในการมอบของขวัญหรือของกำนัลใดๆ ไม่อนุญาตให้เรามอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ลูกๆ บางคนในขณะที่ลูกๆ คนอื่นไม่ได้รับสิ่งนั้นด้วยความลำเอียง แท้จริงแล้วอัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้ที่อธรรม เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้เกิดความข้องใจและเกิดความบาดหมางใจระหว่างลูกๆ ผู้ที่ได้รับและผู้ที่ไม่มีสิทธิ ซ้ำร้ายอาจจะทำให้เกิดความบาดหมางใจระหว่างบิดามารดากับบุตรที่ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวด้วย



          มีบางคนที่จำแนกระหว่างบุตรที่ทำดีและอ่อนน้อมต่อบิดามารดากับบุตรที่ไม่กระทำเช่นนั้น ด้วยการมอบของขวัญหรือของกำนัลแก่บุตรที่ทำดีก่อน อันที่จริงสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลที่จะอนุญาตให้ลำเอียงหรือไม่ยุติธรรมแก่พวกเขาได้ การมอบของขวัญตอบแทนบุตรโดยอาศัยการพิจารณาจากความดีงามที่ปฏิบัติต่อบิดามารดาเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต เนื่องจากผลตอบแทนที่เขาทำดีต่อพ่อแม่นั้นอัลลอฮฺจะเป็นผู้ตอบแทนให้ การให้รางวัลเฉพาะแก่ลูกที่ทำดีต่อบิดามารดาจะทำให้ลูกเกิดความลำพองในการงานของตน และจะทำให้ลูกๆ คนอื่นออกห่างจากบิดามารดา และจะอยู่ในความอกตัญญูหรือเนรคุณต่อบิดามารดาตลอดไป และเราไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าบางทีภายภาคหน้าสถานการณ์อาจจะพลิกผันทำให้ลูกที่กตัญญูกลายเป็นลูกที่เนรคุณ หรือลูกที่เนรคุณอาจจะกลายเป็นลูกที่กตัญญูก็เป็นได้ ทั้งนี้ เนื่องจากจิตใจของมนุษย์ทุกคนล้วนอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์สามารถพลิกผันมันได้ตามที่พระองค์ทรงประสงค์ 


         ในตำราหะดีษเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์และมุสลิม บันทึกว่า รายงานจากอัน-นุอฺมาน บิน บะชีรฺ ว่า บะชีรฺ บิน สะอัด บิดาของเขาได้มอบทรัพย์สินบางอย่างให้แก่ลูกชายของเขาคนหนึ่ง แล้วมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วบอกกับท่านนบีถึงเรื่องดังกล่าว 

ท่านบี  จึงถามเขาว่า “เจ้าได้มอบให้เช่นนี้แก่ลูกๆ ของเจ้าทุกคนไหม?” 

เขาตอบว่า “ไม่” 

ท่านบี  กล่าวว่า “ดังนั้นจงเอาสิ่งนั้นกลับคืนมา” 

ในบางสายรายงาน

ท่านนบี กล่าวว่า“พวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺ และจงให้ความยุติธรรมระหว่างลูกๆ ของพวกท่าน” 

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์  2447, มุสลิม 1623)

และในบางสำนวน มีดังนี้

“ให้คนอื่นมาเป็นพยานแทนฉันเถิด เพราะฉันไม่เป็นพยานต่อความอยุติธรรม” 

(บันทึกโดยมุสลิม 1623, อัน-นะสาอีย์ 3681, อบู ดาวูด 3542, อิบนุ มาญะฮฺ 2375, อะหฺมัด  4/270)

         ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ระบุว่า การให้ความสำคัญแก่บุตรบางคนและละเลยอีกบางคนนั้น ถือเป็นการกระทำที่อธรรม ซึ่งเป็นการกระทำที่ต้องห้ามในอิสลาม

          แต่หากเรามอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่บรรดาบุตรตามความต้องการหรือความจำเป็นของเขา ในขณะที่อีกบางคนมีความต้องการอย่างอื่น เช่น คนหนึ่งต้องการอุปกรณ์เครื่องเขียน ในขณะที่อีกคนต้องการรักษาโรค หรืออีกคนต้องการทรัพย์สินที่จะแต่งงาน ถือว่าสามารถให้เป็นการเฉพาะได้แม้ว่าจะมีความแตกต่างอยู่บ้าง ทั้งนี้ อันเนื่องจากความต้องการและความจำเป็น ซึ่งถือว่าเป็นเสมือนการจ่ายค่าเลี้ยงดูนั่นเอง

         เมื่อบิดามารดาได้ทำตามหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูบุตรของตนตลอดจนการให้ค่าเลี้ยงดูแล้วไซร้ ก็สมควรแล้วที่อัลลอฮฺจะตอบแทนเขาด้วยการให้มีลูกที่กตัญญูรู้คุณ คอยทำดีและมอบสิทธิต่างๆ ที่บิดามารดาพึงได้รับเป็นการตอบแทน แต่หากเมื่อใดที่พ่อแม่ละเลยต่อหน้าที่ในการอบรมดูแลลูก ก็สมควรแล้วเช่นกันถ้าอัลลอฮฺจะให้เขาถูกทดสอบด้วยการมีลูกที่เนรคุณและอกตัญญูต่อทั้งสองคน เพราะชนิดของผลตอบแทนนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของการกระทำที่แต่ละคนได้ก่อไว้เช่นกัน




ผู้แปล: อันวา สะอุ และ อุษมาน อิดรีส 

Islam House