มุอัลลัฟในสังคมมุสลิมไทย
ผศ.ดร.อับดุลเลาะฮ์ หนุ่มสุข
บทนำ
อิสลามเป็นศาสนาแห่งการดะอ์วะฮ์(เผยแผ่) องค์ประกอบของอิสลามที่เกี่ยวกับหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ และหลักจริยธรรมล้วนมีจุดมุ่งหมายของการดะอ์วะฮ์ทั้งสิ้น ปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญ ที่เป็นผลพวงของการดะอ์วะฮ์อิสลามคือปรากฏการณ์ของมุสลิมใหม่หรือมุอัลลัฟ เป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มการประกาศอิสลามโดยท่านนบีมุฮัมมัด(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) การขยายตัวของอิสลามยังส่วนต่างๆนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมักมีเรื่องราวของมุอัลลัฟเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ
ในส่วนของสังคมมุสลิมไทยมุอัลลัฟยังไม่ได้รับความสนใจจากบุคคลและหน่วยงานที่รับผิดชอบเท่าที่ควร บทความนี้ผู้เขียนจึงใคร่นำเสนอบทบาทและประสบการณ์ขององค์กรมัสยิด ในการดูแลมุอัลลัฟในรูบแบบของโครงการอบรมมุอัลลัฟประจำมัสยิด โดยหวังจุดประกายให้องค์กรมัสยิดที่มีอยู่มากมายหันมาให้ความสำคัญและตระหนักถึงภารกิจจำเป็น(วาญิบ)ที่จะต้องรับผิดชอบต่อพี่น้องมุอัลลัฟของเราทุกคน
ความหมายของมุอัลลัฟ
ก. ความหมายทางภาษา
คำว่ามุอัลลัฟ หรือมุอัลละฟะห์ มาจากรากศัพท์ภาษาอาหรับ( أَلِفَ يَأْلَفُ أَلْفاً ) แปลว่าสนิทสนม และรักใคร่ คำว่ามุอัลลัฟ เป็น อิสมุมัฟอูล (اسم مفعول) จาก(أَلَّفَ يُؤَلِّفُ تَأْلِيْفاً) แปลว่าผู้ที่ต้องการความรัก ความสนิทสนม และความคุ้นเคย (ดูมุคตารุสศิฮาฮ์ 1986 : หมวด ألف)
ข. ความหมายทางวิชาการ
คำว่า มุอัลลัฟ หรือ มุอัลละฟะห์ หมายถึง บุคคลที่หัวใจของเขาต้องการความอบอุ่น และความสนิทสนมด้วยการโน้มน้าวสู่อิสลาม หรือให้มั่นคงในอิสลาม หรือให้ยุติการทำร้ายมุสลิม หรือช่วยเหลือ และปกป้องมุสลิมจากศัตรู (อัลก๊อรฏอวีย์ 1981 : 2/594)
มุอัลลัฟในอัลกุรอาน
คำว่ามุอัลลัฟ ปรากฏในอัลกุรอาน 1 ครั้งในซูเราะห์อัตเตาบะห์ อายะห์ที่ 60 อัลลอฮได้ตรัสว่า :
(( إِنَّمَا الصَّدَقَاتُ لِلْفُقَرَاءِ وَالْمَسَاكِينِ وَالْعَامِلِينَ عَلَيْهَا وَالْمُؤَلَّفَةِ قُلُوبُهُمْ الآية ))
"อันความจริง ทานซะกาต นั้น (จะให้) แก่ บรรดาผู้ยากจน บรรดาผู้ที่ขัดสน บรรดาเจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมซะกาต
และบรรดาผู้ที่หัวใจของพวกเขาต้องการความอบอุ่น และความสนิทสนม"
อัลกุรอานโองการนี้ ได้ระบุว่า มุอัลลัฟ เป็นหนึ่งในแปดจำพวกที่มีสิทธิ์ได้รับทานซะกาต
ประเภทของมุอัลลัฟในฐานะผู้มีสิทธิรับซะกาต
มุอัลลัฟในบริบทของผู้มีสิทธิรับซะกาต แบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. มุอัลลัฟ ที่ไม่ได้เป็นมุสลิม
2. มุอัลลัฟที่เป็นมุสลิม
มุอัลลัฟที่ไม่ได้เป็นมุสลิมได้แก่ บุคคลที่มีลักษณะต่อไปนี้:
ก. บุคคลที่มีแนวโน้มว่า จะเข้ารับอิสลาม หรือคาดหวังว่า เขาหรือพักพวกพี่น้องของเขาจะเข้ารับอิสลาม
ข. บุคคลที่เป็นภัยอันตรายต่อมุสลิม หรือคาดว่าจะเป็นผู้ช่วยเหลือมุสลิม
ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้เคยมอบซะกาตให้กับบุคคลทั้ง 2 ประเภท โดยหวังในการเข้ารับอิสลาม ของประเภท ก. และหวังในการยุติภัยอันตราย และการช่วยเหลือของประเภท ข. (อ้างแล้ว)
สำหรับมุอัลลัฟที่เป็นมุสลิมนั้นได้แก่บุคคลในตัวอย่างต่อไปนี้ :
ก. บุคคลที่เข้ารับอิสลามใหม่ ไม่ว่าก่อนหน้านั้นเขาจะนับถือศาสนา หรือไม่เคยนับถือศาสนาก็ตาม
ข. มุสลิมที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้า หรือผู้นำ และมีบริวารพรรคพวก เพื่อนฝูง หรือผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม
ค. ผู้นำมุสลิมที่มีศรัทธา (อีหม่าน) อ่อนแอ
ง. มุสลิมที่มีหน้าที่รักษาการณ์ตามชายแดน และจุดล่อแหลมต่างๆ (อ้างแล้ว 2/595-596)
ท่านนบี(ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้เคยมอบซะกาตให้แก่บุคคลในตัวอย่างที่กล่าวมา โดยคาดหวังว่าการให้ซะกาตแก่พวกเขาจะทำให้อิสลาม ของพวกเขามั่นคง และเข้มแข็งในตัวอย่างข้อ ก. และ ค. หวังในการเข้ารับอิสลามของบริวาร และพรรคพวกในตัวอย่างข้อ ข. และหวังในการปกป้องประเทศชาติจากการรุกรานของศัตรูในตัวอย่างข้อ ง. (ดูอ้างแล้ว 2/596)
มุอัลลัฟตามการเรียกขานในสังคมไทย
มุอัลลัฟตามความหมาย และการเรียกขานในสังคมไทย คือผู้ที่ปฏิญาณตนเข้ารับอิสลามเป็นศาสนาใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาอาจเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาคริสต์ ฯลฯ หรือไม่เคยนับถือศาสนาใดมาเลย คำว่ามุอัลลัฟ จะไม่ใช้เรียกมุสลิมที่ตกมุรตัด (ตกศาสนา) แล้วปฏิญาณตนเข้ารับอิสลาม และไม่ใช้เรียกเด็กที่เป็นมุสลิมตามบิดา หรือมารดา ที่ปฏิญาณตนเข้ารับอิสลาม
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าการเรียกมุสลิมใหม่คนหนึ่งว่ามุอัลลัฟนั้นมักจะเรียกไปตลอด จนกระทั่งเขาเสียชีวิต ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง คำว่ามุอัลลัฟ ควรใช้เรียกมุสลิมใหม่ที่ประกาศตัวเข้ารับอิสลามในช่วงแรกๆเท่านั้น ครั้นเมื่อวันเวลาผ่านไป และอิสลามของเขามีความมั่นคงแข็งแกร่ง คำว่ามุอัลลัฟ ก็ไม่ควรใช้เรียกเขาอีกต่อไป
แนวโน้มจำนวนมุอัลลัฟในสังคมไทย
แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดทำการสำรวจจำนวนมุอัลลัฟ ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่อนุมานได้ว่ามุอัลลัฟในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ตัวบ่งชี้ที่สำคัญได้แก่ทะเบียนสัปปุรุษของมัสยิดต่างๆในประเทศไทย ที่ระบุจำนวนมุอัลลัฟทั้งหญิง และชายเพิ่มขึ้นทุกปี มุอัลลัฟที่เข้ามาเป็นสัปปุรุษของมัสยิดมาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ :
1. มาจากการสมรส (นิกะห์) กับมุสลิมเดิมในชุมชน
2. มาจากการศึกษาเรียนรู้ จนเกิดความศรัทธา
มุอัลลัฟที่มาจากสาเหตุที่ 1 เป็นมุอัลลัฟส่วนใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจำนวนของมุอัลลัฟในประเภทนี้ จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยสาเหตุ และปัจจัยหลายประการ อาทิเช่น
1. สังคมที่ขยายตัวตามความเจริญทางด้านกายภาพ ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับต่างศาสนิกในสังคมที่กว้างขึ้น
2. การเปิดกว้างของสังคมมุสลิมปัจจุบันในการยอมรับมุอัลลัฟเข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัว ไม่ปิดกั้น และกีดกันเหมือนในอดีต
3. การมีทัศนคติในเชิงบวก ต่อมุอัลลัฟ และถือว่าปรากฏการณ์ของมุอัลลัฟเป็นภารกิจการดะฮ์วะห์อิสลาม ที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญยิ่ง
4. ความเจริญก้าวหน้าของสื่อในยุคปัจจุบัน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดความสะดวกสบายในการศึกษาค้นคว้า และการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
ปัญหาต่างๆของมุอัลลัฟ
เมื่อต่างศาสนิกคนหนึ่งประกาศตัวเป็นมุสลิม และได้ปฏิญาณตนเข้ารับอิสลาม เขาต้องเผชิญกับการทดสอบในรูปแบบของปัญหาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเขาได้เข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัวมุสลิม และได้ดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชนมุสลิม ปัญหาที่ต้องเผชิญเป็นปัญหาทั้ง 2 ด้าน คือ :
1. ปัญหาการปรับตัวในสังคมใหม่ สังคมที่ตนไม่เคยคุ้นเคยมาก่อน การต้องปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์การแต่งการ อาหารการกิน หรือแม้แต่การเรียกชื่อใหม่ หรือการทำคีตานสำหรับผู้ชาย การต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอิสลามในชีวิตประจำวัน ในเรื่องของการละหมาด 5 เวลา เรื่องความสะอาดและการชำระล้าง ตลอดจนถึงมารยาทต่างๆของอิสลามที่เป็นขนบธรรมเนียมและประเพณีปฏิบัติในชุมชนมุสลิม ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องหนักมากสำหรับมุอัลลัฟ จำเป็นต้องอาศัยการชี้นำที่ถูกต้องจากผู้รู้ในชุมชน
2. ปัญหากับสังคมเก่า ที่เป็นพ่อ แม่ และญาติพี่น้อง เขายังคงเป็นลูก เป็นพี่ เป็นน้องคนเหล่านั้นอยู่หรือไม่ หากคนเหล่านั้นรังเกียจ และไม่พอใจในการเปลี่ยนศาสนาของเขา เขาจะต้องทำอย่างไร และหากคนเหล่านั้นไม่ติดใจ เขาจะสร้างความสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นอย่างไรที่ไม่ผิดบัญญัติศาสนา อะไรคือขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างเขา กับญาติพี่น้องเหล่านั้น
3. นอกเหนือจากนั้นยังมีปัญหาในเชิงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมุอัลลัฟ เช่น ปัญหาการรับมรดก ปัญหาสิทธิในการจัดการศพ และปัญหาการหย่าร้างกับภรรยา หรือสามีเก่าที่มิได้เป็นมุสลิม ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยการให้ความรู้ และคำแนะนำที่ดีและเป็นระบบ ซึ่งองค์กรมัสยิด สามารถจัดการได้ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ใกล้ชิดมุอัลลัฟมากที่สุด
โครงกรอบรมมุอัลลัฟประจำมัสยิด
เนื่องจากแนวโน้มของมุอัลลัฟที่มีจำนวนมากขึ้นโดยที่มุอัลลัฟส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนเป็นสัปปุรุษของมัสยิดในชุมชน จึงมีความจำเป็นที่ทุกมัสยิด จะต้องทำโครงการอบรมมุอัลลัฟ โดยเริ่มจากการสำรวจ การจัดทำทะเบียน การประชุมเพื่อดูความพร้อม การกำหนดเวลวันเวลาอบรม เนื้อหาความรู้ที่จะอบรม วิทยากรที่ให้การอบรม การวัด และประเมินผลการอบรม และกิจกรรมอื่นๆที่ข้อง
มัสยิดและชุมชนมัสยิด ควรให้ความสำคัญกับโครงการนี้เป็นพิเศษ และควรร่วมมือกัน ที่จะทำให้มุอัลลัฟในชุมชนมัสยิด เป็นมุอัลลัฟที่มีคุณภาพ เป็นมุอัลลัฟที่ไม่มีความรู้สึกแปลกแยก และไม่มีความรู้สึกเป็นอื่น เนื่องจากมุอัลลัฟได้รับเกียรติ และความเอาใจใส่ จากพี่น้องมุสลิมในชุมชน จนเกิดความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม สอดคล้องกับความหมายของคำเรียกขานมุอัลลัฟตามที่ได้กล่าวมา
บทส่งท้าย
มุสลิมใหม่หรือมุอัลลัฟเป็นกลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่เติบโตและมีพลังในการขับเคลื่อนงานดะอ์วะฮ์อิสลาม สังคมมุสลิมควรเปลี่ยนค่านิยมในเชิงลบต่อมุอัลลัฟและหันมาใส่ใจในการสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งแก่พวกเขา การจัดโครงการอบรมมุอัลลัฟประจำมัสยิดเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถจะหล่อหลอมให้มุอัลลัฟและครอบครัวของเขาดำเนินชีวิตอยู่ในวิถีอิสลาม และสามารถหลอมรวมระหว่างมุอัลลัฟ(มุสลิมใหม่)กับมุสลิมเดิมให้อยู่ในอ้อมกอดของญะมาอะฮ์(กลุ่ม)เดียวกัน และอุคูวะฮ์(ความเป็นพี่น้อง)เดียวกัน
ทำอย่างไรที่จะให้คำว่า”มุอัลลัฟ”มีความหมายในแง่ของการปฏิบัติ ซึ่งหมายถึงความอบอุ่นที่สังคมมุสลิมจะต้องหยิบยื่นให้แก่พวกเขาตลอดเวลา คำว่า “มุอัลลัฟ”จะไม่มีความหมายใดๆเลยหากสังคมทอดทิ้งพวกเขา และปล่อยให้พวกเขาดำเนินชีวิตอย่างอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวไร้การดูแลจากสังคม