การอีมานต่อบรรดาคัมภีร์ของอัลลอฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  2804


การอีมานต่อบรรดาคัมภีร์ของอัลลอฮฺ(อัสสะมาวียะฮฺ)


แปลเรียบเรียง อ.ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา


คำถาม : 


 

          ข้อตัดสินชี้ขาดเกี่ยวกับการอีมานศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ของอัลลอฮฺ  (อัสสะมาวียะฮฺ)คืออะไร? และคัมภีร์เหล่านั้นมีจำนวนเท่าไหร่?

 

 

คำตอบ : 

 

         การอีมานศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ของอัลลอฮฺ  นั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น(วาญิบ) ทั้งโดยภาพรวมและโดยละเอียด ซึ่งการอีมานศรัทธาต่อคัมภีร์เหล่านั้นโดยภาพรวมคือ ศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ที่อัลลอฮฺ  มิได้แจ้งชื่อ หรือเรียกชื่อให้ทราบ โดยเราศรัทธาว่าอัลลอฮ์  ประทานบรรดาคัมภีร์ให้แก่บรรดานบี และเราะสูล  

ดังที่อัลลอฮ์  ตรัสความว่า 

 

"และแน่แท้เราได้แต่งตั้งบรรดาเราะสูล(ศาสนทูต)ของเรามาพร้อมหลักฐานอันชัดแจ้ง

และเราได้ประทานคัมภีร์ให้แก่พวกเขา"

 

          มุอฺมินผู้ศรัทธานั้นจะเชื่อมั่นศรัทธาว่าอัลลอฮ์  ประทานบรรดาคัมภีร์ของพระองค์มาให้แก่บรรดาศาสนทูตของพระองค์ โดยในคัมภีร์เหล่านั้นมีทั้ง หลักความยุติธรรม , บทบัญญัติต่างๆ และการศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ที่อัลลอฮฺ  ทรงเรียกชื่อให้ทราบ ทั้งคัมภีร์อัตเตารอต , อัลอินญีล(ไบเบิล) , อัซซะบูร  ซึ่งคัมภีร์อัตเตารอตอัลลอฮฺ  ประทานให้แก่นบีมูซา คัมภีร์อัลอิลญีลให้แก่นบีอีซา และ คัมภีร์อัซซะบูรให้แก่นบีดาวูด โดยศรัทธาต่อคัมภีร์เหล่านี้ที่อัลลอฮฺ  ทรงเรียกชื่อให้ทราบและจำแนกให้เป็นพิเศษ และ คัมภีร์อัลกุรอานอัลลอฮ์  ประทานให้แก่นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม

 

          ดังนั้นด้วยเหตุนี้ คัมภีร์ใดก็ตามที่อัลลอฮฺ  ทรงเรียกชื่อให้ทราบ เราก็จะเรียกชื่อตามที่พระองค์เรียก ดังที่หลักฐานทางบทบัญญัติได้ระบุไว้ และคัมภีร์ใดก็ตามที่พระองค์มิได้ระบุชื่อและรายละเอียดเอาไว้ เราก็จะไม่ระบุชื่อและรายละเอียด และเราจะกล่าวว่า อัลลอฮฺ  ประทานบรรดาคัมภีร์ให้แก่บรรดานบีและศาสนทูต(เราะสูล)ของพระองค์ เราจะศรัทธาและเชื่อมั่นต่อคัมภีร์เหล่านั้น(ศรัทธาเชื่อว่ามาจากอัลลอฮฺ  แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม เพราะคัมภีร์ของมุสลิมที่ต้องปฏิบัติตามคืออัลกุรอานเท่านั้น) และเรารู้ว่า คัมภีร์เหล่านั้นมาจากอัลลอฮฺ  อย่างแท้จริง แต่ว่าเราไม่รู้ถึงรายละเอียดของคัมภีร์เหล่านั้น เรารู้เพียงแค่อัลลอฮฺ  ประทานคัมภีร์เหล่านั้นมาเพื่อเป็นหลักฐานอันประจักษ์แจ้ง และหักล้างข้ออ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งจากคัมภีร์เหล่านั้นคือ คัมภีร์อัตเตารอต คัมภีร์อัลอินญีล คัมภีร์อัซซะบูร และอัลกุรอาน


 


          สรุปประเด็นสำคัญจากฟัตวานูรอะลัดดัรบฺ(แสงส่องทาง)ที่ตอบโดยปราชญ์ผู้ทรงคุณวุฒิในโลกอิสลาม นำโดยชัยคฺอับดุลอะซีซ บิน บาซในประเด็นนี้คือ 


 

         การอีมานศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ของอัลลอฮฺนั้นเป็นเรื่องเตากีฟีย์ คือ จะต้องเชื่อไปตามที่อัลลอฮฺ  ทรงบอกไว้ ส่วนในสิ่งที่อัลลอฮฺ  มิได้บอกหรือระบุรายละเอียดเอาไว้ เราต้องอีมานศรัทธาโดยภาพรวมเท่านั้นโดยต้องไม่ระบุรายละเอียด ซึ่งคัมภีร์ที่อัลลอฮฺ  ทรงระบุชื่อให้เราทราบก็คือ อัตเตารอต ,อัลอินญีล ,อัซซะบูร และอัลกุรอาน ส่วนคัมภีร์อื่นจากนี้เราจะศรัทธาโดยภาพรวมว่ามีจริงและอัลลอฮ์  ประทานให้แก่บรรดาศาสทูตและนบีของพระองค์ โดยไม่ระบุชื่อและรายละเอียดลงไปว่าเป็นคัมภีร์ใดบ้าง และเราจะไม่นำคัมภีร์ใดๆนอกจากที่อัลลอฮฺ  ระบุชื่อมาเชื่อมโยง ผูกเรื่องให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาคัมภีร์ของอัลลอฮฺ 

 

ทำไมนะหรือ ? เพราะมันมีผลอย่างมากต่อประเด็นถัดมา ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่อันตรายมาก

 

         ประเด็นที่ว่าคือ การที่เรานำคัมภีร์ใดก็ตามที่เราคิดเอาว่ามันเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์ต่ออัลลอฮฺ  และอิสลามโดยที่อัลลอฮฺ  มิได้ระบุชื่อและรายละเอียดเอาไว้ (เช่นพระไตยปิฎก และพระเวทของฮินดู) มันจะมีผลให้เราต้องศรัทธาต่อคัมภีร์เหล่านั้นไปด้วย เนื่องจากเราพาดพิงคัมภีร์เหล่านั้นมาหาอิสลาม และผลที่ตามมาคือ แล้วมุสลิมที่ไม่ศรัทธาต่อคัมภีร์เหล่านี้จะเป็นกาฟิร สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมหรือไม่ ! เนื่องจากปฏิเสธที่จะอีมานศรัทธาต่อคัมภีร์เหล่านี้(เช่นพระไตยปิฎก และพระเวทของฮินดู)?

 

         ดังนั้น เรื่องศาสนาโดยเฉพาะเรื่องอะกีดะฮฺ(หลักยึดมั่นศรัทธา)ที่ถือเป็นเรื่องเตากีฟีย์ เราในฐานะมุสลิมผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ  จะต้องระมัดระวังให้มากๆ เพราะไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ตามจะเอาความคิดหรือทัศนะของตนเองที่มองว่าถูก ดี เข้าท่า มาคิดวิเคราะห์ หรือตัดสิน


 

 



อ้างอิงจากเว็บไซต์ ฟัตวา นูรอะลัดดัรบฺ และเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของชัคฺอับดุลอะซีซ บินบาซ

http://www.alifta.net/fatawa/fatawaDetails.aspx
https://www.binbaz.org.sa/noor/11395