ข้อตัดสินของผู้ที่ทิ้งละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  8190


ข้อตัดสินของผู้ที่ทิ้งละหมาด


 

แปลเรียบเรียง ตุวัยลิบุ้ลอิลมฺ

 

บรรดาผู้รู้ได้มีทัศนะเกี่ยวกับผู้ที่ทิ้งละหมาดออกเป็นสองทัศนะด้วยกัน

 

ทัศนะแรก : 

 

          เป็นทัศนะที่เป็นที่รู้จักกันในมัสฮับของท่านอิหม่ามอะฮฺหมัด รอฮิมะฮุ้ลลอฮ(มัสฮับฮัมบาลีย์) คือ เขา(คนที่ทิ้งละหมาด)จะถูกตัดสินว่าเป็นกาเฟร และเขาก็จะถูกประหาร โดยสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม และทัศนะนี้คือทัศนะที่ได้ถูกถ่ายทอดต่อกันมาจากบรรดาสาวกของท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม และท่านอิสหาก ได้รายงานอิจมาอฺ(มติเอกฉันท์)สำหรับเรื่องนี้เอาไว้ และเช่นเดียวกับที่ ท่านมุนซีรี่ ได้ถ่ายทอดมัน(อิจมาอฺนี้)ในหนังสือ “อัตตัรฆีบ วัตตัรฮีบ” และในที่อื่นๆ และส่วนหนึ่งจากหลักฐานต่างๆที่บ่งชี้ถึงสิ่งดังกล่าวนี้ ก็คือ ฮะดีษที่รายงานโดย อัลญะมาอะห์ ยกเว้น บุคอรีและ นะซาอีย์ จาก ท่าน ญาบิร รอดิยั้ลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม กล่าวว่า : 

 

“ระหว่างคนๆหนึ่งกับการปฏิเสธศรัทธา คือ การทิ้งละหมาด” 

 

          ฮะดิษที่รายงานโดยอะฮฺหมัด จากฮะดีษของท่านหญิงอุมมุอัยมัน ฮะดิษมัรฟูอฺ(ฮะดิษที่ศอฮาบะฮ์รายงาน คำพูด การกระทำการยอมรับ ไปถึงถึงท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุลัยฮิวะซั้ลลัม) ว่า :

 

 “ใครก็ตามที่ทิ้งละหมาดโดยเจตนา การคุ้มครองของอัลลอฮและร่อซู้ลของพระองค์ได้หลุดพ้นจากเขาไปแล้ว”

 

ฮะดีษที่รายงานโดย อัศฮาบุซซุนัน จากฮะดิษของท่าน บุรอยดะห์ บิน ฮุเซน กล่าวว่า ท่านร่อซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซ้ลลัมกล่าวว่า :

 

“พันธะสัญญาระหว่างพวกเรากับพวกเขา(บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา)คือ การละหมาด

ดังนั้นใครก็ตามที่ทิ้งมันแน่นอนเขาได้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว”

 

          ท่านติรมีซีย์ได้รายงานจากท่านอับดุลลอฮ บิน ชะกีก ว่า : บรรดาสาวกของท่านร่อซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมไม่ได้เห็นว่าการงานใดที่การละทิ้งมัน ถือว่าเป็นการปฏิเสธศรัทธา นอกเสียจากการละหมาดเท่านั้น

 

ท่านอิหม่ามมูฮำหมัด บิน นัศรฺ อั้ลมัรวีซี่ย์ กล่าวว่า : ฉันได้ยินท่านอิสหาก กล่าวว่า : มีรายงานที่ถูกต้องจากท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมว่า 

 

"ผู้ที่ทิ้งละหมาด คือกาเฟร(ผู้ปฏิเสธศรัทธา)"

 

          และเช่นเดียวกัน ทัศนะบรรดาผู้รู้ที่อยู่กับท่านร่อซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม มีทัศนะว่า "แท้จริงแล้วคนที่ทิ้งละหมาดโดยเจตนา ปราศจากอุปสรรคใดๆทั้งสิ้น จนกระทั่งเวลาละหมาดของมันได้ผ่านพ้นไป คือกาเฟร"

 

          ท่าน อิหม่าม อิบนุ ฮัซมฺ ได้กล่าวว่า : เราได้รายงานจากท่าน อุมัร บิน ค็อตตอบ รอดิยั้ลลอฮุอันฮุ ท่าน มุอาซ บิน ญะบั้ล ท่าน อิบนุ มัสอู๊ด และบรรดาสาวกของท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมกลุ่มหนึ่ง รอดิยั้ลลอฮุอันฮุม และเราก็ได้รายงานจากจาก ท่าน อิบนุ้ลมุบาร็อก อะฮฺหมัด บิน ฮัมบัล อิสหาก บิน รอฮาวัยฮฺ เราะมะตุ้ลลอฮอลัยฮิม  และจากศอฮาบะห์ และตาบีอีนถึง 17 คน รอดิยั้ลลอฮุอันฮุม ว่า :

 

          “แท้จริงใครก็ตามที่ละทิ้งการละหมาดฟัรดูเวลาหนึ่งเวลาใด โดยตั้งใจ โดยที่เขานึกขึ้นได้จำได้ไม่ได้หลงลืม จนกระทั่งเวลาของการละหมาดได้หมดไป แน่นอนเขาคือ ผู้ปฏิเสธศรัทธา และสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม”

 

          และท่าน อับดุลลอฮ อัลมาญิชูน สหายของอิหม่ามมาลิก ได้กล่าวเกี่ยวกับทัศนะนี้ไว้ และ ท่านอัลดุลลอฮ บิน ฮะบีบ อัลอันดะลูซี่ และท่านอื่นๆ ก็ได้กล่าวทัศนะนี้เช่นกัน”
 

          ดูในหนังสือ “อัลฟัศลฺ” เล่ม 3 หน้าที่ 274 หนังสือ “อัลมุฮั้ลลา” ของอิบนุฮัซมฺ เล่ม 2 หน้าที่ 326 และ หนังสือ “อัตตัมฮีด” ของท่าน อิบนุ อับดิ้ลบัรรฺ เล่ม 4 หน้าที่ 225 .

วั้ลลอฮุอะอฺลัม
  

 

ทัศนะที่สอง : 

          คือเขายังไม่ปฏิเสธศรัทธา แต่ทว่า เขาคือ คนชั่ว คนที่กระทำหนึ่งในบาปใหญ่มากที่สุด และทัศนะนี้เอง คือ ทัศนะของบรรดานักฟิกฮ์ส่วนใหญ่ และพวกเขาได้อ้างหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการถือว่ายังไม่ปฏิเสธศรัทธา(สำหรับคนที่ทิ้งละหมาด)ซึ่งท่านอิหม่าม อิบนุ กุดามะห์ อั้ลมักดีซี่ย์ ได้นำมาโดยส่วนใหญ่ของหลักฐานนั้น ในหนังสือ “มุฆนี” ท่านอิหม่ามอิบนุกุดามะห์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮุตะอาลากล่าวว่า : และรายงานที่สองจาก -จากอะฮฺหมัด- คือ เขาจะถูกประหารเป็นการลงโทษ พร้อมกับตัดสินด้วยกับการเป็นอิสลามของเขา(โดยยังถือว่าเป็นมุสลิมอยู่) เหมือนอย่างเช่น คนทำผิดประเวณีที่แต่งงานแล้ว และทัศนะนี้ คือ การเลือกของท่าน อบี อับดุลลอฮ บิน บัฏเฏาะ(หนึ่งในปราชญ์มัซฮับฮัมบาลีย์)  และท่านเองก็ไม่เห็นด้วยกับทัศนะของคนที่กล่าวว่า : แท้จริงเขา(คนที่ทิ้งละหมาด)ถือว่าได้ปฏิเสธศรัทธา  และท่านก็กล่าวว่า แท้จริงมัซฮับนั้น หมายถึง มัสฮับของอะฮฺหมัด(มัซฮับฮัมบาลีย์) มีความเห็นอยู่บนทัศนะนี้(ทัศนะที่ถือว่าคนทิ้งละหมาดยังไม่เป็นกาเฟร) โดยไม่พบการขัดแย้งใดๆในมัซฮับเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย และนี่คือทัศนะของบรรดานักฟิกฮฺส่วนมาก(ที่ถือว่าคนที่ทิ้งละหมาดยังไม่เป็นกาเฟร)  และคือ ทัศนะของอบูฮานีฟะห์  มาลิก  และชาฟีอีย์ด้วย 

ได้ถูกรายงานไว้จากท่านฮุซัยฟะฮฺ รอดิยั้ลลอฮุอันฮุ ว่า :

“จะมีมายังมนุษย์ทั้งหลายซึ่งยุคหนึ่งที่ไม่มีสิ่งใดที่เป็นอิสลามหลงเหลืออยู่กับพวกเขาเลยนอกจากคำว่า  ลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ  เท่านั้น” 

แล้วก็มีคนถามขึ้นว่า : และอะไรจะยังประโยชน์กับพวกเขาละ ? 

ท่านอิบนุมัสอูดกล่าวว่า : (คำกล่าวลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ)มันจะช่วยให้พวกเขารอดพ้นจากไฟนรก


รายงานจากท่าน วาลาน กล่าวว่า : ฉันได้มาถึงบ้านของฉัน แล้วฉันก็ได้พบแกะถูกเชือดตัวหนึ่ง 

ฉันจึงกล่าวว่า : ใครเชือดมันหรือ ? 

พวกเขากล่าวว่า : เด็กรับใช้ของท่านนั้นแหละ

ฉันก็กล่าวว่า : ขอสาบานต่ออัลลอฮ เด็กรับใช้ของฉัน เขาไม่ได้ละหมาดเลย 

แล้วบรรดาสตรีก็กล่าวขึ้น : พวกเราได้สอนเขาให้กล่าวบิสมิ้ลละห์ 

แล้วฉันก็ได้กลับไปหาท่าน อิบนุ มัสอู๊ด แล้วถามเขาเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าวนี้ แล้วท่านอิบนุมัสอู๊ด ก็ใช้ให้ฉันรับประทานมันได้


หลักฐานที่บ่งชี้ถึงทัศนะนี้  คือ คำพูดของท่านนบี ศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมที่ว่า :

“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงห้ามไฟนรก ไม่ให้สัมผัสผู้ที่กล่าว “ลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ” โดยปราถนาสิ่งดังกล่าวเพื่อพระองค์”


รายงานจากท่าน อบีซัรรฺ กล่าวว่า : ฉันได้มาหาท่านร่อซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม แล้วท่านก็กล่าวว่า : 

          “ไม่มีบ่าวคนใดที่กล่าวที่กล่าว “ลาอิลาฮะอิลั้ลลอฮ” หลังจากนั้นเขาได้เสียชีวิตลงบนสิ่งดังกล่าวนี้(ไม่ตั้งภาคีต่อพระองค์) นอกเสียจากเขาจจะได้เข้าสวนสวรรค์” 


รายงานจากท่าน อุบาดะห์ บิน ศอมิต กล่าวว่า : ฉันได้ยินท่านร่อซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมกล่าวว่า : 

         “ใครก็ตามที่ปฏิญานตนว่า ไม่มีผู้ที่ควรค่าแก่การถูกเคารพภักดีอย่างแท้จริงนอกจากอัลลอฮเท่านั้น และแท้จริงมูฮำหมัด คือ บ่าว และร่อซู้ลของพระองค์ และ อีซา คือ บ่าวของอัลลอฮ และเป็นร่อซู้ลของพระองค์ เป็นพระดำรัสของพระองค์ที่ได้ทรงสั่งไปยังนางมัรยัม และเป็นดวงวิญญานหนึ่งที่ถูกส่งมาจากพระองค์ สวรรค์และนรกมีจริง อัลลอฮก็จะให้เขาเข้าสวรรค์ตามแต่การงานที่ปรากฏ”

         รายงานจากท่าน อนัส บิน มาลิก  แท้จริงท่านร่อซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม กล่าวว่า :

“คนที่กล่าว “ลาอิลาฮะอั้ลลลอฮ” และในหัวใจของเขามีความดีน้ำหนักเท่ากับเมล็ดข้าวสาลี เขาจะถูกนำออกจากไฟนรก”

ซึ่งเป็นที่เห็นพ้องตรงกันสำหรับฮะดิษต่างๆเหล่านี้ทั้งหมด และฮะดิษที่คล้ายๆกันกับมัน

          รายงานจาก ท่าน อุบาดะอฺ บิน ศอมิต แท้จริงท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม กล่าวว่า :    

          “ละหมาดห้าเวลานั้น อัลลอฮได้ทรงกำหนดมันแก่บ่าว ในวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง  ดังนั้นใครก็ตามปฏิบัติมัน ไม่ทำให้เวลาใดสูญหายไปโดยการดูแคลนในสิทธิของมัน(ระวังจากการหลงลืมและไม่ใส่ใจการละหมาด)  สำหรับเขานั้นจะมีพันธะสัญญา ณ ที่อัลลอฮ์ คือการที่พระองค์จะทรงให้เขาเข้าสวนสวรรค์  และใครก็ตามที่ไม่ปฏิบัติมัน เขาก็ย่อมไม่มีพันธะสัญญาใดๆ ณ ที่อัลลอฮ์เลย  หากว่าพระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ก็จะทรงลงโทษเขา และถ้าหากพระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ก็จะให้เขาเข้าสวนสวรรค์”

และถ้าหากว่าเขาเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาแล้วละก็พระองค์ก็คงจะไม่ทำให้เขาเข้าอยู่ในพระประสงค์ของพระองค์อย่างแน่นอน 


          ท่าน ค็อลล้าล(ผู้รวบรวมวิชาฟิกฮฺของอิหม่ามอะฮฺหมัด) ได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือ “อัลญามิอฺ” ของท่านว่า :จากอบีชะมีละห์ แท้จริง ท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้ออกไปยัง กุบาอฺ แล้วก็มีคนกลุ่มหนึ่งจากชาวอันศอรที่ได้พบเจอกับท่านนบี โดยพวกเขากำลังแบกศพอยู่ตรงประตูบานหนึ่ง 

แล้วท่านนบีศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม กล่าวว่า :  นี่มันคืออะไรหรือ ?

พวกเขากล่าวว่า : เขาคือทาสรับใช้ของตระกูลของคนๆนั้นครับ  ซึ่ง เขาเคยทำแบบนั้นแบบนี้(ในตอนนี่มีชีวิตอยู่)

ท่านนบี  กล่าวว่า : เขาได้เคยปฏิญานตน ลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ หรือไม่ ? 

พวกเขากล่าวว่า : ใช่ครับ, แต่ว่า เขาเคยทำแบบนั้น เคยทำแบบนี้มาครับ

แล้วท่านนบี  ก็กล่าวกับพวกเขาว่า : แล้วเขาเคยละหมาดบ้างมั้ยละ ?

แล้วพวกเขาก็กล่าวว่า : เขาเคยละหมาดและก็เคยทิ้งละหมาดด้วยครับ 

       ท่านนบี  จึงกล่าวกับพวกเขาว่า : พวกท่านจงนำพวกเขากลับไป แล้วก็จงอาบน้ำศพให้กับเขา ห่อกะฟั่นให้กับเขา ละหมาดให้กับเขา และก็จงฝังศพเขาด้วย ขอสาบานต่อผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ แท้จริงมลาอิกะอฺ แทบจะมาขวางกั้นระหว่างฉันกับเขา(ทาสรับใช้ที่เสียชีวิตคนนั้น)อยู่

           ท่านค็อลล้าลได้รายงานด้วยกับสายรายงานของเขาเอง จาก ท่านอะฏออฺ จากท่าน อับดุลลอฮ บิน อุมัร กล่าวว่า ท่านร่อซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม กล่าวว่า :

“พวกท่านจงละหมาดให้กับคนที่กล่าว ลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮ เถิด”

          เพราะสิ่งดังกล่าวนี้ คือ มติเอกฉันท์ของบรรดามุสลิม แท้จริงเราไม่รู้เลยว่าคนที่ทิ้งละหมาดคนใดในยุคหนึ่งยุคใดก็ตาม ที่การอาบน้ำศพของเขา การละหมาดให้กับเขา และ การฝังเขาในหลุมศพของบรรดามุสลิมถูกทอดทิ้งไป และบรรดาผู้มีสิทธิรับมรดกก็ไม่ถูกห้ามในทรัพย์มรดกของเขา และ ทรัพย์มรดกก็ไม่ถูกห้ามแก่ผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย  และระหว่างสามีภรรยาก็ไม่ถูกแยกจากกันอันเนื่องมาจากการทิ้งละหมาดของคนหนึ่งใดในทั้งสองคน ทั้งที่ มีผู้ที่ทิ้งละหมาดมากมาย  และถ้าหากว่าเขา(คนที่ทิ้งละหมาด)เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาแล้วละก็  ฮู่ก่มข้อตัดสินทั้งหมดนี้(ที่กล่าวมาข้างต้น)ก็ย่อมต้องมีการยืนยันอย่างแน่นอน  และเราก็ไม่รู้ถึงข้อขัดแย้งใดๆระหว่างบรรดามุสลิม เกี่ยวกับคนที่ทิ้งละหมาดนั้นจำเป็นแก่เขาที่จะต้องชดใช้มัน  และถ้าหากว่าเขาเป็นผู้ที่ออกจากศาสนาแล้วละก็ การชดใช้ละหมาด และการชดใช้การถือศิลอด ก็ย่อมไม่เป็นสิ่งจำเป็นใดๆแก่เขา

          ส่วนฮะดิษต่างๆข้างต้น ที่บ่งชี้ถึงการปฏิเสธศรัทธาของผู้ที่ทิ้งละหมาดนั้น หมายถึง ในเชิงการเพิ่มความรุนแรง(ให้รู้ถึงความร้ายแรงของการทิ้งละหมาด) และเป็นการเปรียบเทียบ สำหรับตัวเขากับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา หาใช่ในเชิงด้านความเป็นจริง(ตามความหมายภายนอก) เหมือนอย่างเช่น 

คำพูดของท่านนบี  ที่ว่า : “การด่าทอมุสลิมด้วยกัน คือ การฝ่าฝืน และการฆ่าเขา คือ การปฏิเสธศรัทธา”  

คำพูดของท่านนบี  ที่ว่า : “คนที่ปลีกตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลได้ปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮแล้ว ถึงแม้ว่ามันจะ(เป็นเรื่อง)เล็กน้อยก็ตาม” 

คำพูดของท่านนบี  ที่ว่า : “ใครก็ตามที่กล่าวกับพี่น้องของเขาว่า “โอ้ผู้ปฏิเสธศรัทธาเอ๋ย” ดังนั้นคนหนึ่งคนใดจากทั้งสองนั้นจะต้องรับมัน” 


คำพูดของท่านนบี  ที่ว่า : “ใครก็ตามที่ร่วมเพศกับผู้ที่มีประจำเดือน หรือ ร่วมเพศกับภรรยาทางทวารหนัก แท้จริงเขาได้ปฏิเสธในสิ่งที่ถูกประทานลงมาให้แก่มูฮำหมัดแล้ว"

คำพูดของท่านนบี  กล่าวว่า : “และใครก็ตามที่กล่าวว่า “ฝนตกลงมายังเรา(อันเนื่องมาจาก)ด้วยกับดาวตกทั้งหลาย” เขาก็คือ ผู้ปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ เป็นผู้ศรัทธาต่อดวงดาวทั้งหลายแทน”  

คำพูดของท่านนบี  ที่ว่า : “ใครก็ตามที่สาบานต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ แท้จริงเขาได้ตั้งภาคีต่อพระองค์แล้ว” 

คำพูดของท่านนบี  ที่ว่า : “คนที่ดื่มเหล้านั้น ก็เหมือนกับคนที่เคารพบูชาต่อรูปปั้น”  

          และฮะดิษต่างๆที่คล้ายๆกันนี้ ที่ส่วนหนึ่งของมันมีเป้าหมายในเชิงการเพิ่มความรุนแรง ในการเตือนสำทับ และมันก็คือทัศนะที่ถูกต้องที่สุดในทั้งสองทัศนะ”

จบคำพูดของท่านอิบนุกุดามะห์


          จากตรงนี้เองแสดงให้เห็นว่าการทิ้งละหมาดนั้นยังไม่ถือว่าทำให้สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม ตราบใดที่ผู้ที่ทิ้งละหมาดยังเชื่อว่าการละหมาดนั้นถือเป็นสิ่งวายิบ(จำเป็น)แต่อาจจะทิ้งเพราะว่าขี้เกียจ และท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า :

          “ส่วนผู้ที่ไม่เคยละหมาดเลยตลอดช่วงอายุขัยของเขา และเขาก็ไม่มีความตั้งใจอย่างจริงจังที่จะละหมาด และเขาได้เสียชีวิตไปโดยสภาพที่ไม่มีการเตาบัตตัว(กลับเนื้อกลับตัวไปสู่อัลลอฮ) หรือว่า ถูกประทับตราสำหรับตัวเขาด้วยกับสภาพดังกล่าวนี้  ดังนั้น เช่นนี้ เขาคือ ผู้ปฏิเสธศรัทธาอย่างแน่นอน” 

และท่านชัยคุ้ลอิสลามได้กล่าวไว้อีกว่า : 

          “ส่วนผู้ที่ดื้อรั้นในการทิ้งหมาด และก็ไม่เคยละหมาดเลย และเขาได้เสียชีวิตไปในสภาพที่ดื้อรั้น ในสภาพที่ทิ้งละหมาด ดังนั้นสิ่งนี้เอง ไม่ถือว่าเขาเป็นมุสลิม แต่ทว่าผู้คนส่วนมากที่ละหมาดบ้าง และก็ทิ้งละหมาดบ้าง พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เอาใจใส่ต่อการละหมาด และพวกเขาเหล่านั้นก็จะอยู่ภายใต้สัญญาแห่งการลงโทษของอัลลอฮ(พระองค์จะลงโทษหรืออภัยโทษให้ก็ได้)” 


และทัศนะนี้คือการให้น้ำหนักของท่านเชค ศอและฮฺ อุษัยมีน รอฮิมะฮุมุ้ลลอฮด้วย  

         จากข้อมูลต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งยืนยันในความสำคัญอย่างยื่งยวดในเรื่องเตาฮีด เพราะ การมีเตาฮีดที่ถูกต้องจะทำให้เรารอดพ้นในวันอาคีเราะห์ อินชาอัลลอฮ และสิ่งที่รองลงมาจากการมีเตาฮีดที่ถูกต้อง คือ เรื่องละหมาด เพราะถึงขนาดว่าบรรดาผู้รู้ต่างขัดแย้งในข้อตัดสินของการทิ้งมัน ท่านอิหม่าม ลาลั้ลละกาอีย์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ กล่าวว่า :   

          “คนที่ทิ้งละหมาดพอเพียงแล้วที่จะต้องถูกตำหนิ เพราะบรรดาผู้รู้ต่างขัดแย้งกันในตัวของเขาว่า เขายังเป็นมุสลิมอยู่หรือว่าเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาไปแล้วกันแน่?”

หนังสือ “ชัรฮฺ อุศู้ล อิอฺติกอด อะลิสซุนนะห์ วั้ลญะมาอะอฺ”

          ฉะนั้นการละหมาดจึงเปรียบเสมือนเสาหลักของศาสนา และการละหมาดนั้นจะถูกสอบสวนเป็นอันดับแรกในวันกิยามะห์ ดังที่ท่านร่อซู้ลศ็อลลั้ลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมกล่าวว่า : 

“สิ่งแรกที่บ่าวจะถูกสอบสวนในวันกิยามะห์ คือ การละหมาด

และสิ่งแรกที่จะถูกตัดสินระหว่างมนุษย์ด้วยกันคือ เรื่องของเลือดเนื้อชีวิต” 

(รายงานโดย นะซาอีย์)

ถ้าหากว่าการละหมาดเสียหายไปการงานอื่นๆของเขาก็ย่อมเสียตามไปด้วย วั้ลลอฮุอะอฺลัม


 



 


 


อ้างอิง


http://fatwa.islamweb.net/fatwa/index.php?page=showfatwa&Option=FatwaId&Id=1145 

http://fatwa.islamweb.net/fatwa/index.php?page=showfatwa&Option=FatwaId&lang=A&Id=68656

http://fatwa.islamweb.net/fatwa/index.php?page=showfatwa&Option=FatwaId&Id=184075