ความเห็นที่ไม่ตรงกันในตัวบทเรื่องอั้ลอั้ซม้าอฺวั้ศศิฟ้าต
  จำนวนคนเข้าชม  1999


ความเห็นที่ไม่ตรงกันในตัวบทเรื่องอั้ลอั้ซม้าอฺวั้ศศิฟ้าต

อาบีดีณ โยธาสมุทร สรุปและเรียบเรียง


          ศ่อฮาบะฮฺไม่มีความเห็นที่ไม่ตรงกันในตัวบทที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอั้ลอั้ซม้าอฺวั้ศศิฟ้าต(พระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮ์)

 

บิ้สมิ้ลลาอิ้รร่อฮฺมานนิรร่อฮีม

 

ในภาษาอาหรับนั้น รูปแบบของประโยคจะสามารถแบ่งออกคร่าวๆ ได้เป็น 2 ชนิดด้วยกัน 

          ก. ประโยคบอกเล่า ซึ่งได้แก่ประโยคที่มีเนื้อหาในการแจ้งให้ทราบถึงข้อมูล เหตุการณ์ ข่าวคราว และบรรยายถึงลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นต้น รูปแบบของประโยคในชนิดนี้ เรียกว่า ค่อบั้ร

 

          ข. ประโยคคำสั่ง ซึ่งได้แก่ประโยคที่มีเนื้อหาในการเชื้อเชิญให้คู่สนทนาเข้ามามีส่วนร่วมและมีการตอบสนองต่อสิ่งที่ได้แจ้งออกไป ซึ่งอาจจะหมายถึง คำสั่งให้ทำ หรือคำสั่งห้าม เป็นต้น รูปแบบของประโยคในชนิดนี้ เรียกว่า ต่อลับ

 

          ในอัลกุรอ่านและในอัซซุนนะฮฺก็มีรูปประโยคทั้งสองประเภทนี้ระบุไว้เพื่อใช้ในการสนทนาและแจ้งข้อมูลหรือออกคำสั่งต่างๆกับพวกเรา ซึ่งจุดมุ่งหมายของประโยคที่เป็นประโยคบอกเล่า ถูกระบุไว้ในตัวบทของอัลกุรอ่านและอัลฮะดีษต้องการจากเราก็คือ ให้เราเชื่อถือต่อข้อมูลที่ได้เสนอไว้ในประโยคนั้นๆว่ามันคือ ความจริงและคือ เรื่องจริงที่มีความถูกต้องเหมือนที่ได้แจ้งเอาไว้จริงๆ 

          ส่วนเป้าประสงค์ของประโยคคำสั่งที่ถูกระบุไว้ในตัวบทของอัลกุรอ่านและอัลฮะดีษนั้น เพื่อให้พวกเรานำคำสั่งนั้นๆมาปฏิบัติตามนั่นเอง

 

          ดังนั้น การอธิบายความหมายในรูปแบบและวิธีการใดๆก็แล้วแต่ที่มีขึ้นกับประโยคที่เป็นประโยคบอกเล่าซึ่งเป็นการอธิบายที่นำพาไปสู่การปฏิเสธต่อข้อมูลที่ถูกกล่าวไว้ในประโยคนั้นๆ ก็เท่ากับว่า การอธิบายความหมายในรูปแบบและวิธีการดังกล่าว เป็นการอธิบายที่เหลวไหล เป็นการอธิบายที่เป็นเท็จ และไม่ใช่การอธิบายที่ถูกต้อง

          และเช่นเดียวกัน การอธิบายความหมายในรูปแบบและวิธีการใดๆก็แล้วแต่ที่มีขึ้นกับประโยคที่เป็นประโยคคำสั่งซึ่งเป็นการอธิบายที่นำพาไปสู่การมีท่าทีที่เป็นตรงกันข้ามกับคำสั่งที่ถูกระบุไว้ในประโยคนั้นๆ ก็เท่ากับว่าการอธิบายความหมายในรูปแบบและวิธีการดังกล่าว เป็นการอธิบายที่เหลวไหล เป็นการอธิบายที่เป็นเท็จ และไม่ใช่การอธิบายที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน

 

          ประเด็นที่อยากให้รับทราบไว้ก็คือ การอธิบายความหมายของข้อมูลที่เป็นคำสั่ง กับการอธิบายความหมายของข้อมูลที่เป็นคำบอกเล่านั้น เป็นสิ่งที่มีความแตกต่างกัน ห้ามเอามาปนกัน 

          การอธิบายความหมายของข้อมูลที่เป็นคำสั่งนั้น ถือเป็นหน้าที่ที่พวกเราทุกคนจะต้องกระทำกันโดยถ้วนหน้า (ตามกรอบความสามารถของแต่ละคน) เพราะเราคงไม่อาจสามารถทำตามคำสั่งที่ถูกสั่งใช้มาได้ ถ้าหากเราไม่เข้าใจว่า คำสั่งๆนั้น ต้องการให้เราทำอะไรและต้องการให้เราทำอย่างไร

          ผู้คนทั้งอุมมะฮฺต่างไม่มีใครปฏิเสธและคัดค้านเลยแม้แต่น้อยว่า บรรดานักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญนั้น ย่อมรับทราบและเข้าใจความหมายของข้อมูลที่เป็นคำสั่งเหล่านี้กัน ซึ่งอาจจะสามารถพบความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้บ้าง ขึ้นอยู่กับระดับของความเชี่ยวชาญและความแตกฉานในวิชาการของแต่ละท่าน

         บางครั้งตัวบทในเรื่องๆนั้น อาจจะเป็นตัวบทที่ให้ความหมายที่ชัดเจนในตัวอยู่แล้ว ผู้คนทั้งอุมมะฮฺไม่มีใครเห็นต่างและไม่มีใครเข้าใจความหมายของตัวบทไปในทิศทางอื่น ทั้งหมดเข้าใจความหมายไปในทิศทางเดียวกันเหมือนๆกัน แต่อย่างไรก็ดีในด้านของบทสรุปที่ได้ เกี่ยวกับประเด็นคำสั่งที่ถูกระบุไว้ในตัวบทดังกล่าว (ฮุก่ม) ก็อาจจะมีการเห็นไม่ตรงกันเกิดขึ้นได้อยู่ดี ซึ่งอาจมีเหตุมาจากการที่นักวิชาการบางท่านไม่ได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลของตัวบทๆนั้น หรือ อาจจะรู้ แต่ส่วนตัวของท่าน และมีตัวบทอื่นอีกตัวบทหนึ่งซึ่งให้ข้อมูลของคำสั่งที่หักล้างกับข้อมูลที่มีอยู่ในตัวบทๆนี้ หรืออาจจะรู้แต่ท่านลืม หรืออื่นๆ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ท่านที่มีทรรศนะขัดแย้งกับเนื้อหาของตัวบทจะได้รับการยกประโยชน์ในข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ หากว่าท่านทำไปโดยมีเจตนาเพื่อต้องการเข้าถึงความจริง ต้องการปฏิบัติตามความถูกต้อง อีกทั้งอัลลอฮฺ ตะอาลา ก็จะยังทรงตอบแทนความดีให้ในเจตนาและความตั้งใจอันดีของท่านอีกด้วย

 

         ในขณะที่อีกบางครั้ง ตัวบทในเรื่องนั้นๆก็อาจจะเป็นตัวบทที่ยังไม่ชัดเจนมากนักเนื่องจากในตัวบทมีคำหรือข้อความที่สามารถเข้าใจไปได้หลากหลายความหมาย และกับตัวบทที่อยู่ในลักษณะเช่นนี้นี่เอง ที่เป็นที่มาของการมีทรรศนะที่แตกต่างกันของบรรดานักวิชาการ


          บรรดาทรรศนะที่แตกต่างกันของเหล่านักวิชาการที่เกิดขึ้นจากตัวบทที่อยู่ในรูปลักษณ์นี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันดังนี้

          1. ประเภทที่ทั้งสองทรรศนะของบรรดานักวิชาการที่เห็นต่างกัน ต่างเป็นทรรศนะที่เข้าใจความหมายของตัวบทได้ถูกต้องทั้งคู่ ทั้งนี้เนื่องจากตัวบทได้ให้ความหมายที่บ่งชี้ไว้ให้กับคำอธิบายของทั้งสองทรรศนะพอๆกัน สำหรับประเภทๆนี้ นักวิชาการท่านใดที่ทำการอธิบายตัวบทโดยการรวมเอาคำอธิบายของทั้งสองทรรศนะเข้าด้วยกันมาใช้เป็นการให้ความหมายตัวบท นักวิชาการท่านนั้นก็จะเป็น นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและแตกฉานมากกว่าท่านที่เลือกเอาเฉพาะความหมายใดความหมายหนึ่งเท่านั้นมาใช้สำหรับอธิบายตัวบทดังกล่าว

 

          2. ประเภทที่ทรรศนะที่ถูกต้องที่เป็นความหมายที่แท้จริงของตัวบทนั้นมีอยู่แค่เพียงหนึ่งเดียว เท่านั้น ซึ่งนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและมีความแตกฉานในวิชาการสำหรับประเภทๆนี้ ก็คือ นักวิชาการที่สามารถอธิบายได้ตรงกับความหมายที่แท้จริงของตัวบทดังกล่าวนั่นเอง

 

          บรรดาศ่อฮาบะฮฺ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุม ต่างเคยมีทรรศนะที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับตัวบทที่เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับคำสั่งใช้/คำสั่งห้ามในประเภทนี้กันมาก่อนเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

ดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า 

(أو يعفوا الذي بيده عقدة النكاح)     "หรือยกเว้นในกรณีที่ผู้ที่สัญญาการครองคู่อยู่ในมือของเขาจะยอมยกให้"

 (อัลบะกอเราะฮฺ/237) 

โดยบ้างก็บอกว่า หมายถึงพ่อของฝ่ายหญิงและบ้างก็บอกว่า หมายถึง สามี

 

หรือในดำรัสของพระองค์ที่ว่า

(أو لمستم النساء)    "..หรือถ้าหากพวกเจ้าได้ทำการสัมผัสกับสตรี"

(อันนิสาอฺ/43) 

       โดยบ้างก็บอกว่าหมายถึง การผสมรวมกันฉันท์สามีภรรยาและบ้างก็บอกว่าหมายถึง การใช้มือสัมผัส,การจูบหรืออะไรที่ใกล้เคียงกันนี้

 

และเช่นในดำรัสของพระองค์ที่ว่า

(وإذا قرئ القرآن فاستمعوا له وأنصتوا)     "และเมื่ออัลกุรอ่านถูกอ่านขึ้นพวกเจ้าก็จงสดับฟังและจงนิ่งเงียบกันเสีย"

(อัลอะอฺร้อฟ/204)

          โดยพวกท่านมีความเห็นที่แตกต่างกันว่า แล้วตกลงการอ่านอัลกุรอ่านในละหมาดฟัรดูจะถูกนับรวมอยู่ในคำสั่งที่อายะฮฺนี้ได้ระบุไว้ด้วยหรือไม่? เป็นต้น

 

          แต่บรรดาศ่อฮาบะฮ์ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุม นั้น พวกท่านไม่เคยมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเลยในการอธิบายบรรดาอายะฮฺที่บอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับบรรดาพระลักษณะของอัลลอฮฺ ตะอาลา แม้แต่เพียงจุดเดียว สิ่งนี้เป็นการบ่งบอกว่า บรรดาอายะฮฺเหล่านี้ที่พูดถึงเรื่องศิฟ้าตของอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้น ล้วนเป็นอายะฮฺที่ได้รับการแจกแจงข้อมูลไว้อย่างกระจ่างแจ้งและชัดเจนที่สุดแล้ว ทั้งนี้ ที่ต้องเป็นเช่นนั้น ก็เนื่องมาจากข้อมูลต่างๆที่ถูกระบุไว้ในบรรดาอายะฮฺเหล่านี้ ล้วนเป็นข้อมูลที่ถือได้ว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จะทำให้คำปฏิญาณตนทั้งสองท่อนของพวกเราชาวอิสลามมีความครบถ้วนสมบูรณ์อย่างแท้จริงขึ้นมาได้ อีกทั้ง ข้อมูลดังกล่าวนี้ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ไม่อาจขาดไปได้เลยด้วยประการใดทั้งปวงของ “อัตเตาฮีด” อีกด้วย

 

وصلى الله على محمد وآله وصحبه أجمعين

ดู مختصر الصواعق المرسلة على الجهمية والمعطلة للإمام ابن القيم ، اختصره الإمام محمد بن عبد الوهاب ، تحقيق : د. دغش بن شبيب العجمي، مكتبة أهل الأثر للنشر والتوزيع ، الكويت، الطبعة الأولى، 1437هـ، ص: 40-42